สนทนากับ รศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร ถึงเรื่อง ‘อาคารเขียว’ จากเทรนด์สู่วิถีชีวิตยุคใหม่

อาคารเขียว ไม่ใช่ เทรนด์หรือแนวโน้มความนิยมด้านการออกแบบมากมาย ที่มาแล้วก็ผ่านไปแต่คือแนวคิด ‘เทคโนโลยีอาคาร’ ที่มีใจความสำคัญเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน รวมถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นแรงผลักดันให้เราทุกคนต้องหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจัง room ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการผู้จัดการบริษัท แอฟริคัส จำกัด ( Africvs )มาร่วมพูดคุยให้ความรู้และความเข้าใจถึงแนวทางอันเหมาะสมในการประยุกต์เรื่องอาคารเขียวให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน

“ความสุขในการทำงานของเราคือการอยู่แวดล้อมด้วยคนที่มีความเข้าใจในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ก่อนคิดว่าต้องทำอะไรยิ่งใหญ่แบบก้าวกระโดด แต่ถึงตอนนี้เรารู้ว่าต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงจะช่วยเปลี่ยนโลกได้ ถ้าเราใจร้อน ไม่มีความสุข เราทำงานตรงนี้ไม่ได้”

จุดเริ่มต้นความสนใจใน ‘อาคารเขียว’

“จริง ๆ เรื่องของการประหยัดพลังงานมีมานานแล้ว สมัยผมจบปริญญาตรีแล้วมาทำงานสถาปัตย์ฯ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าทำไมเราถึงไม่มีการเรียนการสอนเรื่องพวกนี้เลย แต่ว่าในระดับการศึกษาเดียวกันในต่างประเทศ เขามีการพูดถึงเรื่องการประหยัดพลังงานไปไกลแล้ว เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่อเมริกาทางด้านเทคโนโลยีอาคาร แล้วรู้สึกว่าเปิดมุมมองใหม่ให้เรามาก หลังจากเรียนจบทางด้านนั้นมา ผมก็เรียนต่อปริญญาเอกด้านอาคารสิ่งแวดล้อม ที่อเมริกาหรือในยุโรปเขาศึกษากันเรื่องของอาคารเขียว ซึ่งมาจากเรื่องของการประหยัดพลังงาน เรื่อยมาจนถึงเรื่องการประหยัดวัสดุ และการรักษาสภาพแวดล้อม ระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวกับอาคารเขียวตอนอยู่ที่อเมริกาเพราะเรียนปริญญาเอกอยู่ที่นั่น 5 ปี มีเรื่องของการเข้าไปตรวจวัดประสิทธิภาพ การประเมินอาคาร แล้วมีระบบเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวพ่วงเข้ามา พอเรียนจบผมก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ประจวบเหมาะกับว่ามีการประกวดแบบอาคารของปตท. ซึ่งเขาเขียนไว้ว่าต้องเป็นอาคารเขียว ตอนนั้นสถาปนิกบ้านเรายังไม่ค่อยรู้ว่ามันคืออะไร ผมเลยได้เข้าร่วมการประกวดแบบ โดยให้ไอเดียตรวจประเมินแบบที่สถาปนิกประกวดไป ว่าเป็นอาคารเขียวระดับ LEED หรือ Gold นับเป็นก้าวแรกที่ได้ทำตึกปตท. Energy Complex จากนั้นก็มีงานเข้ามาเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับกระแสเรื่องของอาคารเขียวที่วงการออกแบบให้ความสนใจมาจนถึงทุกวันนี้”

บทบาท และกระบวนการทำงานของ AFRICVS

“เราช่วยเจ้าของโครงการดูในระดับเริ่มต้น ตั้งแต่เรื่องของที่ดินและการวางตัวอาคารว่าควรหันอาคารไปในทิศทางไหน รับแดด รับลมอย่างไร รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องเสียงรบกวนต่าง ๆ  เราเป็นที่ปรึกษาให้กับนักออกแบบ หรือทำงานแบบเป็นสามเหลี่ยมคือระหว่างเจ้าของ ตัวเรา แล้วก็สถาปนิกและวิศวกร เราช่วยประเมินให้ว่าทางเลือกอันไหนดี ไม่ดี อันไหนแพง ไม่แพง อันไหนคุ้ม ไม่คุ้ม ซึ่งเจ้าของเขาต้องการรู้แค่ว่าระหว่างกระจกประหยัดพลังงานกับฉนวนกันความร้อนบนหลังคาจะเลือกอันไหนดีถึงจะคุ้มค่ากว่ากัน เจ้าของเขาก็เลยคิดว่าการทำงานของเราเป็นประโยชน์กับเขา ในเรื่องของการปลูกสร้างอาคารเพื่อจะได้รู้ว่าเมื่อเทียบกันแล้วสิ่งที่ทุกคนบอกว่าดีหมด เขียวหมดนั้น อันไหนคือความคุ้มค่า แล้วมีประโยชน์ต่อเขาในเรื่องของการใช้สอยอาคารอย่างแท้จริง”

“เราทำงานด้านนี้มาสักพัก จากนั้นเจ้าของก็คิดว่าไหน ๆ เราอุตส่าห์พยายามกันมาแบบนี้แล้วเพื่อให้ประหยัดพลังงาน เพื่อให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ เราน่าจะหาทางให้ได้รับฉลากดีไหม คือไม่ได้จบเพียงแค่ดีไซน์ที่ดี หรือประหยัดพลังงานเท่านั้น แต่ควรต้องการันตีด้วยรางวัลจะดีกว่าเพื่อเป็นเกียรติประวัติ เลยช่วยทำเอกสารประสานงานกับอเมริกา ปกติการให้คำปรึกษาด้านการออกแบบจะจบแค่ตอนที่ออกแบบเสร็จ แต่พออยากได้ใบรับรอง เราก็ต้องเข้าไปดูแลในช่วงที่ก่อสร้าง เจ้าของโครงการเขาก็เห็นว่าเป็นประโยชน์กับเขาด้วย นอกจากดูแลการออกแบบ เรายังช่วยดูแลผู้รับเหมาด้วย ผู้รับเหมาส่งวัสดุมาต้องให้ทางผมช่วยตรวจว่าได้มาตรฐานไหม การทำงานของเราจึงเป็นประโยชน์ทั้งกระบวนการ นับตั้งแต่การออกแบบก่อสร้างที่ใช้เวลา 3-4 ปี จนกระทั่งสั่งโล่มาติดให้เขาเลย”

THE PARQ โครงการล่าสุดที่ Africvs เป็นที่ปรึกษา

แนวโน้มอาคารเขียวในประเทศไทย แค่กระแสที่ผ่านเข้ามาแล้วผ่านไป?

“กระแสอาคารเขียวเข้ามาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว  จากนั้นก็หายไปพักหนึ่ง จนเมื่อ 4-5 ปี ที่ผ่านมาก็กลับมาอีกครั้ง คนไทยเอง เราเริ่มสนใจประเด็นเรื่องพลังงานมากขึ้น ประชาชนทั่วไปเริ่มคิดถึงเรื่องอาคารที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นในเรื่องของ Well-being หรือสุขภาวะที่เริ่มมาแซงอาคารเขียว ตอนนี้ Well-being เริ่มขยายขอบเขตกว้างมากขึ้น เพราะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คนเริ่มรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องรอได้ แต่คนต้องเอาชีวิตรอดก่อน เรื่องของอาคารเขียวก็เลยตกไป ด้วยเหตุที่เจ้าของอาคารมีงบประมาณจำกัด เศรษฐกิจไม่ค่อยดี จึงขอลดเรื่องการประหยัดพลังงานลง แล้วหันไปส่งเสริมเรื่องอากาศบริสุทธิ์ ต้นไม้ และกิจกรรมที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้นแทน ซึ่งผมมองว่าเป็นเทรนด์สำหรับอนาคตที่ค่อนข้างมาแรง”

 “Well-being เป็นส่วนหนึ่งของอาคารเขียว เรียกว่าเป็นความต้องการพื้นฐานหรือ Minimum Requirement ซึ่งเน้นในเรื่องของสุขภาพ ที่บางทีอาคารเขียวไม่ได้มองลึกลงไปถึงรายละเอียดขนาดนั้น เช่น เรื่องน้ำ อาคารเขียวจะมองว่าต้องใช้ก๊อกน้ำ หรือเลือกโถสุขภัณฑ์อย่างไรให้ช่วยประหยัดน้ำ แต่พอพูดถึง Well-being เขาก็จะเริ่มมองว่าจะทำอย่างไรให้คนดื่มน้ำมีน้ำที่สะอาด ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจคุณภาพน้ำดื่ม ว่ามีสารตะกั่วไหม แล้วก็เริ่มมองไปถึงพื้นที่สีเขียวแทนที่จะเป็นอาคารเขียว มองว่าพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องของการลดโลกร้อน ลดเมืองร้อน แต่เป็นเรื่องของจิตวิทยาของการได้อยู่ท่ามกลางสีเขียว อาจคิดถึงประเด็นการออกแบบสภาพแวดล้อมในการรักษาผู้ป่วยที่ดี มีผลงานการวิจัยมารองรับ หรือคนป่วยในโรงพยาบาลได้ชื่นชมต้นไม้เยอะ ๆ เพื่อช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่ใช่เขียวเพื่อลดโลกร้อนอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นเขียวเพื่อชีวิตมนุษย์ด้วย”

THE PARQ โครงการล่าสุดที่ Africvs เป็นที่ปรึกษา

บทบาทที่ปรึกษาในโครงการล่าสุด

“ล่าสุดเราเป็นที่ปรึกษาในโครงการ The PARQ ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ใกล้สวนสาธารณะ เลยคิดว่ามีโอกาสที่คนจะมาออกกำลังกาย เป็นลักษณะของ Office in the park และแน่นอนว่าโครงการนี้ต้องมีเรื่องของอาคารเขียว เพราะสำหรับผู้เช่าอาคารต่างชาติสิ่งนี้เป็นเหมือน Requirement หนึ่งที่สำคัญ จากประสบการณ์ ส่วนใหญ่เขาจะมีลิสต์ว่าต้องเลือกอาคารเขียว และเวลาผู้เช่าจากต่างประเทศมา เขาไม่ได้เดินทางมาด้วยตัวเอง จะเน้นดูฟีเจอร์ต่าง ๆ แล้วก็ดูฉลาก ดังนั้นเรื่องการได้มาตรฐานอาคารเขียวอย่าง LEED เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้อยู่แล้ว จากนั้นเราก็เลยเริ่มนำเรื่องของ Well Being เข้ามาเพิ่มในประเด็นต่าง ๆ แล้วทางสถาปนิกก็ดีไซน์กันว่าต้องมีที่ให้คนได้ออกกำลังกายบ้าง มีพื้นที่ภายนอกสำหรับใช้ปลูกผัก หรือต้องการให้อากาศบริสุทธิ์เข้ามามากกว่าปกติ ตอนนั้นก็เตรียมโปรเจ็กต์ไว้เรียบร้อยแล้วก่อนจะมีโควิด แต่พอมีโควิดมาก็เริ่มคิดถึงฟังก์ชั่นด้านสุขอนามัยเพิ่มเข้าไป แต่หลัก ๆ แล้วฟังก์ชั่นที่สำคัญคือพื้นที่เปิดโล่ง พื้นที่สีเขียว และโลเกชั่นที่อยู่ใกล้สวนสาธารณะ สิ่งเหล่านี้เป็นจุดที่คิดว่าเราออกแบบแล้วคนจะได้ใช้งานจริง”

LEED คือ มาตรฐานระดับนานาชาติที่ใช้รับรองอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพสูงและมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย พร้อมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบให้น้อยที่สุด

WELL Certification คือเกณฑ์การพิจารณาระดับสากล ที่ประเมินการดำเนินงานของอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้ใช้งาน ทั้งด้านสุขภาพกาย และคุณภาพชีวิต
อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.)

เป้าหมายต่อไปของ AFRICVS

“เราเป็นบริษัทเริ่มต้นเลยนะที่ทำงานทางด้านนี้ และทุกวันนี้ก็คิดว่าจะทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากงานหลักที่ทำอยู่ ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มเผยแพร่องค์ความรู้เป็น Database ว่าวัสดุรุ่นไหน หรือยี่ห้อไหนที่เป็นวัสดุเขียว และได้มาตรฐาน ใช้ในการยื่นรับรองที่อเมริกาได้ เราทำลิสต์ ไว้ให้หมด และให้คนมาเลือกใช้ได้ อีกเรื่องคือด้านการศึกษา เรากำลังทำหลักสูตรอบรมฟรีทางออนไลน์ เกี่ยวกับเนื้อหาว่าอาคารเขียวคืออะไร Well Being คืออะไร เพื่อให้คนทั่วไปที่ไม่มีโอกาสเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยได้เข้ามาฟัง เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทุกคนที่สนใจจริงๆ”

“ความสุขในการทำงานของเราคือการอยู่แวดล้อมไปด้วยคนที่มีความเข้าใจในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ก่อนตอนจบใหม่ ๆ ก็คิดว่าเราต้องทำอะไรใหญ่ ๆ แบบก้าวกระโดด แต่ตอนนี้เราทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป สุดท้ายสิ่งที่เราทำจะช่วยเปลี่ยนโลกได้ ถ้าเราใจร้อน ไม่มีความสุข เราทำงานตรงนี้ไม่ได้ สิ่งที่เราทำอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่ามันค่อย ๆ สร้างความแตกต่างในตลาด เรียกว่า Market Transformation ค่อย ๆ ปรับไปครับ”

อาคารปาร์คเวนเจอร์ อีโคเพล็กซ์ หนึ่งใน ผลงานด้านการเป็น ที่ปรึกษาที่ผ่านมาของ AFRICVS

บริษัท แอฟริคัส จำกัด
1706/26 Safe Box Office ห้อง 2 ถ.พระราม 6
แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. 02-214-6140
อีเมล: [email protected]
FB: @africvs


เรื่อง Ektida N.
ภาพ นันทิยา, เอกสารประชาสัมพันธ์