ROOM SHOWCASE
บ้านและสวนแฟร์ select 2021

 

 

หลายครั้งงานออกแบบที่ดีมักถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความหรูหราฟุ่มเฟือย แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง คงดีไม่น้อย ถ้างานออกแบบดี ๆ จะกลายเป็นเรื่องสามัญในชีวิตประจำวันของทุกคน และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยรวม

บ้านและสวนแฟร์ select 2021 นำเสนอ OPEN CULTURE วัฒนธรรมแห่งการเปิดรับ แลกเปลี่ยน และแบ่งปัน เปิดรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อต่อยอด และแบ่งปันประสบการณ์เพื่อให้เราก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน งานนี้พบกับ 3  ไฮไลต์หลักใน room Showcase ได้แก่

BETTERISM Exhibition

จัดแสดงผลงานการออกแบบ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากแนวคิดของนักออกแบบไทย ที่เกิดขึ้นบนความตั้งใจให้โลกดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมและคุณภาพชีวิตหรือด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม โดยนำเสนอผลงานออกแบบในหลากหลายประเภท ทั้งวัสดุ เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ว่าดีไซน์ที่ดีทั้งต่อ “โลก” และ “เรา” นั้นล้วนเกิดขึ้นได้ใกล้ตัวทุกคน

โดยนำเสนอผลงานการออกแบบจากภาคส่วน ทั้งกลุ่มนักออกแบบ Design PLANT กลุ่มชุมชนแม่แจ่มโมเดลพลัส รวมถึงสถาบันการศึกษาอย่างศูนย์วิจัยและออกแบบงานสร้างสรรค์ (RCDC) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

room Design Café by The Moustache Coffee

และแน่นอนว่า room มาพร้อมคาเฟ่เก๋เช่นเคย คาเฟ่ไซส์เล็ก xs แต่เด็ดนัก นอกจากเมนูกาแฟชวนรื่นรมย์ ยังมาพร้อมไอเดียการออกแบบคาเฟ่ขนาดเล็ก ที่ช่วยให้ว่าที่เจ้าของคาเฟ่คนใหม่เนรมิตคาเฟ่เล็กๆ ได้ทันที

room Books

ร้านหนังสือ room แบบจัดเต็ม ที่มาพร้อมคอลเล็กชั่นหนังสือคุณภาพในเครืออมรินทร์แบบจุใจ ช้อปเพลินกับโปรโมชั่นสุดพิเศษ ใครมองหาไอเดียการก่อสร้างตกแต่งแนวไหน ทั้งบ้านพักอาศัยหรือพื้นที่ธุรกิจ กองบรรณาธิการ room พร้อมให้คปรึกษา และแนะนำหนังสือตลอดงาน

Design PLANT

การรวมตัวกันของนักออกแบบจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ ที่ต่างมีแนวคิดและเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ในแต่ละปีชาว Design PLANT จะร่วมกันจัดนิทรรศการงานออกแบบเพื่อนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิดที่น่าสนใจ จนกลายเป็นกิจกรรมที่มีพลังการขับเคลื่อนแวดวงการออกแบบไทย นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ Emerging PLANT ภายใต้คำแนะนำจากนักออกแบบรุ่นพี่อีกด้วย โครงการนี้จึงเป็นเหมือนเวทีลับฝีมือสำหรับนักออกแบบ ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างนักออกแบบ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาภาพรวมของวงการสร้างสรรค์ไทย

DOMESTIC

ปีนี้พวกเขาร่วมกันนำเสนอผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงการเริ่มต้นทศวรรษใหม่ท่ามกลางภาวะความปกติใหม่ ที่เราต้องติดอยู่ในประเทศ ทั้งชาวต่างชาติก็ไม่อาจเข้ามาสนับสนุนธุรกิจในประเทศไทยได้เต็มที่ จึงชวนทุกคนมาร่วมตีความการออกแบบภายใต้ “บริบทภายในประเทศ” ที่อาจหมายถึงบริบทแวดล้อมที่เราคุ้นเคย หรือสิ่งที่ไม่มีใครเคยสังเกตเห็น สิ่งที่อาจเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องยิ่งใหญ่ระดับชาติ อาจเป็นวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิต ที่เป็นเหมือนอาวุธลับที่เราแอบซ่อนไว้ เป็นความร่วมมือของระหว่างชุมชน หรือการหยิบยืมความรู้จากอดีตมาปัดฝุ่นใหม่ ทั้งหมดนี้ Design PLANT มุ่งกระตุ้นให้ผู้คนในประเทศ สถาปนิก นักออกแบบ และผู้บริโภค เห็นคุณค่า และภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนผลงานจาก DOMESTIC ของเรา

ผลงานที่จัดแสดงนี้เป็นเพียงบางส่วน ซึ่ง room คัดสรรมาแล้วว่าสอดคล้องกับแนวคิดการออกแบบที่ดีต่อโลกอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ โดยสามารถตามไปชมผลงานทั้งหมดได้ในงาน Bangkok Design Week 2021 ติดตามความคืบหน้าของโครงการได้ทาง www.design-plant.com

BAMBOO KAYAK

เรือคายัคดีไซน์จัดจากวัสดุไม้ไผ่

“ถ้าแพล่องแม่น้ำไทยทำจากไม้ไผ่ได้ ทำไมเราจะต่อเรือจากไม้ไผ่บ้างไม่ได้?”คุณกฤษณ์ พุฒพิมพ์ นักออกแบบและผู้ก่อตั้ง Dots Design Studio บอกเล่าจุดเริ่มต้นความสนใจในการศึกษาเทคนิคที่จะนำมาใช้กับโครงการต่อเรือคายัคด้วยวัสดุไม้ไผ่ ซึ่งไม่ได้มีความน่าสนใจแค่เพียงวัสดุที่เลือกมาใช้ แต่ยังรวมไปถึงกรรมวิธีที่ช่วยยกระดับการนำไม้ไผ่มาใช้กับการต่อเรือไปอีกขั้นด้วย

“ไม้ไผ่” คือพืชพื้นถิ่นของเอเชียที่โตเร็ว มีคุณสมบัติหลากหลายประโยชน์ ได้รับการนำมาใช้จักสานเป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมาเนิ่นนาน ตั้งแต่ของใช้ชิ้นเล็ก ๆ ไปจนถึงบ้านเรือน และอย่างที่มักจะเห็นกันบ่อย ๆ คือการนำไม้ไผ่มามัดรวมกันเป็น “แพ” สำหรับล่องแม่น้ำ สู่ไอเดียการออกแบบของ Dots Design Studio กับการสร้างความพิเศษให้แก่เรือคายัคไม้ไผ่นี้ โดยใช้เทคนิคการดัดไม้จาก Bambunique ผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกี่ยวกับไม้ไผ่ที่มาร่วมงานกันในครั้งนี้ด้วย การเข้าไม้ของเรือคายัคลำนี้ใช้การเชื่อมประสานและดัดไม้ให้ได้รูปทรงที่เหมาะสมตามหลัก Hydrodynamics ที่จะเป็นตัวกำหนดคาแร็คเตอร์และการใช้งาน ซึ่งมีความแม่นยำในการออกแบบและผลิตเป็นอย่างมาก

โดยผลงานเรือคายัคนี้ เป็นเรือสไตล์ Touring ที่ต่อยอดมาจาก Alaskan Hunting Kayak เด่นด้วยเส้นสายที่ดูร่วมสมัย การใช้งานที่สะดวกและหลากหลายมากขึ้น คุณกฤษณ์ได้แอบกระซิบกับเราว่า ในอนาคตเขาจะมีเรือในรูปแบบอื่นตามมาอีกอย่างแน่นอน

ออกแบบ : กฤษณ์ พุฒพิมพ์ จาก Dots Design Studio

ติดต่อ : โทร.0-2102-6720 หรือ www.facebook.com/DotsDesignStudio

SML stool

เก้าอี้ที่ใช้ ยางอย่างคุ้มค่า ตั้งแต่ไม้ยางไปจนถึงน้ำยาง

ประเทศไทยของเรามีวัสดุคุณภาพดีมากมายที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ หรือเพิ่มมูลค่า หนึ่งในนั้นคือ “ยางพารา” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย และมีเกษตรกรกว่า 6 ล้านคนที่เพาะปลูกและขายยางพารา ความโดดเด่นของยางพารา คือมีความยืดหยุ่นสูง และทนทานต่อการเสียดสีฉีกขาดได้ดี นักออกแบบจาก everyday studio จึงสนใจอยากจะเพิ่มมูลค่าให้ยางพารา ด้วยการทดลองออกแบบที่นั่งที่ให้ความนุ่ม ทดแทนการหุ้มเบาะเฟอร์นิเจอร์ด้วยฟองน้ำ โดยร่วมมือกับ Rubber Idea ในการคิดค้นออกแบบ จนได้ที่นั่งยางพาราที่นั่งสบายทนทาน ไม่เก็บฝุ่น และทำความสะอาดง่าย อีกทั้งยังสามารถทำสีสันและลวดลายได้อย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ตัวโครงสร้างของเก้าอี้ยังใช้ไม้ยาง ซึ่งเกิดจากการตัดต้นยางที่มีอายุเกินกว่าจะให้น้ำยางคุณภาพดี มาใช้ทำโครงสร้างที่สามารถออกแบบเก้าอี้ได้ 3 ตัว กับ 3 ระดับความสูง โดยใช้ที่นั่งยางพาราแบบเดียวกัน เกิดเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้วัสดุที่ได้จากต้นยางอย่างคุ้มค่า

ออกแบบ : everyday studio
ติดต่อ : โทร.0-2064-5157 หรือ www.everyday-studio.com
https://th-th.facebook.com/everydaystudio.furniture

NIGMA

เก้าอี้หวายที่ตั้งคำถามถึงการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมยั่งยืน

ชุดเก้าอี้หวายที่เกิดจากการตั้งคำถามในการสร้างงานหัตถกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสร้างความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการพัฒนาวงจรการออกแบบหัตถอุตสาหกรรม

ด้วยความเชื่อที่ว่า งานหัตถกรรม คือจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดในการสร้างงานออกแบบอย่างยั่งยืน เก้าอี้หวายรูปทรงดั้งเดิม จึงกลายเป็นผืนผ้าใบสำหรับการทดลอง และสร้างสรรค์งานหัตถกรรมรูปแบบใหม่ ผ่านการรื้อ (deconstruction) และสร้างโครงสร้างเก้าอี้หวายขึ้นมาใหม่ โดยทบทวนกระบวนการออกแบบ และวิธีการถ่ายแรงเพื่อรับน้ำหนัก รวมถึงเพิ่มเส้นสายแปลกตาเพื่อสร้างภาษาการออกแบบที่แตกต่าง รูปทรงโค้งเว้าที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติของวัสดุ อันสะท้อนถึงคาแร็คเตอร์ของงานหวายที่แตกต่างจากวัสดุอื่น

นอกจากการตั้งคำถามกับโครงสร้างเก้าอี้แล้ว ยังตั้งคำถามกับการใช้วัสดุหวายแบบดั้งเดิม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองนำการย้อมสีธรรมชาติเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ พร้อมมองหาคำตอบว่าสีธรรมชาติจะเพิ่มมูลค่าหวายได้อย่างไรในอนาคต

เนื่องจากลำหวายโดยทั่วไปจะย้อมสีไม่ติด จึงทดลองใช้ “ไส้หวาย” มาย้อมสีธรรมชาติเพื่อจักสานเป็นชิ้นส่วนที่นั่งแทน ด้วยความร่วมมือกับหลายชุมชนในภาคอีสาน ที่เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันเพิ่มคุณค่าให้กับองค์ความรู้ในแต่ละท้องถิ่น ส่งเสริมให้ทั้งนักออกแบบและชุมชนเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน

ออกแบบ : ธีรพจน์ ธีโรภาส จาก Kitt.Ta.Khon (ฆิด-ตา-โขน)

ติดต่อ : โทร.08-1629-3699 หรือ www.kitt-ta-khon.com

DOMESTIC LOOM

กี่ทอผ้าไฮบริดที่ผสานความเป็นเอเชียและยุโรปเข้าด้วยกัน

จากการเดินทางพบปะพูดคุยกับช่างทอชุมชนหัตถกรรม และนักออกแบบที่ทำงานสิ่งทอพบว่า อุปกรณ์การทำงานหลักของช่างทอผ้าทั่วประเทศเป็นกี่ทอผ้าที่ทำจากไม้ บ้างผลิตขึ้นใช้เองอย่างง่าย ๆ จากไม้ที่หาได้ใกล้ตัว บ้างถูกผลิตโดยช่างทอที่มีฝีมือในการทำงานไม้ ซึ่งมีรูปทรงที่เราพบเห็นจนคุ้นตา หลาย ๆ ที่มีการสั่งซื้อกี่ทอผ้าจากต่างประเทศมาใช้ หรือผลิตขึ้นตามแบบของต่างประเทศ

ทั่วโลกมีกี่ทอผ้าหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นกี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ ซึ่งสามารถออกแบบลวดลายบนคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่กี่ทอผ้าสมัยสงครามโลกของอังกฤษที่ผลิตขึ้นในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็มีความหลากหลายในการใช้งาน สะท้อนถึงความสำคัญของงาน Textile ซึ่งเป็นหนึ่งในงานฝีมือที่เก่าแก่ที่สุด ทั้งยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ในขณะที่งานสิ่งทอและแฟชั่นของเราได้พัฒนาไปไกล Domestic loom จึงได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นกี่ทอผ้าแบบไฮบริด ผสมผสานระหว่างกี่ทอผ้าของเอเชียกับยุโรป สำหรับให้ช่างทอในประเทศได้ใช้ โดยสามารถใช้ได้ทั้งช่างทอชุมชนที่มีทักษะในการทอดั้งเดิมอยู่แล้ว และนักศึกษาหรือนักออกแบบสิ่งทอที่ต้องการอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและทุ่นแรง

รูปทรงของกี่ทอผ้าใช้เส้นเอียงสอบเข้าของบ้านไทยมาปรับใช้ เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงเสาทั้ง 4 มุม ที่เป็นเอกลักษณ์ของกี่ทอผ้าแบบไทย ได้ถูกเลื่อนเข้าไปด้านในเพื่อช่วยเพิ่มวิสัยทัศน์ และความสะดวกในการทำงานโดยออกแบบให้มีขนาดเล็ก แต่ยังคงความแข็งแรงเอาไว้ ที่สำคัญยังสามารถถอดประกอบได้สะดวกด้วย

ระนาบของแนวเส้นยืนสามารถปรับให้เหมาะกับสรีระของผู้ทอ โดยได้ออกแบบคู่กับเก้าอี้นั่งทอที่แยกตัวอิสระออกจากโครงสร้างกี่ทอผ้า ในส่วนของกลไกการทอผ้า ตะกอ และฟืม สามารถถอดออกปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะการทอผ้าแต่ละประเภท พร้อมอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทอผ้าที่สามารถเพิ่มเติมได้

หมายเหตุ โปรเจ็กต์นี้ได้รับความอนุเคราะห์ให้คำปรึกษาจากทีมงานบ้านไร่ใจสุข จังหวัดเชียงใหม่ และสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ออกแบบ : พิบูลย์ อมรจิรพร จากPLURAL DESIGNS
ติดต่อ : โทร.08-1833-4566www.pluraldesigns.net www.facebook.com/pluraldesigns

BLUR Basket

ตะกร้าผ้าจากลวดโลหะผลิตตะแกรงตู้เย็น

งานออกแบบเชิงทดลองของ ease studio ร่วมกับ Thai Polyethylene Coating International Co.,Ltd. โรงงานผู้ผลิตตะแกรงฝาครอบแอร์และตะแกรงตู้เย็น ที่นำลวดโลหะจากกระบวนการผลิตชั้นวางตะแกรงเหล็กสำหรับตู้เย็นมาพัฒนาเป็นตะกร้าผ้าสำหรับการใช้งานภายในบ้าน เพื่อคัดแยกประเภทของผ้าและจัดระเบียบเสื้อผ้าไม่ให้รบกวนบรรยากาศภายในห้อง ผ่านการออกแบบที่เรียบง่าย ให้ผู้ใช้งานสามารถจัดวางในพื้นที่ว่างภายในห้องเพื่อใช้ประโยชน์ใช้สอย  และเป็นเหมือนของตกแต่งบ้านชิ้นหนึ่งไปในตัว ช่วยเพิ่มความสวยงามเป็นระเบียบให้กับบ้าน

ออกแบบ : ease studio โดยวนัส โชคทวีศักดิ์ และณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก

ติดต่อ: Line @283dojdu

www.ease-studio.com

www.facebook.com/ease.emb

Miti Screen

ฉากกั้นที่สื่อถึงวัฒนธรรมปักษ์ใต้ร่วมสมัย

เมื่อพูดถึงงานสานเราอาจไม่ค่อยได้ยินชื่อ “เตยปาหนัน” กันสักเท่าไหร่ แต่สิ่งนี้คือเครื่องจักสานพื้นบ้านจังหวัดตรัง ที่ใช้งานได้ดี มีประวัติมายาวนานเกือบร้อยปี ด้วยประวัติและความแตกต่างในผิวสัมผัสที่น่าสนใจนี้ จึงทำให้คุณมนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณ (Art Director) และคุณวิศรุต ทวีวรสุวรรณ (Product Designer) แห่ง Sarnsard ได้เลือกสานต่องานออกแบบจาก “เตยปาหนัน” เพื่อเชื่อมวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่โลกสมัยใหม่

ปัจจุบัน Sarnsard ได้ร่วมงานกับช่างฝีมือชาวมุสลิมในจังหวัดตรังกว่า 40 คน เพื่อร่วมกันพัฒนาออกมาเป็นผลงานที่หลากหลาย โดยเริ่มแรกนั้นได้สร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบของเครื่องใช้ประเภทกระเป๋าถือ เพราะด้วยคุณลักษณะของเตยปาหนันที่มีความนิ่ม ให้ความรู้สึกนุ่มนวลเวลาใช้งาน และสำหรับในครั้งนี้ Sarnsard ได้พัฒนาต่อยอดการใช้งานเตยปาหนันไปอีกขั้น ด้วยการออกแบบให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ในบ้านที่ชื่อว่า Miti Screen

แน่นอนที่สุดจุดเด่นของฉากกั้นนี้ คือการใช้เตยปาหนันเป็นองค์ประกอบหลัก ทำให้ฉากกั้นแลดูมีมิติสมชื่อ เติมกลิ่นอายวัฒนธรรมอันอ้อนช้อยอบอุ่นสู่พื้นที่ในบ้านได้อย่างลงตัว ในขั้นตอนการออกแบบนั้นดีไซเนอร์ได้ทำให้ฉากกั้นนี้แยกออกเป็นชุด ๆ ก่อนจะต่อรวมกันได้ เป็นการเพิ่มอรรถประโยชน์ในแต่ละส่วนของโมดูลให้ใช้งานได้แบบมัลติฟังก์ชัน ไม่ว่าจะปรับเป็นชั้นวาง หรือกระจกเงา ได้ตามการใช้งาน

ออกแบบ : มนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณ และวิศรุต – ทวีวรสุวรรณ จากSarnsard

ติดต่อ : โทร.09-4636-4542 หรือ www.sarnsard.com

Glubbann

จากเส้นใยทางใบปาล์มน้ำมันสู่ของแต่งบ้านดีไซน์ใหม่

ทางใบปาล์มน้ำมันที่ต้องตัดทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ ได้รับการมองเห็นคุณค่าอีกครั้ง ด้วยการนำมาสร้างมูลค่าใหม่ผ่านการออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อใช้สำหรับตกแต่งบ้าน ภายใต้แรงบันดาลใจ “คิดถึงบ้านกับความทรงจําในวัยเด็ก” ของกรกนก ดีทองอ่อน ดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่จากแบรนด์ Glubbann

จุดเริ่มต้นของการออกแบบครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการอยากเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบธรรมชาติจากสวนปาล์มน้ำมันของครอบครัวที่จังหวัดกระบี่ ที่มักจะตัดใบปาล์มน้ำมันที่แก่แล้วทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ทุก ๆ เดือน เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแบบไม่สูญเปล่า หลังเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม สาขาออกแบบสิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เธอจึงใช้ความรู้นำมาต่อยอดโดยหยิบจับวัสดุธรรมชาติใกล้ตัวอย่าง “ทางใบปาล์มน้ำมัน” นี้ มาผ่านกระบวนการคิดและออกแบบ

ด้วยการนำทางใบปาล์มน้ำมันซึ่งมีทั้งแบบสดและแห้งมาแยกเส้นใย ซึ่งจะให้สีสันที่ต่างกันออกไปตามความอ่อนแก่ของทางใบปาล์ม ก่อนนำไปอัดเป็นแผ่น เสร็จแล้วค่อยตัดตามลายเเพตเทิร์นที่ออกแบบไว้ เสร็จแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการทอ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายในที่น่าสนใจ ซึ่งมีลวดลายที่สื่อถึงบรรยากาศของบ้านต่างจังหวัด ภูเขา ต้นไม้ และธรรมชาติต่าง ๆ ปราฏลงบนชิ้นงาน กลายเป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายในที่ดูทันสมัยและยังคงกลิ่นอายของชนบท โดยขณะนี้ชิ้นงานยังอยู่ในขั้นตอนการเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ สำหรับพัฒนาและออกวางจำหน่ายจริงต่อไป ซึ่งในอนาคตกรกนกมีความคิดว่าเธออยากจะทำงานร่วมกันกับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนด้วย

ออกแบบ : กรกนก ดีทองอ่อน

ติดต่อ: โทร.09-3127-3266

DO – MASS – TIST

เก้าอี้สตูจากเศษวัสดุในโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์

สตูลที่เกิดจากการทดลองปรับเปลี่ยนและพลิกแพลงการทำงานจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์แบบ Mass Production (ผลิตจำนวนมาก) โดยการนำวัสดุเหลือใช้จากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ทั้งเศษปลายไม้ที่เหลือจากไม้แผ่นใหญ่ ฝุ่นขี้เลื่อย เศษขอบปิดผิวไม้ รวมถึงเศษวัสดุเหลือใช้จากงานบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง นำมามาผ่านการหล่อขึ้นรูปเป็นแผ่นใหม่ พร้อมทดลองต่อแผ่นไม้โดยเพิ่มดีไซน์จังหวะการเจาะรู เพื่อใส่ฟิตติ้งและเบาะรองนั่ง โดยเลือกใช้ผ้าที่ผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิลที่เหลือจากอุตสาหกรรมแฟชั่น หรือวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แสดงออกถึงจุดยืนของแบรนด์ที่ใส่ใจในใช้วัตถุดิบและทรัพยากรในการผลิตให้คุ้มค่าที่สุด

ออกแบบ : HARV brand

ติดต่อ : www.facebook.com/harvbrandfb

Fat&Cozy

จากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่อยากมีธุรกิจเล็ก ๆ เป็นของตนเอง แต่ต้องการทำงานแบบไม่มีขั้นต่ำ เนื่องจากไม่อยากแบกภาระความเสี่ยงเรื่องต้นทุนรวมถึงการสต็อกสินค้าที่อาจมีความเสี่ยงได้เสมอ ทั้งรัมม์รดา ตั้งวีระเกียรติ และรมิตา เสน่ห์ ในนามของแบรนด์ Fat&Cozy จึงอยากทดลองออกแบบงานดีไซน์ที่สนุกไปกับการค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทั้งด้านความชำนาญของช่างผู้มีฝีมือ และวัสดุที่หลายคนอาจมองข้าม ให้กลับมาสามารถใช้งานใหม่ได้อย่างคุ้มค่าอีกครั้ง

เนื่องจากทำงานคลุกคลีกับบรรดาช่างละแวกแถวบ้าน เช่น ร้านรับทำงานไม้เฟอร์นิเจอร์ ร้านรับบุโซฟาตามแบบ ร้านเข้ากรอบรูป ร้านรับทำป้าย โรงพิมพ์ ฯลฯ ซึ่งต่างมีความคุ้นเคยกันอย่างดีจากการที่เข้าไปจ้างงานบ่อย ๆ เมื่อตั้งใจทำโปรเจ็กต์ตามโจทย์ Domestic ร่วมกับ Design Plant ความท้าทายใหม่ ๆ จึงเกิดขึ้นอย่างการนำวัสดุต่าง ๆ ที่เหลือจากการผลิต เช่น แกนกระดาษจากโรงพิมพ์ ที่นำมาแปลงร่างเป็นเก้าอี้โดยทำงานร่วมกับช่างบุเฟอร์นิเจอร์ ยึดให้แข็งแรงด้วยจอยส์อะคริลิก จนได้ตัวเก้าอี้ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน นอกจากนี้ยังนำสันขดลวดสมุดที่เหลือจากโรงพิมพ์มาต่อยอดเป็นแกนพาร์ทิชันอะคริลิกสำหรับตั้งโต๊ะเล็ก ๆ และแผ่นไม้ที่ใช้เทคนิคการโป๊วร่องรอยที่เคยพบเห็นในงานไม้มาสร้างลวดลายบนพื้นผิว แต้มสีสันด้วยสีสำหรับใช้ในงานพิมพ์ดูสดใส

ทั้งหมดนี้เกิดจากการกล้าทดลองเพื่อค้นหาศักยภาพใหม่ ๆ ทั้งวัสดุที่หลายคนมองข้าม และช่างฝีมือจากร้านเล็ก ๆ กล้าทำงานกับดีไซเนอร์อย่างเปิดใจในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เรียนรู้และลองผิดลองถูกไปด้วยกันจนสามารถเปลี่ยนหน้าที่วัสดุจากความคุ้นชินเดิม ๆ ให้ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งยากจะลอกเลียนแบบ เพราะมีเพียงดีไซเนอร์และช่างผู้ทำเท่านั้น ที่รู้แหล่งวัตถุดิบและเทคนิคที่พิถีพิถันเฉพาะตัว

ออกแบบ : คุณรัมม์รดา ตั้งวีระเกียรติ และรมิตา เสน่ห์

ติดต่อ : โทร.08-3604-4433

Rise of Rice

เยื่อฟางข้าววัสดุทดแทนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากก้อนฟางในงานอีเว้นต์

ความต่อเนื่องจากการทำวิทยานิพนธ์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  ภาควิชาศิลปอุตสากรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ของคุณอภิชา ภัทรชาติโกมล และคุณวิภาวี พิภักดี นำมาสู่การคิดค้นวัสดุและออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจาก “ฟางข้าว” อีกหนึ่งขยะที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจากวัฒนธรรมการบริโภคของคนไทยที่กินข้าวกันเป็นอาหารหลัก ประกอบกับได้แรงบันดาลใจมาจากก้อนฟางข้าวที่มักถูกนำมาใช้แทนเก้าอี้ในงานอีเว้นต์ต่าง ๆ แล้วถูกทิ้งไปเมื่อจบงาน

กลายเป็นไอเดียให้คิดต่อว่า จะทำอย่างไรให้ฟางข้าวมีความแข็งแรง และสามารถใช้งานได้จริงในรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ เพื่อใช้ทดแทนเก้าอี้ในงานอีเว้นต์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไปให้มีความยั่งยืนมากขึ้น เกิดเป็นการทดลองนำฟางข้าวมาแปรรูป โดยนำมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนได้เยื่อฟางข้าวผสมกับสารประสานหลากหลายชนิด เช่น เรซิน ปูนปลาสเตอร์ และเจลาติน แล้วนำไปขึ้นรูปจนได้เฟอร์นิเจอร์ และของตกเเต่งชนิดต่าง ๆ

กระบวนการแปรรูปเริ่มจากนำฟางข้าวไปต้มเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ให้เส้นใยแตกตัว หลังจากนั้นนำไปล้างและขยี้เส้นใยให้ยุ่ยคล้าย ๆ กระดาษสา ก่อนจะนำไปปั่นให้ละเอียดจนได้เส้นใยที่นุ่มฟู พร้อมนำไปผสมกับสารประสานอย่าง อีพ็อกซี ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี และสามารถผสมสีได้ เหมาะกับฟังก์ชันการเป็นเก้าอี้ ในส่วนของการออกแบบรูปทรงได้ลดทอนภาพจำของฟางข้าวที่มักจะมัดรวมกันเป็นชิ้นส่วนสองชิ้นประกบกัน ก่อนจะคาดด้วยผ้า และเสริมขาไม้จริง

ในอนาคตทั้งคู่ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาวัสดุชนิดนี้ต่อ และคาดหวังให้กลายเป็นวัสดุ PLA (Polylactic Acid) หรือพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพเพื่อความยั่งยืนต่อไปด้วย

ออกแบบ : อภิชา ภัทรชาติโกมล และวิภาวี พิภักดี จาก Re-field
ติดต่อ : โทร.09-1770-0019

Research and Creative Design Center

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

“ศูนย์วิจัยและออกแบบงานสร้างสรรค์” (Research and Creative Design Center : RCDC) ให้บริการทางด้าน

  • สัมมนาทางวิชาการและฝึกอบรมศูนย์รวมและเผยแพร่ความรู้ความเชี่ยวชาญสู่สาธารณะ
  • บริการออกแบบอาคาร สภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน พัฒนาชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์วางแผนการจัดการสร้างแบรนด์สู่ตลาดการค้าและงานศิลปกรรมสร้างสรรค์
  • วิจัยสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์พัฒนาผลงานออกแบบและให้คำปรึกษา

บริหารงานโดยอาจารย์ ดร. นฤดี ภู่รัตนรักษ์ ผู้ช่วยคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.

หัวหน้าศูนย์วิจัยและออกแบบงานสร้างสรรค์ (RCDC) และทีมงานนักวิจัยและนักออกแบบมืออาชีพ

 

โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นยางพาราและต้นกาแฟ
Rubber and Coffee Tree product processing project

ผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากวัตถุดิบหมุนเวียนในภาคการเกษตร เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรรมชาวสวนยาง และสวนกาแฟในจังหวัดจันทบุรี

แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการต่อยอดของผลงานนักศึกษา ในการใช้ประโยชน์จากเปลือกไม้ยางพารา ต้นยางพารา ต้นกาแฟ และกากกาแฟ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นของเหลือใช้จากภาคการเกษตร เกิดจากการตั้งคำถามว่าจะสามารถทำประโยชน์อะไรจากสิ่งเหลือใช้เหล่านี้ได้บ้าง สู่การทดลองนำกากกาแฟมาสกัดเป็นสีแล้วย้อมกับน้ำยางพารา โดยในวงการของการทำยางพารานั้น เมื่อเราใช้ประโยชน์จากต้นยางที่ไม่สามารถผลิตน้ำยางได้แล้วก็จะต้องถูกตัดทิ้ง โครงการนี้จึงนำต้นยางพาราที่โดนตัดมาประกอบขึ้นเป็นเฟอร์นิเจอร์ใหม่  ส่วนกากกาแฟมีประโยชน์ในเรื่องการดับกลิ่น ไล่แมลง และการทำเป็นอโรมาต่าง ๆ นำมาสู่การออกแบบให้เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้งานภายนอก กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากการหมุนเวียนวัตถุดิบในธรรมชาติมาใช้ใหม่ โดยผ่านกระบวนการไร้สารเคมี และสามารถผลิตได้ในชุมชนผู้ผลิตโดยตรง

ประโยชน์ที่จะได้ในมุมของโครงการนี้ก็คือการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งหวังให้ผู้ผลิตมองเห็นคุณค่าของวัสดุ และมองเห็นกระบวนการตั้งต้นไปจนถึงกระบวนการสุดท้าย จนกระทั่งสามารถนำขยะมาใช้ใหม่เองได้ เป็นการชี้นำช่องทางให้เห็นและเข้าใจตลอดกระบวนการของวัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน

ออกแบบ : อาจารย์ ดร.นฤดี ภู่รัตนรักษ์ ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม หัวหน้าศูนย์วิจัยและออกแบบงานสร้างสรรค์ (RCDC) ผู้ช่วยคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.

ติดต่อ: โทร. 06-4924-1459  

www.arch.kmitl.ac.th                                                                           

FB: RCDC.KMITL    

โครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเส้นใยเปลือกฝักข้าวโพดเหลือทิ้งของอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศไทย

ออกแบบ : อาจารย์ ดร.นฤดี ภู่รัตนรักษ์ ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม หัวหน้าศูนย์วิจัยและออกแบบงานสร้างสรรค์ (RCDC) ผู้ช่วยคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.

ติดต่อ: โทร. 06-4924-1459  หรือ www.arch.kmitl.ac.th                                                                      

FB: RCDC.KMITL 

KHAO-MHA

ผ้าขาวม้า นับเป็นสิ่งทอที่สะท้อนเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ผ้าขาวม้ามีลักษณะลวดลายเป็น 2 มิติ จึงนำมาประยุกต์เพิ่มเทคนิคการเย็บเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ อย่างเทคนิคการเย็บแบบสม๊อค ทำให้เกิดลวดลายสามมิติ  ใช้หุ้มบนโครงสร้างเก้าอี้สตูลไม้

ออกแบบ: ณภัทร ลิ่วเวหา

ติดต่อ: โทร. 06-4924-1459  หรือ www.arch.kmitl.ac.th                                                                           

FB: RCDC.KMITL 

CHALOM

เก้าอี้สตูลที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “ชะลอมจุก” ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ผลไม้และสิ่งของต่าง ๆ แต่ครั้งอดีต ออกแบบให้เก้าอี้สามารถเก็บของไว้ด้านในได้ โดยพัฒนารูปทรงของเก้าอี้จากเอกลักษณ์ และลักษณะของชะลอมจุก โดยใช้วัสดุหลักคือไม้ และไม้ไผ่

ออกแบบ: Rosathorn Sittisint

ติดต่อ: โทร. 06-4924-1459  หรือ www.arch.kmitl.ac.th

FB: RCDC.KMITL

TENEMENT CHAIR AND FRIEND COLLECTION

เก้าอี้รับประทานอาหารที่ผลิตจากเหล็ก ที่ได้แรงบันดาลใจจากองค์ประกอบของอาคารบ้านเรือนที่ปรากฏอยู่ตามท้องถนนของไทย เก้าอี้มีให้เลือกในหลายชุดสี

ออกแบบ:  Pimploy Sabchareon

ติดต่อ: โทร. 06-4924-1459  หรือ www.arch.kmitl.ac.th

FB: RCDC.KMITL

KNITTING TEXTURE

แนวคิดการลดขยะซองพัสดุพลาสติกที่เหลือทิ้งในโรงงาน พัฒนาให้เกิดเป็นวัสดุใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า และสามารถต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิเช่น กระเป๋ารูปทรงต่าง ๆ โครงการนี้เป็นโครงการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการขอสิทธิบัตร จึงสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ

ออกแบบ : Waraporn Saela

ติดต่อ: โทร. 06-4924-1459  หรือ www.arch.kmitl.ac.th

FB: RCDC.KMITL

GIFTED HEART 

เก้าอี้และหมอนจากผ้าทอมือผืนเดียวในโลกฝีมือน้อง ๆ เด็กพิเศษ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP ได้จัดทำโครงการ The Collaboration project ขึ้น โครงการนี้มุ่งเพื่อพัฒนาสินค้าร่วมกับผู้ประกอบการกว่า 30 แบรนด์ มาร่วมสร้างสรรค์ให้เกิดเทรนด์ผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับตลาดโลกในอนาคต

คอลเล็กชั่นนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อดัง DEESAWAT กับแบรนด์กระเป๋าผ้าทอมือ Heartist ภายใต้โครงการการพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ใหม่ สำหรับงานแสดงสินค้า STYLE BANGKOK ความพิเศษของผลงานนี้คือ การผสมผสานงานโครงสร้างเก้าอี้ไม้สัก ซึ่งทาง DEESAWAT เชี่ยวชาญเข้ากับผ้าทอมือลวดลายพิเศษไม่ซ้ำใคร ฝีมือน้องๆ เด็กพิเศษที่ร่วมงานกับแบรนด์ Heartist จนกลายเป็นมาสเตอร์พีซชิ้นพิเศษ

Heartist ใช้กิจกรรมการทอผ้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการบำบัดและส่งเสริมการรักษาเด็กพิเศษ โดยทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อช่วยให้เด็กพิเศษสามารถพัฒนาศักยภาพของตนได้ทัดเทียมไม่แพ้คนอื่น โดยหลักการแล้วเหล่าเด็กพิเศษพวกเขาต้องการการฝึกฝนให้มีสมาธิต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการทอผ้าจึงนับเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยฝึกสมาธิให้แก่เด็ก ๆ เพราะในขั้นตอนการทอได้เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ สามารถเลือกสีสันของเส้นใยได้เอง เป็นการกำหนดหลักการทำงานที่ไม่ตายตัว ให้อิสระตามแต่จินตนาการของเด็ก ๆ ไม่มีอะไรผิดหรือถูก ด้วยความเชื่อว่าสิ่งของทุกอย่างไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ความแตกต่างที่ปรากฏบนผลงานนั้น ๆ จึงบ่งบอกได้ดีถึงตัวตนของน้อง ๆ แต่ละคนออกมาได้อย่างชัดเจน

ออกแบบ : Deesawat Industries Co.,Ltd.

ติดต่อ : โทร.02-521-1341 หรือ www.deesawat.com

Glasses from Waste Plastic

 แว่นตาจากเศษเหลือของฝาขวด

เปลี่ยนพลาสติกให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างเหลือเชื่อ โดยเฉพาะฝาขวดน้ำดื่มเพียง  11 ขวด ที่สามารถกลายมาเป็นกรอบแว่นตา 1 อัน ผลงานที่น่าจะถูกใจสายรักษ์โลกนี้ เป็นการร่วมมือของ FabCafe Bangkok คุณอริสรา พิทยายน และคุณณัฐชยา เสรีเสถียรทรัพย์ สองนักออกแบบที่สนใจการจัดการขยะพลาสติก ด้วยการเปลี่ยนพลาสติกให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริงและที่สำคัญยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย

ส่วนเหตุผลว่าทำไมต้องนำฝาขวดน้ำมาทำเป็นแว่นตา? จากการทดลองผลลัพธ์ที่ได้ออกมา พลาสติกฝาขวดน้ำนั้นเป็นขยะพลาสติกประเภท HDPE มีสีมากมายให้เลือกตามฝาขวดแต่ละยี่ห้อ ส่วนขั้นตอนก็ไม่ยากคือการนำฝาขวดมาย่อยให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วใส่ลงไปในเครื่อง Precious Plastic Injection จากนั้นก็ฉีดลงในแม่พิมพ์ที่แบ่งไว้เป็นชั้น ๆ ตามการออกแบบ และเมื่อชิ้นงานเย็นลงแล้วก็จะนำมาขัดแต่ง และประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย โดยแว่นยังคงมีร่องรอยและสีสันของการรีไซเคิลอยู่ด้วยความตั้งใจ

ผลงานชิ้นนี้จึงเป้นตัวสะท้อนได้ดีถึงวิกฤตขยะที่กำลังจะล้นโลก โดยเฉพาะในเหตุการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แบบนี้ ที่ต้องการความสะอาดของบรรจุภัณฑ์ บรรดาขยะพลาสสิกจึงเพิ่มจำนวนมากขึ้นแบบทวีคูณ หากไม่มีมาตรการแปลงขยะที่สามารถรีไซเคิลได้เหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่อะไรจะเกิดขึ้น! ดังนั้นการออกแบบสิ่งที่จะสร้างให้เกิดความคุ้มค่าได้อย่างยั่งยืนจึงต้องเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลที่มีทั้งความต้องการของตลาด และมีราคาที่สามารถหล่อเลี้ยงกลไก Circular Economy ให้ไปต่อได้

ปัจจุบันเจ้าแว่นรักษ์โลกชิ้นนี้ได้ผลิตออกมาเป็นต้นแบบแล้ว แต่ก็ยังต้องการการพัฒนาอยู่ ซึ่งดีไซเนอร์ขอกระซิบบอกว่าได้เริ่มตั้งแบรนด์กับเพื่อน ๆ ในชื่อว่า WasticThailand  ซึ่งเราน่าจะได้เห็น โปรดักต์จริงในเร็ววันนี้

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรมหาบัณฑิต Marine Plastic Abatement (MPA) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ที่มุ่งเม้นพัฒนาและสร้างผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมในเอเชีย เพื่อมาต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบการจัดการที่มีคุณภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการเพื่อสังคม กลุ่มคนทำงานและผู้เชี่ยวชาญ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเล โดยเชื่อมั่นว่านี่จะเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ออกแบบ : คุณอริสรา พิทยายน และคุณณัฐชยา เสรีเสถียรทรัพย์

ติดต่อ : โทร.08-1646-7579 หรือ www.facebook.com/wasticthailand


แม่แจ่มโมเดลพลัส

จากฝีมือและแรงงานจากชาวชุมชนที่แม่แจ่ม บ้านและสวน และ room ได้เข้าไปร่วมพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงาน “บ้านและสวนแฟร์” ได้เป็นผลสำเร็จ นั้นก็คือ “Partition ไม้ไผ่” ที่ปรากฏอยู่ในหลาย ๆ ส่วนของงานในนี้ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่อันหลากหลายกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ ซึ่งผลงานทั้งหมดนี้ สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นสะพานเชื่อมดีไซเนอร์ไม่ไผ่จากชาวแม่แจ่มทั้งหลายสู่ตลาดเมือง อันจะเป็นผลให้การพัฒนาครั้งนี้ยั่งยืนและเกิดผลลัพธ์ในวงกว้างไปในอนาคต อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ https://www.baanlaesuan.com/224587/baanlaesuan-fair/maejamplusroom


room Café ไอเดียการออกแบบคาเฟ่ขนาดเล็ก

กำลังคิดจะออกแบบร้านกาแฟเป็นของตัวเองอยู่หรือเปล่า? การเริ่มจากร้านกาแฟเล็กๆก็เป็นความคิดที่ดี จะเป็น Espresso Bar หรือ Slow Bar สายดริปก็ย่อมได้ “room Café” ในปีนี้มาพร้อมกับธีม Cafe XS หรือการออกแบบคาเฟ่ขนาดเล็ก ซึ่งจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างไร สามารถคลิกไปเก็บไอเดียกันได้ที่

https://www.baanlaesuan.com/226625

https://www.baanlaesuan.com/room-exhibition#cafe


ROOM SPECIAL PROMOTION

โปรโมชั่นพิเศษสุดๆ สำหรับ 100 BEST DESIGN SERIES ทั้ง 4 เล่มของ room เฉพาะในงานบ้านและสวนแฟร์ Select เท่านั้น ซื้อเล่มไหนก็ลด! ซื้อกี่เล่มก็แถม!

100 BEST DESIGN SERIES คือชุดหนังสือรวมไอเดียสร้างสรรค์ธุรกิจขนาดเล็ก ที่ขับเคลื่อนและสร้างความแตกต่างได้ด้วย ‘ดีไซน์’ ทั้งคาเฟ่ / โรงแรมขนาดเล็กและโฮสเทล / บาร์และร้านอาหาร / ออฟฟิศและโคเวิร์กกิ้งสเปซ

#ลดพิเศษ

ซื้อ 1-3 เล่ม ลด 15%

ซื้อ 4 เล่มขึ้นไป ลด 20% (รวมกับหนังสือหมวดอื่นได้)

#มีของแถมทุกเล่ม

ซื้อ 1 เล่ม แถมนิตยสาร room

ซื้อ 2 เล่ม ขึ้นไปแถมถุงผ้า room

นอกจากนี้ นิตยสาร room ก็มาให้ช้อปในราคาพิเศษเช่นกัน จากเดิมเล่ม 165 บาท เหลือเพียง 124 บาท
https://www.baanlaesuan.com/room-exhibition#100Best


 แจกแบบงานไม้ไผ่อเนกประสงค์

เป็นได้ทั้งฉากกั้น พาร์ทิชั่น และโต๊ะกลาง

DOWNLOAD : คลิกตรงนี้! 

     

ในครั้งนี้บ้านและสวนได้ร่วมกับโรงงานไม้ไผ่แม่แจ่มออกแบบระบบไม้ไผ่สารพัดประโยชน์มาใช้ในงานบ้านและสวนแฟร์ และแน่นอนที่สุดที่จะไม่ลืมแบ่งปันแบบให้ทุกท่านได้ดาวน์โหลดไปใช้กันฟรีๆ

แบบไม้ไผ่นี้ได้มีการออกแบบการใช้งานโดยใช้การผ่าซีกไม้ไผ่และนำมาประกอบกันเป็นแผง เพื่อให้สามารถเลือกใช้ไม้ไผ่ได้ทั้งที่อายุยังน้อยผสมกับไม้ที่อายุมากมีความแข็งแรง มีการใช้คุณสมบัติดัดงอของไม้ไผ่เพิ่มความสวยงามให้กับลวดลาย ออกแบบให้เป็น Modular สามารถนำมาประกอบปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลาย

โดยในงานบ้านและสวนแฟร์ select 2021 จะพบกับแผงไม้ไผ่นี้ใช้งานต่างกันถึง 3 รูปแบบคือ 1 ฉากโปร่งสำหรับบังตาและตกแต่ง 2 ฉากสี สำหรับใช้เป็นฉากกั้น 3 โต๊ะไม้ไผ่ ที่นำเอาแผงไม้ไผ่มาประกอบกันเป็นลูกบาศก์