8 ประเด็นไม่ควรมองข้าม ดีไซน์ โฮมออฟฟิศ ให้ตอบโจทย์

ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างใหม่ หรือการปรับปรุงอาคารเก่า การสร้างสรรค์ ออกแบบ โฮมออฟฟิศ หรือโฮมสตูดิโอ ที่ตอบโจทย์การใช้งาน และมีความต้องการค่อนข้างเฉพาะตัวนั้น ย่อมต้องใส่ใจรายละเอียดเป็นพิเศษ

และนี่คือ 8 ประเด็น ออกแบบ โฮมออฟฟิศ ที่ room นำมาฝาก เพื่อช่วยให้การออกแบบพื้นที่ทำงานสามารถควบรวมเข้ากับที่พักอาศัยส่วนตัวได้อย่างลงตัว และใช้พื้นที่แต่ละส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

01 Location & Context ทำเลที่ตั้งและบริบท
สำหรับโฮมออฟฟิศ แน่นอนว่าตำแหน่งที่ตั้งของสำนักงานย่อมเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งถ้าหากว่ามีพื้นที่ธุรกิจอยู่ด้วย ยิ่งต้องคำนึงถึงทำเลที่เดินทางได้สะดวกสบาย ทั้งสำหรับลูกค้า และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร หลาย ๆ ครั้งเราจึงเห็นโปรเจ็กต์รีโนเวตอาคารพาณิชย์ หรือทาวน์เฮ้าส์ใจกลางเมือง แต่ก็อาจต้องคำนึงถึงพื้นที่จอดรถสำหรับลูกค้า และพนักงาน การออกแบบทางเข้าที่โดดเด่น รวมถึงความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของที่พักอาศัย หากอาคารตั้งอยู่ในพื้นที่พลุกพล่านก็อาจต้องมีการออกแบบให้กันเสียงเป็นพิเศษ

บ้านขนาดกะทัดรัดในกรุงเทพฯ ที่รวมพื้นที่ทำงานของ 2 สตูดิโอ กลายเป็นโฮมสตูดิโอที่มีพื้นที่สำนักงานของ Studio PATH และ Itti Bitti ชั้น1-2 เป็นพื้นที่ทำงานและประชุม ส่วนชั้น 3 เป็นพื้นที่พักผ่อนส่วนตัว
รวมบ้านพักอาศัยและโฮมออฟฟิศของบริษัทบู๊ตึ๊งกรุ๊ป จำกัด หรือร้านชาบูบู๊ตึ๊ง ตั้งอยู่ในย่านอินทามระ ซึ่งเป็นละแวกบ้านเดิมของเจ้าของที่เดินทางสะดวกและคุ้นเคย
เจ้าของ: คุณจุลพันธ์ วงศกิตตรัตน์ ออกแบบ: 10 SPACE ARCHITECTS x Vessu Collaboration
บ้านพักอาศัยที่รวมคลินิกไว้ในอาคารหลังเดียว ออกแบบให้โถงด้านหน้าสูงขึ้น เพื่อให้รับกับชานของส่วนพักอาศัย นับเป็นการปิดกั้นความวุ่นวายไม่ให้รบกวนการส่วนพักอาศัยที่อยู่ด้านหลัง

02 Zoning การแบ่งพื้นที่ใช้สอย
การแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้เป็นสัดส่วนจะช่วยให้เราจำกัดขอบเขตความเป็นส่วนตัวได้อย่างชัดเจน และเพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการใช้งานพื้นที่ต่างๆ ส่วนมากโฮมออฟฟิศ หรืออาคารที่มีพื้นที่ธุรกิจมักมีการแบ่งพื้นที่ใช้งานแบบแนวตั้ง และแบ่งฟังก์ชั่นตามชั้นเพื่อความเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน โดยมักให้ชั้นล่างเป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับลูกค้า และผู้มาติดต่องาน และเพิ่มระดับความเป็นส่วนตัวขึ้นเรื่อยๆ เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะอย่างส่วนสำนักงาน ห้องประชุมสำหรับพนักงาน จนถึงชั้นสูงสุดเป็นที่พักอาศัยส่วนตัว

บ้านทาวน์โฮมของศิลปินวาดภาพ กับการออกแบบพื้นที่ใช้งานอย่างอิสระ แบ่งเป็นโซนทำงานที่ชั้นล่าง ห้องนอนพื้นที่พักผ่อนที่ชั้นบน
เจ้าของ: คุณณัฐพงศ์ ดาววิจิตร ออกแบบ: Bangkok Tokyo Architecture

03 Circulation เส้นทางสัญจร
การออกแบบเส้นทางสัญจรมีความสำคัญในอาคารที่ขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีพื้นที่ธุรกิจ ที่ผู้คนภายนอกเข้ามาติดต่ออยู่โดยตลอด จึงจำเป็นต้องแบ่งแยกเส้นทางสัญจรออกจากส่วนที่พักอาศัยให้ชัดเจนตั้งแต่ที่จอดรถ และทางเข้าอาคาร เพื่อความปลอดภัย โดยการออกแบบการเข้าถึงอาคารก็มีส่วนช่วยขี้นำเส้นทางสัญจรเพื่อลดความสับสนของบุคคลภายนอกที่เข้ามาใช้บริการ

ชายคาขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เป็นทั้งโถงต้อนรับ และส่วนบังตาที่ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ส่วนพักอาศัยที่อยู่ด้านบนคลินิกทำฟัน
เจ้าของ: Smile Dept. Dental Clinic ออกแบบ: INLY STUDIO ออกแบบภายใน: pommballstudio
คลินิก + บ้านหลังใหม่ของครอบครัวทันตแพทย์ที่หลอมรวมเข้ากับคลินิกทันตกรรมอย่างกลมกลืน แต่แยกสัดส่วนพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ธุรกิจออกจากกันชัดเจน

04 Atmosphere สร้างบรรยากาศที่แตกต่างสำหรับการทำงาน และอยู่อาศัย
แม้ว่าการหลอมรวมพื้นที่ทำงานเข้ากับที่พักอาศัยจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และต้นทุนธุรกิจในหลายๆ ด้าน แต่สำหรับผู้ใช้งานโฮมออฟฟิศ และโฮมสตูดิโออาจทำให้เกิดปัญหาด้านสมดุลชีวิตทำงาน และชีวิตส่วนตัว ที่ทำให้เกิดการทำงานล่วงเวลา และไม่สามารถแบ่งเวลาพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการออกแบบก็มีส่วนช่วยในการแบ่งพื้นที่ทำงาน และพื้นที่พักผ่อนให้ชัดเจน ได้ด้วยการสร้างบรรยากาศที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุที่ดูอบอุ่นผ่อนคลาย รวมถึงการออกแบบแสงสว่างที่นุ่มนวลสบายตา

อาคารพาณิชย์ 2 คูหา ในย่านค้าขายสเตนเลสในเวียดนาม รีโนเวตใหม่ให้กลายเป็นพื้นที่หลอมรวมสำนักงานและที่พักอาศัยไว้ด้วยกัน
พื้นที่ใช้สอยชั้น 2 แบ่งออกเป็นส่วนสำนักงาน และพื้นที่พักผ่อนส่วนตัว โดยชั้นล่างยังคงเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์สเตนเลส
ศูนย์กระจายสินค้าของผู้นำเข้าวัคซีนและอาหารเสริมสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ ที่มีบ้านพักของเจ้าของอยู่ในที่เดียว แบ่งพื้นที่สำนักงาน และพื้นที่อยู่อาศัยแยกกันอย่างชัดเจน โดยมีบล็อกแก้วเป็นวัสดุหลักในการแบ่งโซนที่ไม่ทำให้อาคารดูทึบจนเกินไป
เจ้าของ: Aree Group ออกแบบ: pbm (www.pbm.co.th)
โซนสำนักงานที่ตำแหน่งอยู่ติดกับโกดัง ผนังกระจกช่วยให้คนที่นั่งทำงานในห้องได้เห็นบรรยากาศการขนส่งสินค้า
เจ้าของ: Aree Group ออกแบบ: pbm (www.pbm.co.th)

05 Practicality ตอบโจทย์การใช้งานจริง
โฮมออฟฟิศ และโฮมสตูดิโอมักมีรูปแบบการใช้งานที่สมบุกสมบัน และมีผู้ใช้งานหลากหลาย ดังนั้นจึงควรออกแบบให้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเรียบร้อยได้ในระยะยาว อาทิ การเลือกใช้วัสดุที่ทำความสะอาดง่าย ดูไม่เนี้ยบมากในสตูดิโอวาดภาพอย่างคอนกรีตเปลือย หรือในพื้นที่ธุรกิจก็อาจเลือกใช้หินขัดที่ทนทานเป็นพิเศษ รวมถึงการออกแบบให้มีตู้เก็บของจำนวนมากในสำนักงาน เพื่อให้ภาพรวมดูเป็นระเบียบตลอดเวลา

ห้องทำงานเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเป็นส่วนใหญ่ จึงสามารถปรับพื้นที่ให้เหมาะสมในแต่ละงาน ผนังห้องเป็นคอนกรีตเปลือยเหมือนเป็นแบ็กกราวนด์ให้กับของสะสมต่าง ๆ
STUDIO VILAA โฮมออฟฟิศที่อยู่ในตึกแถวขนาดสองชั้น ติดถนนและใกล้สี่แยก เพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางเสียง และความเป็นส่วนตัว จึงใช้กระจกซ้อนแบบดับเบิ้ลเลเยอร์ โดยมีประตูบานเลื่อนซ้อนไว้หลังประตูเหล็กยืดอีกที

06 Natural Light เปิดรับแสงธรรมชาติ
นอกจากในส่วนที่พักอาศัยแล้ว แสงธรรมชาติยังมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่สำนักงาน เนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้รู้สึกปลอดโปร่ง กระปรี้กระเปร่า ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน หากเป็นการปรับปรุงอาคารเก่า ควรพิจารณาเพิ่มช่องแสง หรือสกายไลต์ ในบางจุดของอาคาร เพื่อลดความมืดทึม แต่หากเป็นไปไม่ได้ อาจปรับเปลี่ยนระเบียงหรือด้านนอกอาคารให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวให้พนักงานได้พักผ่อน

พื้นที่ทำงานชั้น 2 ของ STUDIO VILAA เปิดรับแสงสว่าง ผ่านช่องแสงอย่างเต็มที่ เพียงพอกับการใช้งาน
ฟาซาดอิฐบนชั้น 2 ซึ่งเป็นโซนพื้นที่ทำงาน มีทั้งความสว่าง และมีผนังอิฐโปร่งช่วยกรองแสงไม่ใหเข้ามาถึงพื้นที่ภายในตรง ๆ
เจ้าของ: บริษัท OLG ออกแบบ: O.U.R. Architect

07 Flexibility สเปซยืดหยุ่นสำหรับทุกสถานการณ์
สำหรับโฮมออฟฟิศหรือโฮมสตูดิโอขนาดเล็ก ควรออกแบบพื้นที่ให้ยืดหยุ่นพร้อมรองรับการใช้งานทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสังสรรค์ หรือการประชุมขนาดใหญ่ ดังนั้น การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว อาจตอบโจทย์มากกว่าเฟอร์นิเจอร์แบบบิลท์อิน ในแง่ของการเคลื่อนย้าย และการสร้างมุมมองที่ดูโปร่งสบายไม่ทึบตัน

พื้นที่ชั้นหนึ่งของ STUDIO VILAA ชั้น 1 เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ ประกอบด้วยโต๊ะตัวยาวใช้นั่งคุยงานกับลูกค้า รองรับพนักงานขาย ฟรีแลนซ์
จัดวางโต๊ะตัวยาวแบบลอยตัว 2 ตัวประกอบกันแบบง่าย ๆ ดูเข้ากับชั้นวางของแบบโปร่ง ส่งผลให้บรรยากาศห้องดูสบาย
เจ้าของ: คุณภควัต หงษ์เจริญ ออกแบบ: space+craft

08 Office Furniture ลงทุนกับเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน
เราใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันในการทำงาน ดังนั้น การลงทุนในเฟอร์นิเจอร์สำนักงานที่มีคุณภาพ และรองรับการใช้งานตามหลักสรีระศาสตร์จึงนับว่าเป็นการลงทุนด้านสุขภาพที่คุ้มค่า นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพนักงาน และการตกแต่งที่โดดเด่นยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรด้วย

ห้องทำงานของผู้บริหาร อยู่ชั้นบนของ Aree Group
พื้นที่ทำงาน บริษัท OLG
พื้นที่ออฟฟิศชั้นล่างของตึกแถวสองคูหา ใช้สีขาวเป็นหลักร่วมด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว และเก้าทำงานรับกับสรีระ ออกแบบ: KIRIN design&living

ตามไปอ่านต่อฉบับเต็มได้ใน Home Office / Home Studio หนังสือรวมไอเดียการออกแบบ “บ้าน” ให้ผสานกับ “พื้นที่ทำงาน” และ “พื้นที่ทำเงิน”ให้อยู่สบาย ตอบโจทย์ทั้งบริษัทขนาดเล็ก สตาร์ตอัพ และนักสร้างสรรค์ พบกันที่ร้านหนั่งสือชั้นนำทั่วไทย
หรือสั่งซื้อได้หลากหลายช่องทางออนไลน์INBOX: m.me/roomfan
NAIIN: https://www.naiin.com/product/detail/582920
SHOPEE: https://shp.ee/uirj9q5
LAZADA: https://s.lazada.co.th/s.9V0vz