นพดล ตันพิวัฒน์

คุยกับซีอีโอ D103i ในก้าวสู่ปีที่ 52 พร้อมบทพิสูจน์ว่าการออกแบบได้ไม่ใช่ความยืนยงขององค์กร

นพดล ตันพิวัฒน์
นพดล ตันพิวัฒน์

52 ปี นับเป็นตัวเลขจำนวนมากพอจะระบุได้ว่า บุคคลหรือองค์กรเหล่านั้นอยู่ในช่วงวัยที่เหมาะสมกับการเป็นพี่ใหญ่คอยให้คำปรึกษาเรื่องที่ตนเชี่ยวชาญได้อย่างมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ด้วยประสบการณ์อันเชี่ยวกราก ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน

ในสายงานออกแบบและก่อสร้างสถาปัตยกรรมก็เช่นกัน หากเอ่ยชื่อบริษัท Design 103 International Limited หรือ D103i แล้ว นี่คือหนึ่งในพี่ใหญ่ของวงการที่อยู่ในวัยย่าง 52 ปี ถึงแม้ช่วงหลังเราอาจไม่ค่อยเห็นชื่อของพวกเขาปรากฏตามหน้าสื่อบ่อยครั้งนัก ทว่าพี่ใหญ่คนนี้ไม่ได้หายหน้าหายตาไปไหน D103i ยังคงซุ่มทำงานเงียบ ๆ ดั่งคนพูดน้อยต่อยหนัก แต่ก็เริ่มทยอยเผยแพร่งานออกแบบอาคารที่สร้างให้กับองค์กรชั้นนำ เน้นหนักไปทางงานสเกลใหญ่ซึ่งแล้วเสร็จออกมาให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

ไม่นับรวมกับผลงานขึ้นชื่อที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดีก่อนหน้านี้อย่าง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (เดิม), ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่, อาคาร 100 ปี เอสซีจี, อาคารสำนักงาน BHIRAJ TOWER at BITEC และ BHIRAJ TOWER at Emquartier เหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของผลงานทั้งหมดในพาร์ทการออกแบบเท่านั้น

 

KASIKORN BANK RATBURANA HEAD OFFICE
KASIKORN BANK RATBURANA HEAD OFFICE | ภาพ: https://www.d103group.com/kasikorn-bank-ratburana-head-office/
BHIRAJ TOWER AT EMQUARTIER
BHIRAJ TOWER AT EMQUARTIER | ภาพ: https://www.d103group.com/bhiraj-tower-at-emquartier-2/

 

ในโอกาสการก้าวสู่ปีที่ 52 นับแต่ก่อตั้ง D103i จึงถือเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่ room จะกลับไปนั่งคุยกับพี่ใหญ่คนนี้ เพื่อนำเรื่องราว วิธีคิด และประสบการณ์ที่ควรค่าแก่การส่งต่อ บอกเล่า หรือถ่ายทอดให้กับรุ่นน้องได้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ และความท้าทายบนถนนสายเดียวกับพวกเขาที่พี่ใหญ่ผ่านมาก่อน และเรียนรู้ได้ว่าลำพังการออกแบบสวยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ หากไม่สามารถรักษาสมดุลด้านอื่น ๆ ให้บริษัทอยู่ได้อย่างยืนยง

จากบทสนทนาราวชั่วโมงเศษ room ย่อยคำพูดของ คุณพี้-นพดล ตันพิวัฒน์ สถาปิกรุ่นใหญ่ผู้ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งซีอีโอคนที่ 6 ของ D103iนับตั้งแต่ปี 2018 จวบจนปัจจุบันมาให้อ่านผ่านตัวอักษรเหล่านี้ใน 4 หัวข้อ

งานออกแบบของ D103i นอกเหนือจากการตอบแทนสังคมแล้ว ลูกค้าต้องมีความสุข มันไม่ง่ายนักที่จะบาลานซ์ให้ทุกอย่างลงตัว แต่ทุกงานเราพยายามคำนึงถึงธรรมชาติ และสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเสมอ”

 

นพดล ตันพิวัฒน์
นพดล ตันพิวัฒน์

1

ความแตกต่างระหว่างการเป็นสถาปนิกกับซีอีโอ

“ผมทำงานที่ Design 103 International Limited มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 รหัสของผมคือ 34034 เริ่มงานปี 34 และเป็นคนที่ 34 ของบริษัท ถึงตอนนี้ก็ผ่านมาประมาณ 30 กว่าปีแล้ว ผมอยู่ตั้งแต่ยุคPresident คนที่  2 ส่วนผมเป็นคนที่ 6 แล้วก็อยู่ในเจเนอเรชั่นระหว่างคนยุคเก่ากับคนยุคใหม่ ณ วันนี้ สถาปนิกที่เหลือจากตรงนั้นมาก็น่าจะมีเพียงแค่ผมคนเดียวตอนนี้เรามีเด็กเจเนอเรชั่นใหม่ๆ เกือบหมด เพราะฉะนั้นผมที่อยู่ระหว่างกลุ่มคน 2 เจนฯ ก็ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงให้มันเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น”

“ตลอด 30 ปี ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงมาเยอะมาก แต่ละคนมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน ตั้งแต่ผมเป็นจูเนียร์ ทำงานเองตั้งแต่ต้นจนจบ ทำแบบร่าง พัฒนาแบบ ทำดีเทลแบบก่อสร้าง จัดหาผู้รับเหมา ประมูล ต่อรอง ทำสัญญา ประชุมงานก่อสร้างที่ไซต์งาน จนกระทั่งสร้างเสร็จแล้วส่งมอบลูกค้า คือเราผ่านตรงนั้นมาหมด”

“แต่พอเราขึ้นมาเป็นนักบริหาร มันต้องมองย้อนกลับไปว่าการที่บริษัทจะยืนยงได้นั้นต้องอยู่ด้วยวิธีใด มันไม่ได้แค่ออกแบบเป็นอย่างเดียวแล้วจบ มันเป็นเรื่องที่ตอนเราเป็นนักออกแบบเราไม่เคยรู้ มีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่เขารับรู้ ดังนั้นพอมาอยู่จุดนี้แล้วเรามองกลับลงไป เราจะเห็นมุมมองที่กว้างขึ้น การเป็นผู้บริหารมันไม่ได้มองแค่แบบอย่างเดียว มันต้องมองด้วยว่าแบบที่คุณออกแบบมานั้นมันจะสร้างจริงได้ไหม จากประสบการณ์ที่เรามี ต้องมองให้กว้างดังนั้นบริษัทจะอยู่ได้ด้วยการออกแบบสวยอย่างเดียวคงไม่ได้ มันต้องบาลานซ์ ต้องแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านเพื่อลงไปสู่กระบวนการทำงานที่รวดเร็วและแก้ปัญหาได้ตรงจุด ผมแค่มีหน้าที่ในการทำให้ทุกอย่างมันขับเคลื่อนได้ด้วยตัวมันเอง”

 

“คนอาจมองว่าบริษัทอายุ 50 ปี มันเก่าแก่ไปแล้ว แต่เรามีความเก๋ามีประสบการณ์ มีจุดแข็งเป็นความน่าเชื่อถือในระดับสูง ทำงานผิดพลาดน้อย และทำงานตรงเวลา

 

SINGHA HEADQUARTERS
SINGHA HEADQUARTERS | ภาพ: https://www.d103group.com/singha-headquarters-2/

2

การสร้างแรงบันดาลใจ สร้างบูรณาการ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ คือหัวใจขององค์กรยุคใหม่

“หัวใจในการดำเนินธุรกิจของ D103i ประกอบด้วย 3i คือ Inspiration, Integration และ Innovation”

“หนึ่ง Inspired ภาษาชาวบ้านคือทำอย่างไรให้ทุกคนพอใจ นั่นหมายความว่าความพอใจคือถูกใจเรา ถูกใจเขา มีเรื่องราวมีคอนเซ็ปต์ ผมยกตัวอย่างงาน Master plan โครงการหนึ่งที่พนมเปญ โจทย์ที่ลูกค้าให้มานั้นเป็นที่ดินเปล่า แล้วลูกค้าต้องการแบ่งที่ดินขาย โดยต้องการมีเรื่องราวว่าแต่ละพื้นที่สามารถทำอะไรได้บ้าง โดยที่ยังไม่รู้ว่าธีมจะเป็นอะไร เราจึงนำเสนอธีม Futuristic เป็นอาคารประเภท Mixed-use ที่มีที่พักอาศัย สำนักงาน และโรงแรม แล้วลูกค้าก็เอาไปขายที่ได้สำเร็จนี่คือ Inspiredในเรื่องคอนเซ็ปต์” 

“อีกโครงการหนึ่งที่อธิบายแนวคิดเรื่อง Inspiredได้ดีก็คืออาคาร 100 ปี เอสซีจี ที่ก่อนหน้านี้เราเคยออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่เดิมที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมแล้วมี Fin เรียงกันเป็นชั้น ๆแต่กับอาคารใหม่นี้ มันต้องมีจุดเชื่อมเพื่อบอกถึงการสร้างขึ้นในยุคใหม่ ไม่ใช่ยุคก่อน เราจึงสร้างเส้นสายที่เป็นเส้นโค้งโดยที่กรอบกับแปลนยังเป็นสี่เหลี่ยมเหมือนเดิม มันเป็นการ Transform ระหว่างคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่โดยสื่อสารผ่านเส้นคลื่น จนกลายเป็นตึกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเอสซีจี หรือว่าจะเป็นอาคาร  SINGHA COMPLEX ก็อธิบายเรื่อง Inspiration ได้ชัดผ่านอาคารที่มีรูปทรงและเส้นสายต่าง ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรวงข้าว และการตีโจทย์สีน้ำตาลทองมาจากสีของขวดเบียร์

“สอง Integration ผมเรียกว่าการทำให้มันถูกต้องการที่ต้องมีการสื่อสารและประสานงานกัน คืองานแต่ละงานมันต้องเจอกับคนมากมาย ข้อมูลมันก็มาก เพราะฉะนั้นเราจะต้องเอามาปะติดปะต่อกัน และยังหมายรวมถึงการที่เราและบริษัทในเครือได้ร่วมงานกับสถาปนิก, นักออกแบบหรือที่ปรึกษาชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นการ Integratedบริษัทในเครือทั้งหมดเข้าด้วยกันสุดท้ายInnovationผมมองว่าเราต้องใส่เทคโนโลยีเข้าไปช่วยเพื่อทำให้งานเร็วขึ้นเช่น โดยใช้โปรแกรม BIMและเราก็กำลังพัฒนาเรื่อง Parametric Design การเขียนโปรแกรมแล้วสร้างรูปฟอร์มต่าง ๆ”

“ท้ายที่สุดเราก็คิดม็อตโต้ขึ้นมาว่า‘ We integrate innovative design to inspired you’ หมายถึงงานชิ้นหนึ่งที่เราจะทำให้ลูกค้าจะต้องตอบ 3 เรื่องนี้ให้ได้คือออกแบบให้เป็นที่ถูกใจ ก่อสร้างให้มีความผิดพลาดน้อยที่สุด และทำให้เร็วขึ้นโดยมีฐานโปรแกรมต่าง ๆ เป็นตัวช่วย นี่คือเป้าหมายของเรา ซึ่งคนมองว่าบริษัทเราอายุ 50 ปีมันเก่าแก่ไปแล้ว แต่ผมมองว่าเรามีความเก๋าอยู่ เรามีประสบการณ์ เรามีวัฒนธรรมจุดแข็งของเราคือเรามีความน่าเชื่อถือในระดับสูง งานไหนมาอยู่ในมือของ D103iแล้ว งานนั้นจะผิดพลาดน้อย เราค่อนข้างทำงานตรงเวลาและนั่นเป็นจุดที่ลูกค้ามองเห็น”

SCG HEADQUARTERS 3 OFFICE BUILDING
SCG HEADQUARTERS 3 OFFICE BUILDING | ภาพ: https://www.d103group.com/scg-headquarters-3-office-building-2/

 

3

One Stop Service

“เรามีบริษัทในเครือ Design103 Group อยู่ 4 บริษัท คือ Design103 International Limited ที่ผมทำหน้าที่เป็นซีอีโอ ดูแลงานออกแบบสถาปัตยกรรม, Interior Architecture103 (IA103) ดูแลในเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน,Magnum Management ที่ดูแลเรื่องการบริหารโครงการ และสุดท้าย CRH หรือ Chuchawal Royal Haskoning เป็นบริษัทวิศวกรรมที่ทำงานออกแบบเรื่องโครงสร้างกับระบบที่เน้นไปในทางอุตสาหกรรมเป็นหลัก”

“ดังนั้นเราจึงมีเซอร์วิสที่ทำตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ตั้งแต่ Feasibility study การวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ทางกายภาพ เช่นที่ดินแปลงนั้นควรจัดสรรอย่างไร วางผังออกแบบอาคารอย่างไร โดยมีทีมออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน และออกแบบกราฟิกในพาร์ทของ IA103 เข้ามารับช่วง รวมถึงงานวิศวกรรมโครงสร้างจาก CRH แต่ถ้าเป็นงานบริหารโครงการหรือเป็นเจ้าของโครงการก็จะเป็นหน้าที่ของMagnum Management”

“แต่นอกจากบริษัทในเครือเราเองเรายังมีโอกาสได้ร่วมงานกับอีกหลาย ๆ บริษัท พูดง่ายๆว่า ติดต่อมาให้ช่วยจัดหาดรีมทีมที่จะทำงานให้ลูกค้า เราก็สามารถเป็นต้นทางในการจัดทีมได้ หรือจบที่เราได้ ตอนนี้เรามีงานกระจายออกไปมากกว่า 20 ประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ทวีปเอเชีย และกลุ่มลูกค้าก็ค่อนข้างหลากหลายกลุ่มและหลากหลายสเกล ตั้งแต่สนามบินที่เป็นงานสเกลใหญ่ไปจนถึงบ้านที่เป็นงานสเกลเล็ก”

“ที่จริงเราไม่เคยเกี่ยงในการรับงาน ไม่ว่าสเกลเล็กหรือสเกลใหญ่ เราทำได้หมด เพียงแต่ว่าบางขณะพอเป็นงานที่มีสเกลใหญ่มาก ๆ เราต้องใช้เวลากับมันเยอะเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ช่วงของเวลาด้วย ที่ผ่านมาเราก็มีงานค่อนข้างมากในหลากหลายส่วนและก็หลายสเกล เช่นบ้านขนาดเล็กสุดที่ Design103 เริ่มออกแบบจะอยู่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร หรือไม่ถ้าเป็นแมส เช่น กลุ่มของหมู่บ้าน ก็ต้องมีจำนวนหรือปริมาณ 300-400 หลัง แล้วแต่ลูกค้าที่ใช้บริการเรา”

“อย่างไรก็ตามไม่ว่างานสเกลไหน ทุกชิ้นมันใช้เวลาและพลังงานพอๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือออฟฟิศขนาดใหญ่ ถ้าเป็นงานในสเกลบ้าน มันจะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ หรือว่ามีความต้องการจากเจ้าของเยอะถึงแม้ว่าจะใช้เวลาเท่า ๆ กันกับการออกแบบออฟฟิศ แต่เราต้องใส่ Input เข้าไปเยอะ การที่เราใช้เวลาตรงนี้ บางทีมันอาจจะมากไปกว่าที่เราประเมินไว้ มันก็จะกลับมาที่ต้นทุนในการทำงานที่ต้องควบคุมให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ๆ ต่างจากงานสเกลใหญ่”

“แต่ทั้งนี้มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะพุ่งไปที่งานสเกลใหญ่ทั้งหมด บางอย่างเราก็ต้องการงานที่มีคุณภาพ ให้เวลากับบมัน และก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ถ้าช่วงเวลาที่งานเข้ามาเรามีงานอยู่ในมือมากแล้ว ช่วงนั้นอาจจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไปว่าเราจะสามารถรับงานได้หรือไม่ หรือได้มากน้อยขนาดไหน”

“เด็กรุ่นใหม่ต้องกล้าคิด กล้าทำ เพื่อเรียนรู้จากความผิดพลาดให้มากที่สุด”

 

BHIRAJ TOWER & BITEC EXPANSION
BHIRAJ TOWER & BITEC EXPANSION | ภาพ: https://www.d103group.com/bhiraj-tower-bitec-expansion-2/

4

วิสัยทัศน์และการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

“สิ่งที่เราปรับตัว คือเราไม่จำเป็นต้องทำแต่งานออกแบบอย่างเดียว เพราะสิ่งที่ผมมองจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมพบว่าการที่จะเป็นสถาปนิกมันไม่ได้เป็นแค่ดีไซเนอร์ มันเป็นอะไรได้มากกว่านั้น ผมสรุปจากคนที่เราทำงานด้วยกัน หรือกระทั่งตัวเอง มันจะมีอยู่ประมาณ 3 คาแรกเตอร์ หรือบทบาทที่เราเห็นกันใหญ่ ๆ คือ บทบาทที่ 1 คือคนที่ชอบออกแบบ ชอบคิด ซึ่งจะตรงกับ Core business เรื่อง Inspiration”

“บทบาทที่ 2 มันจะมีคนอยู่บางกลุ่มที่งานออกแบบก็ชอบนะ แต่ชอบที่จะ Collaborate กับคนอื่น หรือชอบเก็บข้อมูล เราเรียกว่าเป็น Coordinator ซึ่งพอทำไปสักระยะเขาจะผันตัวเองเป็น Project Manager หมายความว่าคนๆนี้เขาจะมีความรอบรู้ในเรื่องวิชาชีพที่ไม่ใช่แค่สถาปนิก เขาจะรู้ว่าวิศวกรโครงสร้างคิดอะไร วิศวกรงานระบบคิดอะไร ภูมิสถาปนิกคิดอะไร มัณฑนากรคิดอะไร จะมีความสามารถในการเรียบเรียงความคิดของคนเหล่านั้น แล้วเอามาผสานให้หน้างานมันดีขึ้น”

“บทบาทที่ 3 จะเป็นคนประเภทไม่ค่อยอยากเจอลูกค้า ไม่ค่อยอยากเจอใคร ชอบที่จะผลิตแบบ เขียนแบบซึ่งตอนนี้เรามีเทคโนโลยีมากมายที่เราใช้ซึ่งเราเรียกส่วนนี้ว่าเป็น Innovation เอามาใช้กับการผลิตงานให้มีคุณภาพงานที่ดีขึ้น เร็วขึ้น Innovation ในมุมของผมมองว่ามันต้องเป็นอะไรที่ใหม่ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ นั่นคือการทำงานให้มันเร็วขึ้นผ่านโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่ง ผมมองว่าสถาปนิกเป็นได้ทั้ง 3 แบบ นั่นหมายความว่าตอนนี้งานที่ผมรับหรือที่บริษัทเรารับ ไม่จำเป็นต้องเป็นงานออกแบบอย่างเดียว”

“งานช่วงหลังนี้ลูกค้าหลายรายเขามีสถาปนิกที่จ้างมาเป็น Consultant พิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีทั้งต่างชาติ หรือเป็น Specialist ด้านต่าง ๆ แต่ประเด็นคือการที่จะทำสิ่งที่เขาคิดให้มันเป็นจริงได้เหมาะสำหรับลักษณะงานก่อสร้างของบ้านเรามันก็ต้องมีคนที่แปลสัญญาณนั้นให้ลูกค้าเข้าใจได้ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ยังไม่ค่อยมีคนทำได้มากนักในบ้านเรา จุดนี้ทำให้เราสามารถเข้าไปเติมเต็ม หรือพูดง่ายๆว่าเราไปช่วยแก้ปัญหาให้เขาในส่วนที่ขาดรับทำการ Integration ประสานข้อมูลทั้งหมดมา แล้วก็ผลิตแบบให้”

“มีลูกค้าหลายรายที่อยากได้แบบที่มันมีการเขียนเป็นระบบสามมิติ (BIM) เพื่อที่จะสามารถเอาไปต่อยอดได้ในอนาคต ข้อดีของมันคือแบบมันมั่วไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันจะมีความละเอียดมีความชัดเจน ซึ่งในบ้านเรายังขาดคนที่ทำเรื่องเทคโนโลยีเก่ง ๆ ในเรื่องนี้ เราก็พยายามเติมตรงนี้ให้กับพนักงานของเรา (up skill )ถ้าวันหนึ่งพวกเราสามารถทำ BIM (Building Information Modeling)ได้หมด เราอาจจสร้าง Business ใหม่เลยก็ได้ เราอาจจะเป็นแพลตฟอร์มให้กับทุกบริษัท เพราะตอนนี้การทำ Business online มันมาแรงมาก แล้วมันจะเข้ามาใน Business ของเราได้อย่างไร อันนี้มันก็เป็นแค่ไอเดียหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงผลิตคนขึ้นมาก่อน”

 

นพดล ตันพิวัฒน์

 

“ณ จุดหนึ่งที่ผมเคยบอกน้อง ๆ ทีมงานว่า ต่อไปนี้หลายอย่างมันจะเปลี่ยนไป ดังนั้น Performance is a Core หมายความว่า ไม่ว่าคุณอายุน้อยหรืออายุมาก ถ้าคุณมีความพร้อมในเรื่องพวกนี้ คุณสามารถขึ้นมาอยู่ในระดับซีเนียร์ได้เลย เราไม่ได้มองแค่ว่าคนนี้อายุมากกว่าแล้วต้องอยู่ในระดับที่สูงกว่าไม่ใช่ ถ้าคนใหม่มีความพร้อมและมีความผลักดันตนเอง เราจะเปิดโอกาสให้”

“การทำงาน 30 ปีก่อนกับปัจจุบันโลกในวันนั้นกับโลกในวันนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิงในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร เมื่อ 30 ที่แล้วเราไม่สามารถค้นหาข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งได้เหมือนกับในวันนี้ที่ดูได้จากในโทรศัพท์ เด็กสมัยนี้มีความคล่องในเรื่องเหล่านี้มาก สงสัยอะไรค้นหาเลย รู้เลย โดยเฉพาะตอนนี้เรามีหน่วยหนึ่งที่ทำ Design Intelligence ซึ่งใช้สำหรับหาข้อมูล วิเคราะห์ และนำมาประกอบในงานออกแบบ หรือจัดทำแบบ หน่วยงานนี้เหล่าน้อง ๆ เร็วมาก แต่ละงานที่นำมาใช้ประกอบการนำเสนอลูกค้าค่อนข้างออกมาดี ต่างจากสมัยก่อนที่ต้องเป็นคนที่อึดมาก ๆ ถ้าเราอยากรู้ว่าผลงานที่เราจะสร้างต้องสร้างอย่างไร ทำได้จริงไหม ผมจะจินตนาการว่าตนเองเป็นผู้รับเหมาแล้วจะต้องสร้างมันอย่างไร นั่นหมายความว่าตอนเราเขียนแบบผนัง ผมต้องสอนน้องด้วยว่าอย่าเขียนเป็นเส้นเดียวนะ การที่เราเขียนอิฐ เราต้องเขียนต่อว่าต้องฉาบไหม แล้วต้องคิดต่อว่าถ้าฉาบต้องฉาบกี่เซ็น เพราะฉะนั้นเราจะเริ่มมองจากสิ่งที่เป็นองค์ประกอบเล็ก ๆ ถ้าใครก็ตามที่เข้าใจเรื่องดีเทลในระดับหนึ่งแล้ว ความผิดพลาดในการก่อสร้างจะน้อยลง สวยหรือไม่สวยนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

 

https://www.baanlaesuan.com/219092/design/design-update/people/design-103-international-limited 

Did you know?

บริษัท ดีไซน์ 103 จำกัด หรือ Design 103 Limited (เดิม) ก่อตั้งขึ้นโดย คุณชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว ในปี พ.ศ. 2511 เป็นบริษัทที่ปรึกษาอิสระด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม วางแผน และออกแบบสถาปัตยกรรมภายในระดับมืออาชีพ ในปี พ.ศ. 2541 Design 103 ได้ร่วมงานกับ De Weger of Rotterdam จากประเทศเนเธอร์แลนด์ (ปัจจุบันคือ Royal Haskoning) และ Chuchawal-de Weger International Ltd. of Bangkok (ปัจจุบันคือ Chuchawal-Royal Haskoning Ltd. ) ก่อนเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Design 103 International Ltd. มาจนถึงปัจจุบัน

 

เรื่อง: นวภัทร
ภาพ: นันทิยา
ภาพถ่ายผลงานในความอนุเคราะห์จาก D103i