WYNDHAM CLUBHOUSE อาคารอิฐทรงกล่อง ประตูสู่ดินแดนรีสอร์ตส่วนตัวสไตล์ทรอปิคัล

“Wyndham Clubhouse” อาคารอิฐ ที่ถูกใช้เป็นคลับเฮ้าส์ หรือส่วนต้อนรับ ซึ่งเกิดจากวัสดุสามัญ นำพาทุกคนเข้าสู่ดินแดนรีสอร์ตส่วนตัวที่มีชื่อว่า Wyndham Garden Phú Quốc ในพื้นที่ชายฝั่งของฟูโกว๊ก (Phú Quốc) เมืองท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามของเวียดนามใต้

ในฐานะที่ใช้เป็นจุดติดต่อแรกสำหรับรับแขก บทบาทของ อาคารอิฐ ซึ่งใช้เป็นส่วนต้อนรับก่อนนำสู่รีสอร์ตสุดชิลที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้ราวกับเป็นป่าสีเขียวในกล่องคอนกรีตนี้ สถาปนิกจาก MIA Design Studio ได้เน้นการออกแบบอาคารให้เป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ สำหรับมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่า ในบทบาทที่เปรียบเสมือนปราการด่านแรกก่อนเข้าสู่พื้นที่รีสอร์ส่วนตัว ภายใต้รูปลักษณ์อาคารอิฐทรงลูกบาศก์เรียบง่ายสีแดงเอิร์ธโทน ซึ่งก่อสร้างจากอิฐจำนวนมหาศาลที่ดึงดูดความสนใจของผู้มาเยือนได้ในทันที

โดยมาจากความปรารถนาในการนำเสนอมุมมองใหม่ ผ่านสถาปัตยกรรมอิฐที่หลอมรวมทั้งรูปแบบโมเดิร์นและความดั้งเดิมไว้ด้วยกัน สำหรับความดั้งเดิมที่ถูกนำมาใช้นี้ ผู้ออกแบบหมายถึงการเน้นใช้ “อิฐ” วัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น นำมาสร้างสรรค์เป็นเปลือกอาคารที่สะท้อนถึงความประณีต และความแม่นยำของช่างประจำท้องถิ่น ในการนำอิฐมาเรียงต่อกันจนเกิดแพตเทิร์นสวยงาม.แม้ตัวอาคารจะเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์น แต่ก็มีความเข้าใจในภูมิอากาศเขตร้อนได้อย่างดี ด้านหน้า หรือทางเข้าหลัก จึงออกแบบให้มี Canopy ขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ช่วยบังแดดและฝนก่อนเข้าสู่พื้นที่ภายในอาคาร

พื้นที่ภายในอาคารช่วงเวลากลางวันให้ความรู้สึกปลอดโปร่งและเย็นสบาย เพราะมีชั้นอิฐช่วยป้องกันความร้อน ขณะเดียวกันก็เป็นช่องแสง นำพาแสงสว่างได้อย่างทั่วถึง เกิดการระบายอากาศและลมตามธรรมชาติได้ดีเยี่ยม ส่วนในเวลากลางคืนอาคารอิฐหลังนี้จะให้ภาพลักษณ์ที่เป็นเหมือนกล่องไฟขนาดใหญ่ สาดแสงเงาของไฟสีส้มให้ลอดผ่านออกมาตามช่องอิฐ ซึ่งเกิดจากการเรียงก้อนอิฐแบบเว้นช่องตามแพตเทิร์นที่ออกแบบไว้

ภายในมีการสร้างพื้นที่พักผ่อนแยกเป็นสัดส่วน ชั้นล่างใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ โดยแบ่งเป็นโซนล็อบบี้ บาร์ และพื้นที่รับประทานอาหาร ล้อมรอบคอร์ตสระน้ำกลางอาคาร ชั้นสองสามารถมองลงมาเห็นสระน้ำด้านล่างได้รอบ โดยที่ขอบระเบียงชั้นบนได้เลือกปลูกพรรณไม้ใบเขียวพลิ้วไหวยาวระย้าลงมาดูราวกับเป็นผืนพรมสีเขียว ทำหน้าที่ช่วยกันความร้อนให้พื้นที่ชั้นในได้อีกทาง ส่วนชั้นบนสุดออกแบบเป็นสวนดาดฟ้า สำหรับใช้พักผ่อนนั่งเล่น หรือจัดปาร์ตี้ยามค่ำคืน ได้บรรยากาศพร้อมวิวที่สวยงามแบบไม่มีอะไรมาบดบัง

ก่อนเดินออกไปยังพื้นที่รีสอร์ตส่วนตัวซึ่งซ่อนอยู่ด้านหลัง จะพบกับมีสระว่ายน้ำขนาดใหญ่สีสันตัดกับองค์ประกอบสีเขียวของพรรณไม้เขตร้อน เป็นภาพแลนด์สเคปที่มีทั้งความสวยงามและสมบูรณ์แบบเมื่อมองจากมุมบน และนอกจากการสื่อความหมายโดยมีธรรมชาติเป็นพระเอก ผ่านวัสดุหลักอย่างอิฐแล้ว สถาปนิกยังใช้วัสดุอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ ไม้ไผ่ ไม้ และหิน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงให้มนุษย์ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติทุก ๆ การสัมผัส ตั้งแต่แสงแดด สายลม ไปจนถึงผืนหญ้า ผืนน้ำ

ที่นี่จึงเป็นอีกผลงานที่เรียกได้ว่า Tropical Climate Architecture สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมโดยมีธรรมชาติเข้ามามีส่วนร่วม โดยมาจากความเข้าใจที่มีต่อบริบทและสภาพภูมิอากาศของที่ตั้ง ปลายทางของความลงตัวจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ณ รีสอร์ตตากอากาศแห่งนี้

ออกแบบ : MIA Design Studio (http://miadesignstudio.com/)

ภาพ : TrieuChien

เรียบเรียง : Phattaraphon