“หนีกรุงไปปรุงฝัน” วลีที่ได้ยินทีไรก็รู้สึก Romanticize และ Slow life แต่ก็แอบซ่อนคำถามไว้ว่าสิ่งนั้นสามารถเกิดได้จริงหรือไม่ และจะต้องเริ่มจากตรงไหน โดยเฉพาะการไปเป็นเกษตรกร วิถีที่ดูจะไกลห่างจากชีวิตคนเมือง
บ้านและสวน จึงได้นำคำถามและสงสัยข้อข้องใจมากมายมาถาม อาจารย์ยักษ์ – วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ถ่ายทอดปรัชญาเกษตรกรรม “โคก หนอง นา โมเดล” โครงการต่อยอดจากโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตาม พระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนเกิดผลเป็นรูปธรรม
สวน “อาจารย์ยักษ์” จิตวิญญาณที่พอเพียง
• โคก หนอง นา โมเดล คืออะไร
จากความเข้าใจเดิมที่ว่า โคกหนองนาโมเดล คือการนำเอาองค์ประกอบ 3 สิ่งนี้มาจัดเรียงให้อยู่ในที่แปลงหนึ่งร่วมกัน แต่สิ่งที่อาจารย์ยักษ์บอกกับเราไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเนื้อแท้ของโคกหนองนาคือการกลับไปสู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีหัวใจหลักคือการเก็บน้ำฝนในพื้นที่ให้ได้ปริมาณมากที่สุด “หากย้อนกลับไปในช่วงชีวิตวัยเด็กที่บ้านเกิดของผมในจังหวัดฉะเชิงเทรา คนโบราณมักจะขุดหนองน้ำไว้ 3 ขนาด ทั้งเล็ก กลาง และใหญ่ บนพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ของตนเอง สำหรับการกักเก็บน้ำและเลี้ยงปลา หลังจากนั้นเมื่อโตขึ้นผมก็ตระเวนท่องเที่ยวตามภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศ รวมถึงประเทศต่างๆ ในอาเซียน อย่างลาว และกัมพูชา ซึ่งก็จะเห็นวิธีการเก็บน้ำมากมายที่ต่างไปจากเดิม เช่น ในประเทศเรา ทางภาคใต้ก็มีภูมิปัญญาควนนาเล ทางเหนือคือการกั้นเหมืองฝาย ส่วนภาคกลางและอีสานจะเรียกว่า โคก หนอง นา ในต่างประเทศก็จะมีบารายแหล่งเก็บน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ที่แยกน้ำกินน้ำใช้ไว้บนโคก ตั้งเพื่อเซ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้ามใครลงไปขับถ่ายทำความสกปรก หรือการปั้นคันนาขนาดใหญ่ บังคับทิศทางของน้ำให้ไหลไปเก็บไว้ เพื่อการเพาะปลูก อีกทั้งหากพิจารณาดูดีๆ แล้ว ทั่วทั้งชมพูทวีป เรามีวิธีการจัดการน้ำมานานกว่า 5,000 ปี ซึ่งตอนแรกผมยอมรับและไม่เชื่อว่าภูมิปัญญาล้าหลังจะสามารถนำมาใช้ได้จริง แต่ในที่สุดแล้ว ถึงแม้ว่าวิธีเหล่านี้จะค่อนข้างเก่าแก่ แต่ผมก็ยังทันได้เห็นและได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้อยู่”
• องค์ประกอบของโคก หนอง นา
หนอง = พื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำ
การขุดหนอง บ่อ หรือพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำที่แนะนำคือ การจัดวางให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดของพื้นที่ อยู่ทางทิศที่ลมร้อนพัดผ่านเข้าตัวบ้าน เพื่อนำพาความเย็นจากน้ำเข้าไปแทนที่ และขุดให้มีรูปทรงตามธรรมชาติไม่เป็นสี่เหลี่ยมหรือทรงเรขาคณิต โดยถ้าเป็นพื้นที่การเกษตรที่อาศัยน้ำฝน ควรขุดบ่อน้ำให้ลึกอย่างน้อย 3 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำระเหยมากเกินไป และมีน้ำเหลือเพียงพอในช่วงหน้าแล้งหรือเวลาที่ฝนทิ้งช่วง ส่วนความกว้างและความยาวจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่และการใช้น้ำ แต่ระดับชายน้ำหรือบริเวณขอบบ่อจะต้องค่อนข้างตื้น เพื่อให้แดดสามารถส่องถึงได้ ซึ่งจะช่วยในการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก รวมไปถึงพืชน้ำอันเป็นแหล่งอาหารและพื้นที่สำหรับวางไข่ของปลาน้ำจืด
โครงสร้างไม่จำเป็นต้องทำจากคอนกรีต แต่อาจปลูกต้นไม้ตามแนวริมตลิ่ง เพื่อป้องกันการพังทลาย ประกอบกับภูมิปัญญาเฉพาะถิ่น อย่างการใช้ดินเหนียวและเลนผสมกันให้เหลวแล้วนำไปปั้นพอกที่ผิวบ่อ การใช้ใบไม้หมัก 45 วัน หรือปุ๋ยหมักผสมดินคลุกมาฉาบผิวดิน หรือในภาคอีสานจะมีวิธีการย่ำขี้เพื่อลดการรั่วซึมของแหล่งน้ำ โดยใส่มูลควายลงไปที่ก้นหนอง พอละลายกับน้ำก็เดินย่ำให้ปนกับดิน หรืออาจใช้มูลควายลงไปเกลี่ยเหมือนเวลาฉาบคอนกรีตหลังจากขุดบ่อเสร็จแล้วก็ได้ เพื่อช่วยให้หนองหรือบ่อสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นดินร่วน ดินทราย หรือดินลูกรัง ที่น้ำมักซึมผ่านชั้นดินออกไปอยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ มูลสัตว์ยังเป็นการสร้างระบบนิเวศให้บ่อน้ำ เพราะจะทำให้เกิดแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ เช่น หนอนแดง และไรแดง อันเป็นอาหารของกุ้ง หอย ปู และปลา
โคก = ฟองน้ำสารพัดประโยชน์
โคกสามารถเก็บน้ำไว้ในใต้ดินได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเมื่อป่าสมบูรณ์ โดยจะใช้ดินที่เหลือจากการขุดหนองให้นำไปถมปั้นทำเป็นโคก 3 โคก ได้แก่ โคกที่มีความสูงต่ำที่สุด ไว้สำหรับปลูกบ้าน ซึ่งควรเป็นบ้านที่มีใต้ถุน ความสูงถัดมาเป็นโคกที่ใช้สำหรับทำเป็นลานตากข้าว และสุดท้ายคือโคกที่สูงที่สุดสำหรับทำปศุสัตว์และเป็นที่ตั้งของยุ้งข้าว ซึ่งต้องอยู่ในระดับที่น้ำท่วมไม่ถึง ตามกำลังที่สามารถถมได้ โดยทั่วไปจะออกแบบให้มีความสูงหนีขึ้นไปจากระดับน้ำท่วมถึงประมาณ 1 เมตร แต่หากพื้นที่มีถนนมาขวางตัดหน้าพื้นที่ โคกดังกล่าวจำเป็นต้องอยู่สูงกว่าถนนอีกประมาณ 50-70 เซนติเมตร
นอกจากนี้ บนโคกจะปลูกต้นไม้ไว้หลากหลายชนิด โดยเลือกจากต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในท้องถิ่นนั้นๆ นำมาปลูกให้มีระดับความสูงหลายชั้น อย่างไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดิน เพื่อทำให้เกิดการเกื้อกูลกันเหมือนป่าธรรมชาติ ต้นไม้สามารถรับแสงแดดได้อย่างทั่วถึงและไม่แย่งกันเจริญเติบโต อีกทั้งยังใช้แนวคิดเรื่องการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริ คือการปลูกไม้ใช้สอย (ไม้โตเร็ว) ไม้กินได้ (ไม้ชั้นล่าง พืชหัว สมุนไพร และพืชล้มลุก) และไม้เศรษฐกิจ (ไม้เนื้อแข็ง) สำหรับการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายมาประกอบ ซึ่งจะสามารถแบ่งประโยชน์ได้เป็น 4 ประการ คือ
1. ใช้เพื่อการบริโภค เช่น อาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพร และขนม
2. ใช้ทำที่อยู่อาศัย เช่น พื้น ฝาบ้าน เสาเรือน
3. ใช้สอยอื่นๆ เช่น ทำฟืน เผาถ่าน ทำปุ๋ย สารไล่แมลง ทำเครื่องมือเครื่องใช้ ทำสีย้อม และน้ำยาซักล้าง
4. ให้ร่มเงาและความร่มเย็น เพื่อให้อุณหภูมิบริเวณที่อยู่อาศัยเย็นขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ
ซึ่งประโยชน์ทั้งสี่ประการนี้ ก็จะนำพาไปสู่ 4 พ นั่นคือ พอกิน พออยู่ พอใช้ และพอร่มเย็น
นา = พื้นที่กักเก็บน้ำ และใช้ประโยชน์
จุดประสงค์ของการทำนาคือ ใช้เป็นพื้นที่สำหรับเก็บน้ำอีกทางหนึ่ง เพราะหนองอย่างเดียวอาจเก็บน้ำได้ไม่เพียงพอ เช่น พื้นที่ 1 ไร่ หนองสามารถเก็บน้ำได้อย่างมากประมาณ 7,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากต้องการจะเก็บน้ำมากกว่านั้นก็ต้องใช้พื้นที่เยอะขึ้น จึงต้องเสียพื้นที่ในการขุดหนองมากขึ้น ดังนั้นหากนำดินไปทำโคกที่ซับน้ำด้วยรากต้นไม้ และมีหนองไว้รับน้ำแล้ว พื้นดินที่เหลือก็ยังสามารถเก็บน้ำผ่านนาได้ โดยนาในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นนาข้าวอย่างที่เข้าใจ อาจเป็นนาบัว นาปลา หรือพืชน้ำอื่นๆ ที่สามารถนำมาเป็นอาหารและสร้างรายได้ต่อไปก็ได้เช่นกัน
การออกแบบพื้นที่นา ควรยกคันนาให้กว้างและสูงอย่างน้อย 1 เมตร ซึ่งบางคนอาจไม่เข้าใจว่าการยกคันนาให้สูงนั้นจะปลูกข้าวพันธุ์อะไรได้ อาจารย์ยักษ์ได้อธิบายว่า “ข้าวทุกพันธุ์สามารถปลูกในนาน้ำลึกได้ ขอเพียงเรารู้จักพันธุ์ข้าวให้จริง และข้าวที่ปลูกในดินที่บ่มไว้อย่างดี ก็จะสมบูรณ์มีรากยาวพอที่จะหาอาหารเลี้ยงตัวและทะลึ่งต้นขึ้นสูงได้ นอกจากนี้ เรายังจะได้ผลผลิตอื่นจากนาข้าวก็คือปลา กุ้ง กบ เขียด ทำเป็นอาหารที่หลากหลาย ส่วนบนคันนาก็สามารถปลูกพืชผัก อย่างกล้วย อ้อย และพริก นำมาขายหรือแปรรูปสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง”
• “โคก หนอง นา” โมเดลที่ต้องประยุกต์
“โคก หนอง นา อย่าไปเชื่อใคร อย่าเชื่อตำรา … เราใช้ต้นทุนแค่สมองกับแรงงานเพียงเท่านั้น เพราะ แต่ละพื้นที่จะใช้รูปแบบต่างกัน จึงสามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม อย่างพื้นที่บางแห่งบริเวณภาคใต้ที่มีสภาพเป็นดินพลุ หากทำโคกหนองนา แบบภาคกลางก็ไม่มีทางได้ผลดีแน่นอน ต้องแก้ปัญหาดินเปรี้ยวเสียก่อน โดยหาเลนมาห่มท้องนาไม่ให้ดินเปรี้ยวขึ้นมา ประกอบกับใช้น้ำสมุนไพรรสจืดไปล้างเพื่อลดความเป็นกรด หรือในภาคอีสานเองก็มีแร่เกลือที่ต้องแก้ปัญหา ส่วนในบางพื้นที่ก็อาจทำได้ง่ายกว่า เช่น บนภูเขาที่ไม่ต้องทำโคก และสามารถทำนาขันบันไดได้เลย อีกทั้งยังเก็บกักน้ำได้ง่ายกว่า ดังนั้น ก่อนปรับปรุงวางผังพื้นที่จะต้องสำรวจดินและน้ำ รวมไปถึงแสงแดดและทิศทางลมให้ดีเสียก่อน เพื่อให้เราสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับภูมิประเทศ และวัฒนธรรมในพื้นที่นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี”
นอกจากนี้ อาจารย์ยักษ์ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “การประสบความสำเร็จคือ การที่เรามีอากาศรอบตัวที่เย็นสบาย มีอาหารไว้กิน มีของใช้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต และมีที่อยู่อาศัย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องมีพวก เพราะทุกอย่างเราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องแบ่งปันกันให้เกิดเพื่อน สิ่งนั้นจึงจะก้าวหน้า”
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องโคกหนองนาสามารถศึกษา ทดลองลงมือทำ และทำความเข้าใจ ผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ที่ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ 114 ซอย บี 12 หมู่บ้านสัมมากร เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ 0-2729 – 4456
http://agrinature.or.th
บทความที่เกี่ยวข้อง