บ้านชั้นเดียวสีขาวหลังเล็ก เรียบง่าย อยู่สบาย
บ้านชั้นเดียวสีขาวหลังเล็ก ในรูปแบบบ้านสไตล์ไทยโมเดิร์น ตามความตั้งใจของเจ้าของบ้านที่อยากมีบ้านเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ห่างจากบ้านคุณพ่อคุณแม่ เพื่อความสะดวกเวลากลับบ้าน และวางแผนระยะยาวเพื่อให้เป็นบ้านสำหรับอยู่อาศัยเมื่ออายุมากขึ้น
Design Directory : Araya Kubota architect


บ้านชั้นเดียวสีขาวหลังเล็ก ขนาด 110 ตารามเมตร สร้างอยู่ในอาณาเขตเดียวกันกับบ้านของคุณพ่อคุณแม่ที่พัทยา และมีบ้านของพี่น้องอีกหลายหลังในบริเวณเดียวกัน เจ้าของบ้าน คุณเชอร์รี่ – อโนทัย เลี้ยงหิรัญกุล และ คุณแจ๊ค – ปวเรศ สมส่วน ปกติทำงานที่กรุงเทพฯและจะกลับบ้านในช่วงวันหยุดเป็นประจำจึงมีความคิดเรื่องการสร้างบ้านเล็ก ๆ สักหลังที่อยู่ไม่ห่างจากบ้านคุณพ่อคุณแม่ เพื่อความสะดวกเวลากลับบ้าน และวางแผนระยะยาวเพื่อให้เป็นบ้านสำหรับอยู่อาศัยเมื่ออายุมากขึ้น
เรียบง่าย อยู่สบาย
บ้านหลังนี้เป็นฝีมือการออกแบบของ คุณนิค – อารยะ คูโบต้า สถาปนิกบริษัท Araya Kubota architect ซึ่งคุณเชอร์รี่ได้ให้ข้อมูลความต้องการเบื้องต้นกับทางสถาปนิก “อยากได้บ้านหลังเล็ก ๆ ดูแลง่าย และกลมกลืนไปกับบ้านหลังใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลกัน อยากให้บ้านโล่ง ๆ มีเฉพาะส่วนที่ใช้งานจริง ๆ เท่าที่จำเป็น และเหมาะสำหรับการอยู่ตอนเกษียณ ซึ่งโชคดีมากที่คุณนิคออกแบบมาให้ครั้งแรกก็ถูกใจเลย มีปรับแค่นิด ๆ หน่อย ๆ แต่ภาพรวมลงตัวพอดี”



ออกแบบ บ้านชั้นเดียวสีขาวหลังเล็ก ให้ตอบโจทย์ตามการใช้งานจริง
บ้านชั้นเดียวสีขาวหลังเล็ก ในรูปแบบบ้านสไตล์ไทยโมเดิร์นที่ดูกลมกลืนไปกับบริบทโดยรอบบนพื้นที่ก่อสร้างที่ถูกกำหนดให้เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตามแนวยาวเหนือใต้ โดยห้องนอนอยู่ในฝั่งทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อหลบแดดในช่วงบ่าย และห้องนั่งเล่นอยู่ฝั่งทิศตะวันตกมีชายคายื่นยาวออกมาเพื่อลดแสงแดดที่จะส่องเข้าบ้าน ออกแบบตามความต้องการที่รองรับการนอนของคุณเชอร์รี่และคุณแจ๊คที่แยกให้แตกต่างกัน โดยคุณเชอร์รี่ต้องการห้องนอนที่โล่งอยู่สบายไม่อึดอัดและค่อนข้างกังวลเรื่องฝุ่นจึงออกแบบให้มีหน้าต่างเพียงด้านเดียวและมีห้องน้ำอยู่ในพื้นที่เดียวกับห้องนอนเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ส่วนคุณแจ๊คชอบให้ห้องนอนที่สามารถเปิดหน้าต่างรับแสงรับลมธรรมชาติได้จึงออกแบบให้มีหน้าต่างเต็มผนังสองฝั่งเพื่อเปิดรับลมได้อย่างเต็มที่ และพื้นที่ส่วนกลางที่อยู่ชิดริมสวนมองเห็นต้นไม้ในสวนได้รอบเป็นพื้นที่ของมุมพักผ่อน โต๊ะกินข้าว และแพนทรี่สำหรับทำอาหารง่าย ๆ เป็นการออกแบบที่ทางสถาปนิกอยากให้ผู้อยู่อาศัยได้ออกมาใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันมากขึ้น ทำให้บ้านหลังนี้มีเพียงฟังก์ชันการใช้งานหลัก ๆ ครบถ้วนตามต้องการ ถึงจะเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ลดทอนฟังก์ชันต่าง ๆ ลง แต่มีรายละเอียดที่น่าสนใจซ่อนอยู่ตั้งแต่ทางเข้าบ้านที่ตั้งใจให้เป็นจุดเปลี่ยนผ่านก่อนเข้า-ออกจากบ้านไปจนถึงภาพรวมของบ้านหลังนี้
“มุมถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน อยากให้มุมนี้มีความพิเศษ เลือกใช้ผนังหินขัดซึ่งเป็นวัสดุยอดนิยมในยุคเดียวกับบ้านพ่อแม่ ทำเป็นผนังโชว์ด้านหลังที่นั่งใส่รองเท้า ลงตัวพอดีกับเก้าอี้หินขัดตัวเก่าที่มีอยู่แล้วยกมาตั้งที่มุมนี้ เพราะทางเข้าบ้านเป็นเหมือนหน้าตาของบ้าน พอทางเข้าสวยเจ้าของบ้านก็จะรู้สึกดีทุกครั้งเวลาเดินผ่านมุมนี้ นอกจากนั้นแล้วยังมีการดึงเอารูปแบบของบ้านในยุค Mid-century ซึ่งน่าจะตรงกับของพ่อแม่นั้น มาปรับใช้กับบ้านหลังนี้ เช่น ซุ้มโค้ง หลังคาจั่วที่มีความโมเดิร์น หลังคาที่สโลปองศาเดียวกันกับบ้านหลังเก่า เพื่อให้เป็นภาษาเดียวกันสอดคล้องกันไป”





พื้นที่ภายในแบ่งการใช้งานอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมาโดยออกแบบให้พื้นที่ส่วนกลางมีฝ้าเพดานสูงเฉียงขึ้นไปตามโครงสร้างหลังคา ทางสถาปนิกได้ออกแบบให้พื้นที่บริเวณนี้เปิดโล่งมองเห็นได้รอบและต่อเนื่องไปถึงมุมทำงานหน้าห้องที่เป็นมุมโปรดของคุณเชอร์รี่
“ตอนแรกที่ออกแบบคิดว่าแค่มีเผื่อไว้เฉย ๆ เอาแล็บท็อปมานั่งทำงานสั้น ๆ แต่เมื่อได้อยู่บ้านนี้จริง ๆ เราได้อยู่นานขึ้นกว่าที่คิดเอาไว้ แล้วได้ใช้ห้องทำงานมากขึ้น โดยนิสัยเป็นคนทำงานทั้งวัน ไม่ค่อยได้ลุกเดินไปไหน ทางคุณนิคออกแบบให้ด้านข้างเป็นประตูบานใหญ่ที่มองออกไปเห็นต้นไม้ข้างนอกพอดี เป็นการบังคับตัวเองให้ลุกไปพักบ้าง ส่วนอีกฝั่งเป็นประตูบานเลื่อนที่เปิดให้พื้นที่ต่อเนื่องกันไปได้ทั้งหมด ถ้าต้องการความเป็นส่วนตัวก็สามารถเลื่อนปิดได้แต่ก็ยังมองเห็นกันอยู่”



การกั้นพื้นที่ด้วยประตูบ้านเลื่อนทั้งในบริเวณนี้และภายในห้องนอนของคุณเชอร์รี่ นอกจากความสวยงามแล้ว ยังเป็นไอเดียที่ดีสำหรับบ้านที่มีขนาดเล็ก ทำให้แต่ละพื้นที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามต้องการ ตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบันรวมไปถึงการใช้งานเมื่อมีอายุมากขึ้น
โดยคุณนิคเสริมถึงแนวคิดการออกแบบบ้านขนาดเล็กไว้ด้วยว่า “บ้านหลังเล็กมีข้อจำกัดเรื่องขนาด การออกแบบระดับฝ้าให้มีความหลากหลายมีระดับความสูงต่ำไม่เท่ากัน เมื่อมีการเปรียบเทียบระดับฝ้าปกติกับห้องที่มีระดับฝ้าสูงกว่าจะช่วยสร้างความรู้สึกแตกต่างและทำให้ห้องดูโปร่งขึ้น และการออกแบบห้องให้เชื่อมต่อกันมองผ่านไปเห็นส่วนอื่น ๆ ของบ้านได้ ก็จะช่วยลดความอึดอัดของบ้านที่มีขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี”


ความบังเอิญที่ลงตัว
ไม้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้บ้านสวยงามลงตัว ส่วนผสมของบ้านสีขาวตัดกับประตูหน้าต่างไม้สักให้ความรู้สึกสะอาดตาและเป็นธรรมชาติ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ที่เจ้าของบ้านเลือกมาเองทั้งหมดเป็นการทำงานควบคู่ไปกับสถาปนิกอีกด้วย บ้านชั้นเดียวสีขาวหลังเล็ก









“คนชอบพูดว่าสร้างบ้านมักจะมีปัญหาเยอะ แต่ของเราแทบไม่มีปัญหาอะไรเลย กับสถาปนิกก็สื่อสารเข้าใจกันได้ดี พอเริ่มก่อสร้างก็เจอช่างที่รู้จักกัน ไว้ใจกันได้ มีคุณพ่อช่วยดูแลหน้างานทุกวัน คนงานที่ทำก็เป็นคนไทยทั้งหมดทำงานเสร็จได้อย่างรวดเร็ว และยังได้ช่างไม้ฝีมือดีมาทำประตูหน้าต่างให้ออกมาได้สวยสมใจ หรือแม้แต่เรื่องหลังคาที่ต้องใช้วิธีพ่วงไปกับออเดอร์อื่นเพราะเราซื้อน้อยกว่าขั้นต่ำ สีที่เลือกไว้ไม่ได้สักทีแต่อยู่มาวันหนึ่งมีสีนี้เหลือเยอะ ผลปรากฏว่าปูสีนี้สวยกว่าสีที่เลือกไว้เสียอีก และเรื่องสำคัญกับการทำบ้านเผื่อไว้ตอนเกษียณ ซึ่งค่าแรง ค่าวัสดุมีแต่ราคาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ คิดไม่ผิดที่ตัดสินใจสร้างไว้แต่เนิ่น ๆ ทำให้รู้สึกว่าโชคดีมากเลยนะที่สร้างบ้านหลังนี้”
เจ้าของ : คุณอโนทัย เลี้ยงหิรัญกุล และคุณปวเรศ สมส่วน
ออกแบบ : Araya Kubota architect โดยคุณอารยะ คูโบต้า
เรื่อง : jOhe
ภาพ : นันทิยา บุษบงค์
สไตล์ : โชดิวัต นันทวงษ์