Buono Factory โรงงาน ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้วยงานดีไซน์

จะดีกว่าไหม ถ้ามีพื้นที่ทำงานที่ดีต่อคุณภาพชีวิต และส่งเสริมการทำงานของคุณให้ดียิ่งขึ้น โรงงาน อุตสาหกรรมส่วนมากเป็นพื้นที่เร่งรีบ ทุกคนทำงานตลอดเวลาเสมือนเครื่องจักร มีเวลาพักแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน จะเป็นไปได้ไหมที่เวลาพักเพียงไม่กี่ชั่วโมงนั้น พนักงานจะได้ใช้พื้นที่สวัสดิการของโรงงานเพื่อความสุนทรียภาพ ผ่อนคลายในเวลาชั่วขณะหนึ่งได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเร่งรีบ และนี่คือตัวอย่างของโรงงานที่ใส่ใจคุณภาพชีวิตพนักงาน กับ Buono Factory แห่งนี้


Buono Factory คือโรงงานที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง ที่ต้องการขยายกำลังการผลิตให้ทันความต้องการผู้บริโภค มาพร้อมวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ให้ความสำคัญของคุณภาพชีวิตพนักงาน ส่งต่อแนวคิดนี้โดย Skarn Chaiyawat Architects กับไอเดียการออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงาน ทำจากโครงสร้างเหล็กพอร์ทัลเฟรม ซึ่งใช้เป็นแนวคิดหลักในงานออกแบบ


พื้นที่ขยายใหม่ของโรงงานมีด้วยกัน 3 อาคาร ไฮไลต์ คืออาคาร A พนักงานสามารถเข้าไปใช้งานได้มากที่สุด โดยใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่รับประทานอาหารในช่วงพักกลางวัน นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมสัมมนา และกิจกรรมนันทนาการอื่น ๆ บริเวณพื้นที่ชั้น 2 ของอาคารนี้ ใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำที่เป็นบ่อพักน้ำจากการบำบัดน้ำเสียของโรงงาน ทั้งยังมีพื้นที่สีเขียวทั้งในและนอกอาคาร เป็นการออกแบบพื้นที่ให้น่าใช้งาน ดีต่อคุณภาพชีวิต และให้ความรู้สึกผ่อนคลายไปพร้อมกัน


และอีก 2 อาคาร ได้รับการแบ่งตามการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยอาคาร B จะเน้นประโยชน์ใช้สอยพื้นที่สำนักงานทั้งเป็นห้องแล็ปทดลอง โซนพัฒนาผลิตภัณฑ์ โซนเก็บวัตถุดิบ อาหารแห้ง และโซนบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ส่วนอาคาร C ประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่เป็นอาคารที่เก็บผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ ลักษณะการใช้งานเหมือนเป็นตู้เย็นขนาดใหญ่ อุณหภูมิติดลบถึง 25 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาตัวผลิตภัณฑ์ อาคารนี้อยู่ติดกับพื้นที่โรงงานเดิมที่เป็นส่วนส่งออกเช่นเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการขนส่ง


#โครงสร้าง
การสร้างโรงงานที่เป็นพื้นที่ธุรกิจอย่างหนึ่งนั้น นอกจากจะได้มาตรฐานแล้ว จะต้องสร้างง่ายและรวดเร็ว ผู้ออกแบบจึงเลือกใช้โครงสร้างเหล็กพอร์ทัลเฟรมเป็นโครงสร้างที่ระยะสแปนของเสายาว โดยใช้โครงสร้างเดียวกันในอาคารทั้ง 3 หลัง เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการก่อสร้าง โครงสร้างนั้นถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถันโดยเก็บรายละเอียดของงานระบบให้เหมือนกันทุกอาคาร


#สร้างคุณภาพชีวิตจากงานดีไซน์
แต่ละอาคารแตกต่างด้านการใช้งาน จึงเลือกใช้ผนังต่างกัน อาคาร A เป็นอาคารที่มีพนักงานใช้งานมากที่สุด จึงเลือกใช้เปลือกอาคาร (Façade) เป็นผนังพรีคาสท์ ด้วยโครงสร้างอาคารสูงโปร่ง และเจาะช่องแสง( Sky Light ) ทำให้ได้ทั้งแสงธรรมชาติ และลมพัดผ่านตลอดทั้งวัน ด้านหน้าไฮไลต์ของอาคารเลือกใช้เป็นกระจกผิวส้มลามิเนต ลักษณะเป็นผิวขรุขระ คล้ายบานเกล็ดห้องน้ำ ห้องครัวที่หลายคนคุ้นชินกันดี กระจกด้านนี้ก็เปรียบเสมือนป็นบานเกล็ดขนาดใหญ่ ด้วยตัวโครงสร้างอาคารสูง การเลือกใช้กระจกลามิเนต ลามิเนตคือการนำกระจก 2 แผ่นนำมาติดกัน โดยติดด้วยแผ่นฟิล์ม ซึ่งเป็นข้อดีในการลดความเสี่ยงอุบัติเหตุจากกระจกแตกลงมา ไม่ให้เศษกระจกเป็นปลายแหลมอันตราย บานเกล็ดนี้ยังช่วยระบายอากาศได้ดี และใส่รายละเอียดอย่าง ตะแกรงสเตนเลส เพื่อกันนกเข้ามาทำรัง ที่ขาดไม่ได้ในอาคารนี้เลย คือเฟอร์นิเจอร์โต๊ะเก้าอี้สำหรับรับประทานอาหาร ที่ผู้ออกแบบตั้งใจทำให้ขอบโต๊ะมีความโค้งมนลดอุบัติเหตุระหว่างการใช้งาน และขาเฟอร์นิเจอร์ที่ตั้งใจทำมาให้มีระยะห่าง เพื่อการจัดเก็บแบบซ้อนกันได้อย่างสะดวก


อาคาร B ใช้งานเป็นทั้งโกดังและสำนักงาน การเลือกใช้ผนังเมทัลชีทจึงเป็นทางเลือกที่ง่ายต่อการขยายก่อสร้างเพิ่มเติมได้รวดเร็ว ส่วนอาคาร C เป็นผนัง iso wall มีความหนา 20 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นกล่องเป็นโครงสร้างพิเศษที่ใช้เฉพาะอาคารนี้ เนื่องจากช่วยเรื่องกักเก็บความเย็นได้ดี โดยตัวผนังจะอยู่ด้านใน โครงสร้างอยู่ด้านนอก

จะเห็นได้ว่าแต่ละอาคารมีลักษณะพิเศษแยกกันไป เพื่อความสะดวกด้านการใช้งาน และยังช่วยส่งเสริมคุณชีวิตที่ดีในโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สเปซคุณภาพ สวัสดิการต่าง ๆ ที่ได้รับ คงจะดีไม่น้อย ถ้าทุกโรงงานใส่ใจคุณภาพชีวิตพนักงานแบบ Buono Factory


ผู้ออกแบบ: Skarn Chaiyawat Architects (www.skarnchaiyawat.com)
Design Team: Skarn Chaiyawat , Krit Chatikavanij , Supakorn Chantakitwattana
Garden Design: Siraphop Kamarj , Chonnikarn Wilaiprasert




ภาพ: SkyGround architectural film & photography
เรื่อง: Lily J.

WUYISHAN BAMBOO RAFT FACTORY โรงงานคอนกรีตเปลือยสำหรับผลิตแพไม้ไผ่