ZAIWAN VILLAGE เปลี่ยนหมู่บ้านเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต

เพราะความธรรมดามันจึงพิเศษกว่าใครๆ เพียงแค่เติมแต่งมันอย่างพอดิบพอดีเท่านี้ก็ดูแตกต่างจากใครอื่น หากการพัฒนาถูกมองอย่างเข้าใจ และตรงจุด ก็สามารถมอบความสุขให้กับผู้คนได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับหมู่บ้าน ZAIWAN VILLAGE

ZAIWAN VILLAGE คือชุมชนเล็กๆ Qixian ของเขต Xiuwu ที่ตั้งอยู่ในเมือง Jiaozuo ทางตอนเหนือของมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน ได้รับการฟื้นฟูพื้นที่ ให้กลายเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ คาเฟ่สุดชิค ที่เลือกหยิบความธรรมดา ของหมู่บ้านมาสร้างสรรค์ และตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี

ZAIWAN VILLAGE street art

หมู่บ้าน Zaiwan ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1960s วางผังแบบกริดสี่เหลี่ยมเป็นตาราง ซึ่งตัวหมู่บ้านไม่มีทั้งวัฒนธรรม วิวทิวทัศน์ หรือแม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมที่จะเป็นสิ่งดึงดูดใจหรือศักยภาพในการพัฒนาต่อ สถาปนิกจาก 3andwich Design / He Wei Studio จึงได้สำรวจเห็นถึงร่องรอยต่าง ๆ ที่เกิดจากสิ่งก่อสร้าง รอยทาสี และรอยติดตั้งแผงโซล่าล์เซลล์ ซึ่งเป็นการแสดงถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ผ่านมาตลอด 40 ปี จึงเป็นที่มาของการเก็บร่องรอยวิถีชีวิตเหล่านี้ไว้ แล้วทำการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมพื้นฐานภายในหมู่บ้าน ที่ไม่ว่าจะเป็นการปรับพื้นถนนใหม่ นำสายไฟลงใต้ดิน เพิ่มไฟส่องสว่าง ขุดลอกท่อระบายน้ำพร้อมซ่อนใต้ดิน ฟื้นฟูผนังบ้าน และเพิ่มพื้นที่สีเขียว จากนั้นจึงเริ่มวางผังด้วยการใช้ถนนแนวแกนหลักที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน เล่าเรื่องผ่านจุดเชื่อมโยงต่างๆ จนกลายเป็นเส้นทางพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของหมู่บ้าน

ZAIWAN VILLAGE street art ZAIWAN VILLAGE street art ZAIWAN VILLAGE street art ZAIWAN VILLAGE street artZAIWAN VILLAGE street art

เส้นทางพิพิธภัณฑ์นี้เริ่มต้นด้วยภูมิทัศน์ทางทิศเหนือของหมู่บ้านที่เรียกว่า Spring Blossoms โดยใช้ต้นมะฮอกกานีจีน ไม้ยืนต้นดอกสีชมพูดั้งเดิมของหมู่บ้าน เป็นจุดเด่นอยู่บนมุมทางแยกรูปตัว L นอกจากนี้ เมื่อดอกสีชมพูมะฮอกกานีจีนบานสะพรั่งยังเป็นสัญญาณถึงฤดูใบไม้พลิที่กำลังจะมาถึง

ในการปรับปรุงภูมิทัศน์เส้นถนนแกนเหนือ-ใต้ สถาปนิกเลือกใช้แถบกราฟิกหลากสีสัน ประกอบด้วย สีเหลืองสำหรับท่อส่งก๊าซ สีเขียวสำหรับท่อสายไฟฟ้ากระแสเบา และสีน้ำเงินสำหรับท่อน้ำทิ้ง ตัวแถบสีท่อมักจะเลียบไปกับพื้นถนน ซึ่งแต่ละตำแหน่งจะขึ้นอยู่กับร่องรอยดั้งเดิมของหมู่บ้าน ที่มาพร้อมกับป้ายข้อความอธิบาย สำหรับ street furniture ยังออกแบบให้เชื่อมโยงกับพื้นด้วยแถบสีสันเพื่อเพิ่มความต่อเนื่อง และดูสอดคล้อง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดบนผนัง หรือโทรศัพท์ ท่อหลากสีสันบนกำแพง รวมไปถึงเกม hopscotch และเขาวงกต ที่เด็กๆ ในหมู่บ้านช่วยกันคัดเลือกก่อนจะถูกวาดลงไปบนพื้นถนน ซึ่งช่วยให้การเล่าเรื่องบนถนนดูน่าสนใจ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอีกด้วย

ZAIWAN VILLAGE street art ZAIWAN VILLAGE street art ZAIWAN VILLAGE street art ZAIWAN VILLAGE street art

ในถนนแกนเหนือ-ใต้ สถาปนิกได้ปรับพื้นที่ The Square of Double Happiness and Pisces ซึ่งเดิมเป็นแปลงผักของหมู่บ้าน ที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นลานอเนกประสงค์สำหรับหมู่บ้าน โดยทางทิศตะตกเฉียงใต้ของพื้นที่ได้ออกแบบอาคารทรงสี่เหลี่ยมคางหมู สำหรับซ่อนตู้หม้อแปลงไฟฟ้า ที่รวมเอาร้านซื้อของออนไลน์ และหน่วยจัดส่งของเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งตัวอาคารใช้โครงสร้างไม้ ปิดผนังด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนต และไม้ ทำหลังคาลาดเอียงไปทางทิศเหนือ ใช้กระเบื้องเคลือบกราฟิกหลากสีสันคล้าย 8 บิต ส่งต่อลงมาถึงฟาซาดวัสดุกระเบื้องเคลือบสีน้ำตาลเชื่อมโยงไปถึงพื้นเป็นลายกราฟิกสามเหลี่ยม นอกจากนี้ฝั่งตรงข้ามยังมีพื้นที่นั่งไม้ไล่ระดับพร้อมปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่น เชิญชวนให้คนในหมู่บ้านมานั่งพักผ่อนกันได้ตลอดทั้งวัน

ZAIWAN VILLAGE street art

ความน่าสนใจอีกอย่างของหมู่บ้านแห่งนี้คือ กลุ่มอาคารบ้านดินเก่าแก่ที่อนุรักษ์ไว้มายาวนาน ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1960s ได้ปรับปรุงให้เป็น Gallery of North Henan Folk Residence สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งมีทั้งหมด 3 หลัง คือ ทางทิศเหนือ 2 หลัง และส่วนตรงกลางอีก 1 หลัง  เชื่อมต่อกันด้วย ทางเดินหลังคาสีดำ และลานอเนกประสงค์ สถาปนิกได้เพิ่มเติมอาคารหลังใหม่ทางด้านทิศใต้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นร้านคาเฟ่  ห้องชา ห้องจัดแสดงวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ และศูนย์สร้างสรรค์ ที่ออกแบบฟาซาดอาคารด้วยอิฐสีแดงสอดคล้องไปกับวัสดุปูพื้นของลานอเนกประสงค์ เสริมด้วยแผ่นเหล็กแบนเรียบเป็นอีกส่วนของฟาซาดที่เน้นเส้นแนวนอนให้ความรู้สึกร่วมสมัยเรียบง่าย สถาปนิกตั้งใจให้บางส่วนเกิดเป็นช่องว่างระหว่างอาคาร เพื่อลดความขัดแย้งกันของวัสดุเก่า และวัสดุใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยทำให้สเปซระหว่างทั้งสองอาคารเกิดพลังความสมดุลได้อย่างลงตัว

รวมไปถึงการออกแบบป้ายทางเข้าฝั่งตะวันตกของหมู่บ้าน อยู่ระหว่างสถานีอนามัย และ Gallery of North Henan Folk Residence ในรูปแบบของกลุ่มเสาหินที่มีขนาดความสูงแตกต่างกัน ที่สื่อความหมายถึงลำดับการพัฒนาหมู่บ้าน Zaiwan ที่มีความเฟื่องฟูมาโดยตลอด ซึ่งในแต่ละเสาหินจะสลักข้อความถึงประวัติศาสตร์ และในช่วงเวลาสำคัญลงไปบนเสาหิน รวมถึงในปัจจุบันนี้ด้วย


ออกแบบ: 3andwich Design / He Wei Studio
ภาพ: Weiqi JinWei He
เรียบเรียง: j – bob

The Playscape สนามเด็กเล่นที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างพัฒนาของเด็กโดยเฉพาะ