Bugar Collection นำพาวัสดุยั่งยืนพื้นถิ่นในวิถีชาวบ้านอย่าง ไม้ไผ่ และไม้ตาล มาสร้างสรรค์เป็นงานออกแบบร่วมสมัย

โดยคำนึงถึงการใช้วัสดุที่ยั่งยืนอย่าง “ไม้ไผ่” ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นโตเร็ว และการใช้ “ไม้ตาล” ที่หมดประโยชน์จาการเก็บเกี่ยวแล้ว มาสร้างสรรค์เป็นผลงานเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของวัสดุธรรมดาที่อาจถูกมองข้าม ผ่านไอเดียของนักออกแบบ ซึ่งเป็นการช่วยสร้างคุณค่าให้กับวัสดุ พร้อมกันนั้นยังช่วยต่อยอดสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านท้องถิ่นผู้ปลูกไผ่และตาล นำไปสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในอนาคตได้อีกทาง

ไม้ตาลวัสดุที่ถูกมองข้าม

ผู้ออกแบบค้นพบว่าไม้ตาลมีความแข็งและทนทานมาก ชาวบ้านพื้นถิ่นใช้ประโยชน์จากไม้ตาลเหล่านี้ นอกจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต แปรรูปเป็นน้ำตาลโตนด ที่รู้จักกันดีแล้ว ยังใช้ส่วนต่างๆมาสร้างประโยชน์ได้อีกมาก แต่สิ่งหนึ่งมักจะเห็นกันคือ ซากต้นตาลที่ล้มกองอย่างไร้ค่า ต้นตาลที่หมดประโยชน์จากการเก็บเกี่ยวแล้ว หรือต้นตาลที่ยืนต้นตาย เพราะมีด้วงเจาะ โดนฟ้าผ่า จนต้องล้มและทิ้งเป็นซาก บ่อยครั้งชาวบ้านจะนำมาแปรรูปเป็นไม้แผ่น สร้างบ้าน หรือ ผลิตเป็นสินค้าของฝาก ซึ่งจุดนี้เองที่ให้เห็นว่า ไม้ตาล น่าจะสร้างคุณค่าในงานออกแบบได้มากกว่าที่เคยรับรู้กัน และสามารถแสดงศักยภาพของวัสดุได้งดงามยิ่งขึ้น ผู้ออกแบบจึงนำมาพัฒนารูปแบบด้วยงานออกแบบสร้างสรรค์และใช้ศิลปะการออกแบบให้เห็นความหลากหลายและสามารถใช้งานได้อย่างร่วมสมัยมากขึ้น

งานออกแบบคอลเล็กชั่นนี้ จึงเป็นเสมือนการเล่าเรื่องราวของ 2 วัสดุที่มีเสน่ห์ไม้แพ้กัน แต่จริง ๆ แล้ว ไม้ตาลและไม้ไผ่ มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนเก็บน้ำตาลโตนด สิ่งที่พอจะเห็นได้คือกระบอกไม้ไผ่สำหรับใส่น้ำตาลจากงวงตาล ที่ดูถ้อยทีถ้อยอาศัย มีความผูกพันมากันแต่ไหนแต่ไร จึงนำเอาสัมพันธ์นี้มาสร้างสรรค์งานที่ออกแบบ โดยการดึงวัสดุที่มีความเป็น Exotic style และพื้นถิ่นมาก ๆ จากคุณสมบัติที่มีความแข็งแรงของไม้ตาล นำมาทำเป็นส่วนโครงสร้างของเก้าอี้ และโชว์ลวดลายที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของไม้ตาลอย่างมาก และการนำไม้ไผ่อัดดัดโค้งมาเป็นส่วนที่นั่งรองรับ แสดงออกถึงความยืดหยุ่นในการดัดโค้งได้ง่าย โชว์ลายเส้นของไม้ไผ่ สอดคล้องไปกับรูปทรงของที่นั่งที่เข้ากันได้ดีกับสไตล์ในปัจจุบัน

“เราสนใจการพัฒนาวัสดุทางเลือกจากวัสดุธรรมชาติและท้องถิ่น เพราะเชื่อว่ายังมีอีกมาก และใช้ศิลปะการออกแบบ เพื่อพัฒนาสินค้าและงานออกแบบสร้างสรรค์ พร้อมเล่าเรื่องราวมีมาที่ไปอย่างภูมิใจได้ว่า นี่แหละคือวิถีชีวิตแบบยั่งยืน และหวังจะสร้างแบรนด์ให้เป็นแบรนด์ที่ยั่งยืนด้วยเช่นกัน”

คุณป๋อง-อมรเทพ คัชชานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ (Design & Objects Association) และผู้ก่อตั้งแบรนด์ AMO ARTE


ภาพ – ออกแบบ: AmoArte.brand
เรื่อง: Wuthikorn Sut