5 Tips จัดมุมทำงานในสวน ให้เป็นสัดส่วนและใช้งานง่าย

การทำงานท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ ช่วยสร้างสุนทรียภาพและแรงบันดาลใจได้ไม่น้อย อีกทั้งยังทำให้เราได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์เข้ากับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

ซึ่งการจัดมุมทำงานในสวนให้เป็นสัดส่วน ก็จะทำให้พื้นที่ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าใช้งาน และหยิบจับสิ่งของได้ง่ายยิ่งขึ้น แถมหากจัดมุมทำงานในสวนให้ดีก็สามารถใช้เป็นมุมโชว์ในสวนได้อีกด้วย

1. เลือกมุมให้เหมาะ

การเลือกมุมใดในสวนเป็นมุมทำงาน นอกจากจะดูจากความสะดวกของตัวเราเป็นหลักแล้ว ควรคำนึงถึง

  • การเข้าถึงที่สามารถเดินต่อเนื่องกับสวนหรือมีทางเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายในบ้าน เพื่อให้สามารถเข้าไปใช้งานง่ายและสะดวกในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการใช้รถเข็น และไม่ควรอยู่ในจุดอับที่ทางเดินแคบเกินไป
  • ควรเป็นมุมที่มีร่มเงา เพื่อให้ไม่ร้อนเกินไปเมื่อเข้าไปใช้งาน ลองสังเกตตัวเองว่าชอบทำงานในสวนช่วงไหน หากชอบเข้าสวนตั้งแต่เช้าตรู่ก็ควรเลือกมุมที่ร่มตอนเช้า แต่หากชอบเข้าสวนช่วงบ่าย มุมนั้นก็ควรได้รับเงาจากตัวบ้านหรือต้นไม้ช่วงบ่าย เป็นต้น
  • ควรอยู่ใกล้ระบบน้ำและไฟ เพื่อให้สามารถต่อเข้ามาใช้ในสวนได้สะดวก เนื่องจากมุมทำงานมักเป็นพื้นที่นอกบ้านซึ่งไม่ได้มีการเตรียมระบบน้ำและไฟไว้ตั้งแต่แรก การคำนึงถึงเรื่องนี้จะทำให้คุณทำงานง่ายมากยิ่งขึ้น
  • ควรเป็นมุมที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อไม่ให้มีการสะสมความชื้นและเชื้อโรค อันจะเป็นปัญหาต่อต้นไม้หรืออุปกรณ์ที่อยู่ในมุมนั้นได้

2. พื้นที่ทำงานและบริเวณโดยรอบ

บริเวณที่จัดเป็นมุมทำงานในสวนควรเป็นพื้นดาดแข็งและมีระดับพื้นลาดเอียงเล็กน้อยเพื่อการระบายน้ำ เช่น พื้นที่ว่างหลังบ้านที่เทพื้นคอนกรีต หรือพื้นที่ที่วางแผ่นทางเดินเป็นลาน เพื่อให้ทำความสะอาดง่ายและไม่เฉอะแฉะหากฝนตกหรือมีการล้างอุปกรณ์ นอกจากนี้ หากมีหลังคาหรือกันสาดคลุม เพื่อป้องกันฝนจะดีมาก เพราะมุมนี้มักเป็นจุดที่เราใช้เก็บวัสดุและอุปกรณ์ด้วยในตัว

3. โต๊ะทำงาน

โต๊ะทำงานควรมีความกว้างที่อยู่ในระยะมือเอื้อมถึงส่วนในสุดได้ โดยส่วนใหญ่มักมีความกว้างประมาณ 55 – 65 เซนติเมตร แต่หากวางโต๊ะไว้ตรงกลางให้เข้าทำงานได้สองด้าน อาจเพิ่มความกว้างโต๊ะได้มากถึงประมาณ 110 – 130 เซนติเมตร ส่วนความสูงของโต๊ะในระดับที่ทำงานได้สบาย คือ 75 – 85 เซนติเมตร

4. ชั้นวางของ

หากพื้นที่ทำงานกับที่เก็บอุปกรณ์อยู่ในบริเวณเดียวกัน หรืไม่ห่างจากกันมากนัก ก็ช่วยให้ทำงานได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น เช่น อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ อย่าง ช้อนปลูก ส้อมพรวน กรรไกรตัดกิ่ง เชือก อาจใส่กล่อง วางบนชั้น หรือติดบอร์ดตะแกรงเหล็กบนผนังเป็นแนวระนาบเดียวกันสำหรับแขวนอุปกรณ์ ช่วยลดพื้นที่ในการเก็บอุปกรณ์ ส่วนอุปกรณ์ชิ้นใหญ่ๆ อย่าง จอบ พลั่ว มีดพร้า อาจนำไปแขวนผนังหรือใส่ลังให้หยิบใช้ได้สะดวก แต่หากในบ้านที่มีเด็ก สัตว์เลี้ยง และผู้สูงอายุ อุปกรณ์ที่มีคมตลอดจนสารเคมีอันตรายต่างๆ ควรเก็บให้มิดชิดและปลอดภัย โดยพื้นที่เก็บของควรวางในที่ร่มและแห้ง เพื่อป้องกันความชื้นที่จะทำให้วัสดุอุปกรณ์เป็นสนิมและเสียหาย

5. ห้องทำงาน

เป็นห้องหรืออาคารขนาดเล็กที่มีหลังคาและผนังปิดมิดชิด เพื่อป้องกันข้าวของเครื่องใช้เสียหายจากสิ่งแวดล้อมภายในสวน โดยอาจกรุผนังกระจกใส เพื่อสร้างความเชื่อมต่อระหว่างบรรยากาศภายในห้องกับสวนภายนอก อาจติดบานเกล็ดที่ช่วยให้อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่สะสมความชื้น และเชื้อโรค หากต้องการปลูกต้นไม้ในห้องควรเลือกวัสดุที่ทนน้ำ-ความชื้นได้ดี และยังทำความสะอาดง่ายไม่เฉอะแฉะ เช่น คอนกรีต เหล็กชุบสีพาวเดอร์โค้ต หรือกัลวาไนซ์