FIP แมว คือ โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว

FIP แมว คือ โรคติดต่อในแมวชนิดหนึ่ง ย่อมาจาก Feline infectious peritonitis หรือเรียกว่า โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ

FIP แมว หรือโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ รู้ไว้และป้องกัน เพื่อให้น้องแมวที่รักของเราห่างไกลจากโรคติดต่อ วันนี้ คุณหมอได้อธิบายเกี่ยวกับโรคนี้ไว้อย่างไร มาติดตามกันเลยค่ะ

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบเกิดจาก “การติดเชื้อในกลุ่มโคโรนาไวรัส” ที่กลายพันธุ์มาจากเชื้อ Feline enteric coronavirus (FCov) และก่อให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงในแมว

โดยทั่วไป เชื้อไวรัสเยื่อบุช่องท้องมักติดเชื้อในแมว ที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เช่น แมวอายุน้อยกว่า 2 ปี และแมวที่มีอายุมาก แมวที่รวมกันเป็นกลุ่มอย่างแน่น และแมวที่เกิดความเครียดเรื้อรัง

นอกจานี้ โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบยังสามารถพบได้ในแมว ที่ป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันยกพร่อง เช่น โรคลิวคีเมีย และโรคเอดส์แมว เป็นต้น โดยโรคติดต่อชนิดนี้สามารถพบได้ในแมวทุกเพศ และทุกสายพันธุ์

โรคติดต่อในแมว, โรคติดเชื้อในแมว, โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ, โรคในแมว, FIP แมว,
แมวเด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงมักติดเชื้อโรคช่องท้องอักเสบได้ง่าย

การติดเชื้อโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว

เชื้อ FCoV ที่ยังไม่ได้กลายพันธุ์และไม่ได้อยู่ในขั้นก่อโรครุนแรง สามารถติดต่อแมวตัวอื่นได้ง่าย โดยแพร่ผ่านการสัมผัสทางร่างกายระหว่างแมว หรือการสัมผัสอุจจาระของแมวที่เป็นพาหะ จากการใช้กระบะทรายร่วมกัน หรือการติดเชื้อไวรัสผ่านวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์เป็นเชื้อเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ที่ก่อโรครุนแรงแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่ปนเปื้อนออกมากับอุจจาระของแมวป่วย และไม่ทำให้แมวตัวอื่นติดเชื้อผ่านการกินได้

ปัจจุบัน สัตวแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่า เชื้อไวรัสเยื่อบุช่องท้องอักเสบที่เข้าสู่ตัวของแมวแล้ว จะเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนาที่ก่อโรคได้จากปัจจัยภายในของแมวตัวนั้น ๆ

การก่อโรค และอาการป่วย

ความรุนแรง และอาการ ของแมวที่ติดเชื้อไวรัสโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ อาจแตกต่างกันไปในแมวแต่ละตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ เช่น อายุของแมวในขณะที่ได้รับเชื้อ ระดับและประเภทของภูมิคุ้มกันในร่างกาย สุขภาพทั่วไปขณะ ที่ได้รับเชื้อ รวมทั้งปริมาณและความรุนแรงของเชื้อไวรัส ที่ส่งผลให้เกิดลักษณะ และรูปแบบของการติดเชื้อที่แตกต่างกัน

รูปแบบการติดเชื้อที่พบได้มี 2 แบบคือ การติดเชื้อแบบแห้ง (Non-effusive form) และการติดเชื้อแบบเปียก (Effusive form) แต่ในบางกรณีอาจพบทั้ง 2 รูปแบบควบคู่กัน

1. การติดเชื้อแบบแห้ง (Non-effusive form) จะก่อให้เกิดอาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ โดยเนื้อเยื่อจะเจริญผิดปกติเป็นก้อนแข็งในร่างกาย มีการพัฒนาโรคแบบช้า ๆ และพบได้หลายตำแหน่ง อาการที่พบการติดเชื้อแบบแห้งมักไม่จำเพาะ ได้แก่ ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ และน้ำหนักลด

หากมีการอักเสบแบบก้อนในเนื้อเยื่อประสาท อย่างในสมอง จะพบอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น เดินไม่สัมพันธ์กัน สั่น ชัก หรือสูญเสียการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ หากมีรอยโรคแบบก้อนในช่องท้อง อาจตรวจพบความผิดปกติของการทำงานของตับ และไต นอกจากนี้ แมวบางตัวอาจพบรอยโรคได้บริเวณตา มีภาวะช่องหน้าตาอักเสบ เป็นต้น

2. การติดเชื้อแบบเปียก (Effusive form) จะก่อให้เกิดอาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ที่มีของเหลวคั่งค้างในบริเวณช่องอกและช่องท้อง เนื่องจากการอักเสบและเสียสภาพของเส้นเลือด ดังนั้น น้ำเลือดจึงรั่วซึมออกจากเส้นเลือดมาคั่งในบริเวณดังกล่าว

อาการของแมวที่ป่วยมักจะมีร่างกายผอม มีไข้ เบื่ออาหาร เลือดจาง และช่องท้องขยายใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีน้ำสะสมในช่องท้อง ส่วนในกรณีที่มีน้ำคั่งในช่องอก แมวจะมีอาการหายใจลำบาก

โรคติดต่อในแมว, โรคติดเชื้อในแมว, โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ, โรคในแมว, FIP แมว,
ลูกแมวจะแสดงอาการเบื่ออาหาร ซึม และมีไข้ หลังเชื้อเริ่มกลายพันธุ์ในร่างกายของลูกแมว

การวินิจฉัย และการรักษา

หากแมวที่แสดงอาการเบื่ออาหาร และมีไข้ หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ที่คาดว่าจะะเป็นโรคติดเชื้อ ควรเข้ารับการตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อวินิจฉัยแยกแยะออกจากความผิดปกติอื่น ๆ โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด

สัตวแพทย์จะสั่งตรวจเลือด เพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ค่าเคมีของเลือด ระดับโปรตีนในกระแสเลือด การวิเคราะห์น้ำในช่องอกและช่องท้อง การตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ การอัลตราซาวด์ช่องท้อง และการเอกซเรย์ช่องอก ซึ่งต้องอาศัยการตรวจหลาย ๆ วิธีร่วมกัน เป็นต้น

ในการรักษาโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบยังไม่มีวิธีที่เฉพาะเจาะจง แต่สัตวแพทย์จะ รักษาตามอาการของแมวป่วย ได้แก่ การเจาะระบายน้ำในช่องท้องหรือช่องอก การให้สารน้ำและสารอาหาร การให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดการติดเชื้อแทรกซ้อน การให้ยากดภูมิคุ้มกัน การถ่ายเลือดในกรณีที่เลือดจางรุนแรง เป็นต้น

ในปัจจุบัน สัตวแพทย์และนักวิจัยกำลังศึกษาวิธีการ และพัฒนางานวิจัยใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อคิดค้นยาต้านไวรัสก่อโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ซึ่งเป็นความหวังในการรักษาโรค ในอนาคต ต่อไป

เรื่อง สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำ โรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ: โรคถุงน้ำในไตแมว โรคที่ยังรักษาไม่ได้