ส่วนบ้านหลังเดิมนั้น เนื่องจากมีความสูงจากพื้นถึงเพดานเพียง 2.40 เมตร จึงต้องทุบผนังและเปลี่ยนเป็นช่อง เปิดกระจกบานใหญ่รอบด้านแทนเพื่อสร้างความรู้สึก โปร่งโล่ง ไม่ทึบตัน บริเวณห้องนั่งเล่นคุณโรจน์เลือกทุบ พื้นชั้น 2 ของห้องนอนหลักออก จนเกิดพื้นที่แบบดับเบิ้ลสเปซ พร้อมเว้นพื้นที่ว่างบนผนังไว้สำหรับฉายโปรเจ็คเตอร์ ดูภาพยนตร์ได้อย่างเต็มตา นอกจากนี้ยังได้ต่อเติมพื้นที่ใช้งานด้านหลังชั้น 1 สำหรับเป็นห้องครัว ห้องรับประทาน อาหาร และห้องนั่งเล่น ส่วนชั้น 2 ออกแบบเป็นพื้นที่ส่วนตัว แบ่งเป็นห้องนอนหลัก ห้องนอนแขก และห้องแต่งตัว
เมื่อถามว่าการรีโนเวตบ้านหลังนี้สิ่งใดคือความท้าทายที่สุด คุณโรจน์เล่าว่า น่าจะเป็นโครงสร้างและการเลือกใช้วัสดุ ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดหลักในการออกแบบอย่างหลังคาในส่วนบ้านเดิม แม้จะอยากเปลี่ยนเป็นวัสดุอื่นที่แข็งแรงกว่าเเค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะโครงสร้างหลังคาเดิมไม่สามารถรองรับน้ำหนักมากๆได้ จึงต้องเปลี่ยนจากกระเบื้องใยหินให้เป็นกระเบื้องลอนคู่ และรับน้ำหนักด้วยแปเหล็กแทนแปไม้ สำหรับส่วนที่ต่อเติมใหม่เขาเลือก ออกแบบหลังคาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กแฟลตสแล็บให้มาชนกับหลังคาจั่วเดิม เพื่อแก้ปัญหารอยต่อระหว่างหลังคาเก่ากับใหม่ อีกทั้งยังสามารถรองรับน้ำหนักได้มากพอหากต้องการต่อเติมในอนาคต แต่เมื่อโครงสร้างเก่ากับใหม่ต้องเชื่อมต่อเสมอกันแบบนี้ คุณโรจน์จึงต้องรักษาระดับความสูงของห้องให้เท่ากันด้วยการเลือกที่จะไม่ตีฝ้า นอกจากจะได้ห้องที่ดูโปร่งโล่งไม่อึดอัดแล้ว ยังช่วยให้การซ่อมแซมงานระบบเป็นเรื่องง่ายขึ้นด้วย
“ผมไม่ชอบอะไรปลอม ๆ ผมชอบวัสดุดิบๆ” สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ได้จากบ้านหลังนี้คือการใช้สัจวัสดุอย่างไม้เก่า ปูนเปลือย ปูนขัดมัน ตำหนิบนแนวผนังเดิม หรือแม้กระทั่งคานปูนหลังจากการถอดไม้แบบออกแล้ว ทำให้บ้านหลังนี้ยังเหลือร่องรอยความทรงจำของพื้นที่ในอดีต ผสมผสานกับหน่วยความทรงจำใหม่ของปัจจุบันและอนาคต
เจ้าของ : คุณโรจน์ กาญจนปัญญาคม
ออกแบบ : ATOM Design โทร.0-2307-8355 www.atomdesign.co.th
อ่านบ้านหลังอื่นๆ ต่อได้ที่ : Houses
เรื่อง : foryeah!
ภาพ : นันทิยา, อนุพงษ์
สไตล์ : วนัสนันท์ ธีรวิฑูร
ภาพประกอบ : คณาธิป