มารีนา อบราโมวิช ศิลปินในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

มารีนา อบราโมวิช กับ มนตราแห่งศิลปะที่ทำให้ทั้งโลกต้องหยุดมอง

มารีนา อบราโมวิช ศิลปินในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
มารีนา อบราโมวิช ศิลปินในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ปีนี้มีข่าวโด่งดังในวงการศิลปะอีกครั้งเมื่อ มารีนา อับราโมวิช ศิลปินศิลปะการแสดงสดระดับโลก ประกาศกร้าวว่าในปี 2020 เธอจะสร้างงานศิลปะงานแสดงสด ด้วยการช็อตตัวเองด้วยไฟฟ้าหนึ่งล้าน โวลต์ ที่ Royal Academy of Arts สถาบันการศึกษาศิลปะชื่อดัง ใจกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (ภายใต้การควบคุมและรักษาความปลอดภัยของผู้เชี่ยวชาญ) ซึ่งงานแสดงดังกล่าวทำให้ มารีนา เป็นศิลปินร่วมสมัยหญิงคนแรกที่ได้ยึดครองพื้นที่ในส่วน Main Gallery ทั้งหมดของสถาบันเก่าแก่นี้ซึ่งก่อตั้งมาแล้ว 250 ปี

ใครที่ไม่คุ้นกับชื่อของเธอ หรือ เพิ่งทราบข่าวนี้ อาจจะรู้สึกว่า เข้าไม่ถึงงานศิลปะของเธอ หรือ อาจจะตั้งคำถามในใจว่าเบาๆว่าเธอคนนี้ “บ้าหรือเปล่า?” ซึ่งหากเรารับทราบประวัติความเป็นมา และ ผลงานที่ผ่านมาของเธอ เชื่อว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจตัวตนและผลงานของเธอมากยิ่งขึ้น

วันนี้ baanlaesuan.com ขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินระดับโลก ผู้สร้างผลงานที่ทำให้โลกทั้งใบต้องหันมาสนใจ และ สร้างปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์มาแล้วนักต่อนัก และ ที่สำคัญเธอยังเป็น 1 ใน 75 ศิลปินที่จะมาร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ซึ่งจะจัด ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2561 – 3 กุมภาพันธ์ 2562

มารีน่า อบราโมวิช ศิลปินงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

มารีนา อบราโมวิช เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1964 ที่เมือง เบลเกรด ประเทศ ยูโกสวาเวีย (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐเซอร์เบีย ) เธอเติบโตมาในยุคเผด็จการคอมมิวนิสต์ ยอซีป บรอซ (จอมพล ติโต) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้บรรยากาศที่ประชาชนอดอยากและสิ้นหวัง ผู้คนจำนวนมากอยู่รวมกันอย่างแออัดในห้องเล็กๆ เล็กมากถึงขนาดว่าวัยรุ่น หรือ คู่แต่งงานใหม่ ต้องนัดกันออกไปตามสวนสาธารณะ หรือ โรงภาพยนตร์ เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กันฉันท์หนุ่มสาว

แต่ด้วยที่พ่อของมารีนาเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยอารักขาระดับสูงของ จอมพล ติโต ทำให้ครอบครัวของเธออยู่อย่างสุขสบาย และ แม่ของเธอได้ทำงานเป็นผู้อำนวยการอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ และ การปฏิวัติ มีหน้าดูแลอาคารประวัติศาสตร์ และ จัดหางานศิลปะเพื่อแสดงในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเหตุนี้เองที่ทำให้ผนังบ้านของเธอมีรูปวาดสวยๆจากศิลปินท้องถิ่นมากมาย ที่วาดในสไตล์ ของ ปีแยร์ บอนาร์ และ ปอล เซซาน

ชีวิตของเธอดูเหมือนจะสุขสบาย แต่แท้จริงแล้ว มารีนาไม่ได้มีความสุขในวัยเด็กสักเท่าไหร่นัก บ้านของเธอเป็นสถานที่ที่ทำให้เธอรู้สึกแย่ ความสัมพันธ์ของพ่อแม่เธอมีปัญหาอย่างหนัก มารีนา มักถูกแม่ และ น้องสาวของแม่ ทุบตี จนช้ำ และ บางครั้งก็ขังเธอไว้ในตู้เสื้อผ้า จนทำให้เธอเป็นโรคกลัวความมืดไปพักใหญ่

มารีนา ใช้ชีวิตที่ถูกปกครองแบบทหาร โดยมีแม่ของเธอเป็นผู้บังคับบัญชาตลอดมาจนถึงอายุ 30 ในช่วงนั้นเธอเพิ่งจบปริญญาโทที่ Academy of Fine Arts ที่กรุงซาเกร็บ เมืองหลวงของโครเอเชีย และ ต่อมาเธอได้เดินทางไปสอนวิชา วิจิตรศิลป์ ตามโรงเรียนต่างๆในยุโรป พร้อมกับ เริ่มสร้างผลงานศิลปะการแสดงสด โดยในตอนนั้นชื่อเสียงของเธอยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของสาธารณชนสักเท่าใดนัก

หนังสือหายาก 100 Pisasa / 100 Letters: 1965-1979 ที่รวมรวบข้อความในจดหมายของ มารีนา อบราโมวิช
หนังสือหายาก 100 Pisasa / 100 Letters: 1965-1979 ที่รวมรวบข้อความในจดหมายของ มารีนา อบราโมวิช สมัยยังอยู่ที่เบลเกรด หนังสือเล่มนี้ถูกนำมาจัดแสดงในงาน Art Book Fair 2018 ที่ผ่านมา ณ Bangkok CityCity Gallery กรุงเทพ ประเทศไทย

จนกระทั้งปี 1974 มารีนา ได้แจ้งเกิดในวงการศิลปะ กับ ผลงานศิลปะการแสดงสด Rhythm 0  ณ Studio Morra ที่เมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี งานแสดงนี้ขนาดนิตยสารสุดฮิปอย่าง Complex ของอเมริกา ยังยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะแสดงสดที่ดีที่สุดตลอดกาล โดยมารีนาได้เขียนคำอธิบายงานแสดงนี้ให้กับผู้ชม 5 บรรทัดว่า

“มีวัตถุ 72 ชิ้นอยู่บนโต๊ะ ซึ่งจะมาใช้อย่างไรกับฉันก็ได้อย่างที่คุณต้องการ
การแสดงสด
ฉันคือสิ่งของ
ระหว่างการแสดงฉันจะรับผิดชอบทุกอย่างเต็มที่
ในระยะเวลา 6 ชั่วโมง (20.00 – 02.00)”

จากสิ่งที่เธออธิบายผู้มาร่วมงานแสดงนี้ สามารถใช้วัตถุบนโต๊ะทำอะไรกับตัวเธอที่ยืนนิ่งๆอยู่ 6 ชั่วโมงก็ได้ทั้งนั้น ซึ่งตัวอย่างของบนโต๊ะได้แก่ ขนมปัง, ดอกกุหลาบ, น้ำผึ้ง, ตะปู, มีดผ่าตัด, กรรไกร และ ปืนพกที่มีกระสุนพร้อมลั่นไกอยู่หนึ่งนัด ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อการแสดงเริ่มต้นขึ้นทุกอย่างเป็นไปอย่างสบายๆและติดตลก เริ่มจากมีคนเอาดอกไม้มาให้เธอถือ หอมแก้ม และ ค่อยๆ ยกระดับไปจนถึงการเอาวัตถุมีคมเฉือนตามร่างกาย และ ยกปืนขึ้นมาเล็งไปที่เธอ ในการแสดงงานครั้งนี้ ทั้งผู้ที่มาชมและตัวศิลปินผู้แสดงงานเอง ต่างต้องตกตะลึงกับพฤติกรรมด้านมืดที่ไร้ขีดจำกัดของมนุษย์(บางคน)

มารีนาได้พูดถึงการแสดงครั้งนั้นว่า “เธอสนใจว่ามนุษย์สามารถผลักดันขีดจำกัดของร่างกายไปได้มากแค่ไหน ซึ่งเธอเห็นแล้วว่าขีดจำกัดที่แท้จริงของร่างกายมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่ร่างกายแต่อยู่ที่จิตใจ” หากท่านใดอยากเห็นภาพของงานแสดงนี้เพิ่มเติม เชิญไปชมได้ที่ช่อง YouTube ของ สถาบันศิลปะ Marina Abramović Institute (MAI) (คำเตือน วิดิโอดังกล่าว ไม่เหมาะกับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18  และ อาจมีภาพที่ดูแล้วอาจก่อให้เกิดความไม่สบายใจ)

ในช่วงแรกของการสร้างศิลปะงานแสดงสดของเธอนั้น มารีนามักจะเล่นการปลุกเร้าอารมณ์ผู้ชม และ สื่อสารข้อความที่รุนแรง ผ่านการแสดงของเธอ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะผลผลิตจากความกดดันจากสภาพแวดล้อมที่ต้องเผชิญตั้งแต่เด็ก ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี

มารีน่า อบราโมวิช สร้างผลงาน กับ อูเลย์
ภาพของ มารีน่า กับ อูเลย์ ในผลงาน Relation in Time ที่ทั้งคู่จะมัดผมติดกันแล้วใช้ชีวิตอยู่ในสภาพอย่างที่เห็น 16 ชั่วโมง (เครดิตภาพ © Marina Abramovic and Ulay Courtesy Marina Abramovic and Sean Kelly Gallery New York)

หลังจากที่ได้สร้างผลงานเลื่องชื่อ Rhythm 0 สองปีต่อมา เธอได้ย้ายไปอยู่เมืองอัมเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ณ ที่แห่งนี้เอง เธอได้พบรัก กับ Frank Uwe Laysiepen หรือ Ulay (อูเลย์)  ศิลปินศิลปะการแสดงสดชาวเยอรมัน ที่มีอิทธิพลกับชีวิต และ ผลงานของเธออย่างมาก หากจะกล่าวว่าเป็นภาษาศิลปินต้องบอกว่า ทั้งสองมีความผูกพันธ์กันทางจิตวิญญาณเชิงนามธรรมที่ลึกซึ้ง โดย อูเลย์ สนใจในเรื่องการค้นหาขีดจำกัด และ สัญชาตญาณเบื้องลึกของมนุษย์เช่นเดียวกับมารีนา เมื่อทั้งสองได้พบกัน มหากาพย์แห่งการสร้างผลงานคู่ จึงได้อุบัติขึ้น…ชนิดที่ว่าข้ามทศวรรษกันเลยทีเดียว

มารีนา อบราโมวิช สร้างผลงาน กับ อูเลย์
มารีนา กับ อูเลย์ ยืนหันเข้าหากัน และ ทิ้งน้ำหนักไปคนละทางในผลงาน Rest Energy (เครดิตภาพ Courtesy of the Marina Abramović Archives)

ผลงานคู่ที่โด่งดังที่สุดนั้นเห็นจะไม่พ้นผลงาน Rest Energy ผลงานการแสดงสดที่ใช้เวลาเพียง 4 นาที ที่เมืองดับลิน ในปี1980 โดยผลงานชิ้นนี้ สะท้อนให้เห็นเส้นบางๆระหว่าง ความเป็น กับ ความตายรวมถึง ความไว้วางใจในความสัมพันธ์ระหว่างกันของทั้งคู่ โดยภาย 4 นาทีกว่าๆนี้ อูเลย์จะยืนทิ้งน้ำหนักเพื่อง้างธนูที่ปลายข้างหนึ่งซึ่งจ่อห่างจากหัวใจของมารีนาแค่หนึ่งคืบ โดยจะมีไมค์โครโฟนขยายเสียงติดอยู่บริเวณหน้าอกของมารีนา เพื่อให้ได้ยินเสียงหัวใจเต้นของเธอที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 4 นาที

นอกจากนี้ผลงาน Rest Energy แล้วทั้งคู่ยังได้สร้างผลงานร่วมกันมากมาย อาทิ ผลงาน AAA-AAA ที่ทั้งคู่ประจันหน้าตะโกนใส่กัน หรือ Relation in Time ที่ทั้งคู่นั่งเอาหลังชนกันแล้วมัดปลายผมเข้าด้วยกันโดยอยู่ในสภาพนั้นทั้งหมด 16 ชั่วโมง

แม้ว่าจะมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนทุกอย่างจะไปได้ดีแต่ทว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองนั้นไม่ค่อยราบรื่นนัก ทั้งคู่เกิดปากเสียงทะเลาะกันอยู่หลายครั้ง

จนกระทั่งปี 1988 ทั้งคู่ได้ร่วมกันสร้างงานศิลปะ “The Lovers: the Great Wall Walk” ซึ่งต่างคนต่างเดินมาจากคนละฟากของกำแพงเมืองจีน จะเดินจากปลายกำแพงฝั่งทะเลเหลือง และ อูเลย์เดินจากปลายกำแพงฝั่งทะเลทรายโกบี (รวมระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตร) แล้วมาบรรจบพบกันตรงกลางเพื่อกล่าวคำร่ำลาและจบความสัมพันธ์กัน

มารีนา อบราโมวิช ผลงานที่กำแพงเมืองจีน เพื่อคนรัก
มารีนาขณะกำลังสร้างงาน The Lovers: the Great Wall Walk (เครดิตภาพ Marina Abramovic and Ulay Courtesy Marina Abramovic and Sean Kelly Gallery New York)

จะเห็นได้ว่าการสร้างงานแสดงของเธอตั้งแต่ต้นจนถึงวันที่เลิกรากับอูเลย์นั้น งานของมารีนาส่วนใหญ่แล้ว สะท้อนถึงขีดจำกัดของ ความเหนื่อยล้า ความเจ็บปวด และ ความทุกข์ทรมานในชีวิตมนุษย์ จนมีคำพูดติดปากที่สื่อต่างๆมอบให้เธอคือเจ้าแม่แห่ง ศิลปะแห่งความอดทน (Endurance Art)

แต่อย่างไรตามหลังจากการผลงานที่ The Lovers: the Great Wall Walk กำแพงเมืองจีน ชื่อของมารีนาดูเหมือนจะค่อยๆเลือนหายไปจากวงการศิลปะพักใหญ่ และ กลับมาสร้างปรากฏการณ์ให้เป็นที่กล่าวขวัญในโลกออนไลน์ และ ออฟไลน์ อีกครั้งด้วยผลงาน The Artist is Present ในปี 2010  ณ Museum of Modern Art , New York City ที่เธอได้นั่งนิ่งเงียบอยู่บนเก้าอี้ตลอดการจัดงานแสดงสามเดือน รวมเวลาแล้ว 736 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งมีผู้ชมงานนับพันมาต่อคิวเพื่อรอ ที่จะมานั่งประสานสายตากับเธออย่างเงียบๆเป็นเวลา ห้า นาที โดยผลงานชิ้นนี้มารีนา อยากให้ผู้คนได้ฉุกคิดเกี่ยวกับการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้สังคมเกิดระยะห่าง การที่มีคนจำนวนมากมาต่อคิวเพื่อที่จะมานั่งสัมผัสมือและจ้องตากับเธอนั้น มารีนาบอกว่าเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่ามนุษย์เราต้องการมีปฏิสัมพันธ์ติดต่อสื่อสารกันตัวต่อตัวมากแค่ไหน

มารีน่า อบราโมวิช กับผลงาน Artist is Present
มารีนาขณะกำลังแสดงงาน Artist is Present (เครดิตภาพ Marina Abramovic´: The Artist Is Present Photo by Marco Anelli. © 2010 Marco Anelli)

ผลงาน The Artist is Present ยิ่งโด่งดังมากขึ้นไปอีกเมื่อ อูเลย์ คนรักเก่าของเธอได้ปรากฏตัวมาเป็นหนึ่งในผู้ชมงาน ทั้งคู่นั่งจ้องตากันอีกครั้งหลังจากที่เลิกรากันไป มารีนาในชุดเดรสยาวสีแดงหลั่งน้ำตาก่อนที่จะเผยรอยยิ้มและยื่นมือไปสัมผัสคนรักเก่าอีกครั้ง

“ในโรงละคร มีดไม่ใช่ของจริง เลือดไม่ใช่ของจริง และ อารมณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ของจริง แต่ศิลปะการแสดงสดนั้นตรงกันข้าม มีดเป็นของจริง เลือดเป็นของจริง และ อารมณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นของจริง”

มารีนา อบราโมวิช

จริงๆแล้วในช่วงรอยต่อระหว่างหลังจากที่เธอเลิกรากับอูเลย์ไปแล้วที่กำแพงเมืองจีน (1988) ถึงการแสดงงาน The Artist is Present (2010) เธอไม่ได้หยุดทำงานหรือหายไปไหน แต่เธอได้พบวิธีการทำแบบใหม่ ในชุดผลงาน Transitory Objects for Human Use ซึ่งส่งอิทธิพลต่อการงานสร้างสรรค์ของเธอมาจนถึงปัจจุบัน โดยเธอได้กล่าวศิลปกรรมประกาศเกี่ยวกับผลงานชุดนี้ไว้หลายครั้งโดยมีใจความสรุปว่า หลังจากที่งานแสดงที่กำแพงเมืองจีนกับอูเลย์ เธอรู้สึกว่างานของเธอหลายครั้งไม่เปิดโอกาสให้ผู้ชมงานเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และเพื่อการนี้เธอจึงสร้างสิ่งของต่างๆ ที่มีรูปทรงง่ายๆ มาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารความคิดต่างๆระหว่างกัน โดยผู้ชมจะสามารถมานั่ง มานอน มายืน กับงานของเธอได้ ซึ่งวัสดุที่เธอนำมาสร้างสิ่งของต่างๆเหล่านี้ ทำจากวัสดุหลากหลาก อาทิ เหล็ก ไม้ ควอตซ์ แอเมทิสต์  และอื่นๆ โดยเธอเชื่อว่า วัสดุเหล่านี้ สามารถเป็นสื่อส่งต่อพลังทางกาย หรือ ทางใจ ถึงระหว่างกันได้

จากคำประกาศข้างต้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือหลังจากผลงานที่กำแพงเมื่อจีนแล้ว มารีนา เริ่มเบนความสนใจจากการสร้างงานที่สะท้อนถึง ความวุ่นวายในจิตใจ และ ความเจ็บปวดทรมานทางกาย เข้าสู่เส้นทางแห่งความ สงบสุข เงียบสงบ และ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์

สำหรับงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ที่กำลังจะมาถึง มารีนา ให้ทุกท่านได้ลองสื่อสาร และ ส่งพลังระหว่างกันแบบไร้เสียงกับผลงาน “Standing Structures” ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดผลงาน Transitory Objects for Human Use โดยผลงานนี้มีลักษณะเป็นโครงไม้ที่คนขึ้นไปยืนได้ โดยแต่ละโครงจะมีคริสตัล ที่มารีนาเดินทางไปเลือกแต่ละชิ้นด้วยตัวเองที่เหมืองแร่ในประเทศบราซิล โดยเธอกล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ตอนที่นำไปแสดงในงาน เวนิส เบียนนาเล่ 2017 ปีที่แล้ว ว่า

“ปกติแล้วฉันจะสร้างงานศิลปะแสดงสดเอง และสื่อพลังภายในออกไปสู่ผู้ชม ในผลงานนี้ ฉันอยากจะสร้างเครื่องมือขึ้นมาสักชิ้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำหรับคนมาชมงาน ให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมสร้าง พลังภายในแห่ง ศิลปะการแสดงสดได้ในแบบฉบับของตัวเอง”

ผลงาน Standing Structure ของมารีนา อบราโมวิช ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงาน Standing Structure ของมารีนา อบราโมวิช ในจะมานำแสดงในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ซึ่งทุกท่านสามารถไปร่วมสัมผัสได้ที่ โครงการ วัน แบงค็อก

เราไม่อยากให้ทุกท่านพลาดโอกาสที่จะไปสัมผัสกับงานระดับโลกเช่นนี้จริงๆ  เพราะไม่บ่อยนักที่ศิลปินระดับโลกจะมาเคาะประตูถึงหน้าบ้าน ไม่ต้องบินไปไกลถึงต่างประเทศ สำหรับใครที่สนใจอยากจะไปยืนกับ Standing Structures ของมารีนา สามารถไปได้ที่ โครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งอนาคต วัน แบงค็อก ตลอดระยะเวลาการจัดงาน (ย้ำกันอีกครั้ง 19 ตุลาคม 2561 – 3 กุมภาพันธ์ 2562) นอกจากนี้มารีนา ยังจะนำ ทีมงานจากสถาบันศิลปะ Marina Abramović Institute (MAI) มาจัดกิจกรรมแบบอาร์ตๆที่ชื่อว่า “Method” เพื่อให้ชาวไทยได้มาร่วมค้นหาความสัมพันธ์ระหว่าง พื้นที่ กับ เวลา และ ความสงบสุข ณ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (กิจกรรม “Method” จะจัดแค่ 1 เดือน ระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2561 เท่านั้น)

กิจกรรม“Method” จากสถาบันศิลปะ Marina Abramović Institute (MAI) ใน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
กิจกรรม“Method” จากสถาบันศิลปะ Marina Abramović Institute (MAI) ที่จะมาจัดในเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

หากยังไม่จุใจ เคลียร์วันว่างไว้ให้ดี เพราะ มารีนา อบราโมวิช ตัวจริงเสียงจริง จะเดินทางมาบรรยาย ในวันที่ 23 ตุลาคม 2561 เวลา 18.30-20.00 ณ สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์ เธียเตอร์ สยามพารากอน ซึ่งท่านสามารถซื้อบัตรได้ที่ ThaiTicket Major ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม เป็นต้นไป

ตัวอย่างรางวัลที่ มารีนา อบราโมวิช ได้รับ

  • รางวัล Golden Lion ในงานเวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 47 ปี 1997
  • New York Dance and Performance Awards (หรือรางวัล The Bessies) ในปี  2002
  • Best Show in a Commercial Gallery Award จาก International Association of Art Critics ในปี 2003
  • เหรียญเกียรติยศสาขาวิทยาศาสตร์และศิลปะ จากรัฐบาล สาธารณรัฐออสเตรีย ในปี 2008

 

เรื่อง สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

ภาพ(100 Pisama / 100 Letters: 1965-1979)  สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

เครดิตภาพ: photos courtesy to the artist and Marina Abramović Institute (MAI)


ศิลปะกระหึ่มกรุง! แถลงข่าวเปิดงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 อย่างเป็นทางการ

เรากำลังใช้ชีวิต หรือ กำลังแสดง? งานเสวนาเต็มรูปครั้งแรกในประเทศไทยของ มารีนา อบราโมวิช

ภาพเล่าเรื่องใน Bangkok Art Biennale 2018 (Photo Essay)


เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x