8 ขั้นตอนเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่น

ปัจจุบัน เครื่องทำน้ำอุ่น ดูเหมือนเป็นสิ่งจำเป็นในบ้านไปแล้ว (แม้อากาศจะไม่หนาวก็ตาม) เพราะหลายคนเชื่อว่าการอาบน้ำอุ่นจะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย และรู้สึกสดชื่น สบายตัว ไปดู วิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่น แบบง่าย ครบ จบใน 8 ขั้นตอนกัน

เครื่องทำน้ำอุ่นมีให้เลือกใช้งานหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมใช้กันตามบ้านทุกวันนี้คงหนีไม่พ้นระบบไฟฟ้าเพราะติดตั้งได้สะดวกและใช้งานง่าย อย่างไรก็ดีเครื่องทำน้ำอุ่นก็มีคุณสมบัติเด่นด้อยแตกต่างกันไป ดังนั้นเมื่อพูดถึง วิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่น การจะเลือกเครื่องชนิดใดมาใช้งาน เราก็ควรพิจารณาในหลายๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบทำความร้อน กำลังวัตต์ รวมถึงเรื่องความปลอดภัยที่ไม่ควรมองข้าม เครื่องทำน้ำอุ่นยี่ห้อไหนดี 

ขั้นตอนที่ 1 | ระบบทำความร้อน

เปรียบเสมือนหัวใจของเครื่องทำน้ำอุ่น แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ

1. แบบน้ำผ่านร้อน

น้ำจะไหลผ่านท่อหรือขดลวดทองแดงทำให้ได้น้ำร้อนเร็วทันใจและไหลแรงตัวเครื่องมีขนาดกะทัดรัด (ดูเพรียวบาง)แต่อาจมีปัญหาเรื่องความคงที่ของอุณหภูมิน้ำหากแรงดันน้ำอ่อนหรือไม่สม่ำเสมอ และมีโอกาสเกิดการอุดตันภายในท่อได้ง่าย จากหินปูนที่มากับน้ำ

เครื่องทำน้ำอุ่น

2. แบบหม้อต้ม

น้ำจะไหลผ่านหม้อทองแดงหรือวัสดุสังเคราะห์ แล้วทำให้น้ำร้อนด้วยขดลวดความร้อน  ก่อนจะปล่อยน้ำออกไปใช้งาน จึงต้องใช้เวลาสักครู่ก่อนที่น้ำจะอุ่น

ระบบทำความร้อนแบบหม้อต้มนี้ สามารถแบ่งย่อยได้อีก2 ชนิด ได้แก่

2.1 หม้อทำความร้อนจากทองแดง ทนความร้อนได้ดี มีอายุการใช้งานยาวนาน แต่มีโอกาสเกิดตะกรัน ถ้าใช้กับน้ำที่ไม่ผ่านระบบกรองที่ดี

เครื่องทำน้ำอุ่นยี่ห้อไหนดี

2.2 หม้อทำความร้อนจากวัสดุสังเคราะห์ หรือพลาสติกคุณภาพสูงอย่าง “กริลลอน” (Grilon)ซึ่งเป็นวัสดุเดียวกับที่ใช้ทำหม้อน้ำในรถยนต์รุ่นใหม่ๆสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 260 องศาเซลเซียส แต่ถ้าเป็นวัสดุเลียนแบบ ใช้พลาสติกคุณภาพต่ำ อาจรั่วซึมได้ง่าย ไม่สมราคากับการออกแบบหม้อต้มที่เป็นชิ้นเดียวแบบไร้รอยต่อ

ขั้นตอนที่ 2 | ระบบป้องกันไฟดูดไฟรั่ว

ระบบป้องกันไฟดูดโดยการตัดไฟฟ้าอัตโนมัติภายในเครื่องทำน้ำอุ่นหากมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลนั้น มี 2 ระบบ คือ

  • ELCB (Electronic Earth Leakage Circuit Breaker) หรือ ELB เป็นเบรกเกอร์กันไฟดูดที่มีหน้าตาคล้ายๆกับเซฟตี้เบรกเกอร์ของปั๊มน้ำ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ ถ้ามีกระแสไฟฟ้ารั่วเบรกเกอร์ELCB จะตัดไฟฟ้าออกจากระบบภายในเสี้ยววินาที (0.01-0.1 วินาที) หากมีกระแสไฟรั่วเพียง 15 มิลลิแอมป์ จึงป้องกันไฟฟ้าดูดได้ทันท่วงที การทำงานเป็นระบบกลไก (Mechanic)ดังนั้นเราควรต้องหมั่นกดปุ่ม TEST บนแผงหน้าปัดอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อความมั่นใจว่าระบบตัดไฟยังทำงานดีอยู่
  • ELSD (Electronic Leakage Safety Device) หรือ ESDจริงๆแล้วก็คือ ELCB ที่พัฒนาให้เป็นแผงวงจรตัดไฟอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องทำน้ำอุ่นไปในตัว จึงทำให้ผู้ผลิตดีไซน์ตัวเครื่องทำน้ำอุ่นให้มีขนาดเล็กลงได้ สามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว หากมีไฟฟ้ารั่วไหลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ขั้นตอนที่ 3 | มิเตอร์ไฟฟ้าและขนาดสายไฟ

ก่อนตัดสินใจเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นมาใช้งาน เราต้องรู้ว่ามิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้านสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าได้กี่แอมแปร์  (A)เพราะหากเราเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีอัตราการกินไฟไม่สัมพันธ์กับมิเตอร์ไฟฟ้า อาจส่งผลให้เกิดไฟกระชาก ทำให้ตัวเครื่องได้รับความเสียหายและผู้ใช้อาจได้รับอันตรายอีกด้วย โดยมีข้อแนะนำง่ายๆดังนี้

  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 5 (15)A ควรเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่กินไฟไม่เกิน 3,500วัตต์
  • มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15(45) A สามารถเลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่นขนาด 4,500 วัตต์ หรือ 6,000 วัตต์

นอกจากนี้การเลือกขนาดของสายไฟที่ใช้งานร่วมกับเครื่องทำน้ำอุ่นต้องได้มาตรฐาน (ขนาดสายไฟไม่เล็กเกินไป) เหมาะสมกับกำลังไฟของเครื่อง โดยมีสูตรคำนวณคร่าวๆดังนี้

หากเราเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีกำลังไฟ 3,500 วัตต์ ให้หารด้วย 1,320 จะได้ผลลัพธ์ 2.65 หมายความว่าเราจะต้องเลือกใช้สายไฟที่มีหน้าตัดไม่น้อยกว่า 3 SQ.MM สูตรนี้สามารถนำไปคำนวณการเดินสายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆได้อีกด้วย

ขั้นตอนที่ 4 | เลือกกำลังวัตต์ให้เหมาะกับการใช้งาน

วัตต์ (Watt) ในที่นี้คือ ขนาดกำลังไฟฟ้าของเครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องที่มีกำลังวัตต์มาก ความสามารถในการทำความร้อนก็ยิ่งมากขึ้นนั่นเอง โดยเลือกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของสถานที่ที่นำไปใช้ อย่างกรุงเทพฯและปริมณฑลเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นขนาด 3,500 -4,500 วัตต์ก็เพียงพอแล้ว เพราะสภาพอากาศไม่ได้หนาวเย็นมากแถมยังประหยัดค่าไฟและประหยัดเงินในกระเป๋าอีกต่างหาก แต่สำหรับพื้นที่อย่างภาคเหนือตอนบนของไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว มีสภาพอากาศที่หนาวเย็นมากๆ ก็ควรเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีกำลังวัตต์สูงหน่อยประมาณ 6,000 วัตต์

ขั้นตอนที่ 5 | แผงควบคุม

เครื่องทำน้ำอุ่นส่วนใหญ่จะให้น้ำอุ่นที่อุณหภูมิประมาณ 35-45 องศาเซลเซียส สำหรับแผงควบคุมหลักๆมี 2 ระบบคือ

เครื่องทำน้ำอุ่นยี่ห้อไหนดี
  • ระบบแมนนวล(Manual) เป็นระบบเปิด-ปิดเพื่อปรับระดับความร้อนของน้ำด้วยการหมุนหรือกดปุ่มเบอร์ 1, 2, 3 ด้วยกลไกง่ายๆไม่ซับซ้อน จึงใช้งานได้สะดวกและทนทาน แต่ไม่สามารถบอกอุณหภูมิของน้ำขณะใช้งานได้
  • ระบบดิจิทัล(Digital) เป็นระบบที่ใช้แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม ซึ่งมีจอแสดงอุณหภูมิเป็นตัวเลขจึงใช้งานง่ายและรักษาระดับอุณหภูมิน้ำให้คงที่ แต่หากเสียก็ซ่อมแซมยากและแพงสักหน่อย

ขั้นตอนที่ 6 | หัวฝักบัวปรับสายน้ำได้

เครื่องทำน้ำอุ่นยี่ห้อไหนดี

หัวฝักบัวที่ปรับสายน้ำได้ เป็นสิ่งที่คนรักสุขภาพไม่ควรพลาด เพราะนอกจากจะช่วยให้เราสนุกกับการอาบน้ำอุ่นแล้ว ยังช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและลดอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานได้ดี โดยมี 1-5 ระดับหรือมากกว่านั้น ให้เลือกใช้ตามความชอบ(ขึ้นอยู่กับระดับราคาและรุ่นของเครื่องทำน้ำอุ่น) อาทิ Spray สายน้ำที่ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อและกระชับผิวกาย , Massage เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการผ่อนคลายเหมือนมีโฮมสปาส่วนตัว หรือ Jet สายน้ำพลังแรงนุ่มแต่ละเอียด ช่วยบรรเทาความเมื่อยล้าได้ดี

ขั้นตอนที่ 7 | แรงดันน้ำต้องเพียงพอ

เครื่องทำน้ำอุ่นยี่ห้อไหนดี

เนื่องจากแรงดันน้ำที่ออกจากก๊อกน้ำมีผลอย่างมากต่อการควบคุมอุณหภูมิของน้ำ ถ้าเบาเกินไปอาจทำให้เครื่องทำน้ำอุ่นไม่ทำงานหรือทำงานผิดปกติได้  แรงดันน้ำที่เพียงพอกับการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นอยู่ที่แรงดัน 0.10 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตรเราสามารถเช็กแบบง่ายๆด้วยตัวเอง โดยการต่อสายยางจากท่อน้ำที่จะติดตั้ง เมื่อยกปลายสายยางสูงจากก๊อก 2 เมตร น้ำต้องไหลได้สะดวกอยู่หรือเปิดน้ำจากฝักบัวให้สุด แล้วหงายฝักบัวขึ้น ถ้าน้ำพุ่งสูงมากกว่า 60 เซนติเมตร แสดงว่าแรงดันน้ำสูง สามารถติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นได้ แต่ถ้าแรงดันน้ำไม่พอก็ต้องติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อช่วยเพิ่มแรงดันน้ำในท่อให้สูงขึ้น ที่สำคัญควรใช้ช่างที่มีประสบการณ์มาติดตั้ง(ที่สำคัญอย่าลืมต่อสายดิน) เราก็จะมีน้ำอุ่นๆไว้ใช้งานและปลอดภัยอีกด้วย

ขั้นตอนที่ 8 | การรับประกันและบริการหลังการขา

เครื่องทำน้ำอุ่นมีให้เลือกใช้มากมายหลายแบรนด์ บางคนก็มีแบรนด์ที่น่าเชื่อถืออยู่ในใจแล้ว แต่หลายท่านก็ดูๆไว้แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ แนะนำว่าควรเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นจากผู้ผลิตที่ได้การรับรองมาตรฐานหรือได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ เครื่องหมายรับรองคุณภาพจาก มอก. ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5ฯลฯ แม้จะมีราคาสูงกว่าเครื่องทำน้ำอุ่นโนเนม แต่รับประกันในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง

  • ตัวฮีทเตอร์ทำความร้อน และระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐาน ควรมีการรับประกันอย่างน้อย 1 ปี
  • ตัวหม้อต้มที่ได้คุณภาพและปลอดภัยควรเลือกที่มีการรับประกันอย่างน้อย 5 ปี

นอกจากนี้เวลาที่เราไปเดินซื้อตามห้างสรรพสินค้า ผู้ขายหรือตัวแทนสินค้ามักจะหว่านล้อมต่างๆนานาเพื่อให้เราลังเล หรือเปลี่ยนใจไปใช้สินค้าอีกแบรนด์ ดังนั้นแนะนำว่าอย่าเชื่อคำโฆษณาเกินจริงหรือเห็นแก่ของแถมเล็กน้อยมากเกินไป เราควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้กระจ่างก่อนตัดสินใจซื้อด้วยความมั่นใจเต็มร้อยและอย่าลืมถามหาใบรับประกันสินค้าด้วย


ภาพประกอบ : อติยาฮ์ ศุภกุล


รู้จักเครื่องกรองน้ำ ระบบกรองน้ำดื่มน้ำใช้ในบ้าน

งานช่างในห้องน้ำ ที่ใครๆ ก็ทำได้

รวมบริการงานช่าง รีโนเวต-ซ่อมแซม-ดูแลบ้าน

ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag