5 ไอเดีย ปรับบ้านเป็นพื้นที่ธุรกิจ ทำงาน และพักผ่อนในพื้นที่เดียว!

หลายธุรกิจยักษ์ใหญ่ในโลกเริ่มจากพื้นที่ภายในบ้าน บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานี้อย่างแอปเปิ้ลก็เริ่มจากพื้นที่ภายในบ้านเช่นกัน การเริ่มต้นธุรกิจเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างคล่องตัวที่สุดเพื่อให้ดำเนินกิจการไปได้ในระยะแรก บางงานสามารถเริ่มทำได้ภายในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยับขยายมาสู่ห้องหรืออาคาร 

คอลัมน์นี้ room ขอพาทุกท่านไปพบกับบ้านที่ออกแบบพื้นที่ประกอบธุรกิจ ให้ทำงาน และพักผ่อนได้ในที่เดียวกัน ไปดูกันว่าพื้นที่ทำงานสามารถเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตได้อย่างไร และมีไอเดียดีอะไรซ่อนอยู่ในตัวอย่างเหล่านี้บ้าง คุณอาจได้แรงบันดาลใจสู่การเริ่มต้นพื้นที่ธุรกิจของคุณ!

เปลี่ยนทาวน์เฮ้าส์ เป็นโฮมออฟฟิศ

Least Studio

โฮมออฟฟิศ ที่เปลี่ยนบ้านทาวน์เฮ้าส์หลังเก่าเป็นสำนักงานสถาปนิก ที่ทำงานออกแบบสินค้ากระเป๋าจากยางพาราแบรนด์ Least และเป็นบ้านพักอาศัยในนาม Least Studio ออกแบบครบทุกฟังก์ชันสำหรับทำงาน และพักผ่อนในบ้านหน้าแคบ ขนาดพื้นที่ 300 ตารางเมตร เปลี่ยนโฉมภาพทาวน์เฮ้าส์ธรรมดาไปอย่างสิ้นเชิง โดยชั้น 1 เป็นส่วนจอดรถ และเก็บสต็อคของ เมื่อขึ้นมาที่ชั้นลอย จะพบกับส่วนต้อนรับแขกพร้อมกับโชว์รูมกระเป๋าแบรนด์ Least ส่วนชั้นถัดไปจะเป็นออฟฟิศสถาปัตย์สำหรับพนักงาน มีมุมนั่งเล่นแทรกอยู่สำหรับพักผ่อน ส่วนชั้น 4 และชั้น 5 เป็นที่พื้นที่พักอาศัยส่วนตัว

#จุดเด่น

ด้านหน้าอาคารกรุฟาซาดด้วยเหล็กเจาะรูเพื่อบังสายตาให้เกิดความเป็นส่วนตัว กันเสียง แสงแดด และกรองฝุ่นจากถนนด้านหน้าอาคาร โดยมีช่องเปิดเพื่อให้แสงธรรมชาติเข้า และยังมองเห็นวิวภายนอก

#DesignTips

การกั้นผนังในส่วนห้องต้อนรับแขก ให้เป็นผนังที่ใช้งานเปิดเพื่อรวมพื้นที่ห้องเป็นห้องขนาดใหญ่ได้เมื่อไม่ได้ใช้งาน ทำให้ได้พื้นที่เล็กๆ กลายเป็น Multi-Fuction Space ที่ปรับเปลี่ยนห้องให้ใช้งานได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นห้องประชุม ห้องรับแขก หรือห้องตัดเย็บ

ออกแบบ : Least Studio 

ภาพ   :  สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมของ Least Studio ได้ที่ : 

รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์เก่าหน้าแคบ ให้กลายเป็นโฮมออฟฟิศของนักออกแบบ

______________________

เปลี่ยนตึกแถวเก่า เป็น โฮมออฟฟิศ

Abalance Interior Design

โฮมออฟฟิศ ของบริษัทออกแบบภายใน Abalance ที่รีโนเวทตึกแถวเก่า 4 ชั้น มาเป็นบ้าน และที่ทำงาน โดยชั้น 1-3 เป็นส่วนสำนักงาน และชั้นบนสุดเป็นที่พักอาศัย ตัวอาคารหน้ากว้าง 3.50 เมตร ออกแบบฟังก์ชันใช้งานใหม่ให้ตอบโจทย์การใช้เป็นออฟฟิศ โดยเริ่มจากทางเข้าที่เป็นส่วนต้อนรับ มีแพนทรี่ของออฟฟิศ ด้านในมีห้องประชุมซึ่งใช้ต้อนรับลูกค้า ส่วนชั้น 2 และชั้น 3 เป็นพื้นที่ทำงาน จัดวางโต๊ะทำงานเป็นแนวยาวที่กลางห้อง โดยมีชั้นวางของสูงตรงกลางขึ้นไปในแนวตั้ง ช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอยสำหรับอาคารหน้าแคบห้องสูง ส่วนชั้น 4 เป็นที่พักอาศัยส่วนตัว มีพื้นที่ใช้สอยครบถ้วน มีครัว ห้องนอน ห้องน้ำ และระเบียงสำหรับปลูกต้นไม้ 

#จุดเด่น

การตกแต่งภายในด้วยสีโทนเขียว ช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลายให้กับพื้นที่ขนาดกระทัดรัดซึ่งใช้เป็นสถานที่ทำงาน ในส่วนการตกแต่งผนัง ดีไซน์กรอบบานตู้ บานหน้าต่างในสไตล์โมเดิร์นคลาสสิก รวมถึงใช้วัสดุสแตนเลสสีทองตามมือจับหน้าบานตู้ ช่วยเพิ่มความหรูหราในรายละเอียดการออกแบบ สะท้อนตัวตน ช่วยสื่อสารแบรนด์ และผลงานของบรษัทผ่านงานออกแบบภายใน

#DesignTips 

ออกแบบชั้นวางของในห้องทำงานที่ใช้พื้นที่แนวสูงเหนือโต๊ะทำงาน เป็นการแก้ปัญหาสำหรับบ้านหน้าแคบ ที่ทำตู้ติดผนังไม่ได้เพราะต้องใช้เป็นทางเดินสัญจร พื้นที่แนวสูงตรงกลางห้องที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์จึงเหมาะกับการนำมาใช้เป็นที่วางของ วางอุปกรณ์ทำงาน

ออกแบบ : Abalance

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมของ Abalance Interior Design ได้ที่ : 

รีโนเวทตึกแถวเก่าเป็น โฮมออฟฟิศ ช่วยบาลานซ์ชีวิตและงานให้สมดุล

_______________________

สร้างเพนท์เฮ้าส์ส่วนตัว บนดาดฟ้าอพาร์ตเมนต์ให้เช่า

Hachi Skyscape 

Hachi Skyscape เป็นบ้านที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้าของอพาร์ตเมนต์ Hachi Service Apartment ขนาด 5 ชั้น ย่านลาดพร้าว ซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์ให้เช่าที่โดดเด่นด้วยฟาซาดดีไซน์หน้าจั่วจัดวางเรียงซ้อนกันออกมาเกิดมิติเป็นเอกลักษณ์ของอาคาร

ตัวบ้าน Hachi Skyscape เป็นบ้านที่ออกแบบมาพร้อมกับอพาร์ตเมนต์ โดยเจ้าของมีแนวคิดอยากทำให้พื้นที่เกิดประโยชน์มากที่สุด ให้คุ้มค่ากับราคาที่ดินย่านลาดพร้าวที่ราคาสูง จึงให้ คุณวิน-ธาวิน หาญบุญเศรษฐ สถาปนิกแห่ง WARchitect ออกแบบต่อยอดจากแนวคิดดังกล่าว จนออกมาเป็นอพาร์ตเมนต์พร้อมบ้านพักที่ให้อารมณ์เหมือนเพนท์เฮ้าส์ส่วนตัวบนดาดฟ้า เปิดมุมมองเห็นวิวกว้าง ดีไซน์ทรงกล่องโมเดิร์น กรุด้วยไม้เต็งให้ฟีลธรรมชาติ สเปซภายในของบ้านเชื่อมต่อกันทุกฟังก์ชัน ออกแบบให้มีคอร์ทกลางบ้านเป็นที่ปลูกต้นไม้เพื่อพักผ่อนสายตา 

#จุดเด่น

ในแง่ของการทำธุรกิจอพาร์ตเมนต์ให้เช่า ตัวบ้านที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้าของอพาร์ตเมนต์ ทำให้เข้าถึงส่วนพื้นที่เช่าได้อย่างสะดวก ทำให้เจ้าของสามารถจัดการบริหารงานธุรกิจได้ทันทีหากเกิดปัญหา ขณะเดียวกันก็ยังกั้นการเข้าถึงพื้นที่ส่วนตัวได้ ด้วยการใช้ลิฟท์โดยสาร และระบบล็อคประตูดิจิทัลที่ใช้ระบบสแกนนิ้ว ทำให้ได้พื้นที่ใช้งานที่แยกส่วนไม่ทับซ้อนกัน

#DesignTips 

เนื่องจากบ้านอยู่บนชั้นดาดฟ้า จึงทำให้รับแสงแดดโดยตรง สถาปนิกจึงออกแบบหลังคาพร้อมติดตั้งฉนวน ทำชายคาให้ยื่นออกไปจากตัวบ้านเพื่อบังแดด ออกแบบช่องประตูใหญ่เพื่อให้ลมพัดระบายอากาศได้เต็มที่

ออกแบบ : WARchitect 

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมของ Abalance Interior Design ได้ที่ : 

บ้านดาดฟ้า เหนือหลังคาอพาร์ตเมนต์ใจกลางลาดพร้าว 

_______________________

โฮมออฟฟิศมิกซ์ยูส เป็นทั้งบ้าน ที่ทำงาน และสตูดิโอศิลปะ

HUAMARK 09

บ้านที่มองจากภายนอกจะเห็นวัสดุอิฐบล็อกเปลือยหลังนี้ เป็นออฟฟิศ บ้าน และสตูดิโอทำงานศิลปะของคุณอินทนนท์ จันทร์ทิพย์ ผู้เป็นเจ้าของ และสถาปนิกแห่ง INchan Atelier เป็นบ้านิ 4 ชั้นที่สร้างขึ้นใหม่ แบ่งพื้นที่ใช้สอย ชั้น 1 เป็นออฟฟิศสถาปนิก ชั้น 2 เป็นส่วนพักอาศัย มีห้องนั่งเล่น เชื่อมกับส่วนครัว และห้องรับประทานอาหาร ชั้น 3 เป็นห้องนอน ส่วนชั้น 4 เป็นสตูดิโอทำงานศิลปะ มีพื้นที่สีเขียวแทรกอยู่ในสวนที่ชั้น 1 และสวนแนวดิ่งบนผนังอาคาร สวนกระถางบริเวณระเบียงแต่ละชั้น และสวนบนดาดฟ้า ซึ่งช่วยทำหน้าที่กันความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวอาคารโดยตรง อีกทั้งเป็นมุมสำหรับพักผ่อนสายตา

#จุดเด่น

วัสดุอาคารภายนอก เจ้าของบ้านใช้เป็นสนามทดลองวัสดุ ซึ่งสอดคล้องกับอาชีพสถาปนิกของตนเอง ด้วยความหลงใหลในความงามที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของวัสดุ เจ้าของเลือกใช้ ‘ซีเมนต์บล็อก’ เป็นก้อนอิฐบล็อกซีเมนต์ ผสมกับหิน และทราย มาขึ้นรูป ด้วยความที่ถูกใจในหน้าตา ความแข็งแรง และราคาที่ไม่แพง จึงเลือกมาใช้สร้างเป็นกรอบอาคารจนได้หน้าตาที่ออกมาไม่เหมือนใคร

#DesignTips

ออกแบบช่องเปิดระบายอากาศ และให้แสงแดดเข้าพื้นที่ภายในทั่วถึงทุกบริเวณ ทำให้บ้านรู้สึกไม่อึดอัด แสงธรรมชาติส่องสว่างเพียงพอต่อการทำงาน ทำให้เอื้อต่อการทำทุกกิจกรรมภายในบ้าน

พื้นที่ โฮมออฟฟิศ สามารถเป็นได้ทั้งที่ทำงาน พี่พักผ่อน รวมไปถึงเป็นพื้นที่ทดลองสิ่งที่หลงใหลได้ ซึ่งจะช่วยต่อยอดการอยู่อาศัย และการทำงานให้ก้าวไปอีกขั้น บ้านหลังนี้เป็นตัวอย่างของการผสมผสานกิจกรรม และความสนใจในชีวิตของเจ้าของได้อย่างเป็นดี

เจ้าของ : คุณอินทนนท์ – คุณธริศราย์ จันทร์ทิพย์

ออกแบบ : INCHAN Atelier

ภาพ : นันทิยา บุษบงค์

อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมของ HUAMARK 09 ได้ที่ : 

HUAMARK 09 โฮมออฟฟิศ และศิลปะแห่งการอยู่อาศัยร่วมกับเวลา

_______________________

ออกแบบพื้นที่ทำงาน และพักผ่อนในสเปซโล่งกว้างแบบโกดัง

Tachikawa Annex House 

บ้านไม้หลังใหญ่ ที่ใช้งานแบบ Hybrid เป็นทั้งสตูดิโอออกแบบเสื้อผ้า เป็นโกดังเก็บของ และเป็นสตูดิโอถ่ายรูปผลงาน เป็นบ้านทรงหน้าจั่วที่ออกแบบพื้นที่ต่อเนื่องกันระหว่างพื้นที่ทำงาน และที่พักผ่อน โดยโกดังเก็บของ และสตูดิโอถ่ายภาพจะอยู่ที่ชั้น 1 ส่วนพื้นที่พักผ่อน และที่ทำงานจะอยู่ที่ชั้น 2 การออกแบบบ้านหลังนี้เป็นการรวมพื้นที่ทำงานเข้ากับส่วนพักผ่อนในชั้นเดียวกันได้อย่างน่าสนใจ ทำให้การทำงาน และการพักผ่อนต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ราวกับสตูดิโอทำงานศิลปะของศิลปิน สำหรับการออกแบบหน้าจั่วสูง และกรุด้วยแผ่นพอลิคาร์บอเนตโปร่งแสงช่วยดึงแสงธรรมชาติเข้ามาภายใน ทำให้ได้แสงสว่างที่เอื้อต่อการทำงาน และอยู่อาศัย 

#จุดเด่น

การออกแบบพื้นที่เชื่อมโยงกัน ในพื้นที่โถงโล่งกว้าง จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้หลากหลาย เป็นได้ทั้งห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องสังสรร หรือทำงานอดิเรก ทำให้ผู้ใช้งานเกิดความอิสระในการทำกิจกรรมในพื้นที่

#DesignTips 

บ้านหลังนี้เริ่มสร้างด้วยการขุดดินใต้บริเวณอาคารให้ชั้นล่างลึกลงไปจากระดับพื้น 1 เมตร จึงนำดินมาถมทำเป็นบันไดทางขึ้นชั้น 2 ตรงส่วนหน้าบ้าน ภายในบ้านจะได้พื้นที่ใช้งานเต็มที่

ออกแบบ : Kiyotoshi Mori & Natsuko Kawamura

ภาพ : Koji Fujii / TOREAL

อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมของ Tachikawa Annex House ได้ที่ : 

บ้านไม้ กึ่งแวร์เฮ้าส์หลังใหญ่ ตอบโจทย์ธุรกิจและการพักอาศัย

_______________________

เรียบเรียง : ณัฐวัฒน์ คล้ายสุบรรณ์