DESIGNER DIRECTORY :
ออกแบบ : Baiyah Studio
BAIYAH STUDIO ความน่าสนใจของ สตูดิโอสถาปนิก ที่นี่เริ่มตั้งแต่ คุณตึ๋ง – สันติราษฎร์ สัตยาคุณ ผู้เป็นทั้งเจ้าของและสถาปนิก ต้องการพื้นที่ในการสร้างสตูดิโอออกแบบที่อยู่ใกล้บ้าน เพราะไม่อยากเจอปัญหารถติดขณะไปทำงาน ประจวบเหมาะกับมีเจ้าของที่ดินประกาศให้เช่าที่ดินแปลงหนึ่ง เป็นบ้านเดี่ยวขนาด 140 ตารางวานี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ BAIYAH STUDIO บริษัทสถาปนิกเล็ก ๆ พื้นที่ขนาด 60 ตารางเมตร ที่ใช้เวลาออกแบบและก่อสร้าง 5 เดือน แถมยังอยู่ในงบประมาณเพียง 800,000 บาทเท่านั้น
คุณตึ๋งบอกกับเราว่า “ยิ่งพื้นที่เล็ก ยิ่งต้องคิดเยอะ” แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจทุกรายละเอียด เริ่มจากวางตำแหน่งอาคารในตำแหน่งบ้านเดิม เพราะต้องการใช้พื้นบ้านและคานคอดินของโครงสร้างบ้านเดิมเพื่อลดค่าใช้จ่ายและใช้เหล็กมาเป็นโครงสร้างหลักของตัวอาคาร เนื่องจากสามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว มีความแข็งแรง และที่สำคัญคือ เมื่อหมดสัญญาเช่าแล้วสามารถรื้อถอนง่ายและนำไปใช้ซ้ำได้อีก
เมื่อเรื่องโครงสร้างลงตัวแล้ว ต่อไปคือคอนเซ็ปต์การออกแบบที่สถาปนิกต้องการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในอาคารให้มากที่สุด จึงออกแบบโดยใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติและการระบายอากาศตามธรรมชาติ(Ventilation) โดยใช้การระบายอากาศเป็นตัวกำหนดทางสัญจร (Circulation) ภายในอาคาร เพื่อให้ทุกห้องมีอากาศไหลเวียนอย่างทั่วถึง ช่วยระบายความร้อน ไม่ให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักเกินไป
แม้การป้องกันความร้อนไม่ให้เข้าสู่อาคารจะทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่คุณตึ๋งนำมาใช้คือการวางตำแหน่งพื้นที่ใช้งานตามลำดับช่วงเวลาของการใช้พื้นที่ โดยวางตำแหน่งห้องน้ำ เคาน์เตอร์ครัว รวมไปถึงโถงต้อนรับให้อยู่ทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศที่รับความร้อนจากแสงแดดในช่วงบ่ายเพื่อเป็นกันชนให้ห้องทำงานเย็นสบายตลอดทั้งวัน ส่วนภายนอกอาคารด้านนี้ได้ทำสวนแนวตั้ง โดยปลูกต้นจันทร์กระจ่างฟ้าซึ่งเป็นพรรณไม้เลื้อยให้แผ่ปกคลุมจนทั่วกลายเป็นกำแพงสีเขียว ฉนวนกันความร้อนจากธรรมชาติอีกชั้นหนึ่ง
ส่วนรูปทรงอาคารที่ดูเรียบง่ายและมีหลังคาเป็นหน้าจั่วนั้นมาจากทางผู้ออกแบบตั้งใจให้รูปทรงของออฟฟิศกลมกลืนกับอาคารโดยรอบที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านทรงจั่ว อีกทั้งยังมีประโยชน์ในเรื่องของการระบายความร้อนและระบายน้ำจากหลังคาด้วย ส่วนผนังอาคารทั้งหมดกรุด้วยแผ่นไฟเบอร์กลาสที่มีขนาดลอนเท่ากัน แต่แตกต่างกันที่ความโปร่งทึบตามลักษณะการใช้งานในแต่ละพื้นที่ เช่น บริเวณห้องทำงาน เลือกใช้สีขาวขุ่นเพื่อให้แสงที่เข้ามาดูนวลตาและรู้สึกสบายกว่าแบบใสซึ่งจะได้รับแสงโดยตรง
ความน่าสนใจของออฟฟิศขนาดเล็กแต่ไม่ธรรมดาแห่งนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของงานออกแบบที่สามารถแสดงตัวตนภายใต้ข้อจำกัดได้อย่างชัดเจนและถ่อมตัวตั้งแต่การเก็บโครงสร้างเดิมที่ยังใช้ได้อยู่ การเลือกวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่อย่างเหล็กและเมทัลชีท หรือจะเป็นการออกแบบโดยดึงประโยชน์จากทิศทางแสงแดดและลมเข้ามาใช้ ซึ่งทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาและงบประมาณที่สมดุลลงตัว แสดงให้เห็นว่างานสถาปัตยกรรมไม่ว่าขนาดจะเล็กหรือใหญ่ งบประมาณมากหรือน้อย ไม่ได้เป็นข้อชี้วัดความ “อยู่สบาย” เมื่อเข้าไปใช้พื้นที่จริงเสมอไป เหมือนกับที่ BAIYAH STUDIOพิสูจน์ให้เราได้เห็น
ออกแบบ คุณสันติราษฎร์ สัตยาคุณ Baiyah Studio Co., Ltd.
โทร. 08-7706-2244, 0-2117-3522
www.facebook.com / BaiyahStudio
อ่านต่อ :
เรื่อง Ektida N.
ภาพ ศุภกร
เรียบเรียง Parichat K.