The GOAT Greatest Of All Time & Wanyu mansion จุดผสมที่ลงตัวของร้านไฟน์ไดนิ่ง และBed & Breakfast

The GOAT Greatest Of All Time & Wanyu mansion คือบ้าน ร้านอาหาร และที่พักแบบ Bed and Breakfast ของเชฟแทน-ภากร โกสิยพงษ์ กับนิยาม Off–beat Asian ที่นำมาใช้ในแง่สถาปัตยกรรมให้มีกลิ่นอายแบบชิโน-โปรตุกีส ผสมผสานความร่วมสมัยจากประสบการณ์การเดินทางในหลากหลายประเทศ แต่งแต้มเอกลักษณ์อย่างอาคารย่านเอกมัย-ทองหล่อให้โดดเด่นและแตกต่าง

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Storage Studio

จากจุดเริ่มต้นของการมุ่งหน้าสู่อาชีพ “เชฟ” คุณแทน-ภากร โกสิยพงษ์ เจ้าของร้าน The GOAT Greatest Of All Time และร่วมกับพี่น้องอีก 2 ท่านในการบริหาร Wanyu mansion ร่วมกัน ที่นี่เปรียบเสมือนบทใหม่ของการทำงานเลยทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้คือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งในการไปทำงานในต่างประเทศ การได้ร่วมกับเพื่อนเปิดร้านอาหาร “Ekamian” และการได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาร้านอาหารให้กับร้าน One Ounce for Onion และ OOOBKK จนวันนี้รูปแบบสไตล์ได้ลงตัวพร้อมนำเสนออย่างชัดเจนในชื่อของ The GOAT Greatest Of All Time

Off-beat Asian จังหวะสะดุดที่ลงตัว

“เราทำอาหารที่มีความเป็นเอเชี่ยน แต่หลุดกรอบออกไป มันจะมีความเป็นพั้งค์หน่อย ๆ เราพยายามใส่ความสร้างสรรค์และการผสมผสานลงไป ต้องบอกก่อนว่า ไม่ได้เป็นคนเก่งอาหารไทย หรืออาหารจีนขนาดนั้น แต่เราเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ตลอดจนประทับใจสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีสบนถนนถลางที่ภูเก็ต จากการเคยไปทำงานแถบภูเก็ต-พังงา เราก็คิดว่าการนำพื้นเพเหล่านี้ และวัถตุดิบ ตลอดจนอาหารในแบบพื้นถิ่นมาใส่ความน่าสนใจให้ดูสนุก มีเทคนิคที่มาจากหลากหลายรูปแบบ มันจะเป็นอะไรที่ไม่ใช่แค่กินแล้วอร่อย แต่สามารถนำพาเรื่องราวและประสบการณ์ไปได้ ซึ่งก็เลยกลายเป็น Off-beat Asian ที่เรานิยามสิ่งที่เราทำ และในขณะเดียวกันนิยามนี้ก็ส่งไปถึงรูปแบบของร้าน ทั้ง The GOAT Greatest Of All Time และ Wanyu mansion ไปด้วยกัน” คุณแทนเล่าให้เราฟังถึงที่มาของสไตล์อาหารและรูปแบบของร้าน

จาก Wanyu Mansion สู่ The GOAT

“จริง ๆ เลยคือที่บ้านอยากทำโรงแรม ทำที่พักที่ไม่ได้ใหญ่มาก แต่อัดแน่นไปด้วยแพสชั่น อยากนำของสะสมของเก่ามาใช้ในโรงแรม ซึ่งตอนนี้เราก็เลือกใช้ของเหล่านั้น ทุกชิ้นในนี้คือสามารถซื้อกลับไปได้เลยนะ เป็นของเก่าแอนทีคจริง ๆ เป็นเรื่องของความชอบมากกว่าที่จะใช้ธุรกิจนำ เพราะพื้นที่ตรงนี้ถ้าทำเป็น Business Hotel ซอยห้องเยอะ ๆ ก็คงจะคุ้มกว่า แต่นี่คือบ้านของเราเองเราจึงใช้ชื่อว่า Wanyu Mansion ไม่ใช่โฮเทลเพราะตัวผมเอง(คุณแทน)ก็อาศัยอยู่ที่นี่เลย และนั่นจึงทำให้ The Goat มีความพิเศษที่ไม่เหมือนใครเช่นกัน”

พักบ้านเชฟ ให้เชฟพากิน

ถึงเราจะบอกว่าเป็นไฟน์ไดนิ่ง แต่มันก็ง่าย ๆ สบาย ๆ กว่าที่อื่นนะ คือเราอยากให้ประสบการณ์การร่วมโต๊ะมันเป็นเรื่องที่สุนทรีย์และเป็นธรรมชาติมากกว่า ไฟน์ไดนิ่งอันนี้คือมีอยู่แล้ว เป็นอาหารในแบบที่เล่าให้ฟังไปในตอนต้น แต่ถ้าใครได้มาพักที่ Wanyu Mansion เราจะมี Premium Breakfast เสิร์ฟให้ตอนเช้าด้วย” จุดนี้ทำให้เราเซอร์ไพร้ส์เล็กน้อย เพราะมักจะเห็นร้านไฟน์ไดนิ่งส่วนใหญ่เลือกที่จะจัดเต็มกับมื้อค่ำเสียมากกว่า แต่สำหรับที่นี่ มื้อเช้าก็เป็นการเริ่มต้นวันที่จะทำให้ทั้งวันนั้นมีความหมายไม่เหมือนเดิม

“ก็เหมือนกับการได้ดื่มกาแฟดี ๆ เป็นสิ่งแรกของวัน อาหารดี ๆ ก็เช่นกัน เราอยากให้คนที่มาพักกับเราได้ประสบการณ์ตรงนี้ มาพักกับผมที่บ้านของผม เดี๋ยวผมทำอาหารให้กิน อาจจะพาไปดูว่าพื้นเพอาหารที่นี่ วัตถุดิบต่างๆมันเป็นยังไง พาไปชิมร้านที่เราคิดว่าดี ไม่ใช่ว่าหรูหรือไม่หรู แต่มันคือสเน่ห์ของความเป็นพื้นถิ่น เอาเป็นว่าผมอาศัยอยู่ที่นี่ถ้าใครมาพักก็ต้องได้เจอกันแน่นอน”

สถาปัตยกรรม แบบ Chino-Ekamian

กลับมาที่รูปแบบของอาคารและแนวทางการออกแบบ ในส่วนนี้สถาปัตยกรรมหลักนั้นได้ Agaligo Studio และ Storage Studio มาออกแบบในส่วนของอินทีเรียร์ดีไซน์ นอกจากนี้ยังมีงานเพ้นต์ผนัง และการออกแบบ Table Runner ผลงานของ Pabaja

รูปแบบของอาคารนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากอาคารพาณิชย์แบบ Chino-Portuguese ทางฝั่งปีนัง สังเกตได้จากสีเขียวของชุดโถงบันไดเหล็กที่มีแรงบันดาลใจมาจากสีเขียวแบบสถาปัตยกรรมเปอรานากันพื้นถิ่นปีนัง ประกอบกับลายเหล็กดัด และองค์ประกอบบานเปิดบานเกล็ดต่าง ๆ รวมถึงงานไม้และเฟอร์นิเจอร์แอนทีคที่เลือกใช้ เพื่อสื่อถึงรูปแบบโคโลเนียลดั้งเดิม

แต่ไม่ใช่เพียงชิโน-โปรตุกีสแบบเดิม ๆ เพราะด้วยความที่ทำเลของโรงแรมแห่งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อย่างย่านเอกมัย การออกแบบจึงเลือกที่จะนำองค์ประกอบของบ้านแบบเอกมัยเข้ามาผสมผสานเข้าด้วยกัน การสร้างพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์ในหลากหลายส่วน สอดรับกับภูมิอากาศร้อนชื้นอย่างไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง รูปแบบของเหล็กดัดราวระเบียง และบล็อกช่องลม รวมทั้งเส้นสายสัดส่วนแบบโมเดิร์นนิสม์ เป็นอีกเอกลักษณ์ที่นำเข้ามาผสมผสานเข้าด้วยกัน จนสถาปนิกผู้ออกแบบได้นิยามให้กับสไตล์ของโรงแรมแห่งนี้ว่า “Chino-Ekamian”

ออกแบบอย่างไรให้ลงตัวในพื้นที่จำกัด

Agaligo Studio ได้เลือกใช้องค์ประกอบที่หลากหลายในการออกแบบร้านอาหารผนวกโรงแรมแห่งนี้ โดยเฉพาะการออกแบบพื้นที่ทับซ้อนและเชื่อมโยงกันในส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ด้วยความที่มีฟังก์ชันที่แตกต่างกันของการใช้งาน นั่นคือพื้นที่ห้องพักที่ต้องการความเป็นส่วนตัว และพื้นที่ร้านอาหารที่จะมีความอึกทึกโดยธรรมชาติ การออกแบบพื้นที่คอร์ตกลางในส่วนหน้าสุดจึงเป็นเหมือน Buffer ที่ประนีประนอมทุกพื้นที่เข้าด้วยกัน ก่อนจะแจกจ่ายการสัญจรเข้าสู่ล็อบบี้ ร้านอาหาร หรือจะเดินขึ้นไปยังห้องพักเลยก็ยังได้

คอร์ตกลางนี้ไม่เพียงเป็นตัวเชื่อมโยงพื้นที่ต่าง ๆ เข้าหากัน แต่ยังสร้างมุมมองที่หลากหลายให้กับทุกห้องพักอีกด้วย หากว่าไม่มีคอร์ตกลางนี้ ทั้งส่วนร้านอาหาร และห้องพักจะต้องหันออกสู่ภายนอกเพียงอย่างเดียว คอร์ตกลางจึงทำหน้าที่สร้างบรรยากาศสงบให้กับทุกพื้นที่ไปในตัว ซึ่งในส่วนนี้ Agaligo Studio ได้ออกแบบให้ทุกห้องนั้นเอื้อต่อการเปิดรับลมธรรมชาติและมีพื้นที่เซมิเอ๊าต์ดอร์ ที่เป็นส่วนตัวในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

เปลี่ยนภาพจำ สถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส สู่ความร่วมสมัยและหฤหรรษ์

สุดท้ายแล้วส่วนที่ถูกให้ความสำคัญมากที่สุดของโรงแรมแห่งนี้ก็คงจะหนีไม่พ้น “ร้านอาหาร” ที่เป็นเสมือนแก่นหลักใจความคอนเซ็ปต์ของโครงการทั้งหมด การออกแบบที่สร้างเพดานสูง 5 เมตร โดยมีท้องพื้นเป็นโครงสร้างไม้ พาให้ผู้ใช้งานสามารถนึกไปถึงอาคารพาณิชย์แบบอาเขตสมัยโบราณได้ไม่ยาก ผนังด้านในที่ออกแบบฉาบปูนให้ดูเหมือนบ้านเก่า ครัวเปิดที่ออกแบบให้เหมือน “ระเบิด” มาจากห้องแถวอีกห้อง เป็นกิมมิกสนุก ๆ ที่ถูกใส่เข้ามาเป็นอินโทรให้รู้ว่าอาหารที่นี่ไม่ธรรมดาแน่นอน การเลือกใช้สีน้ำเงินสดที่เชื่อมโยงทั้งพื้นที่ภายในและพื้นที่สวนในคอร์ตกลาง คือความหรูหราของสี Royal Blue ที่เดิมมักถูกใช้แต่ในบ้านคหบดี สิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กันก็คือ ชุดโคมไฟกลับหัว ที่ลอยเด่นอยู่กลางพื้นที่รับประทานอาหาร และงานเพ้นต์สีหญิงงามชาวจีนโดย Pabaja บอกเลยว่าไม่เพียงอาหารปาก แต่ประสบการณ์การได้มานั่งรับประทานอาหารที่นี่จะเปลี่ยนนิยามคำว่า Chino-Portuguese ในใจคุณไปตลอดกาล

ประสบการณ์อาหารที่เป็นมากกว่าการ “กินอร่อย”

เมื่อพูดคุยกับคุณแทนถึงจุดมุ่งหมายของสิ่งที่ทำอยู่ ความสนใจของคุณแทนกลับเป็นเรื่องของ “ความพื้นถิ่น” ที่มีมิติมากกว่าแค่ “เลือกมาใช้”

ตอนที่ไปทำงานที่ต่างประเทศ มันสร้างให้เราเริ่มเห็นมิติที่น่าสนใจในเรื่องของวัตถุดิบที่มากขึ้น เราไม่ได้แค่สั่งมา เซ็นรับ แล้วก็นำมาใช้ แต่มันยังมีเกษตรเบื้องหลังอยู่อีกมากมาย มีผู้ผลิต มันมีความหลากหลายและความน่าสนใจอยู่ตรงนั้นอยู่เยอะ ร้านนี้มีความตั้งใจในการที่จะเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เพราะจะว่าไปแล้วก็เหมือนกับเป็นสินทรัพย์ของประเทศเลยนะ เรามักจะชอบเลือกใช้วัตถุดิบต่างชาติ แต่จริง ๆ ในความเป็นวัฒนธรรมและความพื้นถิ่น ยังมีอะไรให้เราค้นหาอีกมากมาย อย่างผมเองในบางช่วงของปีก็เลือกที่จะขับมอเตอร์ไซค์ออกเดินทางไปตามชุมชนต่าง ๆ ไปดูว่าเขากินอะไร มีอาหารอะไรที่จะเปิดประสบการณ์ให้กับเรา หรืออาจจะเลือกนำมาใช้ในแบบของเราได้บ้าง

ซึ่งสุดท้ายแล้ว The GOAT Greatest Of All Time & Wanyu mansion หลังจากที่เปิดส่วนโรงแรมแล้วก็จะมีเหมือนเป็นแพ็กเกจทัวร์ ที่ผมจะพาไปรู้จักกับพื้นเพอาหารในที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ รวมทั้งเกษตรกรผู้พัฒนาสายพันธ์ุผู้ผลิตต่าง ๆ เช่นกัน เพราะอาหารเป็นมากกว่าแค่เรื่องกินแล้วอร่อย แต่มีวัฒนธรรม และมีประสบการณ์อยู่ในนั้น เหมือนที่ชื่อร้านเราเลือกใช้คำว่า Greatest Of All Time ก็เพราะในทุกมื้อล้วนมีความทรงจำ มีความประทับใจ และมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่ในนั้นเสมอนั่นแหละครับ”

ติดต่อที่พักและจอง Dining ของ The GOAT Greatest Of All Time & Wanyu mansion โทร. 09-5420-0706
Line: @thegoat
Ig: greatest.of.all.time.bkk
fb: https://www.facebook.com/greatestofalltimebkk


ออกแบบสถาปัตยกรรม : Agaligo Studio
ออกแบบภายใน : Storage Studio
Lightign Design : Studio Accent

ภาพ : นันทิยา บุษบงค์, ศุภกร ศรีสกุล
เรื่อง : Wuthikorn Sut