Yoshitomo Nara : เด็กผู้หญิงจากลายเส้นง่ายๆ ผู้ใช้ดวงตากลมโตเป็นหน้าต่างของหัวใจ

Yoshitomo Nara ประวัติ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ได้ต้อนรับ Yoshitomo Nara ศิลปินป๊อปอาร์ตงานลายเส้นที่มาอินโทรให้กับงาน Bangkok Art Biennale 2018 ด้วยการบรรยายเล่าเรื่องราวชีวิตที่หล่อหลอมให้เกิดงานศิลปะอย่างที่เราเห็นกันชินตาทั่วไปในภาพของเด็กผู้หญิงกับสุนัขสีขาวของเธอ ก่อนที่ผลงานของเขาจะถูกนำมาจัดแสดงในงาน Bangkok Art Biennale ช่วงปลายปีนี้

Yoshitomo Nara ประวัติ
นาระ และคาแร็กเตอร์ทั้งสองที่เป็นที่รักของคนทั่วโลก (ภาพจาก yomyomf.com)
ภาพจาก ocula

นาระเกิดในปี 1959 ในเมืองอาโอโมริ ทางภาคเหนือของประเทศญี่ปุ่น คุณพ่อของเขาเป็นคนค่อนข้างมีฐานะ ส่วนคุณแม่เป็นครอบครัวเกษตรกร แต่ถึงกระนั้น เขาก็จะชอบไปเยี่ยมเยือนทางฝั่งบ้านแม่มากกว่า ในช่วงที่เขาเกิดจนกระทั่งเติบโต เป็นช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นยังไม่ถูกพัฒนาอย่างทั่วถึง ความเจริญกระจุกตัวอยู่ในแถบเมืองหลวงอย่างโตเกียว ค่อนลงไปถึงเกาะด้านล่างอย่างคิวชู สืบเนื่องมาจากการจัดงาน World Expo ที่โอซะกะ เกาะทางภาคเหนือของญี่ปุ่นจึงยังคงสภาพความเป็นชนบทอย่างแท้จริง

นาระสมัยยังหนุ่ม (ภาพจาก pbworks.com)
ภาพจาก studiointernational.com

ชีวิตในวัยเด็กของเขาจึงได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่รายรอบด้วยข้าวของตามธรรมชาติ ทุกสิ่งหยิบจับหาได้จากท้องถิ่นใกล้บ้าน ชีวิตแบบเรียบง่าย ตอนเด็กๆ เขาไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่าตัวเองชอบหรือมีความถนัดอะไร แค่มีเพื่อนๆ บอกว่าเขาวาดรูปได้ดี และการได้รับมอบหมายจากเพื่อนๆ ให้วาดภาพสูงโอเวอร์สเกลสำหรับร่วมงานประเพณีในหมู่บ้านจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาพอรู้ตัวว่าทำงานศิลปะได้ และเข้าศึกษาต่อในด้านศิลปะ

นอกจากงานศิลปะ (ที่ตอนนั้นเขาก็ยังไม่แน่ใจตัวเองว่ารักมากไหม) เขาก็ชอบเดินทางท่องเที่ยว ถึงขั้นนำเงินค่าเทอมชั้นปีที่สองของมหาวิทยาลัยไปท่องเที่ยวในประเทศปากีสถาน นั่นทำให้การเรียนมหาวิทยาลัยแรกไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่ออายุ 20 จึงกลับเข้ามาเรียนศิลปะต่อที่มหาวิทยาลัยไอจิ และจบจากที่นี่ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท หลังจากนั้นเขาก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมัน

นาระในสตูดิโอวาดภาพของเขา (ภาพจาก pinterest)
ในสตูดิโอที่เนืองแน่นไปด้วยภาพวาดลายเส้นง่ายๆ แต่เป็นคาแร็กเตอร์ที่ถูกจดจำไปทั่วโลก (ภาพจาก pinterest)

กลับมาพูดกันถึงเรื่องผลงาน เขาสังเกตตัวเองว่าชอบวาดรูปเด็กผู้หญิงด้วยลายเส้นแบบง่ายๆ มาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีแล้ว จนความนึกคิดนำพาให้สานต่อเป็นรูปของเด็กผู้หญิงตาโตคนนี้ หากสืบย้อนกลับไป ลายเส้นง่ายๆ แบบนี้เกิดจากอิทธิพลของมังงะและอะนิเมะ แต่แท้จริงแล้วยังซ่อนปรัชญาอะไรไว้มากมาย นั่นก็มาจากระหว่างที่เขาเติบโตอยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และดนตรีพังค์ร็อก ความรู้สึกนึกคิดของเขาจึงอยู่กับเรื่องราวของเสรีภาพ ความบริสุทธิ์ ความไร้เดียงสา จนนเป็นที่มาของความรู้สึกแตกต่างกันที่แฝงอยู่ในตัวของเด็กผู้หญิงคนนี้

เด็กผู้หญิงที่แสดงออกเรื่องเสรีภาพผ่านสีหน้าและท่าทาง
Light My Fire จากเด็กผู้หญิงในกระดาษกลายมาเป็นงานประติมากรรม ที่แขนข้างหนึ่งเกิดไฟลุก (ภาพจาก wikipedia)
Sorry I Couldn’t Draw Right Eye ผ้าก็อซจากเหตุบังเอิญที่ปิดตาข้างนั้นเอาไว้ระหว่างการรอเพื่อวาดใหม่ แต่พอกลับมาดูแล้ว แบบปิดตาแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน (ภาพจาก pinterest)

นาระจดจำความรู้สึกต่างๆ ในช่วงยังเป็นเด็กได้อย่างแม่นยำ และสภาพแวดล้อมเหล่านั้นส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อผลงานของเขา โดยการหยิบยืมสิ่งแวดล้อมและจินตนาการครั้งยังเป็นเด็กมาเป็นผู้ขับเคลื่อนให้ตัวละครเด็กผู้หญิงคนนี้มีชีวิตจิตใจ บางทีเธอก็เกรี้ยวกราด บางทีเธอก็ดูเศร้า บางทีเธอก็ดูซึ้ง แต่ขอให้รู้ว่านั่นคือความรู้สึกที่แท้จริงของเธอ

ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยและนาระมีอยู่อย่างแนบแน่น ครั้งหนึ่งในสมัยเกิดซึนามิในประเทศไทย เขาได้นำสุนัขสีขาวขนาดยักษ์ทำจากไฟเบอร์กลาสมาตั้งไว้ริมหาดป่าตอง และตั้งชื่อมันว่า Phuket Dog เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับเหยื่อจากเหตุการณ์ซึนามิ และเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่ทำให้หาดป่าตองกลับมาฟื้นคืนชีพและมีชีวิตชีวาอีกครั้ง นับเป็นการใช้งานศิลปะเพื่อฟื้นฟูชีวิตและจิตใจของมนุษย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

Your Dog in Phuket (ภาพจาก sothebys.com)
นอกจากจะเป็นงานประติมากรรมแล้ว ยังถูกแปลงเป็นฟังก์ชั่นน่ารักแบบไทยๆ อย่างการเป็นร่มกำบังสำหรับหลบแดดริมชายหาด (ภาพจาก lonelyplanetimage.com)

ปัจจุบัน นาระยังคงถูกรับเชิญให้ไปแสดงงานของตัวเองทั่วโลกในหลากหลายประเภทชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็นงานเพ้นติ้ง หรืองานประติมากรรม แต่ถ้าหากมีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุ่นและอยากชมผลงานของนาระให้จุใจ แนะนำให้ไปที่ Aomori Museum of Art พิพิธภัณฑ์ศิลปะในบ้านเกิดของเขา ซึ่งรวบรวมผลงานโดยนาระกว่า 120 ชิ้น หรือถ้ายังไม่มีแพลนไปที่ไหน อดใจรอปลายปีนี้ ที่กรุงเทพฯ นาระจะกลับมาพร้อมผลงานของเขาเพื่อจัดแสดงในงาน Bangkok Art Biennale โดยเฉพาะ

Aomori Museum of Art (ภาพจาก aomori.com)
Aomori Ken ซิกเนเจอร์ของ Aomori Museum of Art (ภาพจาก japan-guide.com)

เรื่อง : skiixy

อ่านต่อกิจกรรมอื่นๆ และทำความรู้จักศิลปินท่านอื่น  :  Bangkok Art Biennale2018 “สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต” (Beyond Bliss)


“หวง หย่ง ผิง” ศิลปินด้วย ผู้มี Passion อันแรงกล้าต่อการแสดงทัศนะต่อต้านลัทธิสังคมนิยม และขนบศิลปะทางการของจีนทำความรู้จัก “ชเว จอง ฮวา” หนึ่งในศิลปิน “BAB2018” ผ่านศิลปะที่มีหัวใจหลักเป็นผู้ชม3 งาน Installation สุดเจ๋งจาก Elmgreen & Dragset ศิลปินผู้ไม่เคยเรียนด้านศิลปะ

รู้จัก ‘เฮริ โดโน’ ศิลปินชาวอินโดนีเซีย ก่อนรอชมผลงานใน Bangkok Art Biennale 2018