ถอดบทเรียน 10 ข้อจากเสวนา BACC circle หัวข้อ “20 ปีแห่งการเดินทาง การสร้างเขตวัฒนธรรมเกาลูนตะวันตก  WEST KOWLOON ให้อะไร?” ต่อคุณและวงการศิลปะไทย

West Kowloon Cultural District Authority พื้นที่สำหรับประชาชน และความเป็นไปได้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะ ในการที่ศิลปินท้องถิ่นจะไม่ถูกทอดทิ้ง และการขยับเข้าสู่ระดับโลกคือสิ่งเป็นไปได้ นี่คือ 10 บทเรียนที่ คุณเบอร์นาร์ด ชาญวุฒ ชาญ รองประธานและคณะกรรมการของ West Kowloon Cultural District Authority พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการศิลป์และประธานบริหาร บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ มาร่วมถ่ายทอดให้เราฟัง

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 นอกจากการพูดคุยที่สนุกสนาน คุณเบอร์นาร์ด ชาญวุฒ ชาญ รองประธานและคณะกรรมการของ West Kowloon Cultural District Authority พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการศิลป์และประธานบริหาร บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกันถ่ายทอดบทเรียนสุดเข้มข้นจากประสบการณ์ตรง เพื่อผลักกงล้อของวงการศิลปะเคลื่อนที่ต่อไป และนี่คือ 10 ประเด็นที่เราสรุปได้จากเสวนาในครั้งนี้!

1. การสร้างพื้นที่สำหรับประชาชนเป็นไปได้ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
แนวคิดตั้งต้นในการสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนฮ่องกง มาจากข้าราชการท่านหนึ่งที่หลงใหลในดนตรี เขาจึงเสนอให้รัฐบาลฮ่องกงปันที่ดินบางส่วน ซึ่งมีไว้ขายเป็นพื้นที่สำหรับปลูกสร้างอสังหาริมทรัพย์ มาปรับเป็นศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมสำหรับประชาชน อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวได้รับการเสนอต่อสภาเป็นครั้งแรกในปี 1998 แต่กว่าโครงการจะเริ่มจริงก็ล่วงเข้า 10 ปีต่อมา (ปี 2008) แสดงให้เห็นว่า การเนรมิตพื้นที่ใหม่เป็นเรื่องใหญ่ และต้องใช้เวลานาน แต่ฝันของประชาชนก็มีโอกาสเป็นจริงได้ หากภาครัฐสนับสนุนเต็มที่

2. ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ
การก่อสร้างอภิมหาโครงการ จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล รัฐบาลฮ่องกงจึงตัดสินใจจัดตั้งหน่วยงานพิเศษ ที่รวมตัวแทนจากชุมชน นักวิชาการ และหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ขึ้น เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และแสดงให้เห็นว่าการจัดการงบประมาณของภาครัฐโปร่งใส เป็นไปเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

3. โจทย์ของภาครัฐ อาจเป็นการหาทุนเพิ่มจากพื้นที่เชิงพาณิชย์

West Kowloon Cultural District มีพื้นที่รวม 40 เฮกเตอร์ และกว่า 23 เฮกเตอร์ (เกิน 50%) ถูกมอบไว้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน ดังนั้น โจทย์ของรัฐบาลฮ่องกง คือต้องบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้พื้นที่นี้ดำรงอยู่ต่อไปได้ พวกเขาจึงแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสร้างเป็นพื้นที่สำนักงานและโรงแรมสำหรับปล่อยเช่า เพื่อให้ West Kowloon Cultural District หาเงินทุนได้ โดยไม่ต้องเก็บภาษีเพิ่มจากประชาชน

4. ศิลปินท้องถิ่นต้องไม่ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง

สิ่งที่ West Kowloon Cultural District ตระหนักอยู่เสมอ คือนอกจากพื้นที่นี้จะเป็นเวทีสำหรับศิลปินนานาชาติแล้ว ศิลปินท้องถิ่นก็ต้องได้รับโอกาสโชว์ผลงานของตัวเองเช่นกัน

5. ความแตกต่างอาจไม่ได้มาจาก “ชิ้นงาน” แต่มาจาก “วิธีนำเสนองาน”

ความท้าทายของ Hong Kong Palace Museum (พิกัดหนึ่งใน West Kowloon Cultural District) คือการจัดแสดงผลงานที่ยืมมาจากประเทศจีน ให้แตกต่างออกไปจากพิพิธภัณฑ์ต้นแบบ ทีมงานจึงใช้วิธีปรับการนำเสนอในมุมมองใหม่ ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อถ่ายทอดประวัติศาสตร์จีนให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ชมได้เสพประสบการณ์ใหม่ แม้จะเคยชมงานชิ้นเดิมมาก่อน

6. ไม่ว่ากลุ่มเป้าหมายจะเป็นใคร ลองหาวิธีให้คนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเปิดใจ
ทุก ๆ สถานที่ใน West Kowloon Cultural District ดึงดูดคนต่างเพศต่างวัยที่มีความชอบไม่เหมือนกัน กลุ่มผู้สูงอายุมักไปชมอุปรากรจีนที่ Hong Kong Palace Museum ในขณะที่วัยรุ่นนิยมชมงาน Contemporary Art ที่ M+ แต่แทนที่จะมุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมายของสถานที่นั้น ๆ ความหวังของ West Kowloon Cultural District คือการทำให้กลุ่มผู้สูงอายุเปิดใจให้กับงาน Contemporary Art เช่นเดียวกับที่หวังให้วัยรุ่นเปิดใจชมความงดงามของอุปรากรจีน

7. ความรักในศิลปะร่วมสมัย ต้องอาศัยการ “ซึมซับ” และ “ปลูกฝัง”

ภายใน West Kowloon Cultural District มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า Art Park ซึ่งสามารถใช้งานได้ฟรี หลาย ๆ คนที่เดินเข้ามาในพื้นที่นี้จึงไม่ได้ตั้งใจจะมาชมงานศิลปะ แต่ตั้งใจพาสัตว์เลี้ยงมาเดินเล่น มาวิ่งออกกำลังกาย หรือปิคนิคสบาย ๆ กับครอบครัว ไม่ว่าจุดมุ่งหมายแรกของทุกคนคืออะไร ฮ่องกงก็คาดหวังให้ประชากรของตนได้ใช้เวลาใน West Kowloon Cultural District เพื่อซึมซับเสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์ การแสดง และศิลปะร่วมสมัยต่าง ๆ จนกระทั่งรู้สึกประทับใจด้วยตัวเอง

8. การลงทุนกับศิลปวัฒนธรรม คือการลงทุนสำหรับอนาคต

เป็นความจริงที่การลงทุนเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมจำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล และไม่สามารถคืนทุนได้ในระยะสั้น แต่ก็เป็นการวากรากฐานที่สำคัญ ให้กับชีวิตของประชาชนรุ่นหลัง

9. พื้นที่ศิลปวัฒนธรรมที่ดี คือหนึ่งในวิธีแก้วิกฤต “สมองไหล”

ปัจจุบันมีเยาวชนมากมายที่สนใจศิลปวัฒนธรรม และเข้าศึกษาในสาขาด้านนี้จนเชี่ยวชาญ แต่กลับไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงฝีมือ สุดท้ายเยาวชนเหล่านี้จึงต้องย้ายไปทำงานที่เมืองอื่น การสร้างพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมดี ๆ จึงช่วยดึงดูดพวกเขาให้ตัดสินใจพำนักและทำงานที่เมืองของตัวเองต่อไป

10. ศิลปวัฒนธรรม คือ “สปอร์ตไลท์” ที่ฉายให้โลกมองเห็นเรา

West Kowloon Cultural District ฉายแสงให้ประชาคมโลกมองเห็นฮ่องกงในมุมใหม่ จากเมืองแห่งธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ มีเอกลักษณ์ที่หาจากดินแดนไหนไม่ได้

ภาพ และเนื้อหา: BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 
เรียบเรียง: Wuthikorn Sut