Homework ผู้ผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ไม่ทอดทิ้งปัญหาสิ่งแวดล้อมไว้เบื้องหลัง

เชื่อว่าในทุกๆ อุตสาหกรรม กระบวนการผลิตย่อมก่อให้เกิดมลพิษหรือสิ่งปฏิกูลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งมักตามมาด้วยผลกระทบและปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ทว่าความน่าสนใจคือแต่ละโรงงานอุตสาหกรรมจะมีวิธีการอย่างไรในการจัดการของเสียที่เกิดขึ้นต่างหาก เนื่องจากกระบวนการกำจัดหรือบำบัดของเสียเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ ความเข้าใจ และงบประมาณในการจัดการ ทำให้หลายๆ โรงงานอุตสาหกรรมเลือกที่จะมองข้ามหรือละเลยไป

แต่สำหรับ Homework Fabrics  ผู้นำด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอขนาดใหญ่ ซึ่งมีโรงงานอันได้มาตรฐานในการผลิต ที่ให้ความสำคัญและใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงมีกระบวนการจัดการของเสียที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังในทุกขั้นตอน เพื่อตอกย้ำแบรนด์ผู้ผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน หนึ่งในประเด็นที่ผู้บริโภคในหลายประเทศกำลังหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อบ่งชี้ในการตัดสินใจว่าจะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์หรือไม่

ขั้นตอนการเตรียมเส้นด้าย โดยค่อยๆ สาวจากด้ายหลอดเล็กไปรวมกันเป็นบีมใหญ่
เส้นด้ายขนาดเล็กถูกดึงเพื่อเดินทางไปยังรวมกันอย่างเป็นระเบียบ

สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอนี้ สามารถแยกประเภทของขยะที่เกิดขึ้นได้ออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ ขยะแห้งและขยะเปียก โดยขยะเปียกที่เกิดขึ้นทั้งหมดคือน้ำเสีย อันเกิดจากกระบวนการต่างๆ ในการทอผ้า ดังนี้

  1. กระบวนการเตรียมเส้นด้าย เนื่องจากเส้นด้ายที่ใช้ทอมีหลากหลายขนาดตามแต่ความละเอียดของเนื้อผ้าที่ต้องการ ทำให้เส้นด้ายที่มีขนาดเล็กต้องถูกนำมาผ่านการเคลือบด้วยกาวผสมน้ำแบบชั่วคราวก่อน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับเส้นด้าย ส่งผลให้เวลานำไปเข้าเครื่องทอในความเร็วสูงเส้นด้ายจะไม่ขาด
เมื่อเส้นด้ายเรียงตัวกันแล้ว ก็เตรียมไปสู่ขั้นตอนการเคลือบด้วยกาว สำหรับด้ายเบอร์เล็กที่ตัวเส้นมีขนาดเล็ก ง่ายต่อการขาดหากนำไปทอ
เครื่องจักรทำการปล่อยน้ำผสมกาวสำหรับเคลือบเส้นใยให้ทั่วถึงแบบเส้นต่อเส้น
น้ำกาวที่ทำการเคลือบแล้ว ส่วนที่เหลือจะกลายเป็นน้ำเสียที่ไหลลงไปรวมกับเพื่อรอบำบัด
  1. กระบวนการล้างกาว หลังจากเคลือบกาวแบบชั่วคราวแล้ว ก่อนเข้าสู่กระบวนการย้อมสี จะต้องทำการล้างกาวหรือแป้งออกให้หมด มิเช่นนั้นสีย้อมจะไม่สามารถเข้าไปจับกับเส้นด้ายได้ ทำให้เกิดการด่างเนื่องจากบางส่วนกินสีได้ บางส่วนที่กาวยังอยู่จะกินสีไม่ติด  
  2. กระบวนการทอผ้าแบบระบบน้ำ เป็นเครื่องทอที่ใช้น้ำเป็นพาหะในการผูกเส้นด้าย ลองนึกภาพกี่ทอผ้าแบบดั้งเดิมที่ต้องใส่หลอดด้ายเข้าไปในกระสวยแล้วทำการสอดกระสวยกลับไป-มา ซึ่งในระบบอุตสาหกรรมที่ต้องผลิตในปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต น้ำจึงทำหน้าที่ประหนึ่งกระสวยที่นำพาเส้นด้ายทอในความเร็วพันรอบต่อนาที ซึ่งน้ำตรงนี้เองที่ไม่เพียงแต่เป็นตัวนำส่งเส้นด้าย แต่ยังชะล้างกาวบนเส้นด้ายที่หลงเหลือให้ปะปนลงมากับน้ำด้วย
หัวฉีดน้ำแรงดันสูงที่ใช้รอบถี่มากต่อนาที เพื่อทำหน้าที่ส่งเส้นด้ายแบบเส้นนอนไปทอ
แม้ว่าเครื่องจักรจะสามารถทำงานได้ด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ก็ยังต้องอาศัยการควบคุมระบบจากมนุษย์อีกที

จากทั้งสามกระบวนการทำให้ได้มาซึ่งน้ำเสีย ที่ปะปนไปด้วยไขมัน แว็กซ์ และสิ่งสกปรกต่างๆ  จากทั้งกาว น้ำมันเครื่องหรือน้ำมันที่อยู่รอบเครื่องก็จะผสมกับน้ำพวกนี้ออกมา โดยน้ำเสียจากทุกขั้นตอนจะไหลลงตามท่อระบายและไปรวมกันเพื่อนำไปบำบัดในขั้นตอนถัดไป ผ่านบ่อบำบัดทั้ง 8 เริ่มจากบ่อแรกที่ทำการใส่สารเคมีลงไปเพื่อให้สิ่งสกปรกลอยตัวขึ้นสู่เหนือน้ำแล้วจับตัวกันเป็นก้อน จากนั้นก็ทำการตักขยะส่วนนี้ออกนำไปตากแดดเพื่อรอบริษัทกำจัดขยะมารับไปกำจัดในขั้นถัดไป ส่วนน้ำที่เหลือจะค่อยๆ ถูกบำบัดผ่านตัวกรองอย่างบ่อทราย พักทิ้งไว้จนสะอาดค่อยรีไซเคิลกลับเข้าไปใช้ใหม่ในกระบวนการผลิต ซึ่งคิดเป็น 60% ของน้ำเสียทั้งหมด แต่ก่อนที่จะดึงไปใช้งานใหม่นั้น ยังต้องผ่านถังกรองขนาดใหญ่เพื่อให้ค่า pH ของน้ำอยู่ที่ 7.5  เพราะเป็นค่าความด่างที่จะทำให้เครื่องจักรไม่เกิดสนิม

น้ำเสียจากเครื่องจักรทุกเครื่องจะไหลรวมกันเพื่อไปรอทำการบำบัดในขั้นถัดไป
บ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ที่รองรับน้ำเสียจากทั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยในขั้นตอนนี้จะทำการใส่สารเคมีเพื่อให้สิ่งสกปรกจับตัวกันเป็นก้อน
เมื่อสิ่งสกปรกจับตัวเป็นก้อน ก็ทำการตักขึ้นมาพักไว้ให้แห้งเพื่อรอการบรรจุใส่ถุง เตรียมกำจัด
บ่อซีเมนต์ 4 บ่อแรก ที่ค่อยๆ บำบัดไปมีละบ่อ จนเริ่มเห็นความใสของน้ำ
จากนั้นจึงเริ่มนำมาทำการบำบัดด้วยการกรองผ่านบ่อทราย แล้วพักน้ำทิ้งไว
หลังจากบำบัดแล้ว น้ำส่วนหนึ่งถูกนำกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตอีกครึ่ง และบางส่วนปล่อยลงไปยังบ่อธรรมชาติที่มีกังหันช่วยเติมออกซิเจน จนสามารถเลี้ยงปลาได้

และขยะอีกประเภทที่เกิดขึ้นคือขยะแห้ง ในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอก่อให้เกิดขยะที่เรียกว่า “หางด้าย” กล่าวคือด้วยกลไกของเครื่องจักรที่ต้องทอผ้าด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว ระบบของการทอคือการส่งเส้นด้ายไปทางเดียวแล้วยึดเกี่ยวเส้นด้ายไว้กับอีกฝั่ง ไม่เหมือนกับการทอด้วยกี่ทอผ้าแบบดั้งเดิมที่กระสวยส่งไป-กลับทำให้ริมผ้าเรียบทั้งสองด้าน ส่งผลให้มีฝั่งหนึ่งของผืนผ้าที่จะมีปลายด้ายรุ่ยๆ ออกมา ซึ่งส่วนนี้นี่เองที่จะถูกจัดออกตลอดความยาวของผืนผ้า โดยคิดเป็น 10% ของการผลิตทั้งหมด

หางด้ายแบบแห้งที่เกิดจากการทอด้วยระบบแห้งทำให้เห็นแบบหางด้ายแบบเป็นเส้นสวย แต่ต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์เป็นปริมาณ 10% ของการทอผ้าทั้งหมด
หางด้ายที่เกิดจากการทอผ้าระบบน้ำ ทำให้ต้องนำไปตากให้แห้งเสียก่อน
ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าสีไหน แพทเทิร์นไหนก็ก่อให้เกิดของเสียที่เรียกว่าหางด้ายทั้งสิ้น ไม่ใช่เพียงแค่ผ้าสีพื้น

จะเห็นได้ว่าในหลายๆ ขั้นตอนของกระบวนการผลิตย่อมก่อให้เกิดของเสีย หากแต่ความใส่ใจและมองความยั่งยืนในระยะยาว ทำให้ทุกวันนี้ Homework จึงกลายเป็นอีกหนึ่งโรงงานอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติให้ความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสามารถการันตีได้ว่าเป็นโรงงานรักษ์โลก ที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และมีหลายๆ โรงงานขอเข้ามาดูกระบวนบำบัดเพื่อนำไปปฏิบัติตาม นับเป็นต้นแบบที่น่าสนใจซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการสร้างส่วนแบ่งทางตลาด และเชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ ส่วนที่  Homework มุ่งหวังจะพัฒนาและหาทางออกให้กับขยะอื่นๆ ที่เกิดขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในอนาคตอันใกล้นี้