THE NEWHEADQUARTER OF COUNCIL OF ENGINEERS THAILAND อาคารที่ทำการสภาวิศวกร

สภาวิศวกรแห่งใหม่ ที่วางตัวเป็นพื้นที่สาธารณะของเมือง เชิดชูงานออกแบบวิศวกรรม ผ่านภาษาทางสถาปัตยกรรมอันแยบยล โดย AATTN8A

สภาวิศวกร หรือ Council of Engineers Thailand คือองค์กรที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมมากมายในประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องกล และโยธา หรืองานก่อสร้างที่เราคุ้นปากกันนี่เอง

เมื่อถึงเวลาที่ต้องขยับขยาย และปรับเปลี่ยนอาคารหลังเก่าสู่ถนนลาดพร้าว พื้นที่ใหม่ ติดรถไฟฟ้าหลังนี้ การประกวดแบบจึงเกิดขึ้น และ ativich โดยคุณ วิชญ์-อติวิชญ์ กุลงามเนตร ก็คือผู้ที่ชนะการประกวดแบบในครั้งนี้ไปด้วยคอนเซ็ปต์ “อาคารรัฐที่ถูกปรับเป็นพื้นที่สาธารณะของเมือง”

อย่างไม่ทิ้งความภาคภูมิของงานวิศวกรรมไทย งานออกแบบอาคารหลังนี้ได้นำเอาความเป็นเลิศทางการออกแบบวิศวกรรมทุกแขนงเข้าไว้ในทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างที่มาการยื่น การถ่ายเทน้ำหนักอย่างตื่นตาท้าทาย ผ่านโครงสร้างเหล็กของ SYS Steel งานระบบต่าง ๆ วัสดุที่ล้ำสมัย และการเดินระบบโชว์เปลือยแต่สุดแสนจะลงตัว เรียกว่ามาที่นี่ ได้เห็นโชว์เคสล้ำ ๆ เป็นตัวอย่าง และแรงบันดาลใจได้อย่างดีแน่นอน

แต่มากกว่านั้น อาคารหลังนี้ เกิดจากความพยายามเปลี่ยนภาพจำของ “สถาบันที่เปิดรับแต่คนใน” ให้กลายเป็น “พื้นที่สาธารณะของเมืองสำหรับเชื่อมโยงวิชาชีพสู่บุคคลทั่วไป” หรือเรียกง่าย ๆ ว่าอาคาร และกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจ “งานวิศวกรรม” ให้สังคมได้รับรู้มากขึ้นนั่นเอง

นอกจากออฟฟิศ และพื้นที่กิจกรรมต่างๆทั้งการสอบใบอนุญาต อบรม เสวนา และจัดประชุมอย่างที่เคยมีมาในอาคารหลังเก่าแล้วนั้น พื้นที่เหล่านี้ยังเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถมาขอเช่าใช้ได้ในเวลาอื่น ๆ อีกด้วย รวมทั้งห้องสมุด และพื้นที่ Common Area ที่เป็นเหมือน Co-Working Space ก็มีบรรยากาศที่ดีในการเปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน โดยเฉพาะในยุค Work from Anywhere อย่างในทุกวันนี้อีกด้วย

สุดท้ายนั้น ในแง่ของฟอร์มอาคาร ด้วยลักษณะที่ดินที่ไม่เป็นรูปสี่เหลี่ยมอย่างที่เราคุ้นเคย แต่มีการลัดเลาะไปในหลายองศามิติ รวมทั้งกฏหมายการร่นระยะ สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกมองเป็นความท้าทายอันแปรเปลี่ยนเป็นฟอร์มอาคารแปลกตาอย่างที่เห็น ซึ่งสวนที่ภายนอกนั้น ได้ถูกออกแบบให้รับกับบันไดที่จะพาผู้ใช้งานอาคารเข้าสู่พื้นที่ต้อนรับในบริเวณ ชั้นสาม ซึ่งเชื่อมโยงกับห้องสมุด ส่วนบริการ และพื้นที่สำหรับสัมนา ก่อนจะแจกไปยังพื้นที่อื่น ๆ ที่ส่วนบน และพื้นที่สำนักงานของสภาวิศวกรที่ชั้นล่าง วิธีการนี้ทำให้อาคารมีความรู้สึกต้อนรับมากกว่าการเป็นตึกสูงที่ทำงานโดยต้องใช้ลิฟต์ขนส่งบุคคลขึ้นสู่เบื้องบนเพียงอย่างเดียว

และนี่คืออีกหนึ่งหลักไมล์ที่น่าสนใจเมื่อหน่วยงานวิชาชีพมีความตั้งใจผสานความชำนาญของตน รวมถึงพื้นที่ของสถาบันเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมอย่างไร้รอยต่อ

ออกแบบ: AATTN8A (ativich , Atelier of Architects, SQ ,Teamg, 8.18 Studio , next2nd, Aficvs )

ภาพ: SkyGround architectural film & photograph

เรื่อง: Wuthikorn Sut