ช่างภาพสถาปัตยกรรม วิชาชีพที่ไม่มีสอน ฟัง วิสันต์ ตั้งธัญญา บอกเล่าประสบการณ์กว่า 25 ปี

มากกว่า 25 ปีการเดินทางในฐานะช่างภาพสถาปัตยกรรมเล่าประสบการณ์ผ่านภาพถ่ายและนิทรรศการครั้งแรก W Workspace : The Open Space Exhibition & Workshop

#roomPeople พาไปพบกับคุณวิสันต์ ตั้งธัญญา ผู้ก่อตั้ง W Workspace สตูดิโอภาพถ่ายสถาปัตยกรรม ที่เดินทางในวิชาชีพนี้มามากกว่าสองทศวรรษ เล่าผ่านนิทรรศการ W Workspace : The Open Space Exhibition & Workshop

ภาพถ่ายสถาปัตยกรรมถือว่าเป็นสื่อ ที่ทำให้คนมองเห็นแม้ไม่ได้ไปอยู่สถานที่นั้นๆ ทำหน้าที่สื่อความหมาย องค์ประกอบต่าง ๆ สร้างเรื่องราวถ่ายทอดความรู้สึกหรือแนวคิดการออกแบบผ่านตัวสถาปัตยกรรม ปัจจุบันวงการถ่ายภาพหรืออาชีพช่างภาพสถาปัตยกรรมทันสมัยก้าวหน้าอย่างมาก แต่รู้หรือไม่วิชาชีพนี้กลับไม่มีสอนในหลักสูตรการเรียน คุณวิสันต์ ตั้งธัญญา หนึ่งในช่างภาพสถาปัตยกรรมมากประสบการณ์ผู้สนใจ และมีความตั้งใจให้วงการช่างภาพสถาปัตยกรรมยุคใหม่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากอดีตสู่ปัจจุบัน แนวคิดการถ่ายภาพของเขาเปลี่ยนไปหรือตั้งใจฝากความหวังอะไรกับช่างภาพรุ่นใหม่ ตามไปอ่านได้จากบทความนี้กันเลย!


Q: อาชีพ “ ช่างภาพสถาปัตยกรรม “ ไม่มีสอนเป็นกิจจะลักษณะในหลักสูตรคณะไหน แม้ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เองก็ตาม แทนที่จะประกอบอาชีพสถาปนิก ทำไมคุณวิสันต์ ตั้งธัญญา ถึงตัดสินใจมาเป็นช่างภาพแทน

A:  ตั้งแต่ตอนเรียนยังมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่อยากทำ เช่น ทำหนัง ถ่ายรูป สถาปนิกก็อยากทำ จึงให้โอกาสตัวเองไปลองทำสักหนึ่งปีหลังเรียนจบเพื่อที่จะได้ค้นพบว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ตอนนั้นได้มีโอกาสได้พบพี่สมคิดที่ skyline studio ซึ่งเป็นช่างภาพหลักที่ถ่ายงานให้กับ art4d ตั้งแต่เริ่มต้นจึงเป็นการเริ่มอาชีพ “ช่างภาพสถาปัตยกรรม” ถ่ายภาพนิ่งเพราะใกล้ตัวสุดและรู้สึกว่าชอบเหมาะกับตัวเองมากกว่าการเป็นสถาปนิกที่ต้องใช้ความอดทนในระดับหนึ่ง “ช่างภาพ” นั้นดูเหมาะกับเราดี แม้ช่วงที่ผ่านมาก็มีโอกาสกลับไปทำสถาปนิกทำในส่วน Interior (ออกแบบภายใน) ควบคู่กันไปได้ดีกับงานช่างภาพ พองานมันเยอะขึ้นถึงจุดที่ต้องเลือก เราก็เลือกเป็นช่างภาพ เพราะรู้สึกว่าเหมาะกับเรามากกว่า ถ้าย้อนกลับไปประสบการณ์ยังเยอะอยู่เท่าทุกวันนี้ก็อาจจะเปลี่ยน เพราะอยากลองทำอยากอื่นด้วย “แต่ถ้าย้อนกลับไปความคิดแบบเดิม ก็ยังตัดสินใจเป็นช่างภาพ”


Q: ตอนเริ่มเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรม แรงบันดาลใจคืออะไรหรือใครคือต้นแบบช่างภาพสถาปัตยกรรมที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ
A: ย้อนไปสมัยเรียนตอนอยู่ปี 3 สถาปัตย์ จุฬาฯ art4d คือนิตยสารที่พึ่งเปิดใหม่ ตอนนั้นได้มีโอกาสรู้จักพี่สมคิด (สมคิด เปี่ยมปิยชาติ) ในฐานะช่างภาพ art4d ในยุคนั้นมีความสมัยใหม่ในการนำเสนอทั้งรูปเล่มและวิธีการถ่ายภาพ เรียกได้ว่าติดตามพี่สมคิดมาตั้งแต่นั้นผ่าน art4d  เมื่อเรียนจบตอนที่ได้ตัดสินใจมาเป็นช่างภาพก็คือเข้าไปหาพี่คิด เราเอางานเท่าที่มีไปเป็นพอร์ต พี่สมคิดเลยให้โอกาสได้ลองทำ ซึ่งพอได้รู้จักตัวตนเขาจริง ๆ พี่สมคิดเป็นคนที่ทุกคนพูดว่า เจอทีไรไฟในตัวจะลุกโหม เป็นคนที่อินสไปร์ให้ทุกคนในทุกเรื่องไม่ใช่แค่เรื่องถ่ายภาพ คนที่มีไฟอยากจะทำอะไรเขาก็ปลุกไฟในตัวได้หมด พี่สมคิดเป็นต้นแบบในทุก ๆ เรื่องโดยเฉพาะการถ่ายภาพ หลายแนวความคิด วิธีการถ่ายภาพ มุมมองการถ่ายภาพ ได้เรียนรู้จากเขามาเยอะ แล้วเขาก็เป็นไอดอลการถ่ายภาพของช่างภาพหลายคนด้วย
รู้จักกับพี่สมคิดได้ใน : https://www.baanlaesuan.com/79460/design/design-update/people/somkid-paimpiyachat



Q: ในบริบทของช่างภาพสถาปัตยกรรมเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเป็นอย่างไร มีสตูดิโอถ่ายภาพเฉพาะทางแบบในปัจจุบันไหม ณ ตอนนั้นสถาปนิกเขานำเสนองานกันวิธีไหน
A: บริบทตอนนั้นยุค 90s  ยุคแม็กกาซีน ยังไม่มีโซเชียลมีเดียหรืออินเตอร์เน็ตยุคแรก ๆ ทุกอย่างยัง analog อยู่บ้าง ยุคนั้นแม็กกาซีนที่ยังอยู่ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ก็คือ บ้านและสวน, art4d, ASA แม็กกาซีนต่างประเทศอย่าง Elle decor ก็ตามมา เรียกว่าภาพถ่ายของงานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ก็อยู่กับบ้านและสวน ซึ่งน่าจะถ่ายงานออกแบบเยอะสุด a49 ก็มีพี่เต้ย-นิธิ สถาปิตานนท์ ก็เป็นคนดำริ จากที่เห็นเมืองนอกเขาถ่ายเก็บผลงานการออกแบบของตัวเอง จึงได้เกิด skyline studio ขึ้นมา ก็มีพี่สมคิดเนี่ยล่ะ จากที่เป็นสถาปนิกอยู่ที่ a49 ที่ชื่นชอบการถ่ายรูปอยู่แล้ว พี่เต้ยจึงให้พี่สมคิดมาเก็บถ่ายภาพผลงานของ a49 จริงจังเป็นเรื่องเป็นราว จึงเกิดเป็นสตูดิโอถ่ายภาพสถาปัตยกรรมยุคแรก ๆ skyline studio เรียกได้ว่าเป็นบริษัทถ่ายภาพทางสถาปัตยกรรมอย่างชัดเจนที่แรกของประเทศ พอได้รับมอบหมายเขาก็จริงจัง ตั้งแต่การเรียนรู้ รีเสิร์ช หาข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายภาพ ไปหาช่างภาพภาพดัง ๆ จนสรุปออกมาได้เป็นหลักการของเขาเอง ซึ่งเทียบเท่าและได้มาตรฐานช่างภาพทัดเทียมไม่แพ้ของเมืองนอก โดยพี่สมคิดนำหลักการนี้มาใช้กับ art4d ทำให้ได้ยกระดับมาตรฐานช่างภาพสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะ


Q: ในฐานะที่คุณวิสันต์มีประสบการณ์ และอยู่ในวงการช่างภาพสถาปัตยกรรมมานาน มองความเคลื่อนไหวหรือความเปลี่ยนแปลงในวงการออกแบบของไทยอย่างไรบ้าง
A: ในวงการออกแบบ ตั้งแต่ยุคก่อนประมาณ 20 ปีที่แล้ว เรียกว่ายังไม่ค่อยหวือหวาเพราะโซเชี่ยลมีเดียนั้นยังไม่มา เราเห็นอะไรก็ผ่านนิตยสารเป็นส่วนมาก เรียกได้ว่าตอนนั้นเรายังโลว์เทคในเชิงการก่อสร้าง ไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ แต่ถ้าให้พูดเชิงรสนิยมในภูมิภาค สิงคโปร์ ฮ่องกง เขารับรู้อยู่แล้วว่าคนไทยรสนิยมดี อันนี้ตอบได้เพราะช่วงนั้นมีงาน 3D หรืองานทำ perspective สถาปนิกดัง ๆ ของฮ่องกง สิงคโปร์ทุกคนจะใช้คนไทยทำ หรือทำอะไรในเรื่องที่เป็นความสวยงามอยู่แล้ว พอมาช่วงหลังสถาปนิกไทยก็เก่งขึ้นเรื่อย ๆ พอถ่ายภาพมาเห็นได้ชัดเจนตอนยุคโซเชี่ยลมีเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เห็นจากเว็บไซต์ต่าง ๆ มีสถาปนิก นักออกแบบหน้าใหม่แต่ฝีมือดีมากขึ้นมามากมาย ในยุคที่ทุกคนมีสื่อในมือ ได้โพสต์ภาพถ่ายรูป จึงได้เห็นศักยภาพสถาปนิกเก่ง ๆ ที่มีมาตรฐานสูงเต็มไปหมด ช่วงหลังวัสดุเทคนิคการก่อสร้างที่ทันสมัยได้โชว์ฝีมืออย่างไม่มีอุปสรรคมาขัดขวาง อีกเรื่องหนึ่งคือสถาปนิก นักออกแบบในบ้านเรานั้นมีเครือข่ายคอนเน็กชั่น ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่งผลทำให้งานออกแบบเรายิ่งไปได้ดี นอกจากเครือข่ายสถาปนิกแล้ว ช่างภาพเราก็มีเครือข่ายมีกรุ๊ป “ช่างภาพสถาปัตยกรรมวัยรุ่น” ช่างภาพสถาปัตย์ในวงการส่วนใหญ่ก็คือรู้จักกันหมด


Q: ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการเป็นช่างภาพจนถึงปัจจุบัน โปรเจ็กต์ไหนที่คุณวิสันต์ประทับใจเป็นพิเศษ อาจจะเป็นในแง่ของคอนเซ็ปต์หรืออาจรวมถึงผลงานที่เหนือความคาดหมาย
A: จริง ๆ ก็ชอบทุกงานตอบยากมาก ขอยกตัวอย่างสัก 2 งาน เป็นงานที่ไปถ่ายมาค่อนข้างจะล่าสุด ที่อ่างศิลา กระชังหอย เรียกว่าไปถ่ายภาพมาแล้วสนุกมาก เพราะมันมีความแตกต่างค่อยข้างจะชัดเจน Temporary structure ที่ไปลอยอยู่กลางทะเล มีความสนใจที่ไปเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของชาวบ้าน ที่ทำกระชังหอยกันอยู่แล้วพี่อั๋นจาก Chat Architects สร้างขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบ เป็นจุดกิจกรรม จัดอีเว้นท์เพื่อพัฒนาท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นอกจากจะไปถ่ายตัวสถาปัตยกรรมแล้ว เรายังไปถ่ายตัวอีเว้นท์ด้วย เราเห็นชีวิต การใช้งานที่น่าสนใจ และแตกต่างในตัวสถาปัตยกรรม การถ่ายทำมีตั้งแต่บินโดรน นั่งเรือถ่าย วิธีการถ่ายมันก็ให้ประสบการณ์การถ่ายภาพ ที่แตกต่างจากการถ่ายปกติอยู่แล้วซึ่งโชคดีเป็นช่วงที่ฟ้าฝนเป็นใจ ถ่ายภาพมาได้หลายอารมณ์ และสนุกที่ได้ทำความรู้จักกับชาวบ้านด้วย


A: อีกโปรเจ็กต์หนึ่งนานหน่อยยังเป็นสมัยยุคฟิล์ม มีช่างภาพชาวมาเลเซียไปเปิดออฟฟิศที่ฮ่องกงหาช่างภาพไปถ่ายงานเลยได้โอกาสไปถ่ายงานที่เมืองจีนเป็นครั้งแรก พอดูขอบเขตงานก็คือ ไปถ่ายโรงงานแว่นตาที่เซินเจิ้น ซึ่งจะมี 7-8 ตึกในโครงการนี้เราก็คือไปถ่ายทั้งหมด ซึ่งน่าจะใช้เวลา 3 อาทิตย์กว่าถึงจะถ่ายเสร็จแต่เมื่อไปถ่ายสถานที่จริงจาก 3 อาทิตย์ กลายเป็นอยู่ 3 เดือน สนุกมาก ก็เป็นประสบการณ์ที่ประหลาดมาก เพราะเมืองจีนที่ไปยุคนั้นพึ่งเปิดประเทศใหม่ ๆ โปรเจ็กต์นี้วางแผนว่าน่าจะเล่าในพ็อกเกตบุ๊ค ที่สำคัญก็คือโปรเจกต์นี้ดีมาก ระหว่างทำงานเหมือนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ  และเราก็ค้นพบความหมายของคำว่า Professional ในงานนี้ ก่อนหน้านั้นเราเป็นเด็ก เราอาจจะเข้าใจคำว่าช่างภาพ Professional คือการที่ทำอะไรหาเลี้ยงชีพได้ แต่การทำงานที่นี่ทำให้เราเข้าใจความหมายของ Professional ในอาชีพนี้มากขึ้น


Q: ถ้าเปรียบ “ภาพถ่าย” เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร และผลักดันสถาปนิกไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ คุณวิสันต์เห็นด้วยไหม หรือมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง
A:  ภาพถ่ายเป็นตัวช่วยให้เห็นภาพงานจริงเท่านั้น และเป็นเครื่องมือช่วยให้เห็นว่าสร้างขึ้นจริง ไม่ใช่แค่ไอเดียที่อยู่ในกระดาษ แต่งานถ่ายที่ดีเกิดจากงานจริงที่ดีอยู่แล้วด้วย เราไม่สามารถไปปั้นแต่ง เราเหมือนเป็นคนช่วยสังเกตการณ์ช่วยจับภาพในจังหวะที่ดีที่สุดออกมาเล่าเท่านั้นเอง คิดแบบนี้ในเชิงการสื่อความสถาปัตยกรรมในฐานะที่เป็นช่างภาพ


Q: Workshop หรือหนังสือที่เกิดขึ้นในนิทรรศการนี้ นอกจากความรู้ด้านการถ่ายภาพแล้ว คุณวิสันต์ตั้งใจถ่ายทอดหรือส่งต่อแนวคิดอะไรอีกบ้างให้กับช่างภาพรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
A: เรารู้สึกว่าที่ผ่านมาเราทำวิชาชีพนี้มานาน ช่วงหลัง ๆ ก็เริ่มมีน้อง ๆ มือดีจำนวนมาก หลายคนก็รู้จักจากการคุยกัน เรารู้สึกว่าบางครั้งในวงการนี้เข้ามายากเหลือเกิน เพราะไม่ได้มีการสอนชัดเจนเป็นรูปธรรม คนที่อยากเข้ามาในวงการนี้อาจจะต้องล้มลุก เพราะไม่รู้ว่าต้องเริ่มจากไหน ทำอะไรบ้าง แต่เดี๋ยวเราบอกให้ ว่ามีอะไรบ้าง และอยากให้คนที่ชอบในวงการนี้มารู้จักกัน มีเครือข่ายเหมือนสถาปนิกที่มีการช่วยเหลือกัน ไม่ต้องหลงงมเองไปนาน เพราะบางเรื่องมันสอนกันนิดเดียวแล้วมันก็จะทะลุปรุโปร่ง และสามารถไปสร้างสรรค์อะไรดี ๆ ได้อีกเยอะ ตั้งใจจะสร้างเครือข่าย ชวนคนมารู้จักกัน มาพูดคุย มาช่วยกัน เหมือนวางมาตรฐานของวิชาชีพนี้ให้จริงจังมากขึ้น เพราะว่า อย่างน้อง ๆ บางคนอย่างเริ่มต้นก็คือจะพลีกาย ถ่ายให้ฟรีก็ได้ เพราะการถ่ายภาพให้สวยมันก็คือความสุข แต่ถ้าเราจะยึดเป็นวิชาชีพนั้นเราถ่ายฟรีไม่ได้ตลอด มันก็ต้องมีการจัดสรร ให้อยู่ได้หากินได้จริง อยากให้น้องใหม่มาให้เราช่วยนำทาง เติมไฟให้กันและกัน มันเป็นยุคที่ว่าเขาไม่ได้มาเอาจากเราอย่างเดียว บางทีก็ให้ความรู้ใหม่ซึ่งกันและกันด้วย

Q: จากที่คุณวิสันต์สร้างเพจใหม่ 2 เพจ Urban Palettes และ WOPENSPACE นอกจากการสื่อสารด้านการถ่ายภาพแล้ว ตั้งใจให้เพจเหล่านี้นำเสนอเรื่องราวแบบไหนบ้าง
A: อยากให้เป็นที่ปล่อยของของน้อง ๆ ในทีมเราที่มีความคิดความสามารถที่หลากหลาย บางทีให้ทำงาน แบบเดิม ๆ มันก็อาจจะจำกัดวิธีการไปบ้าง เราเลยทำให้มันเป็นที่ปล่อยของ อย่าง WOPENSPACE เป็นที่ที่ใครมีไอเดีย อะไรใหม่ ๆ คีย์วิชวล หรือ personal project ก็มาปล่อยตรงนี้ส่วน Urban Palettes เป็นส่วนในเชิงคอนเท้นต์ซึ่งเราก็ยังไม่ได้จำกัดความอะไรมากมาย เรียกว่าต้องรอดูความเจริญก้าวหน้าและทิศทางกันในอนาคต


นอกจากนี้ในนิทรรศการ W Workspace : The Open Space Exhibition & Workshop จะมีการอัพเดตเพิ่มเติมใหม่เรื่อย ๆ  ทั้งเบื้องลึกเบื้องหลังของการถ่ายรูปที่ไม่ได้หาชมได้ง่าย ๆ พาทัวร์นิทรรศการที่เหมือนได้ไปถ่ายรูปกับสถาปัตยกรรมจริงและกิจกรรม workshop ที่น่าติดตามตลอดจนกว่าจะจบนิทรรศการ สามารถไปพูดคุยกับ W Workspace ได้ที่ The Jam Factory คลองสาน งานจัดแสดงวันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2566


ภาพ: กรานต์ชนก บุญบำรุง , W Workspace
เรียบเรียง: Lily J.