THAIS ECOLEATHERS ความงามจากเศษหนังสู่วัสดุใหม่

THAIS ECOLEATHERS (อ่านว่า ธา-อิส) หนึ่งในแบรนด์ไทยจากโครงการ Talent Thai โดย DITP หรือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ที่เราอยากแนะนำ เพราะไม่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์ที่มีลวดลายและพื้นผิวที่น่าสนใจ หรือการนำไปใช้ที่หลากหลายเพียงเท่านั้น แต่การได้มาซึ่งวัสดุอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์นั่นก็คือ “หนังรีไซเคิล” ซึ่งเรียกได้ว่ามีความโดดเด่นและมีเพียงเจ้าเดียวในโลกที่สามารถผลิตสิ่งนี้ได้ จึงทำให้เราสนใจแบรนด์เครื่องหนังที่ชูวัสดุรักษ์โลกแบรนด์นี้เป็นพิเศษของคุณธันย์-ธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล และคุณเม-พัณณ์ชิตา ธราดลศิริฐิติกุล

จุดเริ่มต้น

ถ้าพูดถึงจุดเริ่มของTHAIS ECOLEATHERS“เราเริ่มจากเป็นคนชอบเครื่องหนัง ชอบจนถึงขนาดที่อยากจะหัดทำเครื่องหนังด้วยตัวเอง” คุณธันย์เริ่มต้นเล่าให้เราฟัง “พอเราเริ่มทำหนังไปเรื่อย ๆ เราก็ค้นพบว่าสิ่งที่กวนใจเราคือ เศษหนัง ที่เหลือจากการผลิต จะเอาไปทิ้งก็เสียดาย พอจะนำเศษเหล่านั้นมาลองเย็บเป็นกระเป๋าแล้วเอาไปวางขายในอินเทอร์เน็ตก็ค้นพบว่า มันแทบจะไม่ได้ราคา เหมือนเป็นความคาใจจนเราเริ่มศึกษาลงไปว่า คนอื่นเขาจัดการกับเศษหนังกันอย่างไร และก็ค้นพบว่าเศษเหลือเหล่านี้มีอยู่มากมายในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง และไทยเราเองก็เป็นประเทศส่งออกหนังอันดับที่ 4 ของโลก ถ้าอย่างนั้นก็แปลว่า ปัญหาเศษเหลือเหล่านี้ ต้องมีอยู่มากมายเช่นเดียวกัน

“พอเราเริ่มสนใจในปัญหาเศษเหลือเราก็ค้นพบว่า โรงงานส่วนใหญ่ต้องจ้างให้นำไปทิ้ง เป็นมูลค่าที่สูงพอสมควรเลยทีเดียว สิ่งที่ทำได้คือนำฝังกลบ หรือนำไปเผาทำลาย” คุณเมเล่าต่อ “ซึ่งเราอาจเคยได้ยินว่า มีการนำเศษหนังมาทำเป็นวัสดุใหม่ แต่นั่นไม่ใช่เศษหนังในขั้นตอนสุดท้ายแบบที่เป็นเศษเหลือแบบนี้ สิ่งเหล่านั้นคือเศษหนังที่มาจากขั้นตอนการผลิต คือหลังจากการฟอกเสียมากกว่า เราก็เลยคิดกันว่า เป็นไปได้ไหมที่จะหาวิธีจัดการกับเศษหนังที่เหลือจากอุตสาหกรรมเครื่องหนังเหล่านี้ ให้กลายเป็นวัสดุอะไรซัสักอย่างที่มีคุณค่าในตัวเอง สามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้ และนั่นคือจุดเริ่มของเราค่ะ”

คุณธันย์ และคุณเม จึงเริ่มทดลองการเปลี่ยนเศษหนังด้วยกรรมวิธีที่หลากหลายจนในที่สุดก็สำเร็จออกมาเป็น “หนังรีไซเคิล” ที่ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ โดยเป็นการผสมผสานหนังที่ได้จากโรงงานต่างๆมาเข้าสู่ “กรรมวิธีเฉพาะ” ที่จะเปลี่ยนเศษหนังเหล่านั้น ให้หลอมรวมกันและออกมาเป็นแผ่นหนังชิ้นใหม่ ซึ่งมีลวดลายเฉพาะตัวอย่างน่าสนใจ

“ผมสนุกกับการทดลองในการสร้างลวดลายเหล่านี้พอดูเลยละครับ เพราะสีสันต่าง ๆ นั้นมันขึ้นอยู่กับเศษหนังที่เราได้มาในแต่ละช่วง และวิธีการตัดย่อยเรียบชิ้นหนังก็ทำให้ลวดลายที่ได้เปลี่ยนไปตามแต่ละครั้งอีกด้วย อย่างลายที่ถืออยู่นี้ผมก็แอบเรียกกันเองว่าเป็นลาย Starry Night แบบภาพของ Vangogh” คุณธันย์อวดหนังรีไซเคิลผืนใหม่จากกองวัสดุให้เราดู

จากตลาดสากลกลับสู่ไทย

“พอเราเริ่มรู้สึกพอใจกับวัสดุหนังรีไซเคิลของเราแล้ว เราก็จดทะเบียนบริษัทและไปลองออกงานที่ต่างประเทศในทันทีเลย ตอนนั้นก็ขำตัวเองเหมือนกันว่าเรามั่นใจมาก” คุณเมเล่าด้วยรอยยิ้ม “ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือมีคนสนใจและต้องการสินค้าจากเรา เขาสนใจในความเป็นวัสดุที่นำเศษหนังกลับมาใช้ใหม่อย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่การเติมแต่ง ซึ่งจากจุดนี้เองที่ทำให้เรามั่นใจ และรู้ว่าเรามาถูกทางแล้ว

“เป็นเรื่องน่ายินดีมากที่คนจากต่างชาติเค้าต้องการสั่งสินค้าของเรา แต่ก็ทำให้เรากลับมาค้นพบอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ไม่เคยนึกมาก่อน นั่นคือประเทศไทยไม่มีองค์กรที่จะมาช่วยรับรองมาตรฐานสินค้าที่เป็นหนังที่นำกลับมาใช้ใหม่แบบนี้ในแง่ของความเป็นฉลากเขียว พอไม่มีตรารับรอง สินค้าก็จะถูกจัดเป็นเครื่องหนังทั่วไป สุดท้ายจึงทำให้ไม่สามารถปิดดีลบางดีลได้ ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย”

พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“พอเริ่มมีฟีดแบ็ก เราก็เลยกลับมาพัฒนาสินค้าของเราต่อ เราทดลองและพัฒนาโดยยึดหลักของกระบวนการว่า ต้องไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม และ ต้องไม่เติมสารใดๆที่เป็นอันตราย ลงไปในการผลิตเลย สิ่งที่เราทำจึงเป็นการปรับส่วนของส่วนผสมภายในสินค้า ความหนา ลักษณะการวางตัวของเศษหนัง และการจัดการกับผิวสัมผัสที่บอกได้เลยว่าถ้าได้ลองสัมผัสแผ่นหนังรีไซเคิลดูจะรู้ว่ามันพิเศษกว่าวัสดุอื่น ๆ” คุณเม มีพื้นฐานมาจากการได้เรียนในคณะภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงทำให้ THAIS ECOLEATHERS มีจุดเด่นในแง่ของการ Reseach และ Develop ผลิตภัณฑ์อย่างมีแบบแผน ปัจจุบัน THAIS ECOLEATHERS มีผลิตภัณฑ์หลักคือแผ่นหนังรีไซเคิล แต่ด้วยสูตรที่แตกต่างจึงมีลักษณะลวดลายให้เลือกที่หลากหลาย ความหนาแน่นของแผ่นหนังรวมทั้งความหนาจะกำหนดการใช้งานที่แตกต่างกันไป แผ่นที่บางใช้ทำผลิตภัณฑ์กรุบนถาดไม้ได้ดี ส่วนแผ่นที่หนาบางครั้งถูกนำไปใช้ซับเสียงในงานตกแต่งภายใน รวมทั้งบางครั้งถูกใช้สานกันเพื่อสร้างคาแรกเตอร์ใหม่ ๆ ให้กับชิ้นงานอีกด้วย

เปลี่ยนปัญหาของ “ไทย” ให้เป็นจุดเด่น

“อย่างที่ได้บอกไปว่าจริง ๆ ไทยคือประเทศส่งออกเครื่องหนังอันดับ 4 ของโลก เพราะฉะนั้นเศษเหลือของอุตสาหกรรมนี้มันจะต้องมีเยอะมากแน่ ๆ เราคิดแบบนี้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้น ซึ่งนั่นก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้แบรนด์มีข้อได้เปรียบในเชิงทรัพยากร จากเดิมที่โรงงานต้องขายออกไปเพื่อให้ไปทำลายทิ้ง ก็ขายเราในราคาที่ถูกกว่า เราก็รับซื้อมาคัดแยกต่อ มันเป็นจุดมุ่งหมายร่วมที่วินวินกันทุกฝ่าย สุดท้ายความภูมิใจของเราก็คือการที่พอเศษหนังไม่ต้องถูกเอาไปทำลาย คาร์บอนฟุตปริ้นต์ของประเทศก็ลดลง มลภาวะก็น้อยลงไปด้วยเพราะการเผาทำลายไม่มากก็น้อยนั้นก็ก่อมลภาวะอยู่แล้ว ตอนนี้เราสามารถผลิตวัสดุจากเศษหนังได้ในแบบ Craftman คือนำมาคัด ย่อย และอัดรีดขึ้นมาใหม่ แต่ในอนาคตเมื่อปริมาณ วิธีการ และตลาดคงที่มากขึ้น เราก็จะสามารถพัฒนาให้การจัดการขยะเศษไหนังเหล่านี้ถูกกำจัดไปเป็นสินค้าดีไซน์ได้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนั่นก็เป็นแผนของเราเช่นกัน

“ทีนี่พอวิธีการของเรามันมาจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ในเชิงการรับรู้จึงทำให้เราไปได้รางวัลมากมายจากทั้งต่างประเทศและในประเทศเอง รวมทั้งได้ทุนวิจัยจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) อีกด้วย สิ่งเหล่านี้ช่วยเน้นย้ำว่าแบรนด์ของเรามาถูกทางแล้ว เพราะมันไม่ใช่แค่สินค้าดีไซน์ แต่มันมีประโยชน์ต่อภาพรวมของระบบนิเวศที่เราทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกัน”

อีกก้าวของแบรนด์เมื่อเข้าร่วม Talent Thai

“เมื่อได้เข้ามาร่วมโครงการ สิ่งที่เราคิดว่าจะได้รับแน่ ๆ และเริ่มเห็นผลแล้วก็คือ จากความที่เราสองคนไม่ได้เรียนจบมาทางด้านการออกแบบ คนนึงก็จบดนตรี อีกคนก็จบทางด้านวิทยาศาสตร์ เรามาถึงตรงนี้ด้วยแพสชั่นและความปราถนาที่จะสร้างจุดเปลี่ยนให้กับ Circular Economy ของเครื่องหนัง พอได้เข้ามาร่วมในโครงการการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับแบรนด์อื่น ๆ รวมทั้งคนที่เป็นดีไซเนอร์ ก็ได้เปิดมุมมองต่าง ๆ ให้กับเรามากมาย มีหลายคนมาแลกเปลี่ยนความคิดกันว่า ถ้าเป็นเขาจะนำแผ่นหนังรีไซเคิลของเราไปทำอะไร อย่างในเวิร์กชอปที่ตอนนี้โครงการกำลังดำเนินการอยู่ก็คือการจับคู่แลกเปลี่ยน DNA ของแบรนด์ร่วมกัน พอได้เห็นความคิดที่แตกต่างไปเมื่อมองกลับมาที่วัตถุดิบและความชำนาญของเรา หรือเมื่อได้คิดว่าจะนำสิ่งที่เรามีไปต่อยอดผสมผสานกับสิ่งที่แบรนด์อื่นมีได้อย่างไร ผมคิดว่าจุดนี้แหละที่ Talent Thai ให้กับเราได้อย่างมาก ก็คิดว่าจุดนี้จะทำให้แบรนด์ของเราเติบโตได้อย่างน่าสนใจในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน”

ในอนาคตอันใกล้ของ THAIS ECOLEATHERS

“สิ่งที่เราค้นพบคือจากวัสดุที่เราได้พัฒนามาตลอด ณ วันนี้มันอาจถูกมองและตัดสินว่าเป็นแผ่นหนัง แต่เมื่อได้ทดลองและปรับปรุงไปเรื่อย ๆ เรากลับพบว่ามันมีความหลากหลายมากกว่านั้น เราสามารถสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างได้มากมายจากสูตรที่แตกต่างกัน และความหนาที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้เราจึงเริ่มทดลองการใช้งานวัสดุ ECOLEATHERS ของเราให้หลากหลายมากขึ้น ข้ามไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆให้มากขึ้น เพราะถ้ากลับมาคิดถึงจุดเริ่มในการจัดการปัญหาขยะเศษหนังแล้ว การที่เราสามารถเปิดตลาดให้กับวัสดุนี้ได้หลากหลายขึ้นก็จะทำให้เศษหนังถูกใช้ไปมากขึ้นด้วยนั่นเอง แต่เอาเข้าจริงที่เราทำไปก็เพราะเราสนุกกับการได้ลองอะไรใหม่ ๆ มากกว่าครับ” คุณธันย์ และคุณเมสรุปให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม

และนี่ก็คืออีกแบรนด์ดีไซน์ที่บอกเลยว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะแม้จะเริ่มต้นด้วยแพชชั่นเกี่ยวกับงานหนัง แต่เมื่อพบทางที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อม ค้นพบจุดขายที่แข็งแรง และต่อยอดด้วยการลงมือทำอย่างจริงจัง ผลลัพธ์ที่ได้จึงเกิดเป็นวัสดุใหม่ที่ room ยังพัฒนาไปได้อีกไกลและเราเองก็รอคอยที่จะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ของการรีไซเคิลจาก THAIS ECOLEATHERS ในอนาคตอันใกล้เช่นกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม
Facebook : Thais Ecoleathers
Website : www.thais-ecoleathers.com
Instagram : Thais.ecoleathers
โทรศัพท์ : 09-2545-5744


ภาพ : Soopakorn Srisakul
เรื่อง : Wuthikorn Sut