BLU395 อาคารที่ตั้งใจสร้างพลังงานดีๆคืนสู่ย่านและผู้คน

อาคารสีขาวที่ถูกคว้านเป็นทรงกรวยแปลกตาทั้งยังห่อหุ้มไว้ด้วยเหล็กตะแกรงนี้ตั้งอยู่ในย่านสะพานควาย ย่านที่พลุกพล่านที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ เพื่อสร้างให้เกิดภาพจำเชิงสัญญะแก่ผู้สัญจร และเพื่อให้อาคารแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่จะสร้างพลังงานที่ดีคืนแก่บริบทของย่านและเหล่าผู้คนที่ผ่านไปมาริมถนน การออกแบบความเชื่อมโยงระหว่างภายนอกและภายในจึงเป็นส่วนสำคัญ และผู้ที่เข้ามารับหน้าที่นี้ก็คือ PHTAA สตูดิโอออกแบบที่โดดเด่นในการตีความสร้างนิยามใหม่ๆให้กับงานทุกชิ้นที่ได้ผ่านมือพวกเขา

BLU395 เป็นอาคารแบบ Mixed Used ที่มีห้องพัก 84 ห้อง และร้านค้า 3 ร้านผสมเข้าด้วยกัน อาจกล่าวได้ว่าอาคารหลังนี้มีจริตแบบ Modernism อยู่ในตัว ด้วยการแสดงออกอย่างชัดเจนจากภายนอกถึงลักษณะของโครงสร้างและพื้นที่การใช้งาน จากภายนอก ผู้สัญจรจะสามารถมองเห็นตะแกรงเหล็กที่นำมาใช้เป็น Facade ได้อย่างเด่นชัด ทั้งเป็นองค์ประกอบที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดขอบเขต แต่ก็โปร่งพอที่จะเห็นลักษณะของอาคารได้อย่างชัดเจน

พื้นที่พิเศษเพื่อพักสายตาแล้วเดินต่อ

ส่วนที่โดดเด่นที่สุดของอาคาร BLU395หลังนี้คงหนีไม่พ้น ต้นไม้ใหญ่ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของโถงบันไดซึ่งวางตัวเป็นทรงกรวยตั้ง ค่อยๆบานออกที่ชั้นบน โถงบันไดนี้มีการขึงผ้าใบสีขาวเรียบเกลี้ยงเอาไว้กั้นระหว่างความเป็นภายนอกและภายใน ทั้งทำหน้ากรองแสง กั้นความเป็นส่วนตัว และทำหน้าที่รับเงาของแสงที่ส่องผ่านโครงสร้างเปลือกอาคารลงมาเกิดเป็นเส้นโค้งที่ล้อไปกับรูปฟอร์มและตำแหน่งของไม้ใหญ่ ขับเน้นให้มุมมองสายตาที่ไล่เรียงจากชั้นพื้นที่ไม้ใหญ่นั้นเหมือนเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับบาทวิถี ค่อยๆไล่เรียงขึ้นไปยังอาคาร และแหงนมองสู่ฟ้าในที่สุด พื้นที่นี้เป็นทั้งพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกพิเศษ ทั้งสำหรับตัวผู้ใช้อาคารเอง และผู้ที่สัญจรผ่านไปมา ได้พักสายตาจากหมู่ตึกและการจราจรที่คับคั่งอีกด้วย

ไม้ใหญ่ที่สร้างความต่อเนื่องไปยังบาทวิถี ลบเส้นแบ่งระหว่างภายนอกและภายในของอาคารให้จางหายไป
มุมมองจากกึ่งกลางโถงบันได
รูปตัดอาคารแสดงการถอยร่นของแนวโถงบันไดที่ค่อยๆกว้างออกที่ชั้นบนไ

แฝงกลิ่นอาย “ตึกแถวไทย”

ด้วยรูปแบบการใช้อาคารหลังนี้อาจพาให้นึกไปถึง “ตึกแถวไทย” ได้แต่ทั้งหมดนั้นก็ได้ถูกตีความและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในแบบ PHTAA โดยที่จากชั้นล่างซึ่งเปรียบได้กับพื้นที่หน้าตึกแถวที่มักมีสวนเล็กๆและพื้นที่หย่อนใจ ซึ่งมักเป็นพื้นที่แบบ Semi-Public ก่อนที่จะขึ้นสู่ชั้นบนด้วยโถงบันไดนำพาไปยังพื้นที่ส่วนตัวซึ่งเป็นห้องพักในที่สุด ประกอบกับพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ชั้นล่าง หากจะกล่าวว่าอาคารหลังนี้เป็นอีกพัฒนาการของ ตึกแถวไทยก็คงไม่ผิดนัก

พื้นที่อเนกประสงค์ที่เป็นที่นั่งซึ่งกลมกลืนไปกับบาทวิถีให้บรรยากาศแบบไทยๆได้อย่างน่าสนใจ
โถงบังไดที่เป็นทางเข้า ทางหนีไฟ และองค์ประกอบที่เสมือนเป็นศูนย์กลางของทั้งอาคาร (มีลิฟต์ให้บริการที่ด้านใน)

ความงามที่ไม่ต้องการการเติมแต่ง

ผู้ออกแบบตั้งใจใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมนั้นสร้างให้เกิดความงามของพื้นที่ขึ้นเอง ผ่านรูปฟอร์ม เส้นโค้งเว้า และแสงเงาที่เปลี่ยนไปในแต่ละเวลา รวมทั้ง Facade ที่ภายนอก ความต่อเนื่องของเส้นสายนั้นเห็นได้เด่นชัดจากโถงบันไดเวียนที่ผู้ออกแบบกล่าวว่า “เป็นเหมือนกับอัตลักษณ์หนึ่งของตึกแถวไทย” ซึ่งนอกจากจะสร้างความรู้สึกเชิงประติมากรรมให้กับพื้นที่แล้ว งานออกแบบในโถงบันไดส่วนนี้ยังทำหน้าที่เติมแสงธรรมชาติให้กับทุกพื้นที่และยังเป็นช่องอากาศที่ช่วยสร้าง Cross-Ventilation ให้กับอาคารอีกด้วย

แพทเทิร์นที่ถูกใส่ลงไปบน facade อาคาร ซึ่งจะแตกต่างไปในแต่ละมุมมอง แท้จริงเป็นภาพบ้านไทยเดิมที่มุมหนึ่ง และเป็นตึกแถวในอีกมุมมองหนึ่งนั่นเอง
ลวดลายที่เกิดขึ้นนั้นใช้การสร้างแพทเทิร์นด้วยสีที่ทาลงไประหว่างตะแกรง facade

เรื่อง: Wuthikorn Sut
ภาพ: Beer Singnoi
ออกแบบ: PHTAA


KEATON ร้านตัดสูทวินเทจ สเปซสุดเล็กแต่คอนเซ็ปต์ลึก