บ้านโมเดิร์นผสมสเปซไทยที่เปิดวิวสู่ดอยสุเทพ

บ้านวิวภูเขาทรอปิคัลโมเดิร์น ที่เจ้าของตั้งชื่อว่า “บ้านดาวหาง” สร้างมุมมองและออกแบบแนวแกนบ้านไปยังดอยสุเทพ เปิดสเปซให้แสงธรรมชาติเข้ามาสร้างมิติ และอยู่สบายแบบทรอปิคัลโมเดิร์น

Designer Directory

ออกแบบสถาปัตยกรรม : MITR ARCHITECTS โทรศัพท์ 08-7579-9223
ออกแบบตกแต่งภายใน : Studio Sifah โทรศัพท์ 09-5950-5198
ก่อสร้าง : คุณอริน เปรมโสตร์ โทรศัพท์ 08-9191-4731

บ้านวิวภูเขาทรอปิคัลโมเดิร์น
บ้านวิวภูเขาทรอปิคัลโมเดิร์น
บ้านดาวหางที่เริ่มต้นเรื่องราวของบ้านจากทางเดินจงกรมหลังบ้าน นำไปสู่การออกแบบบ้านที่มีปฏิสัมพันธ์กับแสงและการใช้ชีวิตของคนในบ้าน โดยเก็บต้นไม้เดิมแล้วทำพื้นชานล้อม ให้มีความสูงพอสำหรับนั่งห้อยขาได้ ใช้เป็นลานนั่งเล่นสังสรรค์กับเพื่อนฝูง

“บ้านดาวหาง” เป็นชื่อที่เจ้าของบ้านตั้งขึ้นจากรูปทรงที่ดินของบ้านที่เป็นสามเหลี่ยมด้านไม่เท่า มีลักษณะหัวโตและมีหางเรียวยาวเหมือนดาวหาง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านสัจธรรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นของคู่อาจารย์สามีภรรยา อาจารย์หม่อน – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาเชียงใหม่ และอาจารย์ปัด – เภสัชกรหญิงจันทร์นภัสสร์ ธราวิจิตรกุล อาจารย์ประจำคณะเภสัชกรรมศาสตร์ มหาวิทยาเชียงใหม่  ออกแบบสถาปัตยกรรมโดย Mitr Architects และออกแบบตกแต่งภายในโดย Studio Sifah บ้านวิวภูเขาทรอปิคัลโมเดิร์น

อาจารย์หม่อนเล่าให้ฟังว่า “เจ้าของเดิมใช้บ้านนี้ปฏิบัติธรรม ซึ่งปีหนึ่งจะมาใช้งานไม่กี่ครั้ง โดยผังเดิมทำส่วนหน้าบ้านเป็นที่พักอาศัย มีทางเดินจงกรมที่มีหลังคาคลุมอยู่ด้านหลังบ้าน แต่หลังคาส่วนนี้เตี้ยมากตามสัดส่วนคุณป้าเจ้าของบ้านคนเดิมที่สูงประมาณ 150 เซนติเมตร จึงรื้อบ้านเดิมออกแล้วสร้างใหม่เป็นบ้าน 2 ชั้น โดยเก็บโครงสร้างทางเดินจงกรมไว้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของบ้าน”

บ้านวิวภูเขาทรอปิคัลโมเดิร์น
ออกแบบชานพักหน้าบ้านให้นั่งได้ ทำเสาและระแนงไม้ให้ต่อเนื่องเข้าไปในตัวบ้าน เพื่อให้สัมพันธ์กับส่วนของชั้น 2 ที่เป็นไม้เช่นกัน
ผนังกระจกหน้าบ้านเปิดให้แสงส่องผ่านและมีเงาของระแนงไม้สาดเข้ามาสร้างมิติที่สวยงาม

บ้านที่โปร่ง ลื่นไหล สบายใน

“ผมอยู่และโตมาจากบ้านฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นบ้านของคุณพ่อกับคุณแม่ที่มีการแบ่งห้องจำนวนมาก ทำให้มีผนังเยอะ พื้นที่ในบ้านจึงถูกตัดขาดจากกัน ความฝันของผมจึงอยากได้บ้านที่มีความต่อเนื่องของพื้นที่และมีเพดานสูง

จากความฝันในอดีตของเจ้าของบ้าน จึงนำมาสู่การออกแบบบ้านที่มีทั้งดับเบิลสเปซ การเล่นระดับ เพื่อสร้างสเปซที่ไหลลื่น โดยมีโครงสร้างเดิมที่ใช้อ้างอิงในการออกแบบคือความสูงของทางเดินจงกรม แล้วจึงสร้างบ้านให้ล้อไปกับความสูงนั้น สร้างระนาบแนวนอนที่หลากหลาย ค่อยๆเยื้องขึ้นมาให้ลดหลั่น ทำให้เกิดความรู้สึกโปร่ง ลื่นไหล สบาย

“คำว่าสบายของผมคือทุกขอบพื้นภายในบ้านต้องนั่งได้อย่างเอกเขนก ถ้ามองในรูปตัดกับรูปด้านของบ้านก็จะเห็นการเล่นระดับแบบลดหลั่นที่หลากหลาย จนทำให้ในหลายส่วนของบ้านสามารถนั่งลงเกลือกกลิ้งไปกับพื้นได้โดยไม่รู้ตัว และเมื่อแสงลอดเข้ามาจากช่องเปิดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทดลองต่างๆ ก็ทำให้แสงเข้ามาถึงทุกพื้นที่ในบ้าน แสงแต่ละช่วงเวลาที่สาดลอดเข้ามาในบ้านก็ให้ความรู้สึกที่สวยต่างกัน นั่งมองนอนมองได้ทั้งวันเลย”

บ้านวิวภูเขาทรอปิคัลโมเดิร์น
ทำชานพักรอบพื้นที่ โดยตั้งใจให้ใช้นั่งได้โดยรอบ เป็นแนวคิดแบบบ้านไทยโบราณที่จะมีที่นั่งห้อยขาได้ทั่วบ้าน
ตั้งใจให้เจอครัวเป็นส่วนแรกเมื่อเข้ามาในบ้าน ออกแบบฟังก์ชันการใช้ครัวเท่าที่จำเป็น ทำด้วยไม้หลากเฉดสีเพื่อให้ดูไม่น่าเบื่อ ตั้งโต๊ะรับประทานอาหารขนาดกำลังดีเหมาะกับสมาชิกในบ้านตอนนี้ที่มีกันแค่สองสามีภรรยา
ห้องนั่งเล่นที่อยู่ด้านในสุดของบ้านเพื่อความเป็นส่วนตัว มองออกไปเห็นวิวหลังบ้านที่ทำผนังกระจกบานกว้างจากพื้นจรดเพดานให้แสงเข้ามา แบ่งสัดส่วนด้วยการติดผ้าม่านโค้งรอบพื้นที่
โมเดล “ประติมากรรมแห่งแสง” พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่อาจารย์หม่อนได้ออกแบบร่วมกับอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเวลา 15.52 น. หรือระหว่างเวลา 15.00 – 16.00 น. แสงจะพาดผ่านทำให้เห็นเป็นภาพของพระองค์ เป็นอีกหนึ่งผลงานความภาคภูมิใจของอาจารย์หม่อนที่นำมาวางประดับตกแต่งบ้าน

เฟรมภาพอดีตที่มีความหมายต่อปัจจุบัน

เจ้าของบ้านยังคิดถึงการเชื่อมต่อภาพอดีตและปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ “ออกแบบผนังด้านหลังโซฟาเป็นเฟรมกระจกยาว เพื่อให้เห็นรอยต่อของระหว่างบ้านที่สร้างใหม่กับทางเดินจงกรมเก่าที่คุณป้าเจ้าของบ้านเดิมใช้เดินอยู่ตรงนี้มานานกว่า 20 ปี เราตั้งใจสร้างให้มันมาต่อกัน โดยเว้นช่องว่างของรอยต่อไว้ ซึ่งนอกจากจะเป็นทั้งทางไหลของน้ำและเรื่องของสเปซแล้ว การออกแบบให้เกิดระยะห่างกันนิดหน่อยทำให้เป็นจุดที่ดูพิเศษ เกิดเป็นเรื่องเล่าระหว่างความเก่ากับใหม่ อดีตกับปัจจุบัน ผนังนี้จึงเป็นเสมือนเฟรมงานศิลปะขนาดใหญ่ที่บรรจุเรื่องราวและบทสนทนาของบ้านไว้” บ้านบ้านวิวภูเขาทรอปิคัลโมเดิร์น

เจาะผนังให้เสมือนเป็นเฟรมรูปภาพ โดยใช้กระจกไร้กรอบที่ไม่บดบังมุมมอง
บ้านวิวภูเขาทรอปิคัลโมเดิร์น
เงาของเสาที่ทอดผ่านทำให้เกิดแสงและเงาที่ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ทำงานไม่ต่างจากนาฬิกาแดด
บ้านวิวภูเขาทรอปิคัลโมเดิร์น

นาฬิกาแดด ปรากฏการณ์แสงที่ดีต่อใจ

ออกแบบทางเชื่อมเดินระหว่างบ้านไปยังสตูดิโอที่จะสร้างในอนาคต โดยรื้อทางเดินจงกรมให้เหลือเสาเปลือยซึ่งทุบหลังคาทางเดินเก่าออก เสาเหล่านี้ไม่ใช่เป็นแค่ตัวกำหนดสเปซ แต่สำหรับอาจารย์หม่อนคือ นาฬิกาแดด โดยทดสอบทางเดินของแสงแดดในระหว่างการออกแบบ เพื่อค่อยๆสังเกตดูเงาของเสาว่าจะเคลื่อนที่ไปทางไหน “ผมตั้งใจปล่อยเสาทิ้งไว้ เพราะเมื่อถึงเวลาพิเศษของปี มันจะแสดงเงาเฉพาะขึ้นมา ผมเรียกตรงนี้ว่าเป็น ‘แนวกระดูกสันหลัง’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของบ้านหลังนี้ เพราะเมื่อมองจากผังจะเห็นว่าแนวแกนของกระดูกสันหลังนี้ตรงไปถึงดอยสุเทพเลย”

มุมมองจากหลังบ้านที่เลือกติดรูปเพียงรูปเดียวซึ่งเป็นรูปฝีมือของคุณพ่อซึ่งเป็นจิตรกร
ทำบันไดปูนเปลือยให้มีระดับความสูงเท่ากับทางเดินหลังบ้าน สถาปนิกออกแบบให้มีเส้นโค้งของพื้นชั้น2 ทำให้บ้านที่เป็นเส้นตรงมีลูกเล่นมากขึ้น
มุมมองจากทางเดินหลังบ้านที่เป็นแกนหลักเป็นเส้นตรงหันหน้าไปทางดอยสุเทพ เปิดผนังโครงคร่าวโชว์ความเนี้ยบของช่าง ทำช่องแสงสกายไลต์ให้แสงลอดผ่านทาบกับผนังบ้านที่มีพื้นผิวไม่เรียบ
บ้านวิวภูเขาทรอปิคัลโมเดิร์น
บ้านวิวภูเขาทรอปิคัลโมเดิร์น
ส่วนนั่งเล่นชั้น 2 ทำที่นั่งริมหน้าต่างไว้มองวิวฝั่งดอยสุเทพและวิวหลังบ้านได้ มีนอกชานกว้างๆเผื่อไว้สำหรับปาร์ตี้

งานกลุ่มของสถาปนิกกับการทดลองในสเปซจริง

รูปทรงต่างๆในบ้านมีทั้งเส้นตั้ง เส้นนอน รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสและเส้นโค้ง เกิดจากเจ้าของบ้านที่เป็นสถาปนิก ทำงานร่วมกับพี่น้องสถาปนิกร่วมคณะอีก 3 คน คือ Mitr Architects, Studio Sifah และ คุณอริน เปรมโสตร์ สถาปนิกที่ผันตัวมารับงานก่อสร้าง ทำให้เกิดการช่วยกันคิดไปด้วยกันในระหว่างการก่อสร้าง อย่างผนังไม้ที่ทำโครงคร่าวเนี้ยบมาก จะปิดทับก็เสียดาย จึงเปลี่ยนเป็นโชว์ให้เห็นเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเลย หรือจันทันก็เช่นกัน ดีไซน์แรกจะปิดด้วยฝ้าฉาบเรียบทึบทั้งหมด แต่ระหว่างก่อสร้างเห็นแสงผ่านเข้าแล้วสวย จึงให้ช่างค่อยๆ ทดลองเปิดช่องแสงให้มีความกว้างต่างๆ จนได้ระยะที่แสงเข้ามาสวยที่สุด บ้านจึงผสมผสานความเนี้ยบ ความหยาบ ความสุก ความดิบของแต่ละคนได้อย่างพอดี

หากจะเปรียบเทียบว่าหางของดาวคือแสงแห่งอดีตที่สวยงามของดาวซึ่งเคลื่อนที่ไปข้างหน้า บ้านนี้ก็เริ่มต้นจากหางที่เป็นอดีตมาสู่ปัจจุบัน และจะเปล่งแสงแห่งความสุขในปัจจุบัน เพื่อนำทางไปสู่อนาคตของครอบครัว

บ้านวิวภูเขาทรอปิคัลโมเดิร์น
มุมมองจากห้องนอนใหญ่ที่เปิดผนังโดยใส่กระจกกว้างให้มองเห็นดอยสุเทพได้อย่างเต็มตา
ห้องน้ำในห้องนอนใหญ่เน้นเรียบๆ สีเข้ม แต่ไม่ลืมที่จะนำเทคนิคของวัสดุที่ให้ความรู้สึกหยาบของคอนกรีตเปลือยมาใส่ไว้ด้วย
ผนังในห้องนอนเล็ก ซึ่งปัจจุบันเป็นห้องนอนแขก ทำผนังปูนเปลือยโชว์พื้นผิวขรุขระจากไม้แบบ เปิดฝ้าให้แสงผ่านเล่นกับพื้นผิวของผนังได้อย่างสวยงาม
ทำหิ้งพระเล็กๆด้วยแผ่นไม้ขนาดพอดีช่องผนัง เว้นเพดานฝ้าให้แสงส่องพอดีกับพระพุทธรูปประจำบ้าน

คอลัมน์ : บ้านสวย มกราคม 2567
เรื่อง : jEedwOndER
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส
สไตล์ : Suntreeya


บ้านชั้นเดียวล้อมคอร์ต พร้อมมุมชมวิวดอยสุเทพ

บ้านสาปเมือง

ติดตามบ้านและสวน