TINY MUSEUM พิพิธภัณฑ์ กเบื้องจาน วัดโสมนัสวิหาร

TINY MUSEUM เปิดกรุสมบัติชาติที่พิพิธภัณฑ์กเบื้องจานสีแดงชาดข้างกุฏิสงฆ์วัดโสมนัสราชวรวิหาร

TINY MUSEUM พิพิธภัณฑ์ กเบื้องจาน วัดโสมนัสวิหาร
TINY MUSEUM พิพิธภัณฑ์ กเบื้องจาน วัดโสมนัสวิหาร

บ่ายวันหนึ่งเรามีนัดพบกับสถาปนิกรางวัลศิลปาธร คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ที่ Tiny Museum วัดโสมนัสราชวรวิหาร

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Walllasia

วัดโสมนัสฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นโทที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงสร้างและพระราชทานนาม “วัดโสมนัสวิหาร” เป็นพระราชอุทิศแด่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี หลังการสวรรคต

TINY MUSEUM พิพิธภัณฑ์ กเบื้องจาน วัดโสมนัสวิหาร
คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก

จากถนนกรุงเกษม ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เดินผ่านกำแพงพระวิหารใหญ่ มาถึงหมู่กุฏิคณะทางด้านซ้ายมือพระเจดีย์องค์ใหญ่ เราพบกับสิ่งเล็ก ๆ ที่เปิดโอกาสให้เรียกได้ทั้ง “หีบสมบัติ” หรือ “พิพิธภัณฑ์” ตามแต่ความตั้งใจดังคำกล่าวของสถาปนิก สิ่งเล็ก ๆ ที่ว่านี้คือ ผลงานการออกแบบชิ้นล่าสุดของคุณสุริยะที่แล้วเสร็จมาได้สักพักหนึ่ง

“สิ่งที่เล็กที่ผมบอกมันมีเหตุผลว่าทำไมถึงเล็ก เพราะวัดโสมฯ เป็นพื้นที่ของกรมศิลป์ฯ เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นสถานที่เก็บ ‘กเบื้องจาน’ มาก่อน” คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกแห่ง Walllasia อธิบายที่มาของการออกแบบ Tiny Museum อาคารพิพิธภัณฑ์สีแดงชาดขนาดเล็ก ที่ก่อรูปขึ้นระหว่างซอกกุฏิสงฆ์สองหลัง เพื่อเป็นพื้นที่จัดเก็บรักษา และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ “กเบื้องจาน” หรือ จดหมายเหตุโบราณ ที่ขุดพบจากใต้ดินอายุเก่าแก่ จำนวน 847 ชิ้น ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ พระสิริปัญญามุนี (เต็ม อภิปุณฺโณ) หรือเจ้าคุณเต็ม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสมนัสราชวรวิหาร โดยมีคุณวรรณฤทธ์ ปราโมช ณ อยุธยา ผู้ทุ่มเทเวลาศึกษาและวิจัยฐานข้อมูลกเบื้องจานมาตลอด 30 ปี และคุณวัชรพงศ์ธร ยังดำรง จากมูลนิธิพระราชกวี (มพอ.) เป็นหัวเรือใหญ่ผลักดันให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นเป็นผลสำเร็จ

TINY MUSEUM พิพิธภัณฑ์ กเบื้องจาน วัดโสมนัสวิหาร
ด้านหน้าอาคารสลักชื่อเจ้าคุณอ่ำ (อ่ำ ธมฺมทตฺโต) พระราชกวีแห่งวัดโสมนัสราชวรวิหาร ผู้ดูแลรักษากเบื้องจานไว้ตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อเป็นเกียรติ

TINY MUSEUM พิพิธภัณฑ์ กเบื้องจาน วัดโสมนัสวิหาร

ที่นี่บรรจุกเบื้องจานไว้บนชั้นอย่างเป็นระเบียบ เพื่อรอให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรื่องราว และทำความเข้าใจหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังรอการพิสูจน์ อันนำมาซึ่งข้อถกเถียงกันถึงจุดกำเนิด หรือความจริงแท้ของวัสดุอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม สถาปนิกบอกเพียงว่า “คุณได้รับรู้ว่ามีบางอย่างเกิดขึ้น คุณต้องมาศึกษาเอง เรา (สถาปนิก) มีหน้าที่แก้ปัญหาและเก็บรักษาผ่านการออกแบบ”

“วัดโสมฯเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 การที่เราทำสิ่งเล็กให้ซ่อนอยู่ในสิ่งใหญ่ เท่ากับว่าเป็นการดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาดู นอกจากจะได้เรียนรู้สิ่งเล็ก เขายังได้เรียนรู้สิ่งใหญ่ไปด้วยในตัว”

สถาปนิกกล่าวถึงแนวคิดตั้งต้น “นั่นจึงเป็นเหตุผลถึงการขออนุญาตสร้างพื้นที่แห่งนี้ขึ้น กเบื้องจานช่วงแรกดูแลโดยเจ้าคุณอ่ำ [พระธรรมวงศ์เวที (อ่ำ ธมฺมทตฺโต)] ช่วงหลังจากนั้นเจ้าคุณเต็มจึงมาดูแลต่อจนถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 60 ปี ที่กเบื้องจานได้รับการเก็บรักษาไว้ที่นี่”

TINY MUSEUM พิพิธภัณฑ์ กเบื้องจาน วัดโสมนัสวิหาร
คุณวรรณฤทธ์ ปราโมช ณ อยุธยา
TINY MUSEUM พิพิธภัณฑ์ กเบื้องจาน วัดโสมนัสวิหาร
ใช้ผ้าดิบหุ้มกเบื้องจานไว้เพื่อป้องกันความชื้นในอาคารไม่ให้สร้างความเสียหายเเก่ตัววัตถุ เพราะผ้าดิบเป็นวัสดุที่ช่วยระบายอากาศได้ดี ประกอบกับการที่สถาปนิกเลือกใช้เหล็กเป็นโครงสร้าง เหล็กจึงช่วยป้องกันความชื้นได้อีกทางหนึ่งด้วย

“สีแดงชาด” คือสีที่สื่อถึงพลังความสามัคคี ซึ่งคุณสุริยะพบจากการสำรวจพื้นที่ภายในวัด โดยประตูและหน้าต่างวัดนั้นล้วนเป็นสีแดงชาดทั้งหมด เขาจึงนำสีแดงชาดนี้มาใช้เป็นโทนสีหลักของอาคารเพื่อให้ดูกลมกลืน ไม่แปลกแยกจากอาคารที่มีอยู่เดิม พร้อมกันนั้นยังเลือกใช้โครงสร้างเหล็กที่สร้างได้รวดเร็ว เหมาะกับการนำไปแทรกระหว่างอาคารโดยไม่รบกวนโครงสร้างเดิมของกุฏิสงฆ์ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร อีกทั้งเหล็กยังมีความแข็งแรง ไม่เกิดความชื้นอันเป็นสาเหตุให้กเบื้องจานเสียหายได้  นอกจากนี้อีกหนึ่งจุดสังเกตคือ ตัวอาคารนั้นมีหลังคาทรงจั่วลาดเอียง 45 องศา หลังคาจั่วที่เห็นมีที่มาจากหลังคาของวัด ซึ่งคุณวรรณฤทธ์ได้ศึกษาและให้ข้อมูลกับคุณสุริยะนำมาประยุกต์ใช้ เพราะว่านี่คือองศาที่ช่วยให้เกิดภาวะน่าสบายได้ดีที่สุด

TINY MUSEUM พิพิธภัณฑ์ กเบื้องจาน วัดโสมนัสวิหาร
พิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ระหว่างซอกกุฏิสงฆ์

“อาคารนี้เหมือนกับเราได้สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ยกขึ้นมาเพื่อสร้างทางระบายน้ำ สร้างบล็อกกันหนูไม่ให้เข้ามาวิ่งเพ่นพ่าน และทำช่องเปิดตรงบริเวณท่อระบายทั้งหมด สำหรับตัวโครงสร้างและรายละเอียดจะสังเกตว่าเราใช้เหล็ก เพื่อให้ง่ายต่อการรับกับโครงสร้างเสาโบราณที่มีรอยหยัก นอกจากนั้นเหล็กยังทำหน้าที่รับน้ำหนักเเละเป็นโครงสร้างไปในตัว”

“งานของเรามันเล็ก เราจึงอยากให้มีพลัง” สถาปนิกเผยความตั้งใจ “เราจึงพยายามหาข้อดีของความเล็ก ที่พอมันไปอยู่ในโซเชียลที่ความคิดมันใหญ่ เราจึงพยายามสร้างมันให้เป็นงานสร้างสรรค์ที่ใหญ่ แต่งานออกแบบของเราจะต้องไม่ไปแตะต้องของเก่า ช่องว่างระหว่างอาคารที่เราเห็นนั้นไม่ใช่เพื่อให้แสงส่องลงมาได้ แต่เป็นการออกแบบเพื่อไม่แตะต้องกับอาคารเดิม แนวคิดของการไม่แตะต้องก็เหมือนหีบสมบัติที่ตั้งอยู่ในพื้นที่”

TINY MUSEUM พิพิธภัณฑ์ กเบื้องจาน วัดโสมนัสวิหาร
สถาปนิกลดปัญหาการเชื่อมแผ่นเหล็กต่อกันที่อาจเกิดความไม่เรียบร้อย ด้วยการแยกแผ่นเหล็กเว้นช่องจากกัน ช่องว่างระหว่างแผ่นเหล็กนั้นจึงเอื้อให้แสงสว่างลอดผ่านเข้ามาได้ โดยที่หลังคาซึ่งออกแบบให้ลาดเอียง 45 องศา นั้น สามารถช่วยป้องกันความร้อนได้ดี

“หลังคาเวลาเราทำเหล็กพวกนี้ เวลาเราเชื่อมให้ชนกันมันจะบิดตัว เลยแก้ปัญหาด้วยการแยก แล้วนำอะคลิลิกใสมาปิดช่องว่าง เพราะถึงเราไม่เปิดไฟ เราก็อยากให้แสงมันลงมา”

TINY MUSEUM พิพิธภัณฑ์ กเบื้องจาน วัดโสมนัสวิหาร
สถาปนิกพยายามสร้างฟังก์ชันและแก้ปัญหาพิกัดของวัสดุไปพร้อมกัน เช่น รอยหยัก (ที่เกิดจากการพับเหล็ก) ทำให้โครงสร้างสามารถรับน้ำหนักได้ในตัว ซึ่งเป็นโครงสร้างเหล็กแยกส่วนประกอบ แล้วขนมาประกอบหน้างานในพื้นที่ เพื่อแตะต้องตัวอาคารเดิมให้น้อยที่สุด
TINY MUSEUM พิพิธภัณฑ์ กเบื้องจาน วัดโสมนัสวิหาร
ลวดลายที่ปรากฏบนกเบื้องจานคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาและหาคำตอบ

Tiny Museum ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่เก็บรักษาให้สมบัติของชาติให้อยู่ในที่ที่ปลอดภัย หากตัวอาคารเองยังอยู่ในที่ที่ผู้สนใจสามารถมาค้นคว้า เป็นดั่งหีบสมบัติที่ช่วยส่งต่อความรู้สู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่เคยรู้จักกเบื้องจานมาก่อนได้เข้ามาเรียนรู้ หาคำตอบ และตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ที่พวกเขาเคยรู้ที่พิพิธภัณฑ์สีแดงชาดข้างกุฏิสงฆ์วัดโสมนัสราชวรวิหารแห่งนี้

TINY MUSEUM พิพิธภัณฑ์ กเบื้องจาน วัดโสมนัสวิหาร

เรื่อง นวภัทร
ภาพ นันทิยา

วัดโสมนัสราชวรวิหาร
646 ถนนกรุงเกษม  แขวงโสมนัส
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

รายชื่อทีมออกแบบทั้งหมด 
คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์, คุณประวิทย์ พูลกำลัง, คุณศศิประภา รสจันทร์, คุณชัชวาล ตุลยนิษก์, คุณณรงค์ชัย ใจใส, คุณปรีณาพร แสงศรี, คุณพนมพร พรมแปง, คุณ Charlotte Matias, คุณจิรวัฒน์ พลสามารถ, คุณวันชัย เอื้ออัครวงษ์ และ คุณชาญชัย บริบูรณ์

อ่านต่อคอลัมน์ Studio Visit:
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกและนักออกแบบภูมิทัศน์แห่ง WALLLASIA ผู้มีทางเดินของการทำงานที่ไม่เหมือนใคร