Oliver Lin พานักออกแบบไทยเจาะตลาดเอเชียด้วย Golden Pin Design Award

ปัจจุบันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญของนโยบายเศรษฐกิจทั่วโลก เช่นเดียวกันกับที่ไต้หวัน สถาบันวิจัยการออกแบบแห่งไต้หวัน หรือ Taiwan Design Research Institute (TDRI) ได้รับการก่อตั้งเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของไต้หวันผ่าน “พลังแห่งการออกแบบ” ที่เข้มแข็ง รวมถึงเป็นแพลตฟอร์ม ที่สร้างความร่วมมือข้ามพรมแดนผ่านการเป็นผู้จัดการมอบรางวัลด้านการออกแบบระดับนานาชาติอย่าง Golden Pin Design Award (GPDA)

ภาพ: www.tdri.org.tw
ภาพ: www.tdri.org.tw

ตามไปฟัง Oliver Lin รองประธาน TDRI เชิญชวนนักออกแบบไทยก้าวสู่เวทีระดับนานาชาติกับ Golden Pin Design Award เวทีประกวดที่ได้จัดต่อเนื่องมายาวนานกว่า 40 ปี พร้อมบอกเล่าถึงการมาเยือนกรุงเทพฯในครั้งนี้ นำทีมนักออกแบบที่ได้รับรางวัล GPDA ในปีก่อนมาร่วมนำเสนอแนวคิดด้านการออกแบบที่น่าสนใจในงานสัมมนา Design Perspectives x Golden Pin Salon Bangkok 2023

Oliver Lin รองประธานสถาบันวิจัยการออกแบบแห่งไต้หวัน หรือ Taiwan Design Research Institute (TDRI)

“การจัด Salon หรืองานสัมมนาในครั้งนี้ เรามุ่งไปที่ประเทศที่นักออกแบบมีศักยภาพสูง มีกระแสความเคลื่อนไหวด้านการออกแบบที่น่าสนใจ และแน่นอนว่าไทยคือหนึ่งในนั้น เรามองว่าไทยมีศักยภาพทั้งในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม หรืองานออกแบบภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านงานโฆษณา ดีไซเนอร์ไทยมีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก”

“อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้วรางวัล GPDA มีผู้เข้าส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจากไทยออกจะน้อยไปสักนิด เราจึงรู้สึกว่าไทยเป็นตลาดงานออกแบบที่ใหญ่กว่านั้น และอยากจะเชิญชวนนักออกแบบไทยให้รู้จักกับรางวัลนี้ให้มากขึ้น ดังนั้น นอกจากที่จีนและญี่ปุ่น พวกเราจึงมาที่นี่ และที่มาเลเซีย เพื่อโปรโมทรางวัลนี้ และเชิญทุกคนมาร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกับเรา”

หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกหลักและผู้ก่อตั้ง Vin Varavarn Architects ผู้ได้รับรางวัล Best Design Award จากงาน Golden Pin Design Award ประจำปี 2564 
PANNAR Sufficiency Economic and Agriculture Learning Center หรือศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา ออกแบบโดย Vin Varavarn Architects
NK Kuo ผู้ก่อตั้ง Forest-Wood Archi-Tect. & Director of Timber Tectonic of Curvink Architects / อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมของ TKU และเป็นอาจารย์สอนที่ Design+Build Forest Architecture Studio นำเสนอการออกแบบและก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมกลางป่า โดยใช้ไม้ป่าไต้หวันเป็นวัสดุหลัก
ผลงาน Maker Space – Popop Taipei ออกแบบโดย NK Kuo
ร้านอาหาร vortex@EMBERS ผลงานการออกแบบของ NK Kuo

ในงานสัมมนา Design Perspectives x Golden Pin Salon Bangkok 2023 มาพร้อมหัวข้อ “The Power of Design: How to Practice Sustainability through Design” จากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสาขาต่าง ๆ ทั้งชาวไต้หวันและชาวไทยที่ชนะการประกวด Golden Pin Design Award ในครั้งก่อน ได้แก่ หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกหลักและผู้ก่อตั้ง  Vin Varavarn Architects พร้อมด้วยนักออกแบบชาวไต้หวันอีก 2 ท่าน ได้แก่ Ocean Ou ผู้ก่อตั้ง Duolog Design LLC และ NK Kuo ผู้ก่อตั้ง Forest-Wood Archi-Tect. & Director of Timber Tectonic of Curvink Architects ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมของ TKU และเป็นอาจารย์สอนที่ Design+Build Forest Architecture Studio

Ocean Ou ผู้ก่อตั้ง Duolog Design LLC
ผลงานผลิตภัณฑ์แว่นจากวัสดุรีไซเคิลจากซากแหอวนภายใต้แบรนด์ Hibāng ที่ใช้แนวคิดการออกแบบแบบ circular design ซึ่งได้รับรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมแห่งปีจากงาน Golden Pin Design Award ปี 2022 ออกแบบโดย Ocean Ou


“เราตั้งใจจัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อให้นักออกแบบที่เคยได้รับรางวัลได้นำเสนอแนวคิดภายใต้หัวข้อ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการออกแบบ และความยั่งยืน ซึ่งเรื่องของความยั่งยืนถือเป็นเทรนด์ระดับโลก ที่ทุกฝ่ายมีความตื่นตัวในวงกว้าง ซึ่งในไต้หวันเอง ก็ให้ความสำคัญกับเทรนด์นี้อย่างยิ่ง ด้วยพื้นฐานของไต้หวัน ที่เป็นเกาะขนาดเล็ก จึงให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลทรัพยากรทุกชนิด อีกทั้งนโยบายรัฐบาลก็ล้วนเอื้อให้เกิดการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน  แม้แต่ในไทยเองก็เช่นกัน ผมพบว่ามีผู้ประกอบการหลายราย ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนเป็นอย่างมาก”

“นอกจากนี้ อีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งปีนี้ TDRI ทำวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ และอิทธิพลซึ่งกันและกันระหว่าง AI มนุษย์ และดีไซน์ บางคนอาจคิดว่า AI อาจมาทำงานแทนนักออกแบบ แต่เราคิดว่านับจากนี้ นักออกแบบต้องอัพเดท ยกระดับความคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาอย่างมีระบบที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นทางออกในการต่อสู้กับเทคโนโลยี”

นอกจากนี้ ทาง TDRI ในฐานะแพลตฟอร์ม ที่ส่งเสริมการออกแบบระหว่างประเทศ ยังถือโอกาสนี้ยกระดับความร่วมมือด้านการออกแบบ ทั้งในระดับองค์กร และในระดับนักศึกษาอีกด้วย

“หลังจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่าน เราได้จัดนิทรรศการโชว์เคสงานออกแบบในเทศกาล Bangkok Design Week 2023 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมงานชาวไทย ช่วงปลายปีนี้ เราได้ชวนทาง CEA ไปร่วมกับ Taiwan Design Week ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกัน”

“เราลงนามข้อตกลง MOU กับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการส่งผลงานของนิสิตเข้าร่วมนิทรรศการสำหรับ Young Designer ในกรุงไทเป รวมถึงความร่วมมือในการส่งนิสิตมาฝึกงานในหน่วยงานของ TDRI เพื่อส่งเสริมประสบการณ์ และวิชาชีพด้านการออกแบบ”

นอกเหนือจากการสร้างความร่วมมือด้านการออกแบบ TDRI ยังตั้งใจให้ GPDA เป็นรางวัลที่ช่วยยกระดับมาตรฐานงานออกแบบของเอเชียในเวทีนานาชาติอีกด้วย เมื่อจีนมีประชากรมากที่สุดในโลก และยิ่งเมื่อรวมถึงประเทศต่างๆ ที่มีประชากรใช้ภาษาจีนเป็นหลักในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ ฯลฯ ก็นับได้ว่าเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ ที่ทรงอิทธิพล และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก GPDA จึงเป็นรางวัลด้านการออกแบบ ที่ถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ และบริการ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงในเอเชีย

“GPDA มีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศที่ใช้ภาษาจีน อย่างประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ โดยเฉพาะในจีน บริษัทต่าง ๆ จะแสดงเครื่องหมาย GPDA เคียงคู่รางวัล reddot หรือ IF รางวัลนี้จึงถือเป็นอีกช่องทาง ที่ช่วยโปรโมทมาตรฐานการออกแบบที่น่าเชื่อถือ และยังสามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในร้านค้าของเรา รวมถึงจัดแสดงในงานนิทรรศการของ GPDA ทั่วโลก อาทิเช่น ปักกิ่ง และเสินเจิ้น”

“ทุกปีเราเชิญคณะกรรมการมากกว่า 100 คน และ 1 ใน 3 มาจากทวีปอื่นๆ ทั้งยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่จากไทย เพื่อการตัดสินอย่างเป็นธรรม และสร้างมาตรฐานงานออกแบบที่ดีในระดับสากล”

สำหรับผู้สนใจสมัครส่งผลงาน รอบการลงทะเบียนล่วงหน้า (Early Bird) รับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 12 มิถุนายน 2566 และ รอบปกติตั้งแต่ 13 มิถุนายน – 5 กรกฏาคม 2566

ข้อมูลเพิ่มเติม
เว็บไซต์: www.goldenpin.org.tw/en/ 
Facebook: facebook.com/GoldenPinDesign 
Instagram: instagram.com/GoldenPinDesign

เรื่อง: MNSD
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล, เอกสารประชาสัมพันธ์

__________________________________________________________________________________________

ZHAO ZHAO TEA LOUNGE ร้านชาในบ้านเก่าที่เข้าถึงแก่นแท้วัฒนธรรมการดื่มชาไต้หวัน