RIPPLE  ฉากกั้นพลิ้วไหวจากไม้ผสานวัสดุรีไซเคิล

การหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องวัสดุที่โรงงานถนัดและคุ้นชิน จนออกมาเป็น ฉากกั้น ที่มีความแข็งแรง ทว่าพลิ้วไหวเหมือนคลื่น ช่วยลบภาพฉากกั้นแบบเดิม ๆ ที่ต้องปิดกั้นมุมมอง และเน้นเฉพาะความคงทนไปเสียสนิท กับโปรเจ็กต์ Emerging PLANT พื้นที่การเรียนรู้ด้านการออกแบบจากประสบการณ์จริง บนสนามธุรกิจของจริง สำหรับนักออกแบบรุ่นเล็ก โดยมีการดูแลจากรุ่นพี่มืออาชีพ

“RIPPLE” คือชื่อผลงานแบบตรงไปตรงมา กลายเป็น ฉากกั้น ฝีมือการออกแบบของ คุณขิม-ปาณิสรา ศรีพวก นักออกแบบรุ่นเล็กที่ร่วมมือกับแบรนด์ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้อย่าง  HOOG โดยได้ คุณพุทธิ ศุภพิพัฒน์ Business Development ตัวแทนจากผู้มากประสบการณ์ด้านงานไม้  ภายใต้คำแนะนำด้านการออกแบบโดย คุณเดชา อรรจนานันท์ ดีไซเนอร์จาก THINKK STUDIO สตูดิโอออกแบบที่สนใจเรื่องงานทดลองกับการใช้วัสดุได้อย่างสนุกสนาน

RIPPLE  ฉากกั้นพลิ้วไหวจากไม้ผสานวัสดุรีไซเคิล RIPPLE  ฉากกั้นพลิ้วไหวจากไม้ผสานวัสดุรีไซเคิล RIPPLE  ฉากกั้นพลิ้วไหวจากไม้ผสานวัสดุรีไซเคิล

จากความสนใจเดิมของคุณปาณิสราที่ชื่นชอบในงานทดลอง และได้ใช้วัสดุพลาสติก PET ในการทำวิทยานิพนธ์เมื่อตอนศึกษาที่คณะมัณฑศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Emerging PLANT ที่จัดขึ้นโดย Design PLANT ภายใต้โจทย์ DOMESTIC จึงตั้งต้นจากการทำความรู้จัก ศึกษาวัสดุที่ทางผู้ประกอบการอย่าง HOOG มีก่อน แล้วค่อยนำมาเชื่อมโยงกับโจทย์ที่ได้รับ เพื่อต้องการให้คนเข้าถึงและผลงานสามารถจับต้องได้ง่าย

หลังจากได้รับโจทย์การออกแบบในหัวข้อ Domestic จึงตีความเชิงการตลาดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ค่านิยมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนเป็นการซื้อของภายในประเทศ นำไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ซื้อง่าย มีฟังก์ชัน และสามารถถอดประกอบเพื่อง่ายต่อการขนส่ง  โดยมีแนวคิดหลักคือ Combining Industrial & Craftsmanship ที่ผลิตจากวัสดุ 2 ชนิด ได้แก่ ไม้โอ๊ก และ Coffee Ground วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการรีไซเคิลพลาสติกกับกากกาแฟ แล้วขึ้นรูปใหม่มาผสานเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อช่วยลดต้นทุน และลดปริมาณไม้ ทั้งยังสามารถนำวัสดุกลับไปสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นงาน สามารถปรับเปลี่ยนแพตเทิร์นได้ตามความชอบ หรือความต้องการของผู้บริโภค

จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นฉากกั้นที่มีโครงสร้างหลักเป็นแกนไม้โอ๊กกลึง ร้อยเรียงต่อกันไว้ด้วยเส้น  Coffee Ground นอกจากทำหน้าที่ยึดชิ้นส่วนแล้ว ยังช่วยให้ชิ้นงานดูพลิ้วไหว มีมิติ ลดทอนความแข็งกระด้างของแท่งไม้ ด้วยเทคนิคนี้ทำให้ไม่ต้องใช้ตัวประสานในการยึดใด ๆ และสามารถปรับเปลี่ยน ถอดประกอบได้ ในคอลเล็กชันมีทั้งพาร์ทิชันแบบแขวน พาร์ทิชันตั้งโต๊ะขนาดเล็ก และแอ๊กเซสซอรี่ส์สำหรับเสียบกระดาษ หรือของใช้ขนาดเล็ก

RIPPLE  ฉากกั้นพลิ้วไหวจากไม้ผสานวัสดุรีไซเคิล RIPPLE  ฉากกั้นพลิ้วไหวจากไม้ผสานวัสดุรีไซเคิล

ทำความรู้จักวัสดุก่อนนำไปตีโจทย์

ปาณิสรา: “ส่วนตัวชอบทำงานเชิงทดลอง แต่พอจะได้มาจับคู่กับโค้ชก็รู้สึกยากมาก เพราะสไตล์การทำงานที่ต่างกันจึงลองปรึกษากัน เริ่มจากพากันไปโรงงาน ไปดูวัสดุก่อน จึงนำกลับมาคิดต่อว่า เราสามารถนำวัสดุไปทำอะไรได้บ้าง จากนั้นค่อยนำแบบร่างผลงานมาให้กับทีมที่คิดผลงานดูแบบที่เราคิดไว้ประมาณนี้ ว่าพอจะเป็นไปได้ไหม แต่พอมันเป็นความคิดแรกที่ดราฟ ก็อาจจะเป็นงานที่ยังใช้จริงไม่ได้  ทางทีมคิดผลงานจึงต้องนำมาปรับและพัฒนาจากแบบร่างผลงานที่เสนอไปในตอนแรก และเก็บส่วนที่เป็นไปได้สามารถใช้ได้จริงไปทำงานต่อ”

เดชา: “ในตอนแรกเราเริ่มจากพาน้องขิมมาดูโรงงานด้วยกันก่อน ทางโรงงานก็พอจะมีทักษะในการทำงานไม้อยู่แล้ว และยังมีวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย นั้นคือวัสดุที่ทำจากพลาสติก PET มารีไซเคิลกับกากกาแฟ ซึ่งเราเห็นว่าเป็นวัสดุที่น่าสนใจ  จึงนำไม้และวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้มาเป็นหนึ่งในโจทย์ที่นำมาสร้างสรรค์ผลงาน”

ก้าวข้ามขีดจำกัดของวัสดุ

เดชา: “ในตอนแรกน้องขิมคิดผลงานมาในรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์แต่มันดูฝืนธรรมชาติของวัสดุที่เลือกมา เนื่องจากตัววัสดุไม่ได้มีความแข็งแรงขนาดที่จะมารับน้ำหนักในปริมาณมาก ๆ ได้ จึงลองคิดปรับปรุงให้เป็นชิ้นงานในสเกลที่ไม่ได้รับน้ำหนักมาก เช่น พาร์ทิชัน สกรีน ของตั้งโต๊ะ และเครื่องเขียน

“ทางโรงงานช่วยได้เยอะเพราะเขามีประสบการณ์ในเรื่องเกี่ยวกับทักษะงานไม้ และขนาดที่เหมาะสม น้อง ๆ มีไอเดีย แต่อาจจะไม่คุ้นเคยกับสเกลของงานไม้ ว่าอันไหนทำได้ไม่ได้  ผมแค่ช่วยตบในส่วนของฟังก์ชันให้เหมาะสม หรือคิดให้เป็นคอลเล็กชัน จากพาร์ทิชันอย่างเดียวแขวนลงมา ขยายมาเป็นแบบตั้งโต๊ะไหม”

พุทธิ: “พอได้โจทย์และแบบมาจากนักออกแบบ เราก็ลองเอามาวิเคราะห์ดูว่าตัวไม้แบบไหนที่จะเหมาะสมกับดีไซน์ที่ได้มา ความหนาของไม้ รูปแบบจะเป็นอย่างไรให้ถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะหากเลือกไม่เหมาะสมอาจจะก่อให้เกิดความไม่คุ้มทุนได้ ที่สำคัญคืออาจจะเพิ่มความซับซ้อนให้กับผลงานโดยเปล่าประโยชน์”

ลงสนามทำงานจริงแบบมืออาชีพ

ปาณิสรา: “จากที่ไม่เคยทำงานกับผู้ผลิตโดยตรงมาก่อน  การร่วมงานในครั้งนี้จึงได้ประสบการณ์ในการคุยกับทางผู้ประกอบการณ์ค่อนข้างเยอะ เพราะปกติก่อนหน้านี้จะเป็นการทำเองหรือไม่ก็จ้างช่าง  ก็จะเป็นการคุยแค่สองคน แต่อันนี้คือการวางแผนระยะยาว แล้วด้วยความที่ต้องคุยทั้งสองกลุ่มยิ่งต้องพยายามจัดการให้เข้าใจกันทุกฝ่าย”

เดชา:  “ประเด็นนี้จะเป็นปัญหาหลัก ๆ ของนักศึกษาที่พึ่งเรียนจบ น้อง ๆ จะมีปัญหากับการสื่อสารและสั่งงานกับทางโรงงาน ไม่เข้าใจในมาตรฐานในตัวของวัสดุ โปรเจ็กต์นี้จึงเป็นโปรเจ็กต์ที่ดีที่ให้ลองฝึก ลองทำจริง จะได้ทราบถึงการทำงานของนักออกแบบมีการสื่อสารและจัดสรรงานอย่างไร ต้องทำตัวอย่างชิ้นงานอย่างไรให้ทางโรงงานเห็นภาพได้มากที่สุด”

พุทธิ: “พอทางดีไซเนอร์มีแบบมาให้ ทางเราก็จะช่วยดู ช่วยวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ว่าสามารถทำได้จริงไหม จะสามารถทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคได้ไหม ช่วยให้ไอเดียและคำแนะนำให้ปรับปรุง แต่จะพยายามเก็บความเป็นตัวตนของนักออกแบบไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ทางดีไซน์และทางโปรดักชั่นสามารถทำควบคู่กันไปได้”

โอกาสในการก้าวเข้าสู่การเป็นดีไซเนอร์เต็มตัว

เดชา:  “ตั้งแต่ปีแรกก็คาดหวังถึงผลงานที่อาจจะนำมาพัฒนาและต่อยอดทำงานร่วมกับทางโรงงานได้ต่อ ไม่ว่าจะเป็นผลงานชิ้นนี้เลย หรืองานในอนาคต หลังจากที่ได้รู้จักและลองสร้างผลงานขึ้นมาแล้ว อาจจะมีโอกาสในการทำงานร่วมกันต่อ และอีกความคาดหวังคือการเป็นต้นแบบให้กับรุ่นน้องที่เพิ่งจบใหม่ไม่รู้สึกเคว้ง เพราะมีโปรเจ็กต์ที่รองรับ ให้ฝึกฝนก่อนที่จะได้ไปทำงานจริงหรือไปเรียนเพื่อต่อยอด เหมือนเป็นเวทีที่ไปถึงจุดหมายที่ต้องตั้งใจเรียนเพื่อที่จะได้มีโอกาสมาร่วมโปรเจ็กต์ของเรา”

พุทธิ: “ผมว่านักออกแบบรุ่นใหม่จะมีไอเดียที่ใหม่และแตกต่างไปจากสมัยก่อน จะไม่ผูกติดกับอะไรเดิม ๆ จะคิดนอกกรอบ ที่แตกต่างออกไป จึงเป็นทางที่ทำให้ทางตลาดที่รองรับอาจจะต้องการแนวคิดนี้ในการไปพัฒนาและต่อยอด ทางโรงงานก็พยายามเสนอศักยภาพในเชิงการผลิตและความต้องการสื่อสารถึงจุดขาย ส่วนทางดีไซเนอร์ก็จะช่วยในการคอมเมนต์ผลงานว่าถ้าเป็นผู้บริโภคจะต้องการอย่างไร ช่วยดูความเหมาะสมของผลงาน”

ปาณิสรา: “หลังจากที่ได้ทำโปรเจ็กต์ร่วมกันก็จะได้การทำงานเชิงระบบ เหมือนเป็นแบบอย่างในการทำงานในครั้งต่อ ๆ ไป จะได้นำไปพัฒนาตนเองว่าขาดตกบกพร่องตรงไหนบ้าง เราควรปรับปรุงส่วนใด ได้มีประสบการณ์ในการคุยกับทางโรงงานเอง คุยกับลูกค้า คุยกับทางผู้ประกอบการ ได้เรียนรู้ถึงเวลาทำงานจริง ๆ ว่าเป็นอย่างไรและต้องรับมือแบบไหน”

เดชา :  “หลังจากที่น้อง ๆ ได้เข้ามาทดลองโปรเจ็กต์กับเราน้อง ๆ จะได้ต้นแบบงานชิ้นใหม่ ทั้งคอมเมนต์ทั้งจากทางโรงงานและจากคนที่อยู่ในสายอาชีพ จะมีพื้นฐานของชิ้นงานที่มีคุณภาพ จะมีพอร์ตที่เป็นโปรไฟล์ที่ดีชิ้นหนึ่ง มีทั้งผลงานการแสดงผลงาน และได้มีความสัมพันธ์ในการรู้จักกับทางโรงงาน และจากคนที่อยู่ในสายอาชีพจริง ๆ ได้คำแนะนำดีๆเอาไว้ใช้เรียนต่อหรือนำไปสมัครงาน นำไปเสนองานลูกค้าได้ และพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ของเด็กกลุ่มใหม่ก็จะกลายเป็นความเป็นไปได้ของประเทศเราที่คนอื่นมองว่าดีไซเนอร์รุ่นใหม่ทำอะไรอยู่ อยากจะให้ความโดดเด่นเติมขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะส่งผลดีต่อทุกวงการในประเทศเลย จึงอยากให้นักออกแบบเป็นกลไกที่ช่วยพัฒนา”

เชื่อเลยว่าน้อง ๆ ที่ผ่านการร่วมโครงการนี้แล้ว ทุกคนคงได้ชุดความคิดและระบบการจัดการชุดใหม่ที่จะไปเสริมเติมเต็มในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นดีไซเนอร์ในอนาคต ที่จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวงการออกแบบและสร้างแรงบันดาลใจกับทั้งตนเองและผู้อื่น เช่นเดียวกันกับดีไซเนอร์รุ่นใหญ่และผู้ประกอบการที่จะคอยขับเคลื่อน พัฒนาไปพร้อม ๆ กัน

Did you know?

Design PLANT การรวมตัวกันของนักออกแบบจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ ตั้งแต่รุ่นเก๋าไปจนถึงรุ่นใหม่ไฟแรง โดยในแต่ละปี จะร่วมกันจัดนิทรรศการงานออกแบบเพื่อนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิดที่น่าสนใจ และตอบโจทย์บริบททางสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ จนกลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีพลังการขับเคลื่อนวงการออกแบบไทย

Emerging PLANT คือเวทีรุ่นเล็กที่จัดขึ้นโดย Design PLANT ปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์น้องใหม่ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในประสบการณ์จริง ภายใต้คำแนะนำของรุ่นพี่ โดยโครงการนี้มุ่งสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับทั้งภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม รวมถึงวงการออกแบบไทยในระยะยาว พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ที่แข็งแรงของดีไซน์ไทยในระดับสากล

ตามไปชมผลงานจริงได้ในนิทรรศการของกลุ่มนักออกแบบ Design PLANT และ Emerging PLANT ที่รวมตัวกันนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิด DOMESTIC งานออกแบบสะท้อนให้เห็นถึงการเริ่มต้นทศวรรษใหม่ท่ามกลางภาวะความปกติใหม่ ที่เราต้องติดอยู่ในประเทศ ชวนทุกคนมาร่วมตีความการออกแบบภายใต้ “บริบทภายในประเทศ” กระตุ้นให้ผู้คนในประเทศ สถาปนิก นักออกแบบ และผู้บริโภค เห็นคุณค่า และภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนผลงานจากฝีมือ และวัตถุดิบในประเทศของเรา

สัมผัสผลงานจากกว่า 50 สตูดิโอออกแบบได้ในงาน Bangkok Design Week 2021 ติดตามความคืบหน้าของโครงการได้ทาง www.design-plant.com


ติดต่อ
HOOG
166 สุขุมวิท 23 คลองเตยเหนือ วัฒนา กรุงเทพฯ
โทร. 08-7 528 2027
THINKK STUDIO  โทร.0-2 075- 3323


เรื่อง: BRL
ภาพ: ศุภกร

ระเน-ระนาด พลิกโฉม เก้าอี้ลูกระนาด ให้กลับมาเท่ในบ้านอีกครั้ง

TENEMENT H. ตู้กึ่งฉากที่มุ่งหวังความเป็นไปได้
ในการนำเศษอะลูมิเนียมกลับมาสร้างมูลค่าBangkok Design Week 2021 design PLANT Emerging PLANT DOMESTIC ease studio KUN Decorate San Design