บ้านชั้นเดียวล้อมคอร์ต สไตล์โมเดิร์น ที่มีโถงสูงแบบดับเบิ้ลสเปซและทำสเต็ปภายในบ้านเล็กน้อยเพิ่มความน่าสนใจ พร้อมกับทำดาดฟ้าให้เป็นมุมชมวิวสวยของดอยสุเทพได้
เพราะบ้านไม่ได้เป็นเพียงที่พักพิงอันปลอดภัยให้เราทิ้งตัวลงได้อย่างผ่อนคลายเท่านั้น แต่บ้านยังเติมพลังให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันได้ดีด้วย จึงไม่แปลกเลยที่คุณหมอโอม ศัลยแพทย์ที่ต้องทำงานผ่าตัดอยู่ในโรงพยาบาลบ่อยๆ จะต้องการบ้านที่สามารถผ่อนคลายและชาร์จพลังชีวิตได้ทุกวันราวกับพักผ่อนในรีสอร์ตดีๆ สักแห่ง เป็นที่มาของ บ้านชั้นเดียวล้อมคอร์ต หลังนี้
บ้านชั้นเดียวล้อมคอร์ต ที่มีสเต็ปเล็กน้อย
“ผมเกิดและโตอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่มาตลอดครับ เคยมีบ้านอยู่ในโรงพยาบาลสวนดอก เพราะชอบอยู่บ้านและปลูกต้นไม้ แต่ตอนนั้นเป็นบ้านพักที่แชร์กันอยู่หลายคน ไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัวก็เลยย้ายมาอยู่หอ พอถึงจุดหนึ่งก็อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ให้อยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาล เพราะเวลาต้องทำงานตอนกลางคืนจะได้กลับบ้านสะดวก พอดีมีรุ่นน้องที่อยู่บ้านแถวนี้แนะนำให้มาดูที่ดินใกล้ๆ ในหมู่บ้านเดียวกันนี่แหละ”
นอกจากจะได้คำแนะนำเรื่องที่สำหรับสร้างบ้านแล้วก็ยังมี อาจารย์บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล ผู้ออกแบบประติมากรรมแสง ช่วยแนะนำ คุณโน้ต–วรรัตน์ รัตนตรัย สถาปนิกแห่ง Mitr Architects มาออกแบบบ้านให้ด้วย โดยคุณหมอโอมบอกกับคุณโน้ตไปว่าอยากได้บ้านชั้นเดียวสไตล์โมเดิร์นที่อยู่ได้ยาวๆ ไปจนแก่ เป็นบ้านล้อมสวน มีสระว่ายน้ำด้วยก็ดี ในบ้านแต่งด้วยโทนสีขรึมๆ แบบเทาดำ แต่ต้องดูอบอุ่นผ่อนคลายเหมือนรีสอร์ต มีห้องครัวกว้างขวาง เพราะคุณหมอชอบทำอาหารเอง และก็มีพื้นที่ให้ปาร์ตี้สังสรรค์ด้วย
ความคิดแรกของคุณโน้ตก็คือ “ผมอยากออกแบบให้บ้านดูสว่างและผ่อนคลายสำหรับคุณหมอที่ต้องทำงานหนัก แต่เมื่อพูดคุยถึงไลฟ์สไตล์ก็พบว่าคุณหมอชอบโทนสีขรึมๆ ไม่ชอบบ้านทรงจั่ว อยากได้พื้นที่สีเขียว และก็ชอบพักผ่อนดูทีวี ก็เลยเปลี่ยนไอเดียมาออกแบบให้เป็นบ้านโมเดิร์นชั้นเดียว มีรั้วปิดเหล็กปิดทึบจากด้านหน้าเพื่อพรางสายตาภายนอก ส่วนภายในเปิดโล่งด้วยคอร์ตต้นไม้ที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวกลางบ้าน ทำสเต็ปภายในบ้านเล็กน้อยเพิ่มความน่าสนใจให้บ้านชั้นเดียวดูไม่น่าเบื่อและก็ใช้สเต็ปเล็กๆ นี้แยกฟังก์ชันของพื้นที่ไปด้วย แล้วยังออกแบบให้มีขอบพื้นยกสูงขึ้นมาจากโครงสร้างเป็นที่นั่งห้อยขาชมสวนเพราะอยากให้ใช้สวนคอร์ต ตรงกลางได้อย่างคุ้มค่าที่สุด”
คอร์ตต้นไม้และช่องเปิดรับแสง
เดิมทีความต้องการแรกนั้นอยากมีสระว่ายน้ำด้วย แต่เมื่อคิดถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระยะยาว คุณหมอโอมจึงเปลี่ยนใจให้เน้นเป็นคอร์ตต้นไม้กลางบ้านแทน โดยคุณโน้ตใช้วิธีดันตัวบ้านให้ชิดขอบที่ดินเพื่อให้มีสเปซคอร์ตกว้างสุด แล้วหันหน้าบ้านไปทางทิศตะวันออกสำหรับรับแสงเช้า เน้นทิศทางลมให้เข้าห้องนอน และใช้ม่านช่วยบังแสงในบางส่วนที่ต้องการเปิดแต่ไม่ตลอดเวลา
“เพราะบ้านชั้นเดียวจะถ่ายเทความร้อนได้ยากกว่า ผมจึงออกแบบเพิ่มสเปซเพดานบริเวณโถงนั่งเล่นให้สูงมากเป็นพิเศษราว 6-8 เมตร ทำให้ได้หลังคาแบบเพิงหมาแหงนที่เป็นคาแร็กเตอร์ของบ้านไป แล้วยังเปิดผนังด้านนี้เป็นกระจกใสให้เหมือนเฟรมภาพของท้องฟ้า ซึ่งเป็นมุมที่เห็นเครื่องบินผ่านได้พอดี ในแง่ของฟังก์ชันคือช่วยแก้ปัญหาให้อากาศร้อนมีที่ลอยตัวสูงขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากแดดตอนเช้ามาช่วยฆ่าเชื้อและระบายความอับชื้นไปด้วย พอหลังเที่ยงก็ไม่มีแดดแล้ว แต่ในบ้านยังดูสว่างอยู่ ผมต้องการให้บ้านมีช่องเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาเยอะๆ เพื่อไม่ให้ส่วนตกแต่งสีเทาดำภายในดูมืดทึบเกินไป ส่วนวัสดุตกแต่งก็ผสมทั้งคอนกรีต เหล็ก ไม้ และผ้า”
ภายในบ้านมีพื้นที่ใช้สอยราว 180 ตารางเมตร วางผังเชื่อมต่อกันไปแบบตัวยู (U) เพื่อล้อมคอร์ตเอาไว้ เริ่มจากโถงนั่งเล่นด้านหน้าเชื่อมต่อมาสู่ส่วนรับประทานอาหาร แล้วจึงมีการยกสเต็ปพื้นเล็กน้อยเพื่อแยกพื้นที่ส่วนครัวให้เป็นสัดส่วน ก่อนจะหักมุมอาคารเข้าสู่พื้นที่พักผ่อนของห้องนอน ห้องแต่งตัว และห้องน้ำที่ให้ความสงบและเป็นส่วนตัวสูงสุด
แนวคิดประหยัดพลังงาน
แม้จะออกตัวว่าปลูกต้นไม้ไม่เก่ง แต่คุณหมอโอมก็ให้ความสำคัญกับต้นไม้ตั้งแต่การเลือกสรรต้นไม้ทรงสูงมาเพื่อปลูกให้ร่มเงาไว้หน้าบ้าน โดยเน้นไม้ใบที่ให้ความสดชื่นตลอดทั้งปี
“หน้าบ้านผมมีต้นยีราฟที่ดูโปร่งด้านล่างและส่วนใบด้านบนก็ช่วยบังแสงเพื่อให้บ้านไม่ร้อน พอดีกับผนังกระจกโปร่งในฝั่งที่ยกเพดานขึ้นสูง บวกกับการติดฟิล์มกรองแสงยูวีอย่างดีกับม่านทึบแสงมาช่วยลดความร้อนในตอนกลางวัน ทำให้ไม่เปลืองค่าแอร์มาก เพราะบางวันก็อยากให้แสงแดดมาช่วยลดความอับชื้นและเชื้อราในบ้าน ส่วนบนหลังคาผมติดโซลาร์เซลล์ระบบ On Grid ที่ไม่มีแบตเตอรี่ เพราะเน้นใช้ไฟตอนกลางวัน ช่วยประหยัดค่าไฟได้ครึ่งหนึ่งเลย ใครที่สนใจผมแนะนำว่าให้ลองคำนวณหาค่าเฉลี่ยการใช้ไฟต่อชั่วโมงของตัวเองดูก่อนว่าเท่าไหร่ เน้นใช้ไฟกลางวันหรือกลางคืน จะได้รู้ว่าควรติดโซลาร์เซลล์กี่แผงและต้องการใช้ไฟกี่วัตต์”
ดาดฟ้ากับวิวดอยสุเทพ
นอกจากออกแบบทางเดินได้รอบบ้านแล้ว คุณโน้ตยังออกแบบบันไดเหล็กสำหรับเดินขึ้นไปบนดาดฟ้าวนได้จากหน้าบ้านไปหลังบ้านด้วยเช่นกัน เพื่อให้สามารถขึ้นไปใช้ประโยชน์จากดาดฟ้าที่เปิดโล่งของบ้านชั้นเดียวได้จนกลายเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของบ้านที่น่าสนใจ
“ปกติผมชอบพักผ่อนอยู่บ้าน ส่วนใหญ่ก็ดูหนังหรือทำอาหาร ไม่ก็ปาร์ตี้ คุณโน้ตก็เลยทำดาดฟ้าให้กลายเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ เหมือนรูฟท็อปที่ขึ้นไปปาร์ตี้ได้ และเป็นที่ที่ผมมักจะชอบขึ้นไปนั่งดูวิวดวงอาทิตย์ตกหลังดอยสุเทพ ซึ่งถือว่าเป็นมุมมองสำคัญของการมีบ้านในเชียงใหม่ที่หาไม่ได้จากบ้านที่อื่นแน่นอน”
เจ้าของ : คุณหมอโอม
สถาปนิก : Mitr Architects โดยคุณวรรัตน์ รัตนตรัย
มัณฑนากร : Studio Sifah
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
สไตล์ : Suntreeya