VANZTER เปลี่ยนเศษไทเทเนียมเป็นของตกแต่งเปี่ยมจิตวิญญาณเด็กแว้น

VANZTER หนึ่งในแบรนด์ไทยจากโครงการ Talent Thai โดย DITP หรือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่เจาะลึกเรื่องปัญหาสังคมอย่างเด็กแว้นและรถซิ่งของพวกเขา ก่อนนำเรื่องราวมาถ่ายทอดเป็นของใช้ของตกแต่งในชีวิตประจำวัน ที่ใคร ๆ ก็สัมผัสได้ เพราะเชื่อว่าวัตถุสามารถแสดงตัวตน และสร้างพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ ผ่านงานดีไซน์ที่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนได้เสมอ

“เราต้องการรันวงการไทเทเนียมให้สามารถอยู่ในบ้านคนได้
ไม่ใช่แค่ที่รถแข่ง หรืออวกาศ

ไทเทเนียม VANZTER

ถ้าพูดถึง “ไทเทเนียม” หลาย ๆ คนคงนึกไปถึงกลุ่มแร็พเปอร์ชื่อดังของเมืองไทย อาจเป็นเพราะไทเทเนียมเป็นวัสดุไกลตัวที่เราไม่คุ้นชินนัก เนื่องจากเป็นโลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานอวกาศ หรือถูกใช้ในเชิงการแพทย์เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่คุ้นเคยกับวัสดุตัวนี้เป็นอย่างดี นั่นคือ “เด็กแว้น” ที่นำโลหะชนิดนี้ มาเป็นองค์ประกอบของรถมอเตอร์ไซค์ ที่เห็นได้ชัดคือส่วนของท่อไอเสีย มือจับ และของตกแต่งต่าง ๆ เรียกว่ารถใครไม่มีไทเทเนียมเท่ากับเชย

ถึงแม้ว่าเด็กแว้นจะเป็นอะไรที่หลาย ๆ คนให้ความรู้สึกด้านลบเสมอมาสำหรับสังคมไทย ชวนให้นึกถึงปัญหาด้านเสียงดังรบกวน ปัญหาครอบครัว และปัญหาอีกต่าง ๆ นานา หากแต่ว่าความยุ่งเหยิงเหล่านี้ กลับดึงดูดใจให้ คุณน้ำเย็น-พัทธมน ศุขเกษม ที่มีความสนใจในประเด็นสังคม การเมือง โครงสร้างต่าง ๆ ของสังคมอยู่แล้วเป็นทุนเดิม นำมาเป็นหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ ขณะเรียนนวัตกรรมการออกแบบ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ด้วยการศึกษาการแต่งรถของเด็กแว้นและการแสดงตัวตนผ่านวัตถุ

“เราเป็นคนชอบขี่มอเตอร์ไซค์ เวลาจอดรถแล้วเจอเด็กแว้นตามแยกไฟแดง ก็เกิดความสงสัยว่า ทำไมเด็กแว้นถึงแต่งรถสไตล์นี้ มันมีความไทยมาก ด้วยสีสันที่จัดจ้านและมีรูปแบบเฉพาะตัว ทำให้เราเริ่มสนใจ และเข้าไปศึกษากระบวนการทางความคิดในการแต่งรถของเขา เพราะเราเองก็สนใจวัฒนธรรมและการขับขี่สองล้อเหมือนกัน”

ไทเทเนียม VANZTER ไทเทเนียม VANZTER

เด็กแว้น ความเป็นไทยที่ซ่อนไว้ด้วยวัฒนธรรม

จากการศึกษาดังกล่าวนำมาสู่การต่อยอดเป็นแบรนด์  “VANZTER” แบรนด์ที่ต้องการบอกเล่าเรื่องความเป็นมา ประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์บางอย่างของเด็กแว้น ในรูปแบบของใช้ในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวมากขึ้น  โดยใช้ “ไทเทเนียม” เป็นวัสดุหลักสำหรับเป็นตัวแทนที่ใครเห็นก็ต้องร้อง อ๋อ!!!

“พอได้ลงพื้นที่ก็เริ่มศึกษาวัสดุที่ใช้ในการแต่งรถ ผ่านการทดลองที่หลากหลาย จนมาเจอกับไทเทเนียม และวัสดุที่เลียนแบบสีของไทเทเนียม เรามองว่าสิ่งนั้นเต็มไปด้วยเทคนิค และการดัดแปลงที่จินตนาการไม่มีที่สิ้นสุด เราเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า การขบถต่อวัสดุ

“หากย้อนประวัติศาสตร์การแว้นไทย ตั้งแต่เริ่มมีมอเตอร์ไซค์เข้ามา เราเริ่มดัดแปลงรถมาตั้งแต่ยุค 70’s เริ่มปาดเบาะ ตีท่อรีด ท่อสูตร แยงเสื้อ และกว้านสูบกันแล้ว การแต่งรถของคนไทยมีวัฒนธรรมความเป็นไทยอยู่ด้วย เช่น การเซ่นไหว้รถ และห้อยพวงมาลัย โดยมีความหมายซ่อนอยู่ในนั้น อย่างชุดสีที่เราเห็นยังเห็นได้จากกระบะซิ่ง เรือซิ่ง รถไถซิ่ง และรถสิบล้อ ซึ่งทั้งหมดนี้มันสะท้อนถึงวัฒนธรรมของชาวบ้าน”

ไทเทเนียม VANZTER ไทเทเนียม VANZTER ไทเทเนียม VANZTER ไทเทเนียม VANZTER

ไทเทเนียม คือคำตอบ

เมื่อค้นพบแล้วว่า “ไทเทเนียม” คือตัวแทนที่สะท้อนความเป็นเด็กแว้นได้ตรงประเด็นที่สุด จึงได้เข้าไปทำการศึกษาต้นกำเนิด คุณสมบัติ และวงจรของวัสดุตัวนี้ แล้วพบว่าท้ายที่สุดแล้ว เศษไทเทเนียมที่เหลือจากงานผลิตจะถูกส่งกลับไปรีไซเคิลยังต่างประเทศ

“เราสนใจเรื่องอัพไซเคิล เพราะการรีไซเคิลมันต้องใช้พลังงานมหาศาลมาก ถ้าเศษเหล่านี้จะต้องถูกส่งกลับออกไปในฐานะขยะ เราอยากให้มันถูกส่งออกไปในรูปแบบของสินค้ามากกว่า”

จากงานธีสิสสู่การสร้างแบรนด์

“VANZTER คือสตูดิโอที่เล่าเรื่องวัฒนธรรม เราหยิบยกประเด็นทางสังคม มาถ่ายทอดผ่านงานดีไซน์ เพราะเราเชื่อว่าวัตถุสามารถแสดงตัวตนและสร้างพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ได้”

“เราเอาคำว่า “ขบถ” มารวมกับคำว่า “สร้างสรรค์” หมายความว่าเราจะไม่ได้เอาเฉพาะความดิบมา คือจะเลือกมองหาสุนทรียะมาสร้างสรรค์เป็น VANZTER จนออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ของแบรนด์คือ  “ดัดแปลง” เรารู้สึกว่าโปรดักต์ต่อ ๆ ไป มันจะต้องผ่านกระบวนการคิด การดัดแปลง เพราะเด็กแว้นคือคนที่ดัดแปลงเก่งมาก ๆ เพราะฉะนั้นแบรนด์ของเราอาจจะดัดแปลงวัสดุในแบบของเรา โดยศึกษาเทคนิคจากเด็กแว้น เด็กแว้นเป็นครูของเรา เราต่างเป็นครูซึ่งกันและกัน นั่นทำให้เราได้ทดลองสิ่งต่าง ๆ มากกว่าที่เคยทำ”

ไทเทเนียม VANZTER

ใช้งานดีไซน์เปลี่ยนทัศนคติ

“หลังจากที่เราได้มีโอกาสไปร่วมแสดงในงาน Bangkok Design Week เพื่อเก็บข้อมูลความเป็นไปได้เชิงธุรกิจ จากลูกค้าคนไทยและต่างชาติว่า เขาสนใจในโปรดักต์มากน้อยแค่ไหน หลังจากเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่ลูกค้าคนไทยได้ยินคำว่า “แว้น” ก็จะมีคนที่ต้องการเปลี่ยนอะไรบางอย่าง หรือขับเคลื่อนสังคมอะไรบางอย่าง กลับมาสนใจสินค้าของเรา เลยเริ่มรู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว เราสามารถดีไซน์งานไปพร้อมกับการพูดบางอย่างในเรื่องสังคมไปด้วยได้ ส่วนลูกค้าที่เป็นคนต่างชาติก็จะสนใจเรื่องของสีสัน และเขารู้จักไทเทเนียมอยู่แล้วว่า เป็นวัสดุที่คุณภาพสูง”

ขยายโครงข่ายและเพิ่มการส่งออกเมื่อเข้าร่วม Talent Thai

“เมื่อเราเข้าร่วมโครงการก็ได้อบรมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ มีการจัดกลุ่มดีไซเนอร์และเมนเทอร์ผู้มีประสบการณ์ ซึ่งตรงนี้มันเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ในการพัฒนาโปรดักต์ ในขณะเดียวกันเราก็ได้ไปเรียนรู้  Marketing ด้วย ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ๆ ค่ะ”

เข้าถึงความเป็น “แว้น” ผ่านสเปซ

“เรากำลังสร้างพื้นที่หนึ่งขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กแว้นให้สังคมได้รับรู้ในวงที่กว้างขึ้น ซึ่งโปรดักต์อาจจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เพียงส่วนหนึ่ง จึงนำมาสู่การสร้าง “Space” ในรูปแบบของคาเฟ่ ให้ทำหน้าที่เป็นมากกว่าร้านกาแฟ โดยเป็นเหมือนคอมมูนิตี หรือเป็นจุดนัดพบ ที่ทุกคนสามารถเกิดประสบการณ์ใหม่ในร้านนี้ ได้รับเรื่องราวบางอย่างกลับไป เปลี่ยนมุมมองด้านสังคม วัฒนธรรมและการแต่งรถ รวมถึงเรื่องวัสดุ ภายในร้านจึงเต็มไปด้วยไทเทเนียมในส่วนต่าง ๆ ไล่มาตั้งแต่อุปกรณ์เครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงเครื่องทำกาแฟ โดยหวังจะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้เกิดกับทุก ๆ คนได้”

“ท้ายที่สุดเราอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหานักซิ่งกวนเมืองได้ วัฒนธรรมแว้นเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทย มันเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหายไป เราต้องการสร้างโอกาสและเพิ่มทางเลือก เพราะสุดท้ายแล้วเขาคือเด็กไทยเป็นอนาคตของประเทศ เราอยากตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรกับอนาคตของชาติกลุ่มนี้ เรามีเด็กที่แต่งรถเก่ง ๆ หลายคน ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ แต่ไม่ได้รับโอกาสที่เหมาะสม ถูกผลักให้ไปอยู่ชายขอบและถูกมองให้เป็นปัญหาสังคมต่อไป”

หลังจากได้เดินเข้าไปชมโรงงาน ดูกระบวนการผลิต และได้นั่งพูดคุยกับคุณน้ำเย็น เราก็เชื่อเหลือเกินว่า VANZTER จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เรื่องราวและวัฒนธรรมการแต่งรถของเด็กแว้นไทยจะได้ออกเดินทางไปทั่วโลก ผ่านสีรุ้งสุดจัดจ้าน และรอยเชื่อมสุดประณีต ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นไทเทเนียมในรูปแบบของของแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ จิเวลรี่ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์เดินป่าน้ำหนักเบา ทนทาน ด้วยเศษไทเทเนียมเหลือทิ้งจากโรงงาน ที่ถูกเพิ่มมูลค่าเป็นเท่าทวีด้วยงานดีไซน์
“เรามองว่าวันหนึ่งคนจะแยกพฤติกรรมออกจากวัตถุ เราจะเห็นเลยว่าสไตล์แว้นไทยมีเอกลักษณ์มากจริง ๆ”
คุณน้ำเย็นทิ้งท้ายกับเราไว้ด้วยความหวังอันเต็มเปี่ยม

ข้อมูลเพิ่มเติม
Facebook : VANZTER
Instagram : vanzter.official
โทร. 08-6660-9322


 เรื่อง : ปลากริมไข่เต่า
ภาพ : อนุพงษ์

THAIS ECOLEATHERS ความงามจากเศษหนังสู่วัสดุใหม่