สร้างสเปซเพื่อเชื่อมต่อผู้คนผ่านสีสันในแบบของ STUDIO ACT OF KINDNESS

อาจเรียกได้ว่า “มนุษย์” เป็นสัตว์สังคมเพียงกลุ่มเดียวที่ต้องการการมีปฏิสัมพันธ์ตลอดช่วงชีวิต มีการรวมตัวเป็นหมู่คณะเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ พัฒนาและพึ่งพาอาศัยกันตลอดเวลา

หากแต่การอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ย่อมต้องมีกฎเกณฑ์และหาจุดร่วมที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งการอยู่รวมกันนี้ไม่เพียงแค่ในรูปแบบของสังคมใหญ่ อย่างการไปโรงเรียน ไปทำงาน ฯลฯ แต่ยังหมายรวมถึงการอยู่ร่วมกันภายในพื้นที่ขนาดเล็กอย่างที่อยู่อาศัย ก็นับเป็นหนึ่งในรูปแบบของการอยู่ร่วมกัน เพราะแค่คนสองคนก็เกิดเป็นสังคมขนาดย่อม ๆ ได้

และไม่ว่าจะเป็นโครงการประเภทไหน ขนาดพื้นที่เท่าไหร่ ทุกพื้นที่มักแบ่งออกตามลำดับการเข้าถึง เพื่อสร้างรูปแบบพื้นที่ให้สอดคล้องกับการใช้งาน โดยมักแบ่งออกเป็นพื้นที่ไพรเวต กึ่งไพรเวต และพับลิก ความน่าสนใจ คือทำอย่างไรให้พื้นที่พับลิก หรือพื้นที่สาธารณะที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากเกิดความพึงพอใจและตอบโจทย์ทุก ๆ คน การหาจุดร่วมอาจเป็นคำตอบของคำถามนี้ ตามไปฟังแนวคิดการออกแบบของ คุณชารีฟ ลอนา จาก STUDIO ACT OF KINDNESS นักออกแบบที่หลงใหลในเสน่ห์ของโทนสีเข้มขรึม แต่บรรดาลูกค้ากลับมองเห็นสีสันที่ซ่อนอยู่ในตัวเขา และมักชวนมาออกแบบโปรเจ็กต์ที่เต็มไปด้วยสีสันจัดจ้า ซึ่ง “สี” ได้กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของ STUDIO ACT OF KINDNESS ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนผ่านสเปซได้อย่างน่าสนใจ

หาจุดร่วมของความต่างกันในพื้นที่เดียว

คุณชารีฟ:“งานออกแบบของสตูดิโอผม เราเน้นไปที่แนวคิด Mutuality เพราะแต่ละคนมีความชอบแตกต่างกัน แต่เราต้องหาความชอบบางอย่างที่เหมือนกันให้เจอ แล้วนำตรงนั้นมาเป็นโจทย์และใช้ต่อยอด เพื่อดึงคนที่มีความคิด หรือแบ็กกราวน์ต่างกันให้สามารถใช้พื้นที่เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันได้ผ่านไอเดียนี้

สี จึงนับเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้โจทย์ในเรื่องของ Mutuality สามารถเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ เนื่องจากสีมีผลต่อความรู้สึกของผู้อยู่อาศัย เช่น สีโทนร้อน-เย็น ที่ให้ความรู้สึกถึงการใช้สเปซแตกต่างกัน หากเป็นบ้านพักอาศัย สีจะช่วยทำหน้าที่ดึงผู้คนให้มีความรู้สึกแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกผ่อนคลาย และรู้สึกกระฉับกระเฉง ในขณะเดียวกันสำหรับโปรเจ็กต์คอมเมอร์เชียล สีจะสะท้อนถึงตัวตนลูกค้า ที่ผ่านมาเราเจอลูกค้าที่ชอบสไตล์แบบนี้ เขาก็จะชอบสีแบบนี้ สีจึงทำหน้าที่ช่วยให้คนมีความรู้สึกแตกต่างกัน และยังสามารถนำเสนอถึงตัวตนของคนได้อีกด้วย

สร้างความเป็นหนึ่งเดียวและสะท้อนตัวตนผ่านการเลือกใช้เฉดสี

คุณชารีฟ:ในจิตวิทยาการดีไซน์ สีเป็นแนวทางแรกที่ทำให้คนเห็นพ้องต้องกัน สามารถใช้กับงานได้หลายอย่าง เช่น พื้นที่อยู่อาศัยที่มีความต่างกันในเรื่องของเจเนอร์เรชั่น การใช้สีมาเป็นคีย์หนึ่งที่ทำให้ความต่างของวัยสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้นับเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก หรืออย่างการดีไซน์ในงานโฆษณา สีช่วยทำหน้าที่สะท้อนแบรนด์ดิ้ง หรือคาแรคเตอร์ได้อย่างชัดเจน หรือการทำบูทีคร้านเสื้อผ้า เฉดสีที่มีความคัลเลอร์ฟูลมักเป็นตัวกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง หรือทำให้รู้สึกเซ็กซี่ มีความมั่นใจในตัวเอง เป็นการสร้างจิตวิทยาให้คนรู้สึกร่วมไปกับโปรดักต์

“งานที่ผ่านมาค่อนข้างมีหลายสเกล เช่น โปรเจ็กต์ตกแต่งภายในคอนโดฯ ส่วนตัว ลูกค้าชื่นชอบ Wes Anderson ที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เราจึงใช้เฉดสีในภาพยนตร์มาแกะรายละเอียด ดูว่าแต่ละพื้นที่ลูกค้าอยากมีความรู้สึกอย่างไร เราก็มาไล่เฉดสี แล้วผสมความเป็นพาสเทลลงไป แม้แต่งานสถาปัตยกรรมก็มีตัวอย่าง เช่น บ้านตากอากาศที่ปราณบุรี เราสร้างงานนี้เพื่อนำเสนอความละเมียดละไมผ่านตัวอาคาร ให้เห็นถึงความรักของลูกที่มีต่อพ่อแม่ ตัวสีที่เราใช้มาจาก Volcanic ที่เป็นสีแดง เมื่อนำมาใช้บนตัวอาคาร ได้ช่วยให้บ้านมีความโดดเด่น ท่ามกลางพื้นที่รายล้อมไปด้วยต้นปาล์ม นอกจากนี้สีแดงช่วยสะท้อนถึงความรู้สึกของเจ้าของบ้านที่อยากจะสร้างบ้านให้พ่อกับแม่ ทั้งยังเป็นสีที่ไม่ต้องไปดูแลมาก ยิ่งนานก็ยิ่งสร้างคุณค่าให้ตัวมันเอง วิธีการใช้สีในแต่ละโปรเจ็กต์ของเราจะมีการนำไปใช้ในรูปแบบที่ต่างกัน

แนวโน้มของสีเพื่อกำหนดทิศทาง

คุณชารีฟ:“สำหรับผมเทรนด์สีมีผลต่องานที่เป็นคอมเมอร์เชียล เพราะการสร้างรสนิยมร่วมกันของคนในสังคมที่มีจำนวนเยอะมาก ๆ สีทำหน้าที่เดียวกันกับการสร้างความเห็นพ้องต้องกัน เทรนด์เป็นตัวกำหนดทิศทางของวัฒนธรรม ทิศทางของอุตสาหกรรมงานดีไซน์ เพื่อโน้มน้าวให้คนเห็นพ้องต้องกันว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สวย และรับได้กับกระแสนี้

“หากเป็นงานที่พักอาศัยเราก็จะนำมาใช้กับองค์ประกอบที่ปรับเปลี่ยนได้ง่าย เช่น การทำผ้าบุ หรือวอลล์เปเปอร์ เพราะสามารถอ้างอิงความเป็นเทรนด์ในปัจจุบันได้ แต่ถ้าวันหนึ่งอยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนได้ง่าย แต่ถ้าเป็นตัวสถาปัตยกรรมจะมีสีที่ Represent คาแรคเตอร์ของตัวเองอยู่แล้วประมาณ 70%”

 

ความสวยที่สัมพันธ์ไปกับผู้คน บริบทและโจทย์

คุณชารีฟ:“ผมคิดว่าสีเป็นเรื่องของสุนทรียศาสตร์ ไม่ได้มีถูกหรือผิด ยกตัวอย่าง สีแดงเฉดนี้ ถ้ามาอยู่ในโปรเจ็กต์นี้ อาจจะผิดก็ได้ เพราะไม่ได้ทำให้คนที่อยู่อาศัยมีความสุข มันขึ้นอยู่กับการพิจารณาบริบท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวบุคคล สภาพแวดล้อม บรรยากาศ หรือฟังก์ชันการใช้งาน การจัดการกับโทนสีเป็นเรื่องที่เปิดกว้างสำหรับผมมาก ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวที่รู้สึกว่าสีนี้ไม่คู่ควรกับสีนี้ ความสวยงามขึ้นอยู่กับความสมเหตุสมผลของโจทย์นั้น ซึ่งแต่ละโปรเจ็กต์ก็จะมีโจทย์และตัวแปรที่ไม่เหมือนกัน”

โทนสีที่ใช่ ตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่ชอบ

คุณชารีฟ:“หากเป็นบ้านที่เป็นเรื่องส่วนบุคคล ในฐานะที่เป็นนักออกแบบจะต้องใช้เวลาในการศึกษาบุคคลนั้น ๆ ต่อให้เจ้าของบ้านชอบสีเขียว แต่อารมณ์ไหนละที่เขาชอบ ในขั้นตอนการทำงานเราใช้รายละเอียดเยอะเหมือนกัน สำหรับการทำโค้ดสี หรือแม้แต่การสร้างแบรนด์ แบรนด์ก็เหมือนคนหนึ่งคนที่มีลักษณะ หรือบุคลิกที่โดดเด่น ซึ่งจะต้องโดดเด่นกว่าแบรนด์อื่น ๆ เช่น เป็นแบรนด์ที่ถูกกำหนดไว้ว่า เป็นเสื้อผ้าที่มีความ Unisex เราจะไม่ใช้สีโทนหวาน เสื้อผ้าเด็กผู้หญิง เราก็จะลงมาในโทนสีผสมขาว หรือเสื้อผ้าของผู้หญิงที่เป็นคนทันสมัย เราก็จะใช้โทนสี Hue หรือสีสดเยอะ ๆ แต่มันก็จะมีตัวที่ทำให้ทุกอย่างบาลานซ์กัน ถ้ามี 5 ความต้องการ 5 สี จะต้องมีสีตรงกลางที่เราใช้เสมอ นั่นก็คือ สีเทา หรือสีที่ติด Taupe ขึ้นมา เช่น เขียวตุ่น แดงตุ่น จะทำให้สีสด ๆ 5 สี สามารถผนวกเข้ากันได้ และทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนไปเลย เราสามารถจัดการความวุ่นวายเหล่านั้นให้ลงตัวได้

 

ย้อนวันวานในบรรยากาศชวนฝันด้วยเฉดสีเขียวของสวนพฤกศาสตร์

คุณชารีฟ:อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ คืองานออกแบบที่พักอาศัย ซึ่งเจ้าของบ้านทั้งสองคนคบกันมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาที่อเมริกา แล้วไปเดทกันที่ Botanical Garden เราจึงนำโทนสีเขียวที่เป็น Botanical มาแบ่งเป็นพาเลต เป็นเฉดสีเขียวที่ผสมกับสีของดอกไม้ เช่น สีของดอกพีโอนีคู่กับสีเขียวเสจ หรือสีเขียวพาสเทลคู่กับโมร็อกกันโรส เราอยากออกแบบบ้านที่ทำให้ทั้งคู่นึกย้อนไปถึงช่วงเวลาที่ได้เจอกัน จนถึงการใช้ชีวิตคู่ และมีลูกด้วยกัน ซึ่งโปรเจ็กต์นี้ก็ทำให้คนสองคนและลูกได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องราวในครอบครัวด้วยโทนสีทั้งหมดที่เราใช้ ตัวสีจะถูกใช้ในพื้นที่ตั้งแต่โถงบันได และห้องของลูก ๆ เราจะใช้สีเป็นตัวนำ ในการใช้สเปซหนึ่งไปยังอีกสเปซหนึ่ง

 

เรียกได้ว่าพลังแห่งสี สามารถช่วยเชื่อมโยงผู้คนที่มีความต่างให้สามารถอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวได้ ทั้งในงานสเกลที่อยู่อาศัย และพื้นที่สาธารณะ การเลือกสรรเฉดสีที่ตอบโจทย์เพื่อสื่อสารถึงอารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงสะท้อนตัวตนออกมาได้อย่างชัดเจนผ่านงานออกแบบ จึงกลายเป็นภาพจำแรกที่เราจดใจได้ง่าย ผ่านฝีไม้ลายมือของ คุณชารีฟลอนา แห่ง STUDIO ACT OF KINDENESS

โดยเทรนด์สี Trend Beyond Colours 2022-23  นี้มาภายใต้ธีมRESET โทนสีที่เปรียบเสมือนตัวแทนที่ช่วยสะท้อนสภาพจิตใจและมุมมองที่มนุษย์มีต่อโลก อันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีความรู้สึกผ่อนคลายและความมีสติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญก่อนเตรียมพร้อมสำหรับการพบเจอกับเรื่องราวดี ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และชุดสีอีกชุดที่เราจะชวนไปทำความรู้จักคือ Reconnect คอนเซ็ปต์ที่ว่าด้วยการส่งเสริมให้ผู้คนเกิดปฏิสัมพันธ์เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่า ที่มาพร้อมเฉดสีหลักอย่าง Dried Palm หรือสีใบปาล์มแห้ง ที่มีพลังในการกระตุ้นให้ผู้คนเกิดปฏิสัมพันธ์กัน

RECONNECT :แต่งแต้มสีสัน ให้ทุกช่วงเวลาดีขึ้นไปด้วยกัน

เพราะมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่จำเป็นต้องเข้าสังคม ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน การสร้างความทรงจำร่วมกับครอบครัว หรือแม้กระทั่งการใช้เวลาสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ถึงแม้จะมีช่วงเวลาที่ต้องแยกมาอยู่กับตัวเอง แต่ท้ายที่สุดแล้ว การมีช่วงเวลาและพื้นที่ให้ใช้เวลาร่วมกันก็เป็นสิ่งที่มนุษย์โหยหา ฉะนั้นเรามาสร้างช่วงเวลาดี ๆ กันเถอะ

สำหรับสีในคอนเซ็ปต์ RECONNECTได้มุ่งเน้นไปที่การใช้สีเพื่อสร้างสรรค์ความสนุกสนาน และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสมดุลระหว่างการต้อนรับ ความร่าเริง และสีสันที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ชุดสีเหล่านี้จะทำให้คุณยิ้มได้ พร้อมเริ่มต้นการสร้างบทสนทนา หรือการเชิญชวนอย่างเป็นมิตรให้ผู้คนกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง

RECONNECTชุดสีนี้มีพลังในการนำทางและสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่สาธารณะได้เป็นอย่างดี

RECONNECTKEY COLOR :DRIED PALM: สีใบปาล์มแห้ง

สีเหลืองสดใสและดูนุ่มนวลด้วยสัมผัสของสีเขียวธรรมชาติ Dried palm หรือสีใบปาล์มแห้ง ซึ่งเป็นสีที่เป็นตัวแทนของความสามัคคี ออกแบบมาให้สามารถใช้ร่วมกับคู่สีอื่น ๆ ได้อย่างลงตัว เพื่อสื่อถึงความเงียบสงบ ทว่าดูสดใส ช่วยสร้างความโดดเด่นท่ามกลางความเงียบงัน

COLOR STORY ONE : GO GREEN!

สีเขียวอมเหลืองอย่าง DRIED PALM และสีเขียวน้ำเงินอย่าง GREEN GABLEเมื่อนำมาจับคู่กันแล้ว จะเกิดเป็นความกลมกลืน และสร้างสมดุลของชุดสีเขียว เพิ่มสัมผัสอันนุ่มนวลด้วยสีโทนอุ่นอย่าง OLD PHOTO เพื่อสร้างความเชื่อมโยงที่สมบูรณ์แบบ เข้ากันดีกับเฟอร์นิเจอร์และพื้นไม้ได้อย่างดี

GREEN GABLE – BGG 1813A
DRIED PALM – BGG 1721T
OLD PHOTO – N 3201P

COLOR STORY TWO :SWEET SENSATION

เติมรอยยิ้มให้กับบ้านด้วยสีพาสเทล SOULMATE สีม่วงของดอกไลแลค ตัวแทนแสงอาทิตย์ยามเย็น เพิ่มความมีชีวิตชีวาด้วย ZINNIA SCENT สีชมพูดูเชื้อเชิญให้เริ่มบทสนทนา และ DRIED PALM ที่พร้อมต้อนรับในทุกที่และทุกสถานการณ์

SOULMATE – PB 1447P
ZINNIA SCENT – R 1284P
DRIED PALM – BGG 1721TNY

COLOR STORY THREE :PRIMARY PLAY

ค้นพบความซับซ้อนในการมิกซ์สีสันที่แตกต่างเข้าด้วยกัน อย่างสีสุคคลาสสิก PICKET FENCES เข้ากับ WATERMELON LOLLY สีแดงจัดจ้า และสีน้ำเงินเปล่งประกาย BLUE STAR เกิดเป็นชุดสีที่ดูปราดเปรื่องในการรังสรรค์สเปซ เหมาะสำหรับใช้บนผนังด้านใดด้านหนึ่ง หรือสีของเฟอร์นิเจอร์ที่สดใส เพื่อช่วยปลุกบรรยากาศรอบตัวให้มีพลัง

PICKET FENCES – BGG 1712P
WATERMELON LOLLY – R 2369A
BLUE STAR – PB 2819T

ค้นพบและเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจของ Trend Beyond Colours 2022-23 เฉดสีทั้งหมด และ ดาวน์โหลดแค็ตตาล็อกได้ที่ https://bit.ly/TBC2022-23_Room

หรือร่วมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญทุกงานสีจากนิปปอนเพนต์ได้ที่
Facebook: Nippon Paint Decorative
Line: @nipponpaint
Careline: 02-4631899

.

#NipponPaint #นิปปอนเพนต์ #TheCoatingsExpert #TheColoursExpert #TrendBeyondColour2022 #ColourTrends #ColourTrends22 #เทรนด์สีปี22

รังสรรค์สเปซแห่งความสมดุล ด้วยเฉดสีสไตล์ PHTAA Living Design