เมื่อวันหนึ่ง “ต้นไม้” ต้องกลายมาเป็น “พระเอก” ของ บ้านปูนเปลือย แทนที่จะเป็นตัวประกอบอย่างที่ผ่านมา เรื่องราวสนุก ๆ ของบ้านที่มีชื่อสุดเท่อย่าง “ DIVERGENCE ” จึงเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นจากทั้งสถาปนิกและเจ้าของบ้านที่ต้องการให้บ้านหลังนี้ยูนีก สามารถอยู่ได้จริงในภูมิอากาศเมืองร้อนอย่างบ้านเรา
DIVERGENCE HOUSE ตั้งอยู่ใจกลางเมืองในซอยสุขุมวิท 26 ด้วยพื้นที่กว่า 600 ตารางเมตร แวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่มากมายที่ปลูกอยู่บนพื้นที่เดิม ซึ่งเจ้าของบ้าน คุณเบ๊น-วรัญญู พรหมบันดาลกุล ได้ให้ความสําคัญกับคุณค่าของต้นไม้อย่างมาก จึงตั้งใจเก็บต้นไม้เดิมในบ้านไว้ให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ต้นไม้จึงกลายเป็น “หัวใจ” ของ บ้านปูนเปลือย หลังนี้ไปโดยปริยาย
“ทางคุณเบ๊นให้ความสําคัญกับต้นไม้เป็นอันดับแรก เพราะฉะนั้นการออกแบบของเราจึงเป็นการสอดแทรกตัวบ้านเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมในแบบที่ยังคงรักษาความรู้สึกของความเป็นบ้านพักอาศัยเอาไว้ โดยจัดพื้นท่ีใช้สอยของบ้านในส่วนต่าง ๆ ให้แยกออกจากกัน และจัดให้อยู่ในตําแหน่งระหว่างต้นไม้พอดี โดยคํานึงถึงลําดับความเป็นส่วนตัว การใช้งานท่ีต่อเนื่องเข้าถึงกันได้ทุกส่วนเป็นสําคัญ” คุณเจ – มฆไกร สุธาดารัตน์ สถาปนิกมากฝึมือ จาก บริษัทฟาวน์ดรี ออฟ สเปช จํากัด ได้อธิบายให้เราฟังถึงแนวความคิดการออกแบบและที่มาของคำว่า “ DIVERGENCE ” ว่ามาจากการแยกห้องต่างๆ ออกจากกันให้อยู่รอบต้นไม้นั่นเอง
ผู้ออกแบบตั้งใจให้ทางเดินที่เชื่อมต่อแต่ละห้องทําจากไม้จริง นอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงพื้นที่ เกิดการลื่นไหลของสเปซแล้ว ยังช่วยให้เกิดช่องเปิดโล่งรูปทรงอิสระให้ต้นไม้ ได้เติบโตแผ่กิ่งก้านอย่างอิสระราวกับเป็นหนึ่งเดียวกับบ้าน ยิ่งกว่านั้นยังมีผลดีต่อผู้อยู่อาศัย แสงและลมสามารถ พัดผ่านเข้าสู่ตัวบ้านได้อย่างปลอดโปร่ง คนในบ้านจึงสัมผัสได้ถึงอากาศบริสุทธิ์เย็นสบายตลอดทั้งวัน จนแทบไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศแต่อย่างใด
เจ้าของบ้านเสริมให้เราฟังอีกว่า “ที่แปลงนี้เป็นพื้นที่รับน้ำของที่ดินรอบ ๆ ถ้าหากเราถมดินให้สูงเพื่อสร้างบ้าน ในช่วงหน้าฝนน้ำจะไหลไปท่วมเพื่อนบ้านได้ เพื่อแก้ปัญหานี้ เราจึงตัดสินใจยกบ้านให้สูง 1.50 เมตรแทนที่จะถมพื้นที่ คือเรายอมเสียสละให้เป็นที่รับน้ําเหมือนเดิม อีกอย่างคือ ประเทศไทยมีสัตว์เลื้อยคลานเยอะ ถ้าเรายกบ้านสูงพวกงู หรือสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ จะได้เลื้อยผ่านบ้านไป แถมเรายังใช้พื้นท่ีวางงานระบบอย่างพวก CDU (Condensing Unit) ได้ด้วย”
เหตุผลเพิ่มเติมส่วนหนึ่งคือคุณเบ๊นคลุกคลีอยู่ในแวดวงธุรกิจก่อสร้างอยู่แล้ว เวลาออกแบบและสร้างบ้านจึงมีความเข้าใจและไว้ใจผู้ออกแบบเต็มร้อย อย่างในเรื่องการเลือกใช้วัสดุ เขาชอบปูนเปลือยเป็นพิเศษ คุณเจจึงช่วยเลือกเฉดสีเทาให้บ้านไม่ดูขรึมหรืออ่อนเกินไป พื้นผิวของวัสดุ ส่วนใหญ่จึงเป็นปูนผสมสีเทา และเลือกแผ่นไม้เก่ามาปูเป็น ทางเดินภายในบ้าน นอกจากจะเป็นวัสดุที่มีอยู่แล้ว สีของไม้ยังช่วยเพิ่มความอบอุ่นไม่ให้บ้านสีเทาหลังนี้ดูแข็งกระด้าง เกินไปด้วย
ถ้าตัดเรื่องความโมเดิร์นที่แสนโดดเด่นของบ้านไปแล้ว พูดถึงเพียงประโยชน์ใช้สอย ก็ต้องยอมรับว่าบ้านหลังนี้คือ บ้านไทยแท้ภายใต้ชุดสูทหล่อเนี้ยบเท่อย่างบ้านโมเดิร์น ไม่ว่าจะเป็นการยกพื้นสูงเพื่อป้องกันปัญหาน้ําท่วม การวางตําแหน่งห้องต่าง ๆ โดยนําเรื่องความเป็นส่วนตัวและ การใช้งานมาเป็นหลัก หรือการทําทางเดินเล็ก ๆ หลังบ้าน สําหรับแม่บ้านที่ต้องนําของสดไปยังครัวไทย สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดยังไม่นับการเก็บต้นไม้เดิมไว้ และการวางแปลนเพื่อดึงประโยชน์จากแสงแดดและลมธรรมชาติให้บ้านมีภาวะอยู่สบาย
การแยกออกเพื่อรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับสภาพแวดล้อมจึงไม่ใช่คํากล่าวเกินจริงที่จะเป็นบทสรุปของบ้านท่ีใช้พี้นที่ได้อย่างมหัศจรรย์และน่าสนใจเหมือนบ้าน “DIVERGENCE HOUSE” หลังนี้…
เจ้าของ : คุณวรัญญู พรหมบันดาลกุล
ออกแบบ : คุณมฆไกร สุธาดารัตน์ และคุณสิงหา อุ่นสกุล บริษัทฟาวน์ดรี ออฟ สเปช จํากัด
ก่อสร้าง : บริษัทเอเชี่ยนเรียลเอสเตตคอนซัลแทนท์ จํากัด
อ่านต่อ บ้านที่มีต้นไม้เป็นหัวใจหลัก
เรื่อง : Ektida N.
ภาพ : จิระศักดิ์
ภาพประกอบ : คณาธิป
เรียบเรียง Parichat K.