พลังงานและการออกแบบ เพื่อทางเลือกที่ดีกว่าในอนาคต

พลังงานเป็นแรงขับเคลื่อนทั้งในการใช้ชีวิตและการออกแบบ แต่ในสภาวะพลังงานใกล้ขาดแคลนและสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง การออกแบบบ้านและสถาปัตยกรรมจะช่วยสร้างอนาคตที่ดีขึ้นได้อย่างไร คอลัมน์ Home Expert ร่วมกับ Solar D ชวน 2 สถาปนิกระดับแนวหน้า คุณวสุ วิรัชศิลป์ แห่งVaSLab ARCHITECTURE และ คุณจูน เซคิโน แห่ง Junsekino Architect and Design มาคุยเรื่อง พลังงานและการออกแบบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร บ้านและไลฟ์สไตล์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร และทางเลือกที่ดีกว่าของพลังงานสำหรับอนาคตคืออะไร

วสุ วิรัชศิลป์ แห่ง VaSLab ARCHITECTURE

พลังงานสะอาด ทางเลือกสู่ความยั่งยืน

เราต่างใช้ไฟฟ้ากับทุกการใช้ชีวิต และมีแนวโน้มจะใช้มากขึ้น พลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นสิ่งที่เราพูดถึงและใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และการใช้พลังงานสะอาดกับอาคารเป็นอีกหนึ่งโจทย์จากเจ้าของแทบทุกโครงการ ในฐานะสถาปนิก เราต้องช่วยกันสร้างทางเลือกให้มากขึ้น และโน้มน้าวเจ้าของให้เห็นถึงความยั่งยืนในอนาคต พลังงานสะอาดก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ โดยอาศัยความร่วมมือจากทั้งเจ้าของ ผู้ออกแบบ และผู้ผลิต

ความสมดุลในการใช้พลังงาน

การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในสมัยก่อนมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และประสิทธิภาพก็ยังต่ำ จึงต้องติดจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอซึ่งมักเกินความคุ้มค่า จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ยังต้องใช้พลังงานจากฟอสซิล เราทราบกันอยู่แล้วว่าทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลง พลังงานเริ่มขาดแคลน และการสร้างโรงผลิตไฟฟ้าก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เราจึงต้องพิจารณาความสมดุลในการใช้พลังงานจากฟอสซิลและพลังงานสะอาด เดี๋ยวนี้มีรถ EV ให้ใช้ มีระบบโซลาร์เซลล์ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นมากมาเป็นทางเลือกที่ทำให้เราสร้างสมดุลการใช้พลังงานได้

พลังงาน = อิสรภาพ = ไลฟ์สไตล์

ผมชอบความอิสระ คือ อิสระในการทำทุกอย่างที่ทำให้ชีวิตมีความสุขได้ และอยู่ในขอบเขตของความพอเพียง ถ้างานคือ Passion ของเรา การทำงานก็มีความสุข นั่นคืออิสระที่เราเลือก และไลฟ์สไตล์ที่ผมเลือก คือ อิสระทางความคิด ผมชอบดูหนัง Sci-fi อย่างเรื่อง Blade Runner ในอนาคตเราอาจต้องเผชิญสภาวะคล้ายแบบนั้นที่พลังงานเริ่มหมด ผมเชื่อว่าวิกฤตพลังงานจะมาถึง สังคมอาจจะมีสองส่วนชัดเจนที่ส่วนหนึ่งคุมพลังงานไว้จะศิวิไลย์ และอีกส่วนจะลำบากมาก เป็นภาพของความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งคำว่า “พลังงานคืออิสรภาพ” มันตอบโจทย์เรื่องพลังงานสะอาด คือ แสงอาทิตย์และลม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่กับวัฏจักรโลก และจะอยู่ไปจนกว่าโลกจะเสื่อมสลาย

ผสานพลังงานให้เป็นหนึ่งเดียวกับสถาปัตยกรรม

ในอนาคตผมมองถึงการเปลี่ยนกระจกให้ผลิตพลังงานได้ กระจกเป็นส่วนหนึ่งที่รับความร้อน แต่ต้องคงคุณสมบัติที่มองผ่านได้ และให้แสงธรรมชาติผ่านเข้ามาได้ หรือการผนวกโซลาร์เซลล์เข้ากับวัสดุทำฟาซาดอาคาร เรื่องนี้เป็นความท้าทายของสถาปนิกเลย ในมุมมองส่วนตัวการนำอุปกรณ์ไปติดบนหลังคาอาคาร จะทำให้ความสวยงามลดลง แต่ก็เป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่ต้องผสมผสานให้ลงตัว เคยคิดจะนำแผงโซลาร์เซลล์มาเป็นฟาซาด ดีไซน์ให้เป็นส่วนหนึ่งของอาคารไปเลย ถ้าทำแบบนั้นได้จะเป็น Smart Building ที่มีความงาม แล้วผมคิดว่าถึงจุดที่ผู้ผลิตเองก็ต้องคิดถึงความสวยงามด้วย การยอมรับว่าแผงโซลาร์เซลล์ก็หน้าตาประมาณนี้ นั่นอาจเพราะไม่มีทางเลือกอื่น เป็นประเด็นที่เจ้าของบ้านซึ่งคาดหวังกับความสวยงามอาจลังเลที่จะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ถ้าฟังก์ชันกับดีไซน์ไปด้วยกันได้จะตอบโจทย์ทั้งเจ้าของบ้านและสถาปนิกได้มากขึ้น

จูน เซคิโน แห่ง Junsekino Architect and Design

พลังงานในงานสถาปัตยกรรม

เราได้ยินเรื่องพลังงานและการออกแบบมากว่า 20 ปีแล้ว และเข้มข้นขึ้นในช่วง 10 ปีหลัง เมื่อพลังงานจากฟอสซิลลดลง แต่ความต้องการเพิ่มขึ้นทำให้ต้องหาทางเลือกอื่น มีพลังงานจากลม พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในสมัยก่อนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเรื่องที่พูดแล้วดูหล่อมาก แต่ความเป็นไปได้ค่อนข้างยากเพราะเทคโนโลยีไม่ดีพอ ทำให้มีราคาแพงและมีประสิทธิภาพน้อยจนไม่คุ้ม ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ดีขึ้นเรื่อยๆจนเกิดความคุ้มค่า ฮาร์ดแวร์ราคาถูกลง และค่าไฟแพงขึ้น อย่างการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว การใช้รถ EV ก็จะเหมือนสมาร์ทโฟนที่มาทดแทนเทคโนโลยีเก่า

ต้องยอมรับว่าคนเราใช้พลังงานเยอะขึ้นจริงๆ ทุกอย่างเราใช้ไฟฟ้า ไฟแสงสว่าง แอร์ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน อีกหน่อยรถยนต์ก็ต้องชาร์จไฟ โลกเราอาจจะผลิตน้ำมันได้ไม่เพียงพอแล้ว  ในอนาคตผนังหรือหลังคาบ้านอาจไม่ได้ทำหน้าที่กั้นแค่ฟังก์ชันหรือกำบังแดดลมฝนเท่านั้น แต่อาจผนวกกับเทคโนโลยีให้สร้างสภาวะสบาย เก็บพลังงานในตัวเองได้ สามารถป้องกันความร้อนได้ 100 % และเมื่อบ้านไม่ร้อนก็ไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ การออกแบบสถาปัตยกรรมจึงสัมพันธ์กับการใช้และสร้างพลังงาน

บ้านที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

พลังงานมีความบริสุทธิ์ จึงแปรเป็นรูปแบบอื่นได้ตามที่เราสร้างสรรค์ เป็นแสงแสว่าง เป็นความเย็นความร้อน เป็นเชื้อเพลิง การประหยัดพลังงานในอาคารมีปัจจัย 2 ส่วนคือ ฮาร์ดแวร์จากผู้ผลิต และโนว์ฮาวจากนักออกแบบ เช่น การยื่นชายคา การลดความร้อนในอาคาร แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่สภาพแวดล้อมแย่ลง เราจะต้องการพลังงานเพียวๆ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่เพื่อเก็บพลังงานไว้แล้วค่อยแปรรูปไปใช้งาน อย่างแบตเตอรี่ของรถ EV ที่ชาร์จไฟได้เร็วขึ้นและวิ่งได้หลายร้อยกิโลเมตร แน่นนอนว่าต่อไปมันต้องดีขึ้นอีก

เราพึ่งพารัฐผลิตพลังงานกว่า 90 % และรัฐต้องนำเข้าพลังงานเพื่อรองรับการใช้งานของประชาชนที่มากขึ้น การที่แต่ละบ้านสามารถผลิตและเก็บพลังงานใช้เองได้เพียง 30-40% ของจำนวนประชากร นอกจากใช้เองในบ้านแล้วถ้าเหลือก็ยังขายได้ เป็นการกระจายการเข้าถึงพลังงาน และจะเป็นจุดเปลี่ยนของระบบไปเลย รัฐไม่ต้องนำเข้าพลังงาน ไม่ต้องซื้อน้ำมันมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก

บ้านก็ผลิตพลังงานได้

ผมวิ่งบนลู่วิ่ง 10 กิโลเมตรทุกวัน คงจะดีถ้าลู่วิ่งกลายเป็นเครื่องปั่นไฟได้ เป็นวิธีคิดว่าทำหนึ่งอย่างแล้วให้ได้ผลหลายๆอย่างตามมา ประเทศที่มีแสงแดดเยอะมักกลัวแสงแดดเพราะร้อน แต่เมื่อคิดว่าแสงแดดผลิตพลังงานได้ เราก็ควรทำหลังคาที่ทั้งผลิตพลังงานและกันความร้อนได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราต้องพึ่งตัวเอง บ้านก็ต้องเป็นทุกอย่างเพื่อการมีชีวิตรอด บ้านสามารถสร้าง Passive และ Active Energy ตัวบ้านอาจจะกินได้โดยทำจากพืชบางชนิด พื้นที่ปลูกผักมันอาจไม่เพียงพอ เมื่อเกิดวิกฤตกาล บ้านก็ต้องรองรับได้ หรือมีนวัตกรรมที่อิฐก่อสร้างจะกลายเป็นปุ๋ยได้ ปลูกพืชกับตัวบ้านให้ผลิตออกซิเจนได้ กระจกสามารถสร้างพลังงานได้ รูปร่างหน้าตาบ้านอาจไม่ได้เปลี่ยนไปมาก วิธีการคิดในอนาคตคือ ควรจะต่อยอดเพิ่มประโยชน์ให้กับสิ่งที่มีอยู่แล้ว พลังงานเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จะมีค่าก็ต่อเมื่อมีการแปรรูปไปใช้

ความสัมพันธ์ของพลังงานและการออกแบบในอนาคต

ถ้าไม่มีออกซิเจนก็ตาย แต่ถ้าไม่มีพลังงานก็อยู่ไม่ได้ เพราะพลังงานเป็นสิ่งพื้นฐานของมนุษย์ เป็นเรื่องที่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ให้ความสนใจและน่าคิด เดี๋ยวนี้เราไม่มีไวไฟใช้ 10 นาทีก็รู้สึกแย่แล้ว ในวันที่เราใช้พลังงานธรรมชาติจนหมด เราทุกคนก็จะเรียกได้ว่าเป็นภาระของโลก เราจึงต้องสร้างพลังงานขึ้นมาเอง เปรียบได้กับการออกกำลังกาย อาจไม่ใช่เพื่อให้หุ่นดีเท่านั้น แต่เป็นการลดภาระการดูแล เมื่อร่างกายแข็งแรงก็ไม่ต้องไปหาหมอ เพราะการรักษานั้นมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก ยุคต่อไปเราอาจอยู่ใน Metaverse อยู่บ้านใส่ขาสั้นเน่าๆ พออยู่ในโลกเสมือนผมหล่อมากเลย แต่ไม่มีพลังงานก็ทำไม่ได้ ไม่ว่าอนาคตเราจะอยู่ในโลกแบบไหน พลังงานจะเป็นต้นทางที่ทำให้มนุษย์ไปต่อได้

ในแง่ของสถาปนิก การออกแบบอาคารไม่อาจใช้วิธีเดิมได้ อย่างในพื้นที่เท่าเดิมสร้างแบบเต็มพื้นที่ได้ตึก 10 ชั้น แต่ไม่มีอะไรดีกับส่วนร่วม กับถ้าทำให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น มีการใช้พลังงานทางเลือก ก็จะได้โบนัสสร้างอาคารได้สูงขึ้น ซึ่งต้องให้กลไกของภาครัฐช่วย ในอนาคตคนจะใช้พื้นที่อยู่อาศัยเล็กลงแต่สมาร์ทขึ้น พลังงานจะกลายเป็นสิ่งสำคัญหลัก ความสัมพันธ์ของขนาดพื้นที่กับการใช้พลังงานจะยิ่งชัดเจนขึ้น เช่น การจะซื้อบ้านซื้อคอนโดอาจต้องคิดว่า พื้นที่เท่านี้จะใช้พลังงานเท่าไร ยิ่งมีพื้นที่มากก็ใช้พลังงานมาก และก็ต้องจ่ายภาษีพลังงานหรือภาษีที่เราทำลายธรรมชาติมากขึ้น เมื่อเป็นแบบนี้เจ้าของโครงการก็ต้องคิดแล้วว่า ต้องออกแบบให้ตึกลดการใช้พลังงานหรือผลิตพลังงานเองให้ได้ เราทุกคนจะยังอยู่บนโลกใบเดิม แต่จะทำอย่างไรให้ใช้ทรัพยากรเท่าที่มีแล้วทำให้โลกดีขึ้น หรือพังช้าลง มันเป็นสิ่งที่เราเผชิญอยู่จริงและใกล้ตัวมากขึ้นทุกวัน

ถ้าพลังงานคืออิสรภาพ

สมัยก่อนใครมีไฟคือพระเจ้า ใครมีโลหะ มีอาวุธ หรือเดินทางไปล่าอาณานิคมได้ไกล ก็กลายเป็นผู้ครองโลก จนปัจจุบันที่ใครมีพลังงานจากฟอสซิลมากก็กุมเกมเศรษฐกิจโลก ผมว่าอิสรภาพก็คืออำนาจ พลังงานคือเชื้อเพิลงที่นำไปทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดความมั่นคง พลังงานเป็นฐานของการผลิตทุกอย่างบนโลก และสัมพันธ์กับการมีอำนาจ แล้ววันหนึ่งถ้าเราไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากคนอื่นเลย นั่นคืออิสรภาพ ประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรที่เคยยากจน แต่มีแสงแดดเยอะ อาจจะพลิกมาเป็นมหาอำนาจทางพลังงานได้

หากพลังงานคือไลฟ์สไตล์ จะออกแบบไลฟ์สไตล์ของตัวเองอย่างไร

สำหรับผมคือการมี Action และ Reaction เมื่อก่อนเราเป็นฝ่ายใช้ทรัพยากรทุกอย่าง โดยไม่มีการตอบแทนคืนสู่ธรรมชาติ เช่น ต่อไปนี้ถ้ามีคนจะตัดต้นไม้ ก็จะมีคำถามว่าแล้วปลูกคืนเท่าไร หรือการขับรถไปทำงาน เราเสียเงินกับพลังงานจากฟอสซิลและสร้างมลพิษ กับการปั่นจักรยาน เสียเวลา เสียเหงื่อ แต่ชีวิตดีขึ้น สมาร์ทขึ้น ผมว่าต่อไปคนเราจะตระหนักและไปในทิศทางนี้

สัมผัสอิสรภาพของพลังงานพรีเมียม

ครั้งแรกในเอเชีย กับ Tesla Powerwall ได้แล้ววันนี้

https://www.solar-d.co.th

นำเข้าและติดตั้งโดย Solar D

Tesla Certified installer รายแรกในเอเชีย

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, ศุภกร ศรีสกุล