ถ้าย้อนภาพกลับไปตอนที่ยังไม่ได้ปรับปรุง เรียกว่าหักมุมสุดๆ เพราะทั้งคู่เนรมิตพื้นที่แต่ละส่วนซะไม่เหลือเค้าเดิม อาทิ โรงจอดรถช่วงสั้นต้องจำทนจอดแนวเฉียง ทั้งคู่แก้โดยรื้อบันไดหน้าบ้านขั้นสุดท้ายทิ้งเพื่อเพิ่มเนื้อที่ให้สามารถจอดได้ปกติ ส่วนด้านล่างเดิมทีแบ่งเป็นห้องนั่งเล่น ช่องแสง และห้องครัว ซึ่งถูกกั้นเขตด้วยกำแพงทึบตัน เจ้าของบ้านได้ทำการทลายและเปิดพื้นที่ให้เชื่อมถึงกัน พร้อมกับขยายช่องแสงและปลูกต้นไม้ทำเป็นเสมือนมีคอร์ตยาร์ดอยู่ตรงกลาง (กรุด้วยกระจกใสรอบด้าน) เพื่อให้แสงและลมลอดผ่านกระจายความสว่างและระบายอากาศให้กับพื้นที่ได้อย่างแยบยล หรือบริเวณหัวบันไดชั้น 3 ที่เคยมีเนื้อที่กุดสั้น (ใกล้กันเป็นระเบียง) เขาได้ทำการขยายพื้นที่ใหม่ให้เกิดประโยชน์ โดยทำเป็นห้องพระที่ยกสเต็ปแบ่งสเปซเป็นสัดส่วนสวยงาม
รวมถึงห้องนอนหลักมีการดีไซน์ระแนงไม้ติดล้อ (Facade) ตรงระเบียงให้สามารถเลื่อนปิดบังแดดและพรางความเป็นส่วนตัวไปพร้อมๆ กัน แถมทั้งคู่ยังเผยไต๋ว่าระแนงไม้นี้ไว้เลื่อนเปิดเพื่อยืมความเขียวขจีของต้นไม้ใหญ่บ้านตรงข้ามมาสร้างความร่มรื่นในบ้านตัวเองได้อีกด้วย
เมื่อถามถึงเรื่องการแบ่งหน้าที่ในการออกแบบตกแต่งภายใน คุณทรายตาลุกวาว “ทรายเป็นคนวางฟังก์ชั่นและการตกแต่งเองค่ะ เรามีการปรึกษากันตลอด ซันเขาต้องการแค่พื้นที่เวิร์คช็อปสำหรับเลี้ยงบอนไซ และพื้นที่ทำงานด้านล่างเท่านั้น ที่เหลือยกให้ทรายจัดการทั้งหมด สำหรับบ้านหลังนี้ ทุกพื้นที่เราตั้งใจออกแบบให้สามารถปรับประยุกต์ใช้เป็นอะไรก็ได้ ไม่อยากจำกัดตายตัว ส่วนเรื่องการการตกแต่งเป็นแบบสไตล์มินิมัลที่อยู่ร่วมกับธรรรมชาติค่ะ เพราะพยายามจะแซมแทรกให้มีต้นไม้ทุกจุด” คุณทรายกล่าว ก่อนฝ่ายชายเสริม “บ้านหลังนี้เปรียบเสมือนกระถางใบโตของพวกเรานั่นล่ะครับ ฟังก์ชั่นต่างๆ ที่คิดขึ้นก็เพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่เจ้าของบ้านต้องการ ไม่ผิดแผกกับการตัดแต่งต้นบอนไซให้เกิดความสวยงามลงตัวเลย และผมคิดว่าบ้านเก่ามือสองเนี่ยก็ไม่ต่างจากการดูแลคนเฒ่าคนแก่เช่นกันครับ เพราะต้องมีการเตรียมการให้ดีไว้ก่อนล่วงหน้า ดังนั้นการออกแบบบ้านประเภทนี้เราจึงต้องคิดเผื่อ ดีไซน์ให้ความสำคัญถึงการซ่อมบำรุงรักษาในอนาคตด้วย”
หลังจากการเดินชมบ้านเสร็จ ทำให้รู้ว่ายังมีรายละเอียดเล็กๆ อีกหลายจุดในบ้านหลังนี้ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งประตูขนาดโอเวอร์ไซส์เพื่อรองรับการขนของขนาดใหญ่เข้ามาในบ้านได้สะดวก การทำบิลท์อินเล็กๆ ใช้เก็บของและซ่อนแผงควบคุมไฟในคราเดียว หรือการทำบันไดตรงระเบียงห้องนอนไว้ปีนขึ้นไปซ่อมหรือตรวจเช็คหลังคาก่อนเข้าช่วงหน้าฝน และที่เด็ดคือลิฟท์ไฟฟ้าที่คุณซัน DIY ขึ้นเอง เพื่อใช้สำหรับขนย้ายต้นไม้ขึ้น-ลง
“บริเวณคอร์ตยาร์ดที่เปิดช่องแสงไว้ แล้วเวลาฝนตกคุณทั้งคู่ทำอย่างไรให้มันไม่เลอะเทอะเหรอครับ?” เรากระแซะถามด้วยความสงสัย “ปล่อยให้มันเป็นไปตามความงามของธรรมชาติเลยครับ” ทั้งคู่ยิ้มพร้อมหัวเราะร่วน
นี่คือคำตอบที่ปลดแอกจากทฤษฎีทั้งปวง ทำให้เรารู้สึกว่าการได้ยินเสียงฝนโปรยกระทบพื้นดังเปาะแปะ เห็นไออากาศจับกลุ่มเกาะกระจกให้ขุ่นมัว หรือน้ำที่กระเซ็นซัดหน้าดินในกระถางให้แปดเปื้อนบริเวณโดยรอบ ทั้งหมดล้วนเกิดเป็นมุมมองที่สวยงามได้ ขึ้นอยู่กับตัวเราจะเลือกมองนั่นเอง
เรื่อง : Doowoper
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
เจ้าของ, ออกแบบ ตกแต่ง : คุณศรัญญู เอื้อวิเศษวัฒนา และคุณนภัทร สำเภาทอง
เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x