“Multi Mix Pocket Garden” สวนโชว์ในงานบ้านและสวนแฟร์2022

งานบ้านและสวนแฟร์ 2022 นำเสนอในแนวคิด “Worthy Living” วันที่ 28 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน 2565 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ก่อนเกิดวิกฤตด้านโรคระบาด บ้านเป็นเพียงที่พักที่อยู่อาศัย ผู้คนส่วนใหญ่มักใช้เวลาในการทำกิจกรรมอยู่นอกบ้าน ทำให้บ้างครั้งมองข้ามสภาพแวดล้อมโดยรอบของที่อยู่อาศัยไป จนเมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดขึ้น ผู้คนจึงต้องกลับเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ทำให้เริ่มมีการมองถึงการตกแต่งบ้าน การนำกิจกรรมที่เคยทำภายนอกบ้านเข้ามาใช้พื้นที่ในบ้าน หรือแม้แต่สร้างพื้นที่สีเขียวด้วยตัวเอง เพื่อให้รู้สึกเหมือนตัวเองยังคงใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน

ในงานบ้านและสวนแฟร์ 2022 บริเวณสวนโชว์จึงได้นำเสนอรูปแบบของสวน pocket green ที่กระจายตัวไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในเมือง เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้มากขึ้น ภายใต้แนวคิด “Multi Mix Pocket Garden” ที่ได้รวบรวมความต้องการในการทำกิจกรรมที่ต่างกันของคนทุกเพศทุกวัยมาผนวกรวมกันในพื้นที่ว่าง หรือพื้นที่สวนนอกบ้านให้กลายเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนใช้พื้นที่ร่วมกันและมีความสุขกับการใช้ชีวิต โดย we!park องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่อยากเชิญชวนทุกคนมามีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียว ด้วยการหยิบพื้นที่ว่าง หรือยกพื้นที่รกร้างในเมืองมาพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับพื้นที่สวนโชว์ในงานบ้านและสวนแฟร์จะแบ่งออกเป็น 4 โซนหลัก ซึ่งมีขนาดพื้นที่ที่แตกต่างกันจากความต้องการที่หลากหลาย โดยทางภูมิสถาปนิกได้สร้าง “Ribbon” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวเป็นแบ่งและกำหนดตำแหน่งของกิจกรรม ทำให้พื้นที่แต่ละจุดสามารถปรับเปลี่ยน เกิดการใช้งานร่วมกันได้อย่างหลากหลายและต่อเนื่อง

  1. Generations area : mix generation ด้วย swing gate หรือผนังกั้นที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของพื้นที่ เพื่อการรองรับกิจกรรมการใช้งานของช่วงวัยที่ต่างกันได้
  2. Forest area : พื้นที่นั่งเล่นที่ถูกล้อมรอบไปด้วยป่าสีเขียวเสมือนปอดธรรมชาติ ซึ่งช่วยกรองฝุ่นและมลภาวะที่อยู่รอบตัว mix group ด้วย movable bench ม้านั่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ
  3. Farm area : สวนผักสำหรับคนเมืองที่ออกแบบให้ mix activity ด้วย drawer and shelf ชั้นปลูกผักประหยัดพื้นที่ พร้อมห้องทำงานสำหรับคนรักสวน
  4. Stage : mix public and private ด้วย sliding door ฉากกั้นที่เป็นได้ทั้งฉากหลังของเวทีและกรอบมุมมองของสวนที่ซ่อนอยู่ด้านหลัง

เพื่อให้ผู้ที่ได้เข้าชมเกิดความรู้สึกผ่อนคลายประสาทสัมผัสทั้งห้าและสามารถบรรเทาอาการเครียดสะสมจากวิถีชีวิตชาวเมืองที่เร่งรีบลงได้ พรรณไม้ที่เลือกใช้ในงานออกแบบจึงเป็นการเลือกใช้พรรณไม้ที่หลากหลายในเชิงสวนบำบัด (Therapeutic area) ได้แก่ การใช้พืชดอกเพื่อสร้างสีสันและสร้างความสามารถในการเรียกแมลง เช่น แฮปปี้เนส ชมพูนุช ต้อยติ่งชมพู ต้อยติ่งม่วง ต้อยติ่งขาว เวอร์บีน่า ยี่เข่ง และนีออนแคระ พืชที่สามารถนำไปปรุงอาหารได้ เช่น โหระพา ตะไคร้ ผักชีลาว คาลามิ้น ย่าหยา อ่อมแซบ และ หญ้าหนวดแมว เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงไม้หอมร่วม เพื่อสร้างกลิ่นและอากาศที่น่าผ่อนคลาย เช่น ใบเตยหอม ราชาวดี พุดซ้อน สนหอม แก้วใบประยงค์ และทิวา เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวทั้งหมดเข้าด้วยกันและทำให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนอย่างแท้จริง