ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ทบทวนทางเลียบฯ – ทำความเข้าใจ “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” กับแบบ “ทางเดินริมน้ำ” อื่นๆ ทั่วโลก

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

หากใครยังจำได้ “ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ” หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อโครงการ “ ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ” นั้นได้เงียบหายไปจากความสนใจของสังคมพักใหญ่ แต่ก็เหมือนกับแม่น้ำสายใหญ่ที่ไม่เคยหยุดไหลหล่อเลี้ยงมหานคร ข่าวเรื่องการก่อสร้างทางเลียบฯ นั้นเพิ่งเวียนกลับมาในกระแสอีกระลอก เมื่อสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครเปิดเผยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่าสภากรุงเทพมหานครมีมติอนุมัติโครงการพร้อมด้วยแบบพร้อมประมูลแล้ว เหลือเพียงรอให้คณะรัฐมนตรีเซ็นอนุมัติเพื่อจัดหาผู้ก่อสร้างเท่านั้น

จึงมีเสียงคัดค้านสวนขึ้น เมื่อสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดยนายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ออกหนังสือแถลงการณ์คัดค้านโครงการทางเลียบฯ พร้อมกับความร่วมมือจากองค์กรวิชาชีพฯ และเครือข่ายจำนวน 32 องค์กรเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ด้วยเหตุผลที่ว่า ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา นั้นจะมีผลกระทบมากมายทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และผังเมือง

เราจึงน่าจะกลับมาทบทวนความทรงจำกันอีกครั้ง ว่าโครงการที่ว่านี้นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไรในปัจจุบันและแตกต่างอย่างไรบ้างไหมกับโครงการริมน้ำในที่อื่นๆ ทั่วโลก

 

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ทางเลียบฯ แค่ 1 ใน 12 แผน

“โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” หรือชื่อเล่นที่คนรู้จักว่าโครงการ “ ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ”เป็นโครงการที่ริเริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2558 โดยแรกเริ่มนั้นถูกระบุว่าจะถูกสร้างให้เป็นทางเลียบแม่น้ำสำหรับรองรับจักรยาน (Bike Lane) รวมถึงพื้นที่ชมทัศนียภาพริมแม่น้ำ การพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย และการจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการ

แต่เมื่อผ่านการดำเนินการ ทางเลียบฯ นั้นได้เป็น 1 ใน 12 แผนงานใหญ่ของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาภายใต้ชื่อ “Chaophraya for All” อันได้แก่

  1. ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา
  2. ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน
  3. พัฒนาท่าเรือ
  4. พัฒนาศาลาท่าน้ำ
  5. พัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ
  6. พัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่
  7. ปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์
  8. พัฒนาพื้นที่ชุมชน
  9. อนุรักษ์พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน
  10. พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ
  11. พัฒนาจุดหมายตา (แลนด์มาร์ก) ริมแม่น้ำ
  12. พัฒนาสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งโครงการกินพื้นที่ริมแม่น้ำ 2 ฝั่ง ความยาวรวมทั้ง 2 ฝั่ง 57 กิโลเมตร เริ่มที่สะพานพระราม 7 ไปจนถึงสุดเขตทิศใต้ของกรุงเทพฯ

โดยมีจุดประสงค์หลักโดยรวมคือ การสร้างพื้นที่สาธารณะที่กรุงเทพฯ ขาด เพื่อการเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาที่เท่าเทียมกันสำหรับคนทุกคน รวมถึงเป็นการแก้ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ริมน้ำ ที่สำรวจแล้วระบุว่ามากถึงราว 138 ไร่ นอกจากนั้นก็เพื่อการเชื่อมต่อการคมนาคมให้ครบทุกด้านทั้งรถ ราง เรือ คนเดิน และจักรยาน และเพื่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมริมสองฝั่งให้สวยงามและเหมาะแก่การเป็นพื้นที่หย่อนใจของผู้คน

 

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่หย่อนใจ 10 เมตรในแม่น้ำ

โดยในระยะแรกสุด โครงการทั้ง 12 ข้อจะเริ่มที่การสร้างทางเลียบแม่น้ำก่อน คือ 1.เริ่มจากช่วงสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทานในฝั่งพระนคร 2.จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัดในฝั่งธนบุรี 3.ช่วงจากกรมชลประทานถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในฝั่งพระนคร และ 4.จากคลองบางพลัด ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในฝั่งธนบุรี

เมื่อ Phase นี้แล้วเสร็จ ทางเลียบฯ จะมีระยะทางรวมฝั่งละราว 7 กิโลเมตร รวม 2 ฝั่งราว 14 กิโลเมตร ใช้งบประมาณราว 8000 ล้านบาท โดยจากแบบที่เผยแพร่นั้น เป็นทางเดินและทางจักรยาน ประกอบไปด้วยสวนและพื้นที่หย่อนใจ บนโครงสร้างคอนกรีตที่ยื่นลงสู่แม่น้ำ ความกว้างฝั่งละ 6 จนถึงไม่เกิน 10 เมตร และมีเสาคอนกรีตคู่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร เป็นโครงสร้างรองรับ ในขณะที่ผิวทางเดิน จะสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2.25 เมตร และจะอยู่ต่ำกว่าสันเขื่อนเฉลี่ย 1.25 เมตร

ซึ่งได้รับการยืนยันว่า แบบดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการไหลของน้ำ จะทนต่อการพังทลายไม่กักเก็บขยะ และจะไม่บดบังทัศนียภาพรอบริมน้ำและโบราณสถานเดิมแต่อย่างใด และทางเส้นนี้ จะเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการพักผ่อนและกิจกรรมริมแม่น้ำ อันจะช่วยช่วยเชื่อมโยงผู้คนและเมืองเข้าด้วยกัน

 

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ทำไมต้องทางเลียบฯ

อย่างไรก็ตามในด้านของผู้คัดค้าน มีข้อกังวลหลายประการจากหลายฝ่าย

ทั้งเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากโครงสร้างนั้นปักลงสู่ผืนแม่น้ำโดยตรงทั้ง 2 ฝั่ง

ผลกระทบด้านการระบายน้ำที่ไม่ชัดเจนว่าโครงสร้างนั้นจะไม่ขัดขวางการระบายน้ำได้จริงหรือไม่

ผลกระทบด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตต่อผู้อยู่อาศัย ที่ไม่แน่ชัดว่าผู้อยู่อาศัยริมน้ำจะได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนมากน้อยเพียงใด

และรวมไปถึงผลกระทบด้านมุมมอง โดยเฉพาะเมื่อทางเลียบฯ ถูกลากผ่านพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สิ่งก่อสร้างใหม่นั้นจะประนีประนอมกับพื้นที่อันเปราะบางเหล่านั้นได้ดีเพียงใด

แต่ที่สำคัญ คือหลายเสียงคัดค้านนั้นต่างตั้งคำถามร่วมกันถึงความเฉพาะเจาะจงของคำตอบ ว่าหากโจทย์คือความต้องการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ การแก้ปัญหาผู้บุกรุกพื้นที่ริมน้ำ หรือการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและขยะจากชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา คำตอบนั้นจำเป็นต้องมีหรือเป็น “ทางเดินริมน้ำ” ตั้งแต่แรกหรือไม่

อีกทั้งยังมีคำถามถึงการไม่ได้แสดงถึงความเชื่อมโยงกับโครงการ หรือแผนแม่บทการพัฒนาใหญ่เท่าที่ควร รวมถึงการตั้งคำถามต่อระยะเวลาในกระบวนการการวิจัยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกระบวนการการมีส่วนร่วมก่อนนำไปสู่การพัฒนาแบบ ว่าทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็วซึ่งอาจไม่ครอบคลุม แต่นอกจากนั้นคือ การขาดการประชาสัมพันธ์แผนแม่บทที่ชัดเจน รวมถึงข้อมูลสำคัญโดยละเอียดให้สาธารณะชนทราบ หรือมากกว่านั้นคือการมีส่วนร่วมตัดสินใจ อันอาจนำไปสู่การขาดความชอบธรรมในการพัฒนาโครงการดังกล่าว

 

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ใครๆ ก็ทำทางเลียบฯ

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งในประเด็นการพัฒนาภูมิทัศน์ให้สวยงาม การสร้างความเชื่อมโยงในด้านการเดินทางและกิจกรรมของคนในเมือง รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องผุ้บุกรุกพื้นที่สาธารณะ

แต่เสียงซึ่งแสดงความกังวลโดยทั่วไป ย่อมเกิดขึ้นจากคลุมเครือจากทั้งข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับ รวมถึงแบบก่อสร้าง ที่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะปรากฏบนแม่น้ำผืนสำคัญนี้อย่างไรบ้างโดยละเอียด

นำมาซึ่งความสงสัยต่อน้ำหนักของเหตุและความจำเป็นในคำตอบเรื่อง “ทางเลียบฯ” ที่จะกระทบไม่เพียงแต่ผู้คนริมน้ำ หรือผู้คนในเมืองกรุงเทพฯ แต่น่ากังวลว่าย่อมส่งผลต่อผู้คนอีกหลายจังหวัดต้นน้ำขึ้นไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางเดินริมน้ำนั้นเป็นงานพัฒนาภูมิทัศน์ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองที่ทำกันโดยปกติในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งพอจะยกตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบ และอาจช่วยเชื่อมโยงภาพให้ตรงกับกรณีของกรุงเทพมหานครได้ ดังต่อไปนี้

 

 

Chaopraya For All

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

กรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องขยะ มลภาวะ การบุกรุกพื้นที่ริมน้ำ และความไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำได้มายาวนาน โครงการ Chaopraya For All หรือ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยภาพรวม หนึ่งในนั้นคือการทาง “ทางเลียบฯ” ริมน้ำให้เป็นพื้นที่พักผ่อน เส้นทางเชื่อมโยงย่าน และเพื่อการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำโดยเท่าเทียมกัน ในขณะที่แบบยังอยู่ในระหว่างพัฒนา และคนยังกังวลถึงความจำเป็นรวมถึงรูปแบบสุดท้ายของทางเลียบฯ ข้อมูลโดยรวมจากสื่อต่างๆ ได้ถูกเปิดเผยให้เราทราบดังนี้

 

เมือง: กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

ขนาดโครงการ / ความยาว : (เฉพาะทางเลียบฯ ช่วงแรก) ยาวฝั่งละประมาณ 7 กิโลเมตร รวม 14 กิโลเมตร กว้างฝั่งละ 6 – 10 เมตร

บริบท  / ที่ตั้งเดิม : อยู่ในแถบเมืองเก่า มีชุมชนตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำ มีธุรกิจเอกชนและคอนโดมิเนียมครอบครองพื้นที่ริมน้ำ พร้อมด้วยวัดและโบราณสถาน

ระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้าง : ช่วงรวม 2 ฝั่ง 7 กิโลเมตรแรก คาดว่าจะใช้เวลา 540 วัน

จุดประสงค์: สร้างพื้นที่ริมน้ำที่เข้าถึงได้โดยเท่าเทียม และแก้ปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะ เปลี่ยนเป็นพื้นที่พักผ่อน สันทนาการ ทั้งเดินและทางปั่นจักรยาน

ภาพจาก : เฟสบุคแฟนเพจ Chao Phraya for All

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

 

 

Changsha Xiang River West Bank Commercial & Tourism Landscape Zone

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

Changsha นับเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจีน และแม่น้ำ Xiang ก็นับเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของเมืองเหมือนกับหลายแม่น้ำในเมืองสำคัญทั่วโลก ในขณะที่นักท่องเที่ยวคุ้นเคยกับสถานที่ท่องเที่ยวคือตัวเมืองเก่า บริเวณที่ตั้งของโครงการนี้ ตั้งอยู่ในอีกเขตที่เป็นดังเขต CBD ของเมือง จุดประสงค์ของโครงการจึงเพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้คนในเมือง เพื่อการพักผ่อน ท่องเที่ยว การกีฬา ในขณะเดียวกันก็เพื่อเพิ่มมูลค่าย่านให้ดูทันสมัย และเป็นสากลมากขึ้น

 

เมือง : Changsha ประเทศจีน

ขนาดโครงการ / ความยาว : ความยาว 2.45 กิโลเมตร

บริบท  / ที่ตั้งเดิม : พื้นที่โล่งริมแม่น้ำ Xiang ใกล้สวนสาธารณะสำคัญและย่านการค้าในเมือง

ระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้าง : 2017 – ปัจจุบัน

จุดประสงค์: เปลี่ยนพื้นที่ร้างเป็นที่พักผ่อนเพื่อการท่องเที่ยว และเพิ่มมูลค่าพื้นที่การค้าในย่านธุรกิจ

ภาพและข้อมูลจาก: http://landezine.com/index.php/2018/09/changsha-xiang-river-west-bank-commercial-tourism-landscape-zone-by-gvl

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

 

 

Chicago Riverwalk Expansion

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

แม่น้ำ  Chicago เคยเป็นทางน้ำรองรับโรงงานอุตสาหกรรมหนักในเมือง จึงจากที่เคยเต็มไปด้วยมลภาวะ ในช่วงปีหลังเมื่อแม่น้ำได้ถูกบำบัด ได้นำมาซึ่งโครงการการสร้างทางเดินริมน้ำเพื่อเปลี่ยนหน้าที่ของแม่น้ำในเมืองใหม่ ทางเดินนี้เป็นทางที่ยื่นเข้าไปในแม่น้ำเป็นช่วงๆ ต่อเนื่องจากโครงการเดิมที่เสร็จเมื่อปี 2009 จุดประสงค์หลักเพื่อให้คนเดินริมน้ำได้โดยไม่ถูกกีดขวางโดยถนน โดยในระหว่างที่พาดผ่านพื้นที่ทั้งหมด 6 บล็อก แต่ละบล็อกก็จะถูกออกแบบให้มีหน้าที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละจุด เช่น เป็นส่วน Plaza เอื้อเป็นที่นั่งในบริเวณที่มีร้านอาหาร ในบริเวณที่เป็นเวิ้งมีการเปิดให้บริการเช่าเรือคายัค รวมถึงบางช่วงก็เป็นขั้นบันไดให้ชาวเมืองนั่งชมทัศนียภาพริมแม่น้ำได้

 

เมือง : Chicago สหรัฐอเมริกา

ขนาดโครงการ / ความยาว : ยาว 6 บล็อก หรือประมาณ 1.2 กิโลเมตร กว้าง 7.5 เมตร

บริบท  / ที่ตั้งเดิม : สร้างทางเดินยื่นออกจากโครงสร้างเดิมเข้าไปในแม่น้ำ ผ่าในใจกลางตัวเมือง ผ่านย่านการค้าที่พลุกพล่าน

ระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้าง: 2012 – 2016

จุดประสงค์ : เพื่อแทรกพื้นที่โล่งเข้าสู่ใจกลางตัวเมือง แก้ปัญหาทางคนเดินที่ไม่เชื่อมต่อ และเป็นพื้นที่พักผ่อนริมน้ำ

ภาพและข้อมูลจาก: http://landezine.com/index.php/2016/07/chicago-riverwalk-expansion-by-sasaki

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

 

 

Vistula Boulevard

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ทางเดินริมแม่น้ำ Vistula แห่งนี้ ตั้งอยู่ระหว่างส่วนเมืองเก่าแก่และเมืองใหม่ พื้นที่แห่งนี้นอกจากจะตอบเรื่องการท่องเที่ยว ก็ยังเป็นที่ที่ให้คนภายในละแวกใช้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ได้ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของลานยังถูกออกแบบให้สามารถรับน้ำท่วมสูงเพื่อสัมพันธ์กับน้ำขึ้น – น้ำลงที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีผนังและขั้นบันไดลดหลั่นลงไปกั้นคล้ายเขื่อน และยังมีการออกแบบที่นั่ง และโครงสร้างเปล่ารองรับกิจกรรม รวมถึงพื้นที่สีเขียว รวมถึงต้นไม้ กระจายไปทั่วทั้งลาน

 

เมือง: Warsaw โปแลนด์

ขนาดโครงการ / ความยาว : ความยาว  2 กิโลเมตร

บริบท  / ที่ตั้งเดิม : ที่เปิดโล่งริมถนนในเวิ้งหนึ่งริมแม่น้ำ Vistula

ระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้าง: 2013 – 2015 (ระยะที่ 1), 2016-2017 (ระยะที่ 2)

จุดประสงค์: เปลี่ยนพื้นที่ที่เคยถูกทิ้งร้าง เป็นพื้นที่เชื่อมโยงคนในเมืองเข้าหากัน ด้วยพื้นที่พักผ่อนริมน้ำ ทางจักรยาน และลานสันทนาการ

ภาพและข้อมูลจาก: http://landezine.com/index.php/2018/02/vistula-boulevards-by-rs-architektura-krajobrazu

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

เรื่อง: กรกฎา


อ่านต่อ

Sukhothai Creative City of Crafts and Folk Art

ข่าวดี ยูเนสโกประกาศกรุงเทพฯและสุโขทัยเป็นเมืองสร้างสรรค์ในปีนี้

CHIANG MAI DESIGN WEEK 2019 ในคอนเซ็ปต์ BETTER CITY, BETTER LIVING