ชวนเปลี่ยน “เศษ” ให้อัพเกรดคุณค่าด้วยดีไซน์

รู้หรือไม่ว่า ในกระบวนการทอผ้าแบบอุตสาหกรรม จะเกิดขยะหรือเศษเหลือทิ้ง 10% ของการผลิตทั้งหมด ลองคิดเป็นมูลค่าง่ายๆ เช่น ผ้าล็อตนี้ผลิตได้ 1,000 หลา แต่สุดท้ายจะเหลือขายได้แค่เพียง 900 หลาเท่านั้น ซึ่งสิบเปอร์เซ็นต์ที่หายไปนั้น เกิดจากกลไกของเครื่องจักรที่ต้องทอผ้าด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว ด้วยระบบของการทอคือการส่งเส้นด้ายไปทางเดียวแล้วยึดเกี่ยวเส้นด้ายไว้กับอีกฝั่ง ไม่เหมือนกับการทอด้วยกี่ทอผ้าแบบดั้งเดิมที่กระสวยส่งไป-กลับทำให้ริมผ้าเรียบทั้งสองด้าน ส่งผลให้มีฝั่งหนึ่งของผืนผ้าที่จะมีปลายด้ายรุ่ยๆ ออกมา หรือที่เรียกว่า “หางด้าย”

หางด้ายที่ออกมาจากเครื่องทอความยาวตลอดผืนผ้า ซึ่งคิดเป็น 10% ของทั้งหมด
หางด้ายจากเครื่องทอระบบน้ำ ทำให้ขณะออกมายังมีลักษณะเป็นเส้นด้ายเปียกๆ โดยต้องนำไปตากก่อนนำไปใช้

ซึ่งในทุกวันนี้หางด้ายไม่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือถูกนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น จึงกลายเป็นขยะที่เกิดขึ้นทุกวันไปโดยปริยาย และถูกทิ้งอย่างไร้ค่า รวมไปถึงม้วนผ้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานก็ยังคงรอวันที่จะถูกต่อลมหายใจ ซึ่งในปัจจุบันมีการนำไปประยุกต์ใช้กับวงการเกษตรกรรม เช่น นำไปปูทับในส่วนที่ไม่ต้องการให้หญ้าหรือวัชพืชขึ้นเนื่องจากตัวผ้ามีคุณสมบัติในการกรองแสง หรือ นำไปปลูกเห็ดเพราะผ้าโพลีเอสเตอร์เป็นผ้าที่ไม่เก็บความชื้น ทำให้ไม่ไปแย่งความชื้นที่จำเป็นในการเพาะเห็ด

ม้วนผ้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานถูกกองไว้รอวันทิ้ง

ในครั้งนี้เองที่ Homework Fabrics ในเครือบริษัท โกลด์เฮาส์เดคคอร์ จำกัด บริษัทอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ให้ความสำคัญกับการกำจัดขยะในโรงงานและต้องการต่อชีวิตให้กับสิ่งไร้ค่าเหล่านี้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง จึงอยากเชิญชวนนักศึกษาและบุคคลทั่วไปผู้สนใจ เสนอไอเดียผ่านโครงการประกวดออกแบบ Lifestyle Product จากวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมสิ่งทอในกิจกรรม  “Show them! WASTE is WORTH !! : ท้าให้เปลี่ยน จากเศษเป็นสไตล์” ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากผ้า ของใช้ ของตกแต่ง เครื่องแต่งกาย และ Lifestyle Product เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

เพราะเชื่อว่า “เศษ” เหล่านี้ จะถูกชุบให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ ซึ่งนอกจากจะได้ผลลัพธ์เป็นพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ผลงานที่จะถูกพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงแล้ว ยังช่วยให้โลกและสิ่งแวดล้อมของเราดีขึ้น ดีขึ้น และดีขึ้น…ได้แน่นอน 

บริเวณทิ้งเศษวัสดุภายในโรงงานมีการแยกประเภทอย่างชัดเจน เพื่อง่ายต่อการจัดการในขั้นตอนต่อไป

มาร่วมกันพิสูจน์ว่าแนวคิด Zero waste และ Circular Economy ทำได้จริงและจะช่วยให้โลกของรุ่นเราน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม โดยสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ  พร้อมดูรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดต่อขอตัวอย่างวัสดุได้ที่ https://www.homeworkfabrics.com/contest

Homework ผู้ผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ไม่ทอดทิ้งปัญหาสิ่งแวดล้อมไว้เบื้องหลัง