โฮมสตูดิโอสี่ชั้น ของนักออกแบบเสื้อผ้า ที่นำกลิ่นอายรีสอร์ตมาเป็นวัตถุดิบหลักสร้างสรรค์ผลงาน
“Mitr Headquarters” โฮมสตูดิโอสี่ชั้น สีนุ่มละมุน แทรกด้วยของสะสม Midcentury สีสดใส ซึ่งเปลี่ยนมุมสร้างสรรค์งานอย่างได้ไม่รู้เบื่อ พ่วงด้วยกำลังใจชั้นดีจากน้องๆ สี่ขาขนฟูที่มาช่วยเติมพลังทั้งวัน
Design Directory : PHTAA Living Design โดยคุณหฤษฎี ลีละยุวพันธ์

เมื่องานที่รักและชีวิตประจำวันแทบจะหลอมรวมเป็นส่วนเดียวกัน การดึงเอาสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงาน ห้องประชุมระดมสมอง และมุมทำงานของคนในทีมมาอยู่ใกล้ตัว ดูจะเป็นทางเลือกที่สะดวกรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน มุมพักผ่อนส่วนตัวสำหรับพักสมองในวันที่เหนื่อยล้า ตัดขาดจากงานได้บางเวลาก็เป็นสิ่งจำเป็น ทำให้ คุณอิ๋ม – มิลิน วินทะไชย นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ Mitr และคุณโบ้ – กรธนกฤต ตั้งสมบูรณ์ ติดต่อ คุณพลอย – หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ มัณฑนากรแห่ง PHTAA Living Design ให้เข้ามาจัดสรรความต้องการที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้องค์ประกอบอาคาร ที่สื่อถึงความเป็น “Mitr” ออกมาได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องเอ่ยปาก

“เรากำลังหาพื้นที่ประมาณ 500 – 600 ตารางเมตร ไว้สำหรับทำออฟฟิศพร้อมที่พักผ่อนของตัวเองค่ะ ที่นี่เป็นบ้านโครงการซึ่งทำมาไม่กี่หลัง แล้วเราชอบดีไซน์เดิมของบ้านที่มีความเป็นกริด มีกลิ่นอาย Mid-century นิดๆ ที่ฟาซาด และเส้นสายก็เรียบร้อย ดู Timeless เราเลยซื้อบ้านเปล่ามา แล้วก็ให้ทาง PHTAA ลองดูว่าจะทำอะไรกับบ้านได้บ้าง”
คุณอิ๋มเริ่มต้นตั้งโจทย์ด้วยไอเดียที่สื่อถึงแบรนด์ “Mitr เป็นแบรนด์ Resort Wear เสื้อผ้าผู้หญิงที่ให้อารมณ์ของวันหยุดสบายๆ เราเลยอยากให้ส่วนกลางที่ทุกคนมาทำงานดู Cozy มีกลิ่นอายแบบรีสอร์ต โดยเฉพาะชั้นล่าง แทนที่จะให้รู้สึกถึงความเป็นออฟฟิศ ก็อยากให้รู้สึกเหมือนเป็นล็อบบี้โรงแรม”
จากไอเดียตั้งต้น สถาปนิกแปลงสู่องค์ประกอบสถาปัตยกรรมแทรกเข้าไปอยู่กับเส้นสายเรียบง่ายของบ้าน ส่วนพื้นที่ภายในก็บิดแปลงดีไซน์ให้เป็นบรรยากาศใหม่ที่เปลี่ยนอารมณ์ของการทำงานไปโดยสิ้นเชิง






มิติที่โดดเด่นด้วยเส้นสายและวัสดุ
“บ้านหลังนี้มีความเป็นกล่อง เหมือนเป็นสเปซที่ซ้อนอยู่ในสเปซ เราเลยทำให้มันชัดเจนขึ้น”
นักออกแบบเล่าถึงดีไซน์เดิมของ โฮมสตูดิโอสี่ชั้น ที่มีผืนผนังกั้นสัดส่วนดูคล้ายกับกล่องที่ซ้อนอยู่ภายในบ้าน จึงเสริมมิติ ภายในให้โดดเด่นด้วยการทลายผนังทึบ กั้นด้วยกระจกใสเพื่อให้มุมมองจากส่วนต่างๆ ของบ้านเชื่อมถึง กัน ขับเน้นเส้นสายให้ชัดด้วยเหลี่ยมมุมและระนาบโค้งที่ เป็นส่วนหนึ่งของรูปทรง เรขาคณิต จึงทำให้ฟังก์ชันต่างๆ มีขอบเขตชัดเจนในขณะที่ยังคงดูเบาลอย


อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ช่วยเสริมมิติภายในให้เด่นชัด คือผิววัสดุสีโมโนโทนที่เลือกสรรจากความเป็น Resort Wear ของ Mitr อย่างผืนผนังสีเบจ ไม้ธรรมชาติสีนวลตา พื้นผิวพ่นทราย กระเบื้อง หินทราเวอร์ทีน ด้วยสีสันของวัสดุที่กลมกลืน ทำให้ภาพรวมภายในบ้านดูละมุนตา ทว่าแพตเทิร์นหลาก รูแบบที่ฉายชัดเมื่อกระทบกับแสงเงาช่วยเน้นเส้นสายสถาปัตกรรมให้เด่นชัด คล้ายกับประติกรรม ชิ้นใหญ่แทรกผสานกันอยู่ภายในบ้าน



ออกแบบให้ใช้งานได้ทุกมุม
ฟังก์ชันภายในแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลักๆ โดยชั้นล่างสุดเป็นออฟฟิศทำงาน ถัดขึ้นมาบนชั้นลอยเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับประชุม สตูดิโอออกแบบ และชั้นบนสุดเป็นพื้นที่ส่วนตัวของคุณอิ๋มและคุณโบ้ ซึ่งรวมทุกฟังก์ชันสำหรับการพักผ่อนเข้าไว้ด้วยกัน โดยส่วนที่ใช้งานมากที่สุดจะเป็นชั้นลอย ซึ่งออกแบบให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนมาใช้พื้นที่ร่วมกันได้ ทั้งนั่งเล่น รับประทานอาหาร ประชุมงาน หรือเปลี่ยน อิริยาบถจากโต๊ะทำงานในมุมประจำที่ชั้นล่างมาเอกเขนกที่ชั้นลอยให้ไอเดียลื่นไหล
“พื้นที่ส่วนกลางจะมีคนเวียนมาทำงานตลอด อย่างทีมครีเอทีฟไม่ค่อยชอบนั่งทำงานที่โต๊ะตัวเอง เขาก็ขึ้นมาที่ชั้นลอย นั่งทำงานกันบนบีนแบ็ก”




นอกจากความยืดหยุ่นของสเปซจะทำให้เกิดพื้นที่ทำงานที่หลากหลายแล้ว วัสดุที่เลือกใช้ก็ทำให้แต่ละมุมสามารถแปลงเป็นสตูดิโอถ่ายแบบในยามจำเป็นได้ โดยเฉพาะพื้นที่แบบดับเบิลวอลุ่มบริเวณชั้นล่างที่ออกแบบให้คล้ายกับหน้าบ้านฝั่งที่เป็นส่วนตัว โดยกรุผนังกระจกเปิดรับแสงธรรมชาติให้พาดทับ ลงบนผนังสีนวลตา จึงเป็นมุมแสงสวยที่สามารถขึงฉาก ตั้งกล้องถ่ายสินค้าได้อย่างสบาย หรือในเวลาที่ทีม ต้องการทำคอนเทนต์ ก็เลือกใช้ส่วนหนึ่งส่วนใดในบ้านสำหรับถ่ายทำได้ ซึ่งแพตเทิร์นที่จัดเรียงไว้ตามพื้น ผนัง ก็ช่วยสร้างบรรยากาศแตกต่าง เป็นมุมถ่ายภาพที่หลากหลายโดยไม่ต้องไปเช่าสถานที่ถ่ายทำ หรือเตรียมอุปกรณ์ประกอบฉากมากนัก


รายละเอียดการออกแบบที่ซ่อนอยู่ในบรรยากาศ
ลูกเล่นของวัสดุและระนาบในบางจุดแผ่ล้ำไปจนถึงฝ้าเพดาน นัยหนึ่งคือการสร้างความรู้สึกโอบล้อมที่ไร้ผนังกั้น แต่หน้าที่สำคัญคือการซ่อนงานระบบให้พ้นสายตา เพื่อให้บรรยากาศกึ่งพักผ่อนที่อวลอยู่ในสเปซทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งหากไม่ได้ตั้งใจสังเกต อาจไม่เห็นเส้นการเดินระบบ ปรับอากาศที่สร้างสภาวะสบายไปทั่วทั้งบ้าน


เช่นเดียวกับความสว่างนวลตาจากแสงแบบ Indirect Light ทั้งการซ่อนไฟไว้ตามหลืบฝ้า เล่นจังหวะไปกับระยะพื้น เจาะคว้านผืนผนังเพื่อสะท้อนแสงไฟ ส่วนหนึ่งของการออกแบบแสงที่ดู กลืนไปกับสถาปัตยกรรมมาจากความชอบเจ้าของบ้านที่ถูกจริตกับแสงสว่างที่ช่วยขับเน้นบรรยากาศเป็นพิเศษ
“เราชอบไฟที่มีความเป็น Ambient Light เป็นโคมไฟแขวน โคมไฟผนัง หรือไฟซ่อน เพราะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายกว่าไฟดาวน์ไลท์ที่ส่องสว่างแบบตรงๆ”
แทบทุกห้องจึงตกแต่งด้วยไฟที่ซ่อนดวงโคมจนเหลือเพียงแสงสว่างนวลตา หรือในบริเวณ ที่ติดตั้งโคมไฟ ก็เลือกใช้ดวงโคมที่ดูคล้ายประติมากรรมและการจัดวางให้ดูเป็นส่วนหนึ่งของงานตกแต่ง โดยสถาปนิกเสริมว่ามีเพียงโซนทำงานที่ใช้ไฟดาวน์ไลต์เพื่อให้ทำงานได้สะดวก โดยเฉพาะสตูดิโอชั้นล่าง สุดยังคงรูปแบบฝ้าเพดานเมื่อครั้งซื้อบ้านไว้ดังเดิม โดยเสริมความสว่างตามมุมเล็กมุมน้อยด้วยระบบไฟ ที่ซ่อนใน Stretch Ceiling ฝ้าเพดานที่ขึงตึงด้วยผ้าบารีซอล (Barrisol) ซึ่งให้แสงสว่างแผ่เต็มผืน ดูเป็น ธรรมชาติคล้ายสกายไลต์ เติมบรรยากาศที่เป็นมิตรให้พื้นที่ทำงาน


โฮมสตูดิโอสี่ชั้น ที่เป็นเหมือน “โฮม” มากกว่า “สตูดิโอ”
รายละเอียดที่เติมเข้าไปในตัวบ้านให้ผลเป็นความรู้สึกของการทำงานที่เปลี่ยนไป คุณอิ๋มเล่าถึง ความรู้สึกครั้งแรกเห็นซึ่งยังจำได้ดีว่า “มันต่างกันมากเลย เวลาเราไปเยี่ยมออฟฟิศเพื่อนที่อยู่บนตึก ความรู้สึกจะดูจริงจังมากๆ แต่พอเป็นที่นี่ เมื่อเข้ามาครั้งแรกคือเซอร์ไพรส์มาก ดูไม่เป็นออฟฟิศเลย จะทำงานได้ไหมนะ แต่พอมาใช้งานจริงๆ ก็รู้สึกว่าตอบโจทย์ เพราะในออฟฟิศมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เหมาะสมกับความเป็นแบรนด์ Resort Wear ไม่เหมือนออฟฟิศอื่นๆ ที่เคยไปมา แต่ก็ยังดูมีฟังก์ชัน ยังทำงานได้โดยที่ก็ยังรู้สึกถึงความเป็นบ้าน และความเป็นรีสอร์ต



“จากที่ถามน้องๆ ในสตูดิโอ เขาก็ชอบกันนะ เพราะปกติแล้วถ้าทำงานในออฟฟิศ ทีมก็จะอยู่ ในที่ของตัวเอง นั่งทำงานอยู่แต่ตรงนั้น แต่พอมาเป็นที่นี่ เขาจะย้ายขึ้นมาทำงานที่ชั้นบนก็ได้ หรือเขาจะไปทำงานกับเพื่อนเขาก็ได้ เวลาที่ Collaborate ก็ไม่จำเป็นต้องเจอกันแต่ในห้องประชุม อย่างเดียว” เมื่อช่วงเวลาแห่งการทำงานคือโมงยามที่เป็นสุข สุขนั้นจะเจืออยู่ในบรรยากาศที่ไม่ว่าใคร ผ่านเข้ามาก็จะสัมผัสได้



เจ้าของ-ตกแต่ง : คุณมิลิน วินทะไชย และคุณกรธนกฤต ตั้งสมบูรณ์
ออกแบบ : PHTAA Living Design โดยคุณหฤษฎี ลีละยุวพันธ์
เรื่อง : ณัฐวรา ธวบุรี
ภาพ : ณัฐวรรธน์ ไทยเสน
สไตล์ : Suntreeya