HOUSE BETWEEN THE WALL บ้านระหว่างกำแพงในสไตล์มินิมอล

บ้านมินิมอล ของคู่รักนักออกแบบที่หลงรักในความเรียบน้อยและเน้นบ้านอยู่อาศัยที่ให้ความเป็นส่วนตัว จึงออกมาเป็นบ้านที่อยู่ระหว่างกำแพงสองผืนที่ช่วยตัดออกจากความวุ่นวายของเมือง


DESIGNER DIRECTORY

ออกแบบ: Anatomy Architecture + Atelier / AA+A

บ้านมินิมอล แบบบ้านมินิมอล
มุมมองจากหน้าบ้านจะพบช่องเปิดเพียงบริเวณที่จอดรถ คอร์ตยาร์ดและบล็อกแก้วตำแหน่งห้องนั่งเล่นเท่านั้น

House Between the Wall นั้นไม่ได้เป็นเพียงชื่อบ้าน แต่ยังเป็นแนวความคิดในการออกแบบบ้านที่เลือกให้ ‘กำแพง’ เป็นมากกว่าผนังขนาดใหญ่ที่ปิดกั้นเส้นแบ่งความเป็นส่วนตัวออกจากโลกที่วุ่นวายด้วยการสร้างสเปซขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อให้สเปซดังกล่าวกลายเป็น ‘บ้านระหว่างกำแพง’ ภายใต้รูปทรงทางสถาปัตยกรรมในลุค บ้านมินิมอล และตรงไปตรงมา แต่ทว่าก็ซุกซ่อนรายละเอียดของการออกแบบฟังก์ชันต่าง ๆ อย่างใส่ใจ

บ้านมินิมอล แบบบ้านมินิมอล
สถาปนิกสร้างความน่าสนใจให้ในแต่พื้นที่ด้วยการเลือกใช้วัสดุและเฟอร์เจอร์ เช่น พื้นที่ส่วนนี้เป็นพื้นที่รับประทานอาหารและครัว ผนังเคาน์เตอร์กรุด้วยไม้อัด HMR นำมาเคลือบ PU แล้วนำมากรุเป็นตารางหมากรุก หรือเคาน์เตอร์สเตนเลสสั่งทำพิเศษ นอกจากนั้นยังตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ในสไตล์ยุค Mid Century ที่ทั้งคู่สะสมเอาไว้

บ้านมินิมอล แบบบ้านมินิมอล แบบครัว

ห้องนั่งเล่นที่มีช่องเปิดรับแสงได้ทั้งจากทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ จัดวางชุดโซฟาให้สามารถนั่งหันหน้าไปรับวิวทางไหนก็ได้ที่ต้องการ

บ้านมินิมอล แบบบ้านมินิมอล

บ้านระหว่างกำแพงหลังนี้ออกแบบโดย คุณธนัทเกียรติ จงเกรียงไกร และ คุณกนกกาญจน์ เฮงอุดมทรัพย์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง ANATOMY ARCHITECTURE + ATELIER ซึ่งนอกจากออกแบบแล้ว ทั้งคู่ยังเป็นเจ้าของบ้านอีกด้วย เมื่อสถาปนิกต้องมาออกแบบบ้านของตนเอง บ้านหลังนี้จึงมีความพิเศษที่น่าสนใจหลายจุดด้วยกัน เนื่องจากแต่เดิมทั้งคู่เคยอาศัยแบบคอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่จำกัดมาก่อน นั่นจึงทำให้บ้านระหว่างกำแพงหลังนี้ได้กลายเป็นการออกแบบเพื่อเติมเต็มฟังก์ชันที่ขาด และเพิ่มเติมสเปซที่ต้องการ

ตัวบ้านเป็นการออกแบบและก่อสร้างบนที่ดินของครอบครัว ลักษณะเป็นที่ดินเปล่าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 324 ตารางวา มีความยาวถึง 80 เมตร  ด้านหน้าหันไปทางทิศเหนือ บริบทโดยรอบเป็นชุมชนพักอาศัย ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว สถาปนิกจึงวางตำแหน่งของบ้านไว้ค่อนไปทางทิศใต้และทิศตะวันออกของที่ดิน เพื่อให้มีพื้นที่ว่างบริเวณหน้าบ้านทางทิศเหนือ ทำให้หากมองภายนอก เราจะเห็นเป็นบ้านสีขาวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสะอาดตาที่ถูกจัดวางให้ขนานไปกับความยาวของที่ดิน สร้างภาพจำและความโดดเด่นด้วยรูปทรงอาคารที่เรียบง่ายแต่ดูมั่นคง และมีช่องเปิดเท่าที่จำเป็น เนื่องจากต้องการสร้างความเป็นส่วนตัวขณะอยู่ในบ้านนั่นเอง

มุมมองจากห้องทำงานออกไปยังคอร์ตยาร์ต สถาปนิกเลือกต้นไม้ใหญ่เพียงต้นเดียวเพียงนำสายตา และความสะดวกการดูแลรักษาในระยะยาว
บันไดบริเวณโถงทางเข้าบ้านที่ขึ้นไปจะพบกับห้องนอนแขก ซึ่งชั้น 2 จะไม่สามารถเชื่อมต่อไปยังชั้น 2 ของเจ้าของบ้านได้
บ้านมินิมอล บันไดวน
โถงบันไดวนที่จะพาขึ้นไปยังห้องนอนของเจ้าของบ้าน เฟอร์นิเจอร์ที่เลือกใช้เน้นเส้นสายโค้งมนเพื่อสร้างความรู้สึกต่อเนื่องกับตัวโครงสร้างของบันได

บ้านมินิมอล แบบบ้านมินิมอล แบบห้องน้ำ
ฝักบัวที่ติดตั้งแบบ his & her เพื่อแก้ข้อจำกัดเดิมจากที่เคยอยู่คอนโดแล้วต้องการใช้ห้องน้ำพร้อมกัน

เมื่อพิจารณาทั้งประเด็นเรื่องลักษณะที่ดินและบริบทโดยรอบแล้ว ขั้นตอนการออกแบบจึงเกิดเป็นแนวคิดซึ่งเป็นชื่อเดียวกับบ้านอย่าง House Between the Wall ด้วยการสร้างกำแพงจากโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กแล้วทาสีขาว มีความหนา 30 ซม. วางตำแหน่งกำแพงให้ขนานไปกับที่ดินด้วยความยาวถึง 40 เมตร และมีระยะของเสาทุก ๆ 6 เมตร ในส่วนของการออกแบบพื้นที่ใช้สอยคำนึงถึงฟังก์ชันเพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์มากที่สุด ทั้งลำดับการเข้าถึง การสร้างความเป็นส่วนตัวในแต่ละพื้นที่ มุมมองที่สามารถมองออกไปภายนอกและช่องแสงธรรมชาติเรียงร้อยเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างประสบการณ์การเข้าถึงพื้นที่ที่เป็นเอกลักษณ์และแสดงตัวตนของเจ้าของบ้าน

บ้านระหว่างกำแพงนี้เป็นบ้านพักอาศัยขนาด  2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 260 ตารางเมตร โดยได้แยกพื้นที่ภายในออกเป็น 2 ส่วน แบ่งเป็นส่วนสำหรับแขกและเจ้าของบ้าน โดยจะแยกบันไดออกเป็น 2 ตำแหน่ง เพื่อให้ทางสัญจรทำหน้าที่แบ่งความเป็นส่วนตัวในการใช้งานแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน บันไดตำแหน่งแรกที่จะพบหลังจากเดินเข้ามาภายในบ้าน คือ บันไดที่จะพาขึ้นไปยังห้องนอนของคุณแม่และห้องนอนสำหรับแขก ส่วนบันไดตำแหน่งที่สองจะเป็นบันไดวนที่เป็นอีกหนึ่งหัวใจของบ้านจะทำหน้าที่ส่งขึ้นไปยังห้องนอนหลักของเจ้าของบ้าน  ซึ่งพื้นที่ชั้น 2 จะไม่สามารถเดินเชื่อมถึงกันได้

บ้านมินิมอล แบบบ้านมินิมอล แบบห้องน้ำมินิมอล

และเมื่อชั้น 2 ถูกแยกพื้นที่ออกจากกันอย่างเด็ดขาด ทำให้สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้ชั้น 1 เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนสามารถมาใช้เวลาร่วมกันได้ ทั้งบริเวณห้องครัวที่อยู่บริเวณเดียวกันกับพื้นที่รับประทานอาหาร ตลอดจนห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ถูกออกแบบในลักษณะ open plan ที่สามารถเปิดประตูเชื่อมต่อกันและปรับเปลี่ยนการใช้งานพื้นที่ได้ตามความต้องการ (multi function) และเน้นการรับรู้ถึงพื้นที่ด้วยการจัดวางเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง แทนการสร้างผนังกั้นห้อง อีกทั้งยังเป็นการระบายอากาศให้หมุนเวียนผ่านในบ้านได้อย่างทั่วถึง สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย พร้อมทั้งลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศและไฟส่องสว่างได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

สถาปนิกวางตำแหน่งไฟส่องสว่างทั้งภายในภายนอกบ้านเฉพาะจุดที่สำคัญ ภายนอกเป็น up light เพื่อเน้นความงามของสถาปัตยกรรม ส่วนภายในจะเป็นไฟส่องเฉพาะจุดไปที่ของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์เป็นหลัก เพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมือนกับแกลเลอรี่ที่ทั้งคู่ต้องการ

นอกจากนั้น สถาปนิกยังดึงประโยชน์จากธรรมชาติเข้ามาใช้ในบ้าน ด้วยการวางตำแหน่งของพื้นที่ซักล้างและห้องน้ำไว้ทางทิศใต้ซึ่งอยู่ด้านหลังบ้านพอดี ทั้งนี้ก็เพื่อให้แสงและความร้อนจากธรรมชาติช่วยกำจัดกลิ่นและความชื้นที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงยังออกแบบคอร์ตยาร์ดสำหรับปลูกต้นไม้ไว้ตรงบริเวณโถงทางเข้าบ้านและห้องทำงาน ที่ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดขอบ้านก็จะสามารถมองเห็นต้นไม้ทั้งสองต้นนี้ได้จากทุกมุม ซึ่งเป็นประโยชน์ให้แง่ของทั้งการสร้างบรรยากาศภายในบ้าน และการได้แสงและลมธรรมชาติที่ผ่านเข้ามาทางช่องเปิดได้อย่างที่ต้องการ

สำหรับการตกแต่งภายใน สถาปนิกตั้งใจให้ภาพรวมนั้นออกมามินิมอลเช่นเดียวกับภายนอก เมื่อเข้ามาภายในก็ถูกต้อนรับและโอบล้อมด้วยพื้นที่สีขาวทั้งหมด ให้กลิ่นอายความเป็นแกลเลอรี่ไปในตัว เนื่องจากทั้งคู่ชื่นชอบการสะสมของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว โดยเน้นวัสดุกรุผิวเป็นสีขาวเป็นหลัก เปรียบเสมือนกับผืนผ้าใบสีขาว เพื่อทำหน้าที่ขับเน้นให้เฟอร์นิเจอร์ที่ถูกจัดวางอย่างตั้งใจให้โดดเด่นออกมา ซึ่งนอกจากผนังสีขาวแล้ว พื้นบ้านสีขาวก็เคลือบด้วยอีพ็อกซี่ที่นอกจากสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกับองค์ประกอบรวมแล้วยังง่ายต่อการทำความสะอาดอีกด้วย

เจ้าของ: คุณธนัทเกียรติ จงเกรียงไกร และ คุณกนกกาญจน์ เฮงอุดมทรัพย์
ออกแบบ: AA+A Architect     โทร: 087-810-3101    อีเมล์: [email protected]
ภาพ: VARP STUDIO
เรื่อง: ektida n.

HOUSE C+I บ้านโมเดิร์นมินิมอล กะทัดรัด ในสัดส่วนที่พอเหมาะ