GROUNDWORK SPECIALTY COFFEE & WORKSPACE ปลุก ย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซแนวคิดใหม่

GROUNDWORK Specialty Coffee & Workplace รีโนเวตอาคารเก่าใกล้สี่แยกบริเวณ ย่านราชวัตร เป็นคาเฟ่เอาใจทั้งสายกาแฟ และไลฟ์สไตล์แบบ Workation

จากอาคารราชวัตร หรือ “ตึกหัวมุมกระเบื้องขาว” ภาพจำที่คนใน ย่านราชวัตร รู้จักกันดี ทั้งในวันที่เปิดเป็นบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับการสื่อสาร และสำนักงานให้เช่า ก่อนจะได้รับการเปลี่ยนโฉมจนกลายเป็นโรงแรมย่านราชวัตร (YANH Ratchawat) นอกจากตัวโรงแรมที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่นี่ยังแบ่งก้อนอาคารขนาด 3 ชั้น ที่อยู่ติดกับฟุตบาทด้านหน้าบริเวณแยกราชวัตรพอดี เพื่อเปิดเป็นคาเฟ่ที่ควบรวมฟังก์ชันโคเวิร์กกิ้งสเปซไว้ในที่เดียว รองรับไลฟ์สไตล์ Workation เทรนด์การทำงานของคนยุคใหม่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้

GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า
GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า

จากเรื่องราวของอาคารที่มีคุณค่าในแง่การเป็นสถาปัตยกรรมเก่าคู่ย่านราชวัตรมานาน ผู้ออกแบบจึงเลือกเก็บรายละเอียดเพื่อย้ำเตือนความทรงจำบางอย่างไว้ โดยเฉพาะเปลือกอาคารที่กรุกระเบื้องเซรามิกสีขาวขนาด 20×20 เซนติเมตร ซึ่งผู้ออกแบบตีความว่าเปรียบเสมือนเม็ดพิกเซลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งชายคาอาคารที่มีการใช้กระเบื้องโมเสกขนาด 20×20 มิลลิเมตร นำมาเรียงต่อกันเป็นตัวอักษรที่จะมีการเปลี่ยนสีจากสีดำเป็นสีใส เป็นดิสเพลย์ช่วยสะท้อนไปถึงธุรกิจดั้งเดิมของตัวอาคาร

GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า
GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า
GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า

ขณะที่เปลือกอาคารภายนอกยังเก็บไว้เช่นเดิม ภายในผู้ออกแบบมุ่งไปที่การเปลี่ยนฟังก์ชันใหม่ภายใต้กรอบสเปซรูปสี่เหลี่ยมคางหมู อย่างการทุบผนังภายในออกเพื่อเปิดพื้นที่ให้ปลอดโปร่ง วางตำแหน่งเคาน์เตอร์ในลักษณะที่บิดแกนออกจากตำแหน่งเสาโครงสร้าง เพื่อหลีกหนีจากความเป็นตารางและเส้นกริด ใช้รูปทรงแบบออร์แกนิกมาเป็นลูกเล่นให้เกิดเส้นสายที่ลื่นไหลช่วยลดทอนภาษาของเส้นกริดลง ร่วมกับการใช้โลหะ สแตนเลส อะคริลิกโปร่งใส เส้นไฟ และกระเบื้องเทอราคอตตาสีส้ม-ดำมาผสมให้เกิดความบาลานซ์ได้อย่างน่าสนใจ

GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า
GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า
GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า

จากชื่อ GROUNDWORK ที่มาจากการเล่นคำซึ่งแปลได้ว่าเป็นพื้นที่ที่เปรียบเสมือนรากฐาน เป็นจุดเริ่มต้น หรือสามารถแยกกันระหว่างคำว่า Ground กับ Work โดยคำว่า Ground ผู้ออกแบบตั้งใจสื่อถึงการบดเมล็ดกาแฟเป็นCoffee Ground ส่วนคำว่า Work ก็คือการทำงาน จากชื่อที่มีความหมาย นำมาสู่การตีความผ่านงานออกแบบ อาทิ โคมไฟที่แขวนลอยอยู่เหนือโถงดับเบิ้ลสเปซและเคาเตอร์สแตนเลสเป็นการสอดแทรกความเป็นแมชชีน หรือองค์ประกอบที่สื่อถึงเครื่องบดกาแฟ คล้ายเดินเข้าไปอยู่ในเครื่องบดกาแฟ ที่ภายในมีทั้งท่อฟันเฟือง และสายไฟห้อยระโยงระยาง

GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า
GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า
GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า

นอกจากโคมไฟที่เป็นตัวแทนของความเป็นแมชชีนแล้ว จุดไฮไลต์อีกอย่างของที่นี่คือ บันไดวนสีส้ม ใช้นำทางสู่ชั้น 2 เกิดจากการปรับปรุงบันไดเดิมที่ทรุดโทรมให้เป็นบันไดเหล็กที่ไม่ต่างจากประติมากรรม โดยลูกค้าสามารถใช้บันไดนี้ หรือบันไดหลัก และลิฟต์ด้านหลัง เพื่อขึ้นสู่ชั้น 2 ได้เช่นกัน สำหรับพื้นที่ชั้น 2 นั้น ได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่นั่งทำงานภายใต้ธีมเดียวกับคาเฟ่ชั้น 1 แต่เน้นเฟอร์นิเจอร์ และที่นั่งที่ทำงานได้อย่างจริงจังมากขึ้น ครบครันทั้งปลั๊กไฟ และWi-Fi ให้สามารถมานั่งทำงาน พร้อมกับดื่มกาแฟดี ๆ เรียกว่าใช้เวลาอยู่ที่นี่ทั้งวันได้แบบสบาย ๆ

GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า
GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า
GROUNDWORK ปลุกย่านราชวัตร ด้วยคาเฟ่และโคเวิร์คกิ้งสเปซในอาคารเก่า

ชั้น 3 ออกแบบให้เป็นพื้นที่เวิร์คสเตชั่น ภายใต้ธีมการตกแต่งที่ต่างจากชั้น 1 และ 2 ด้วยการใช้กระเบื้องโมเสกสีน้ำเงินเข้มเข้ามาทำหน้าที่แบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้งานตามแต่ละโซนอย่างชัดเจน ภายในแบ่งพื้นที่ห้องทำงานออกเป็น Pod ต่าง ๆ เช่น ห้องทำงานส่วนตัวที่สามารถปรับระดับความสูง-ต่ำของโต๊ะทำงานได้เพื่อลดอาการออฟฟิศซินโดรม นอกจากนี้ยังมีห้องทำงานที่ให้เข้ามานั่ง หรือนอนเอกเขนกทำงานได้แบบสบาย ๆ ตอบโจทย์พฤติกรรมการทำงานของบางคนที่ชอบกึ่งนั่งกึ่งนอน แค่มีแลปท็อปอยู่บนตักก็ทำงานได้แล้ว ทั้งยังมีส่วนที่เป็นพอร์ดแคส หากใครมีการจัดรายการ หรือประชุมย่อยเล็ก ๆ ก็สามารถมาเช่าและใช้งานพื้นที่ได้

แม้จะเป็น Chapter บทใหม่ของอาคารราชวัตร แต่ที่นี่ก็ยังไม่เปลี่ยนหน้าตาไปจากเดิม เพื่อให้บทบาทของตัวอาคารอย่างการทำหน้าที่เป็นคาเฟ่ยังคงเป็นสถานที่ที่คนในย่านรู้สึกคุ้นเคย ในทุก ๆ เช้าเราจึงจะได้พบเห็นผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้เดินมาสั่งกาแฟก่อนเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิต และไม่ลืมที่พวกเขาจะอดเยี่ยมชมบรรยากาศการปรับเปลี่ยนอาคารเก่าครั้งนี้ว่า อาคารที่พวกเขาคุ้นเคยมาเนิ่นนานนั้น วันนี้มีบรรยากาศเป็นเช่นไร ผ่านภาษาการออกแบบที่เป็นมิตร ไม่แปลกแยกไปจากบริบทรอบ ๆ แถมยังมีส่วนช่วยปลุกย่านเก่าให้มีสีสัน และได้รับการกล่าวถึงอีกครั้ง

ที่ตั้ง
Groundwork Specialty Coffee & Workplace
ถนนพระรามที่ ๕ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ
พิกัด https://goo.gl/maps/aK9Muu3rHF7bPwzk8
เปิดทุกวัน 7.00-21.00 น.

เจ้าของ-ออกแบบ : บริษัท เอสซี เอ็กซ์เพดิชั่น จำกัด และ Breathe

เรื่อง : Phattaraphon
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, ยุทธนา กล้วยไธสง