Harudot Chonburi by Nana Coffee Roasters ให้ประสบการณ์กาแฟได้ผลิบาน

พื้นที่พิเศษของคนรักกาแฟที่สถาปัตยกรรมเปรียบได้กับภาชนะ คล้ายแก้วกาแฟ ที่ช่วยพาให้ประสบการณ์ของกาแฟที่ดีอยู่แล้ว ดียิ่งขึ้นไปอีกระดับ เมื่อสถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมกาแฟต่างส่งเสริมซึ่งกันและกัน สิ่ง ๆ นั้นจึงเกิดออกมาเป็น Harudot Chonburi by Nana Coffee Roasters

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบสถาปัตยกรรม: IDIN Architects

Harudot by Nana Coffee Roasters เป็นแบรนด์ที่เกิดขึ้นมาจาก NANA Coffee Roasters แต่จะแยกย่อยออกไปอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ การสร้างภาพจำ และแนวทางของการสื่อสารจึงอาจมีความแตกต่างไปจาก Nana Coffee Roasters อยู่บ้าง เพราะการอยู่ในพื้นที่ที่ต้องเดินทางไป ความเป็น Destination จึงเป็นสิ่งจำเป็น

สถาปัตยกรรม และบรรยากาศที่สามารถสร้างให้ผู้คนสามารถนึกออกแม้จะเพียงภาพถ่ายเดียวนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ประกอบกับความตั้งใจที่อยากให้ลูกค้าที่เข้ามาได้ใช้เวลากับกาแฟของทางร้าน การออกแบบที่ไม่เน้นจุดถ่ายรูป แต่ตั้งใจใส่บรรยากาศไปในทุกพื้นที่ จึงทำให้ Harudot เป็นคาเฟ่ที่สวยไปทุกจุด แบบไม่เฉพาะเจาะจง แต่คือบรรยากาศโดยรวมที่สร้างให้แม้เพียงเสี้ยวเดียว ก็กล่าวได้ว่าที่นี่คือ Harudot Chonburi

คำว่า Haru นั้นหมายถึงการผลิบาน และฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นใหม่ในหลายความหมาย ทั้งคำว่า Dot นั้นก็หมายถึงจุด อาจจะเป็นจุดเริ่มต้น หรือหมายถึงการต่อจุดที่จะเชื่อมโยงไปพร้อมกัน เมื่อสองคำนี้มารวมอยู่ด้วยกัน นั่นอาจจะหมายถึงกาแฟ ที่ผลิบานรสชาติในใจลูกค้า ผลิไอเดียดี ๆ ให้เกิดขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของวัน เริ่มต้นของเวลาที่ดี หรือแม้แต่การเริ่มต้นมิตรภาพ ก็นับว่า Harudot ครอบคลุมความหมายได้อย่างครบถ้วน

รูปทรงธรรมชาติ

ที่ผลิบานออกจากภายในเพื่อสร้างความหมายให้เป็นรูปธรรม การผลิบาน จึงเป็นเหมือนแกนของการออกแบบ ต้นเบาบับที่อยู่ภายใต้ชายคานั้นได้แย้มออกสู่เบื้องบนทำให้รูปฟอร์มของจั่วอาคารมีการเผยออกเป็นเส้นโค้ง และเกิดเป็นภาพจำของโครงการขึ้น

การออกแบบ มีการวางตัวอาคารเป็นสามส่วน เชื่อมโยงด้วยรูปทรงของหลังคาจั่ว ซึ่งแบ่งการใช้งานออกเป็น ส่วนแรกคือพื้นที่บาร์ ส่วนตรงกลางจะเป็นพื้นที่นั่ง และส่วนสุดท้ายจะเป็นเซอร์วิสรวมถึงห้องเฉพาะต่างๆ การทอนให้เกิดเป็นสามช่วงยังช่วยลดทอนสัดส่วนมวลอาคารให้ใกล้เคียงกับ Human Scale หรือสัดส่วนของมนุษย์ได้อีกด้วย สร้างให้เกิดความรู้สึกเป็นมิตรไม่ใหญ่โตจนเกินไป

ในบางส่วนมีการรเปิดเป็นพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์เปิดช่องให้แสงธรรมชาติ และฝนสามารถตกเข้ามาในอาคารได้ เสริมความเป็นธรรมชาติแบบร้อนชื้นอันชุ่มฉ่ำ เป็นบรรยากาศที่พิเศษ และในขณะเดียวกันที่ส่วนบาร์ จะมีการใช้ฝ้าบาริซอลที่ให้แสงขาวนวลแบบเต็มผืน เพื่อสร้างความรู้สึกถึงผืนฟ้า แสงแดด ล้อรับไปกับความเป็นพื้นที่เอ๊าต์ดอร์เช่นกัน

จากการใช้งานที่ภายในจึงมีการเชื่อมโยงพื้นที่ทั้งสามเข้าด้วยกัน ทำให้มวลอาคารมีการขยับเข้าออกเป็นเส้นโค้งที่สัมพันธ์กับพื้นที่ภายใน มีพื้นที่ที่เว้นให้กับต้นไม้ในบางช่วง เกิดเป็นรูปทรงที่เชื่อมโยงเป็นอาคารเดียว โดยยังคงภาพจำของสามเหลี่ยมหน้าจั่วทางด้านหน้าเอาไว้ได้อย่างชัดเจน

บรรยากาศพิเศษด้วยรายละเอียดที่มากกว่า

ให้ลูกค้าค้นพบสิ่งที่แตกต่างได้ในทุกวันการได้ดื่มด่ำกับกาแฟรสเลิศนั้น บ่อยครั้งคือการจดจ่ออยู่กับความสุดตรงหน้า Harudot Chonburi จึงตั้งใจสร้างให้บรรยากาศที่ลูกค้าจะได้รับมีความแตกต่างในรายละเอียดทุกครั้งที่ได้กลับมา

พื้นที่ที่เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกันนั้น มีการออกแบบให้เส้นแบ่งพื้น และพื้นที่นั่งทั้งหมด มีเส้นสายล้อรับกันไปตลอดทั้งโครงการอีกด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมโยงของสถาปัตยกรรม และการตกแต่งให้เป็นเนื้อเดียวกัน มีการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ดูเหนือจริง ทั้งแสงที่เลือกใช้รูปแบบ Indirect Light และเฟอร์นิเจอร์ที่ดูเบาลอยด้วยวัสดุอะคริลิกใส ทั้งยังมีการใส่ Quote คำที่เกี่ยวเนื่องกับกาแฟในทุก ๆ มุม ให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการได้สังเกต และค้นพบด้วยตนเอง เป็นเหมือน Coding ที่ต่อเติมความคิดให้กับแต่ละวันของผู้มาเยือน และในบางส่วนยังมีการเลือกใส่อะครีลิกรูปใบไม้ลงไปบนพื้นที่ที่มีต้นไม้ตั้งอยู่อีกด้วย

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรายละเอียดที่ตั้งใจให้ลูกค้าได้ค้นพบแม้ในการมาเยือนซ้ำก็ตาม ไม่ต่างกับกาแฟที่หลาย ๆ คนอาจค้นพบมิติรสชาติใหม่ในแต่ละเมล็ด ที่ได้ลิ้มลอง

วัสดุเรียบง่ายแต่รุ่มรวยด้วยรายละเอียด

ไม่ต่างกับกาแฟ ในส่วนของวัสดุนั้นทั้งภายนอกและภายในเลือกใช้ไม้สนแต่เลือกทำสีด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน สีดำที่ภายนอกนั้น นอกจากความทนทานแล้ว ยังทำให้รู้สึกโดดเด่น แต่ถ่อมตนกลมกลืนไปกลับบริบทได้พร้อม ๆ กัน ส่วนภายในนั้นเลือกทำสีธรรมชาติเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับบรรยากาศ และเชื่อมโยงกับความเป็นธรรมชาติของแมกไม้ที่ภายใน

ออกแบบพื้นหินขัด Terrazo และใช้คาแร็คเตอร์ของวัสดุออกแบบเป็นเส้นที่เชื่อมโยงทุกพื้นที่เข้าด้วยกัน รวมทั้งเสริมรายละเอียดชุดคำพูดเกี่ยวกับกาแฟ และไม้ใบแกะสลักฝังลงไปในพื้น เพื่อให้เป็นเหมือนเกมสนุก ๆ ที่ลูกค้าที่แวะมาเยี่ยมเยือนจะได้ค้นพบพื้นที่พิเศษไม่ว่าจะมาซ้ำสักกี่ครั้งก็ตาม

และนี่ก็คืองานออกแบบสถาปัตยกรรมที่อุทิศทุกตารางนิ้วให้แก่การส่งเสริมประสบการณ์กาแฟ สู่ความงามในรสชาติอย่างแท้จริง ผ่านการออกแบบ และ ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่นำให้ผู้ใช้งานสามารถรับรู้ได้ทั้ง Sense of Place และ Sense of Happiness ของกาแฟแก้วโปรด ที่นี่คือ Harudot Chonburi by Nana Coffee Roasters

ออกแบบ: IDIN Architects

ภาพ : DOF SkyGround architectural film & photography