ระเน-ระนาด พลิกโฉม เก้าอี้ลูกระนาด ให้กลับมาเท่ในบ้านอีกครั้ง

เก้าอี้ลูกระนาด สุดคลาสสิกที่เรามักพบเห็นคุ้นตากันมาตั้งแต่ยุคคุณย่าคุณยาย  ได้รับการพลิกโฉมใหม่ให้กลายเป็นเก้าอี้บาร์สตูล เฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัยที่เข้ากับไลฟ์สไตล์วิถีชีวิตยุคใหม่ได้อย่างไม่เคอะเขิน ภายใต้โปรเจ็กต์ Emerging PLANT พื้นที่การเรียนรู้ด้านการออกแบบจากประสบการณ์จริง สนามธุรกิจของจริง สำหรับนักออกแบบรุ่นเล็ก ภายใต้การดูแลของรุ่นพี่มืออาชีพ

ย้อนกลับไปเมื่อปีกลาย หลังจากจบการศึกษาจากภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปีกว่า สองนักออกใหม่หน้าใหม่ไฟแรง คุณวิน-ภัทรพงศ์ ชูสุทธิสกุล และคุณชี้ค-ปพน ขำอ่อน ได้ร่วมกันเปิดสตูดิโอออกแบบ 8To5 และการเข้าร่วมโครงการ Emerging PLANT ของ Design PLANT ก็คือการทดลองทำงานออกแบบร่วมกันครั้งแรกร่วมกับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ส่งออกชั้นนำของไทยอย่าง OK WOOD ภายใต้การแนะแนวจากคุณหมี-พิบูลย์ อมรจิรพร จาก Plural Designs สถาปนิกและนักออกแบบมือรางวัล

Design PLANT การรวมตัวกันของนักออกแบบจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ ตั้งแต่รุ่นเก๋าไปจนถึงรุ่นใหม่ไฟแรง โดยในแต่ละปี จะร่วมกันจัดนิทรรศการงานออกแบบเพื่อนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิดที่น่าสนใจ และตอบโจทย์บริบททางสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ จนกลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีพลังการขับเคลื่อนวงการออกแบบไทย
Emerging PLANT คือเวทีรุ่นเล็กที่จัดขึ้นโดย Design PLANT ปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์น้องใหม่ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในประสบการณ์จริง ภายใต้คำแนะนำของรุ่นพี่ โดยโครงการนี้มุ่งสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับทั้งภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม รวมถึงวงการออกแบบไทยในระยะยาว พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ที่แข็งแรงของดีไซน์ไทยในระดับสากล

คุณปพน และคุณภัทรพงศ์ จากสตูดิโอออกแบบ 8To5

ในยุคหนึ่ง เราอาจกล่าวได้ว่าเก้าอี้ลูกระนาดคือหนึ่งในเก้าอี้สามัญประจำบ้านคนไทย ไม่ต่างจากม้านั่งหินขัด หรือตั่งไม้ขาสิงห์ และภายใต้โจทย์ DOMESTIC จาก Design PLANT ทั้งคู่จึงชวนกันย้อนมองเก้าอี้ลูกระนาดใหม่อีกครั้ง พร้อมดึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ “ลูกระนาด” หรือแผ่นไม้ที่เรียงต่อเนื่องกันเป็นผืนที่นั่ง ยึดด้วยสายพาน ซึ่งยืดโค้งไปตามสรีระผู้ใช้งาน อีกทั้งยังทนทาน เหมาะสำหรับสภาพอากาศเมืองร้อน ให้กลายเป็นองค์ประกอบหลักของงานออกแบบชิ้นใหม่

คุณปพน: “ผมชอบงานไม้ แต่วินจะชอบงานเซรามิก และคาแรกเตอร์ดีไซน์ ในการทำงานร่วมกัน เราเลยพยายามหาจุดตรงกลางของเราสองคน อย่างงานแรกนี้เป็นงานเฟอร์นิเจอร์ นอกจากช่วยกันออกแบบ ผมก็จะเน้นลงลึกการพัฒนาแบบ การผลิต ส่วนวินจะเน้นการถ่ายทอดแนวคิด การเล่าเรื่องงานออกแบบ”  

“งานนี้เราออกแบบกันจากโจทย์ Domestic ที่ Design PLANT ให้มา เราก็พยายามมองหาว่า Domestic จริง ๆ ของพวกเราคืออะไร ซึ่งสำหรับเรามันก็คือ ‘ในบ้าน’ เราหันกลับมามองว่าในบ้านมีอะไรที่เราเห็นมันบ่อย และใช้กันบ่อย ก็นึกไปถึงเก้าอี้ลูกระนาด” 

คุณภัทรพงศ์: “เก้าอี้ลูกระนาดมีการผลิตซ้ำกันอยู่ตลอด หน้าตาแบบเดิมเลย ซึ่งลูกระนาดก็มีฟังก์ชันที่รองรับสรีระ ช่วยให้นั่งสบาย อาจถือได้ว่าเป็นเก้าอี้ที่ดีตัวหนึ่ง ถึงได้มีคนซื้อใช้ต่อ ๆ กันมานาน ซึ่งเก้าอี้ลูกระนาด เมื่ออยู่ในบริบทบ้านแบบดั้งเดิม มันก็ดูกลมกลืน แต่พอนำมาใช้ในบ้านยุคปัจจุบัน อาจจะดูไม่ร่วมสมัยเท่าไหร่ พวกเราเลยสนใจว่าจะพัฒนามันอย่างไรได้บ้าง”

“ตอนแรกเราคิดกันหลายดีไซน์หลายรูปทรงลูกระนาดแบบนี้อยู่กับเฟอร์นิเจอร์แบบไหนได้บ้างซึ่งเราก็ไม่อยากให้เป็นเดย์เบดแบบเดิมอยากทำเฟอร์นิเจอร์ที่ดูไม่ใช่เก้าอี้แบบดั้งเดิมของไทยเสียทีเดียวดูต่างจากคาแรกเตอร์ของเก้าอี้ตัวเดิมไปเลยมันดูท้าทายกว่า”

คุณปพน:  เนื่องจากเราพยายามพัฒนาจากเก้าอี้ลูกระนาด ดังนั้นอย่างแรกคือเราอยากให้เก้าอี้นั่งสบาย นั่งแล้วโค้งรับสรีระ จริง ๆ เราทดลองต้นแบบกันหลายตัว บางตัวก็นั่งจริงไม่ได้ ต้องลองเพิ่มคานบ้าง ปรับระยะกันอยู่หลายครั้งมาก” 

คุณพิบูลย์: “เก้าอี้ลูกระนาดดั้งเดิมพนักพิงกับที่นั่งคือระนาบลูกระนาดผืนยาวผืนเดียว แต่พอออกแบบเป็นบาร์สตูล พอลองนั่งก็ตัวจมลงไป นั่งไม่สบาย จึงต้องออกแบบให้มีคานตรงกลาง มีการปรับเปลี่ยนแยกชิ้นระนาบที่นั่งกับพนักพิงออกจากกัน”

คุณปพน: “ตอนทดลองวาดแบบในคอมเหมือนมันจะนั่งได้ ดูนั่งสบาย แต่พอลองทำจริงกลับคนละเรื่องเลย”

คุณพิบูลย์: “เนื่องจากระนาบที่นั่งของเก้าอี้มีการเคลื่อนไหวได้ ไม่ใช่เก้าอี้ที่ฟิกซ์เป็นรูปทรงเป๊ะ ๆ การที่จะไปวัดองศาของเก้าอี้ที่ใช้กันอยู่แล้วมาออกแบบต่อเลยก็ย่อมไม่ได้ ต้องอาศัยการทดลอง จริง ๆ ผมพยายามคอมเม้นต์ว่าอันนี้ดีแล้วรึยังคิดเรื่องนี้หรือยังให้ลองดูเรื่องนั้นเรื่องนี้ด้วยแต่เราไม่อยากให้มันมีลายมือเราลงไปในงานของน้อง ๆ เลยอย่างเก้าอี้ลูกระนาดนี้ผมว่ามันก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจเราเลยอยากให้เป็นลายมือของเขาเราแค่คอยช่วยแนะนำคอยส่งงานในแนวทางใกล้เคียงกันให้ลองศึกษา”

คุณภัทรพงศ์: ส่วนใหญ่พี่หมีจะตั้งคำถาม ให้ลองกลับไปคิดไปทบทวนดูอีกครั้งในหลาย ๆ จุด ซึ่งถ้าเราตอบได้ในทันที แสดงว่าก็คงโอเคแล้ว แต่ถ้าเรารู้สึกว่าตอบไม่ได้ ต้องไปแอบคุยกันสองคน ก็รู้ทันทีว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ไม่โอเคแล้ว”

ประสบการณ์จากการทำงานจริง

คุณปพน: “ปกติเราสองคนก็จะเน้นทำงานคราฟต์ คิดอะไรออกก็ไปลงมือทำเองเลย แต่พอเราลองมาทำงานกับที่นี่จริงๆ มันกลายเป็นว่าเราไม่ใช่คนที่ทำงานด้วยตัวเอง เคยทำแบบแรก เราดูเข้าใจ แต่กับช่างบางทีเขาก็ไม่เข้าใจ เราเลยเรียนรู้ที่จะต้องพยายามทำแบบที่สื่อสารได้ดีที่สุด เพราะบางทีเราก็ไม่ได้อยู่กับพี่ช่างเขาตลอดเวลา แบบของเราจึงต้องอธิบายทุกอย่างได้”

คุณพิบูลย์ จาก Plural Designs ให้คำปรึกษากับกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่

คุณพิบูลย์: “น้อง ๆ ก็ได้เรียนรู้การบริหารจัดการ เป็นสิ่งที่ตกลงกันตั้งแต่เริ่มโปรเจ็คต์ว่าเราอยากเป็นคนให้น้องรับผิดชอบงานจนเสร็จเรียบร้อยด้วยตัวเอง เราไม่ตามงานให้นะ ตอนเรียนเราก็ทำงานกับตัวเราเป็นหลัก แต่พอทำงานจริง ปัจจัยไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียว เขาก็จะได้ประสบการณ์ตรงจุดนี้”

คุณภัทรพงศ์: “การสื่อสารกับช่างคือสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้ว นอกจากนี้เรื่องเวลาก็สำคัญ เพราะโรงงานเขาช่วยสนับสนุนเรา เขาก็มีตารางงานแน่นอยู่แล้ว จะไปเร่งเขาก็ไม่ได้ เราก็ต้องพยายามวางแผนให้ดีเอง อย่างตอนเรียนถ้าเราทำงานไม่เสร็จเราก็ไม่ต้องนอนก็ยังได้ แต่พี่ช่างเขาก็ต้องนอน ต้องทำงานตามเวลางานเขา งานนี้เลยได้เรียนรู้เรื่องนี้เยอะมาก”

จากงานชิ้นแรกสู่การต่อยอด

แน่นอนว่าผลงานชิ้นนี้คือจุดเริ่มต้น ทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของคอลเล็กชั่น และเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้จากโลกความเป็นจริงสำหรับว่าที่นักออกแบบมืออาชีพในอนาคต การสร้างโอกาสใหม่ๆ และประสบการณ์จริงในแวดวงธุรกิจ จึงถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการพัฒนาวงการออกแบบของไทย

คุณพิบูลย์: “ทาง OK WOOD ค่อนข้างเปิดกว้างมาก เขาไม่อยากให้ทำแค่เก้าอี้ตัวเดียว เขาอยากให้ลองทำเป็นคอลเล็กชั่น และเขาก็จะช่วยสนับสนุนในการขาย ที่นี่เขาคุ้นเคยกับการทำงานกับนักออกแบบอยู่แล้ว เขาก็ยินดีถ้าจะมีแบบที่มีศักยภาพเขาก็อยากผลิตให้ ผมว่ามันคล้ายๆ กับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลียุคก่อนที่เขาจะทำงานกับนักออกแบบอิสระ อย่าง OK Wood เองเขาก็ชัดเจนว่าเขาเป็นผู้ผลิต และชอบผลิตของยาก ๆ เพื่อแสดงความเชี่ยวชาญของโรงงาน”

“จริง ๆ เราอยากให้ Design PLANT เป็นคอมมูนิตี้ที่นักออกแบบได้มาทำงานด้วยกัน แลกเปลี่ยนกัน รู้จักกัน แต่ขณะเดียวกัน เราก็อยากให้มีคนมารับลูกต่อ มาสานต่อชุมชนนี้ เลยเกิด Emerging PLANT ขึ้นมา ก่อนหน้านี้ชวนน้อง ๆ ให้เอางานออกแบบตอนเรียนมาจัดแสดง แต่ปีนี้เราอยากให้นักออกแบบรุ่นใหม่ ได้ลองทำงานจริง เลยจับคู่กับโรงงานผลิตจริงเลย”

“ทุกวันนี้ บางทีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศเรา แต่ต้องพยายามสร้างลุค ให้ดูเป็นญี่ปุ่น หรือดูยุโรป ทั้งที่มันผลิตในไทย ต้องใช้การตลาดแบบอ้อม ว่าเป็นของนำเข้า ถึงจะขายดี มันก็ควรจะมีการสร้างค่านิยม หรือพยายามบอกเล่าคุณค่าของงานที่สร้างสรรค์โดยคนไทยอย่างแนบเนียน ไม่ได้อยากให้เป็นชาตินิยม แต่มองตามความเป็นจริง ว่าสินค้าไทยก็มีคุณภาพดี บ้านเรามีโครงการที่ประชาสัมพันธ์งานออกแบบอยู่แล้ว โดยเฉพาะของภาครัฐ แต่จริง ๆ ก็ยังต้องการการนำเสนออย่างต่อเนื่อง ซึ่งมันก็อาจจะช่วยสร้างค่านิยม หรือการรับรู้อะไรบางอย่างให้คนไทยได้ และก็เป็นการปูทางให้นักออกแบบรุ่นใหม่ด้วย ให้เขามีพื้นที่แสดงออก ให้ใช้ความรู้ด้านการออกแบบอย่างเต็มที่”

8To5 x OK WOOD

จากโรงเลื่อยไท้เชียง ธุรกิจโรงเลื่อยเก่าแก่อายุกว่า 7 ทศวรรษย่านบางโพ คุณธนัญ อุ่นโกมล ได้ก่อตั้งธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้สักในนาม บริษัท โอ.เค.วู้ด โปรดั๊ค จำกัด ขึ้นในปี พ.ศ. 2531 โดยปัจจุบันได้ดำเนินธุรกิจส่งออก ทั้งในรูปแบบการรับจ้างผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์ และจำหน่ายสินค้าดีไซน์ออริจินัลภายใต้แบรนด์ OK WOOD โดยครอบคลุมผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ เฟอร์นิเจอร์ชุดสนาม เครื่องใช้ในบ้าน ไปจนถึงประตูฉนวน โดย OK WOOD ร่วมงานกับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ระดับไฮเอนด์ของโลกมาแล้วมากมายทั้งในยุโรป และอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Tectona จากฝรั่งเศส Roda และ Minotti จากอิตาลี Koeford จากเดนมาร์ก Summer Classic จากอเมริกา ฯลฯ 

นอกจากเป็นเจ้าของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้สักในฐานะรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  คุณธนัญจึงเล็งเห็นความสำคัญของวิชาชีพ ‘นักออกแบบ’ และการสร้างนักออกแบบคุณภาพรุ่นใหม่ โดยเปิดโอกาสให้นักออกแบบได้เรียนรู้ผ่าน ‘ประสบการณ์จริง’

คุณธนัญร่วมให้คำปรึกษากับกลุ่มนักออกแบบภายในโรงงาน OK WOOD

คุณธนัญ: “อย่างงานชิ้นนี้ ผมคุยกับน้อง ๆ นักออกแบบตั้งแต่ต้นเลย ว่าคุณต้องการกล่องรางวัล หรือต้องการขายได้ ถ้าต้องการกล่อง ก็ทำอะไรหวือหวา แต่ถ้าจะทำให้ขายได้จริงคืออีกเรื่อง ทั้งสัดส่วน ทั้งต้นทุน มันต้องจับต้องได้ ทำเงินได้จริง ซึ่งถ้าจะออกแบบให้ผลิตได้จริง ขายได้จริง ก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากโรงงานผู้ผลิต เพราะไม่เช่นนั้นนักออกแบบที่เพิ่งได้ลองทำงานจริงจะไม่มีทางรู้เลยว่า เก้าอี้ตัวนี้สัดส่วนควรเป็นอย่างไร เบลต์หรือสายพานที่รองรับแผ่นไม้ที่นั่งควรใช้แบบไหน ขนาดเท่าไหร่ มีเทคนิคการยึดหรือประกอบอย่างไรให้เรียบร้อย ทนทาน มันไม่ใช่แค่การออกแบบรูปทรง แต่มันรวมไปถึงการเข้าไม้ หรือรายละเอียดอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งถ้าทำเอง เขาไม่มีทางรู้ได้เลย หรือกว่าจะสำเร็จก็คงต้องใช้เวลานาน ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากผู้มีประสบการณ์ในกระบวนการเรียนรู้ของเขา”

“ผมว่านี่คือสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ต้องไขว่คว้า ออกแบบอย่างไรให้โรงงานผู้ผลิตเห็นศักยภาพ นำเสนอแนวคิดอย่างไร ทำให้เกิด Two-way communication เกิดการเรียนรู้ทั้งสองฝ่าย ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ก็ต้องลองเข้ามาทำงานจริง ถึงจะเข้ามาเรียนรู้ระบบทั้งวงจรนี้ได้  ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เป็นธุรกิจที่ต้องอดทนสูง จะมาทำแป็บ ๆ แล้วเบื่อไปทำอย่างอื่น มันจะไม่ได้อะไร แต่จริง ๆ ก็ทุกอาชีพ ถ้าเราไม่อดทนก็ไปต่อไม่ได้ ต้องเรียนรู้ให้เร็ว เพราะทุกวันนี้โลกมันเร็วเหลือเกิน” 

“การสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้นักออกแบบรุ่นใหม่ ถือเป็นความจำเป็นสำหรับแวดวงธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไทย จริงๆ เราก็ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาหลายสิบปีแล้ว เปิดให้นักศึกษามาดูงาน ให้เด็ก ๆ ได้มาเห็นระบบการผลิตจริง ให้เขาเรียนรู้โรงงาน โรงงานก็ได้เรียนรู้จากเด็กรุ่นใหม่ เป็นความจำเป้นทั้งสองฝ่าย”

“อย่างนักออกแบบหลายทีม ก็ทำงานกับเราตั้งสองสามปี ถึงจะซึมซับ และเข้าใจว่า OK WOOD เชี่ยวชาญอะไร มีศักยภาพอะไร ถึงจะออกแบบได้ และพอออกแบบมาแล้ว ก็ใช้เวลาอีกสองสามปี กว่าจะขายได้ มันใช้เวลานาน แต่พอตอนนี้ขายได้ ในระยะยาวก็สบาย แต่สำคัญอยู่ที่เราจะหยุดนิ่งไม่ได้ เพราะการออกแบบมันไม่มีวันสิ้นสุดอยู่แล้ว ยิ่งเรารู้ว่าโรงงานไหนเชี่ยวชาญอะไร มันคือหน้าที่ของนักออกแบบ ที่จะดึงศักยภาพของโรงงานนั้น ๆ ออกมาให้ได้”

โลกทัศน์แห่งโลกดีไซน์

คุณธนัญ: “ในวงการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ส่งออก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘ดีไซน์’ ทั่วโลกเขาผลิตได้เหมือนกันหมด ทำไมต้องมาซื้อของจากเมืองไทย คำตอบมีอยู่สองอย่างคือ หนึ่ง-ดีไซน์ที่ดี สอง-ความซื่อสัตย์ เพราะซื้อเฟอร์นิเจอร์จากไทยได้ของแน่นอน สเปกถูกต้อง และแน่นอนว่าในแวดวงเฟอร์นิเจอร์ระดับโลก ลูกค้าต่างชาติเขาไม่ได้ซื้อจากเราที่เดียว เขาซื้อจากหลายซัพพลายเออร์ ทั้งในเวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า ฯลฯ ดังนั้นเราต้องหาว่าจุดเด่นของเราคืออะไร นักออกแบบจะนำมาใช้อย่างไร ถ้าเราทำอย่างนั้นได้ เราก็ได้เปรียบ”

“อย่างแบรนด์ดังๆ ที่เป็นลูกค้าเรา เช่น Minotti ผมไม่ได้ไปหาเขา เขามาหาเราเอง เพราะเขารู้ว่าจะได้อะไรจากเรา ซึ่งนี่คือหัวใจของบริษัทใหญ่ๆ ในเมืองไทย เราจะไปสู้กันด้วยราคาวัตถุดิบ หรือค่าแรงต่ำแบบจีนหรือมาเลเซียไม่ได้แล้ว ไทยเราใช้ระบบ Mass Production ที่เน้นผลิตเยอะๆ ไม่ได้ เราต้องเน้นงานแบบ Mass Customization มีความยืดหยุ่นสูง เน้นคุณภาพ เพราะโรงงานเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ ๆ ในไทยก็เหลือน้อยลงแล้ว อย่างเราก็เป็นโรงงานที่มีความยืดหยุ่นสูง ลูกค้าสั่งออเดอร์เล็กเราก็ทำ ออเดอร์ใหญ่ก็ทำได้ แต่ถ้าลูกค้าไปสั่งโรงงานในจีน เขาคงไม่ทำ ดังนั้นถึงมาสั่งโรงงานในไทยราคาจะแพงกว่าแต่เขาก็โอเค เพราะดีไซน์ของแบรนด์ใหญ่ๆ เหล่านี้จะผลิตยาก และแปลกใหม่ ถึงต้นทุนจะแพงกว่า แต่มันก็ตอบโจทย์ตลาดไฮเอนด์เขาอยู่แล้ว”

“จริง ๆ นักออกแบบไทยมีความสามารถมาก เรามีหลักสูตรที่สอนด้านการออกแบบมากมายในหลายมหาวิทยาลัยที่สร้างเด็ก ๆ รุ่นใหม่ขึ้นมา แต่นอกจากความรู้แล้ว สิ่งที่พวกเขายังต้องการเพิ่มเติมคือ ‘โลกทัศน์’ ทั้งการได้ลองทำงานจริงกับโรงงาน  และการได้เห็นว่างานออกแบบในโลกกว้างนี้ มันเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง ไม่ใช่ดูเพื่อเอามาลอก แต่ให้เขาได้เห็นได้เข้าใจว่าจินตนาการคนเรามันไม่มีที่สิ้นสุดจริง ๆ เขาจะออกแบบอะไรก็ได้ทั้งนั้น”

——

ตามไปชมผลงานจริงได้ในนิทรรศการของกลุ่มนักออกแบบ Design PLANT และ Emerging PLANT ที่รวมตัวกันนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิด DOMESTIC งานออกแบบสะท้อนให้เห็นถึงการเริ่มต้นทศวรรษใหม่ท่ามกลางภาวะความปกติใหม่ ที่เราต้องติดอยู่ในประเทศ ชวนทุกคนมาร่วมตีความการออกแบบภายใต้ “บริบทภายในประเทศ” กระตุ้นให้ผู้คนในประเทศ สถาปนิก นักออกแบบ และผู้บริโภค เห็นคุณค่า และภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนผลงานจากฝีมือ และวัตถุดิบในประเทศของเรา

สัมผัสผลงานจากกว่า 50 สตูดิโอออกแบบได้ในงาน Bangkok Design Week 2021 ติดตามความคืบหน้าของโครงการได้ทาง www.design-plant.com


ติดต่อ

OK WOOD
สำนักงาน ถนนประชาราษฎร์ โทร. 0-2586-9569-70
โรงงาน ถนนติวานนท์ จังหวัดปทุมธานี โทร. 0-2581-5894-5

8To5 Studio โทร. 08-2786-0778 หรือ 09-6964-6993

Plural Designs โทร. 08-1833-4566

เรื่อง: MNSD

ภาพ: นันทิยา


BILID ฉากหวายสะท้อนความคิดที่แตกต่าง พลิกด้านต่างอารมณ์