WARM CONVERSATION อบอุ่นกรุ่นไอรักในห้องคอนโดสไตล์ญี่ปุ่น ที่ใช้พอลิคาร์บอเนตเป็นบานเลื่อนเปลี่ยนความทึบให้ดูโปร่งเบา

/ แม้ห้องนี้จะถูก แต่งคอนโด ในสไตล์ดูเรียบง่าย แต่กลับเต็มไปด้วยไอเดียและความอบอุ่น ทั้งยังไม่ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวต้องสูญหายไป /

บทสนทนาของสองสาวต่างวัยที่ริมระเบียง ชวนให้เราต้องอมยิ้มตามอย่างช่วยไม่ได้ เพราะคุณแม่คุณลูกกำลังช่วยกันดูต้นไม้ที่ปลูกอยู่ริมระเบียง เป็นการใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยเห็นได้บ่อยนักในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะการตก แต่งคอนโด สูงระฟ้า

“แม่ว่าขยับมาทางนี้อีกหน่อยไหมลูก”

“ได้ค่ะคุณแม่”

“บ้าน…ไม่ใช่แค่เรื่องของคนกับสถาปัตยกรรม แต่เป็นความสัมพันธ์ของธรรมชาติและที่ว่างด้วย”

คุณแอม – อรชุมา สาระยา สถาปนิกสาวหน้าใหม่ พูดประโยคนี้กับเรา ก่อนจะเริ่มพาชมผลงานออกแบบห้องพักอาศัยขนาด 141 ตารางเมตร แห่งนี้ ด้วยรอยยิ้มระบายเต็มใบหน้า

แต่งคอนโด
ตกแต่งเพดานด้วยฝ้ากรอบไม้ให้อารมณ์อบอุ่นตัดกับแนวคิดเดิม ๆ ที่มักเปิดฝ้าเพดานให้โล่งเพื่อให้ห้องดูกว้าง ตัวช่วยสำคัญคือเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นดีไซน์แบบขาโปร่ง ๆ เส้นสายไม่เยอะ โทนสีเดียวกับวัสดุปูพื้น จึงช่วยพรางตาให้ห้องดูเชื่อมต่อถึงกันและกว้างขึ้นโดยอัตโนมัติ
แต่งคอนโด
ใช่ว่าห้องสไตล์ญี่ปุ่นจะต้องนั่งกับเบาะเท่านั้น โซฟาจึงไม่ใช่ของต้องห้ามเสียทีเดียว เพียงแค่เลือกโทนสีกลาง ๆ ไม่ฉูดฉาดหรือทึบตัน แล้วลดองค์ประกอบอื่น ๆ ในห้องให้ดูเบาลง เช่น การใช้โคมไฟเพดานแบบก้านเดี่ยว และชั้นวางโทรทัศน์แบบโปร่ง ๆ

“น้องกี๋เป็นน้องของเพื่อนที่รู้จักกันค่ะ ตอนนั้นมีคนมาบอกว่า คุณแม่ของน้องเพิ่งจะซื้อคอนโด ฯ และ อยากตกแต่งใหม่จึงแนะนำให้รู้จักกับแอม” ผู้ถูกอ้างชื่อได้ยินอย่างนั้นก็เดินมาร่วมวงสนทนากับเราทันที

“ทั้งกี๋และคุณแม่ชอบงานไม้สไตล์ญี่ปุ่นแบบ MUJI เรียบ ๆ เนี้ยบๆ มองแล้วสบายตา และอยู่สบาย”

ฟังดูง่ายแต่ไม่ง่าย เพราะโจทย์งานไม้สไตล์ญี่ปุ่นที่คุณแอมต้องรับช่วงมาคิดต่อนั้น ในความเป็นจริงแล้วถือว่า ยาก เพราะลักษณะของห้องชุดทั่วไป มักมีปัญหาเรื่องการจัดสรรพื้นที่ ตอนแรกคุณแอมคิดเพียงแค่การนำเฟอร์นิเจอร์มาจัดวาง แต่ต่อมากลายเป็นว่าต้องทุบผนังกั้นพื้นที่ใหม่ทั้งหมด

“โชคดีว่าโครงการไม่ว่าอะไรค่ะ” คุณแม่พูดเสริม “แม่ส่งแปลนให้เขาช่วยดู แล้วเราก็ทุบแค่ผนัง ไม่ได้ยุ่งกับโครงสร้างอย่างอื่นเลย”

“กี๋บอกคุณแม่แล้วว่าต้องให้มืออาชีพเขาทำให้” สาวน้อยบอกเร็ว ๆ จนไม่วายโดนคุณแม่มองค้อน“

ตอนนั้นคุณแม่อยากจะทำเองค่ะ เพราะเขาคงรู้สึกว่ากี๋เองก็เรียนด้านดีไซน์ คงจะพอทำเองได้ แต่กี๋ไม่ถนัดการวางแปลน และจัดเฟอร์นิเจอร์ จึงให้พี่แอมมาช่วยดีกว่า”

คุณแอมคิดต่อยอดจากงานไม้สไตล์ญี่ปุ่นว่าต้องไม่เหมือนใคร ไม่ใช่แค่วางเฟอร์นิเจอร์ไม้แล้วจบ จึงย่อยข้อมูลออกเป็นส่วนของโครงสร้าง การแบ่งพื้นที่ใช้งาน ร่วมกับการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้ดูลงตัว

“แอมคิดไว้แล้วว่า ห้องนั่งเล่นต้องมีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุด สำหรับใช้เป็นจุดศูนย์กลางของครอบครัว”

ดังนั้น ห้องอื่น ๆ จึงเหมือนส่วนแยกย่อยออกจากห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยห้องครัว ที่มีเพียงเคาน์เตอร์บาร์กั้นเอาไว้ ห้องทำงานยกพื้นสูงพร้อมบานเลื่อนเปิด-ปิด หรือแม้แต่ระเบียง คุณแอมก็ปูพื้นไม้เป็นสเต็ปเชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่น เพื่อให้คุณแม่และคุณลูกได้มีพื้นที่ใช้งานเพิ่มขึ้น ก่อนจะแบ่งโซนส่วนตัวอย่างห้องนอนออกเป็นสองห้อง แยกส่วนให้อยู่ด้านในสุด

“จุดเด่นของห้องนี้คือประตูบานเลื่อนค่ะ แอมรู้สึกว่าบ้านญี่ปุ่นใช้ประตูแบบนี้กันเยอะ คงเพราะพื้นที่เขากำจัด บานสวิงหรือบานผลักอาจเปลืองพื้นที่ ซึ่งการใช้บานเลื่อนเป็นวิธีที่เหมาะมากกับพื้นที่คอนโดมิเนียมในเมืองไทยด้วยเช่นกัน”

คุณแอมเลือกใช้วัสดุอย่างหลากหลาย เพื่อเป็นไฮไลต์ของแต่ละห้อง โดยเฉพาะการเลือกใช้กระจกที่ตอบโจทย์ด้านการอยู่อาศัยได้ชัดเจน เพราะมีความใส จึงไม่ทำให้ห้องดูทึบตัว แถมยังให้ความรู้สึกเชื่อมต่อถึงกันทุกส่วนด้วย นอกจากนี้ เธอยังต้องมองหาวัสดุใหม่ ในส่วนของพื้นที่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว จนกระทั่งมาลงตัวที่แผ่นพอลิคาร์บอเนต ซึ่งมีความใสกึ่งขุ่น ช่วยบังสายตาได้ดี แต่ก็ไม่มืดทึบ มีความเหนียว ยืดหยุ่นมากพอ สำหรับการเจาะเพื่อติดฟิตติ้งในการทำบานเลื่อน

ระหว่างที่พูดคุยกัน เราแอบเห็นสาวน้อยของบ้าน เลื่อนเปิดบานพอลิคาร์บอเนต แล้วเดินเข้าไปในส่วนของห้องทำงาน แล้วน้องกี๋ยกพื้นห้อง (ใช่ ยกพื้นจริงๆ) ขึ้นมาต่อหน้าพวกเรา

“บริเวณยกพื้นของห้องทำงาน ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เก็บของค่ะ” คุณแอมเล่ายิ้มๆ

นี่เองจึงเป็นจุดที่ทำให้คอนเซ็ปต์บ้านญี่ปุ่นสมบูรณ์มากขึ้น ด้วยการดึงเอาลักษณะพื้นบ้านของคนญี่ปุ่นที่มักปูด้วยเสื่อตาตามิมาใช้ แล้วเว้นช่องใต้พื้นออกเป็นขนาดต่าง ๆ พร้อมสั่งทำบานปิด-เปิดหุ้มด้วยเสื่ออีกชั้น ถ้าต้องการเก็บของ เพียงแค่ยกเสื่อขึ้นก็สามารถจัดเก็บข้าวของต่าง ๆ ได้ง่ายดาย แถมยังไม่เปลืองพื้นที่ด้วย

“กี๋จะมีโมเดลงานออกแบบ กระดาษเขียนแบบ ซึ่งไม่ใช่แค่ขนาดเอสี่ทั่วไป พื้นที่เก็บของใต้ยกพื้นนี้จึงเหมาะมากค่ะ”

“แม่บอกกับแอมไว้ว่าไม่อยากได้บิลท์ด์อิน เพราะจะดูรกเวลาถ้าเราวางของจนเต็ม ส่วนน้องกี๋ก็มีของเยอะ อะไรก็ไม่รู้ ทิ้งเสียก็ไม่ (หัวเราะ) เอามาเก็บใต้พื้นแบบนี้ดีแล้วค่ะ แม่ชอบมากเลย” จบประโยค คุณลูกสาวเลยได้เป็นฝ่ายมองค้อนคุณแม่บ้าง

สิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่พอใจมากก็คือ คอนโดมิเนียมแห่งนี้ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนของคุณแม่ หรือของลูกสาว เมื่อได้มาเยี่ยมเยือนต่างต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าที่นี่น่าอยู่จริง ๆ

แต่เราว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่นี้เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว ที่ช่วยเติมเต็มให้บ้าน มีความเป็น “บ้าน” อย่างสมบูรณ์

 

อ่านต่อ ห้องคอนโด

PRIVATE SKYLINE – พื้นที่ส่วนตัวเหนือเส้นขอบฟ้า

เจ้าของ-ออกแบบ : คุณอรชุมา สาระยา