ก่อร่างอาคารสะท้อนวิถีชีวิตกรุงเก่าด้วยบล็อกแก้วและโครงไม้ 

เมื่อกล่าวถึงกรุงเก่าอย่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชื่อเหลือเกินว่าหลายๆคนจะต้องนึกถึงภาพสถาปัตยกรรมมรดกโลกที่ยังคงเหลือเศษซากเป็นอิฐแดงมากมาย ไม่ว่าจะวัดหรือเจดีย์ที่เห็นได้โดยทั่วไป ซึ่งเป็นเหมือนภาพจำที่ส่งอิทธิพลมายังอาคารในจังหวัดแม้จะในปัจจุบันก็ตามที แต่ใช่ว่าการตีความ “บริบทกรุงเก่า” จะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป

วันนี้เราได้มีโอกาสได้พูดคุยถึงแนวคิดของการผสมผสานการใช้งานวัสดุอุตสาหกรรมอย่าง “บล็อกแก้ว” ร่วมกับวัสดุธรรมชาติอย่าง “ไม้” จากผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกแห่ง Bangkok Project Studio ผู้ออกแบบ THE ARTISANS AYUTTHAYA :The Woman restaurant หรือ อาร์ทิซานส์ ร้านอาหารริมแม่น้ำในจังหวัดอยุธยา ที่เลือกใช้บล็อกแก้วและโครงไม้แทนการก่ออิฐฉาบปูนในการออกแบบได้อย่างร่วมสมัย และน่าสนใจ เชื่อมโยงความเก่า และใหม่ไปพร้อมกับบริบทวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว

วิถีชีวิตที่ถูกซ่อนไว้ใน “พื้นที่”

“อาร์ทิซานส์นั้นออกแบบมาเพื่อเป็นร้านอาหารของหญิงสูงอายุ ซึ่งเป็นร้านอาหารที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจที่จะส่งต่อวัฒนธรรมอาหารของเหล่า ป้า-ยาย ในพื้นที่บ้านรุนแห่งนี้ไปสู่คนรุ่นถัดไป เพราะ ป้า-ยาย เหล่านี้ต่างก็อายุมากแล้ว แต่ก็มีความสามารถ โดยเฉพาะในเรื่องของอาหาร มีทั้งสูตรอาหารที่นับวันจะเริ่มลบเลือนไป คุณเอส-สรวีร์ วิศิษฏ์โสภา เจ้าของร้านแห่งนี้จึงคิดว่าจะทำยังไงให้ ป้า-ยาย เหล่านี้ได้มีพื้นที่ ให้วัฒนธรรมที่มีคุณค่าเหล่านี้จะไม่ถูกลืมเลือนไปและสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนให้กับผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้หญิง จึงเกิดเป็น อาร์ทิซานส์ ร้านอาหารแห่งนี้ขึ้น”

“ซึ่งเมื่อพูดถึงความเป็น ตำบลบ้านรุนแล้ว บางคนก็อาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำ ภาพในหัวของนักท่องเที่ยวที่มาอยุธยาจึงเป็นภาพของเมืองมรดกโลก วัด เจดีย์ ซากโบราณสถาน แต่ชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ที่นี่เราอาจจะนึกไม่ออกด้วยซ้ำไป ภาพที่ถูกซ่อนอยู่ คือชีวิตจริงๆในพื้นที่เหล่านี้ บ้านริมน้ำ ทางเดินแคบๆ ตรอกซอกซอย รวมถึงอาหารไทย อาหารพื้นบ้านและขนมไทยที่คนที่นี่ทำกินกันจริงๆ ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ผมเลือกจะสร้างให้เกิดเป็น ‘บรรยากาศ’ ในอาร์ทิซานส์แห่งนี้ แต่อย่างที่บอก บรรยากาศเหล่านี้มันจะถูกซ่อนเอาไว้ ไม่ใช่ภาพที่จะเห็นได้ตั้งแต่แรก แต่เป็นบรรยากาศที่ต้อง ‘สัมผัส’ ด้วยประสาทสัมผัสต่างๆ และค้นพบได้เองเมื่อได้เดินเข้ามาที่ภายใน

“กลุ่มอาคาร 5 หลังที่ประกอบกันขึ้นเป็นอาร์ทิซานส์นั้น เป็นความเชื่อมโยงกันภายในพื้นที่ที่ตั้งใจ แยกอาคารออกเป็นหลังเล็กๆ เพื่อให้ตัวอาคารกับบริบทของพื้นที่นั้นสอดแทรกซึ่งกันและกัน ทั้งกลมกลืน และเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอก โดยที่ออกแบบให้ตัวอาคารเป็นอาคารรูปทรงสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นรูปทรงที่ทำให้เกิดมุม เกิดช่องว่าง เกิดทางเดินลับๆที่เอามาซ้อนกันไปมา เป็นแนวคิดหนึ่งที่ตั้งใจสร้างให้เกิดมุมของอาคารที่แตกต่างกัน มีซอกหลืบคล้ายตรอกซอกซอยที่เชื่อมระหว่างบ้านเก่าแต่ละหลังเข้าด้วยกัน อาจเปรียบได้กับชีวิตของคนที่อยู่ที่นี่ที่ถูกซ่อนเอาไว้ ทั้งเรื่องของวิถีชีวิต เรื่องวัฒนธรรมอาหาร สิ่งต่างๆนั้นต้องการการค้นหาเพื่อค้นพบ เพราะในแต่ละพื้นที่ก็จะมีการใช้งานแตกต่างกันออกไป เลี้ยวมุมนี้อาจเจอครัว อีกมุมหนึ่งอาจจะเป็นห้องทานข้าว เกิดเป็นความหลากหลายในพื้นที่”

ความเป็นอยุธยาในความหมายใหม่

“งานของผมจะเป็นเรื่องของ Sense หรือการรับรู้ จะเป็นไทยไม่ไทย อยุธยาหรือไม่อย่างไร ตรงนี้เราจะไม่ไปกำหนด แต่เราจะปล่อยให้ผู้ใช้งานได้เข้ามาสัมผัส เข้ามารู้สึกเอง เพราะความรู้สึกเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปยัดเยียดให้ใครได้ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าทุกสิ่งมันถูกซ่อนอยู่ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาก็ต้องไปค้นหาสิ่งเหล่านั้นด้วยตนเองเช่นกัน”

“แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือความเชื่อมโยง มันเป็นเรื่องขององค์ประกอบที่เข้ามาสัมพันธ์กัน กลิ่นของหญ้า ของต้นไม้ กลิ่นของเตาถ่าน กลิ่นของไม้ ลักษณะการเดินบนทางเดินไม้แคบๆ เสียงท่าเรือ เสียงน้ำ เสียงของ ป้า-ยาย ที่กำลังทำอาหารในอีกมุมหนึ่งของตึก สิ่งเหล่านี้มันอาจไปย้อนภาพบางอย่างให้กับผู้ที่เข้ามาในอาร์ทิซานส์ได้ ภาพของการได้วิ่งเล่นสนุกสนานตามใต้ถุนบ้านในวัยเยาว์ ภาพของท่าเรือ หรือบ้านเรือนที่เคยจำได้ อาหารฝีมือแม่ หรือยาย มันเป็นสิ่งที่ซ่อน แอบอยู่ในความทรงจำของพวกเขาเช่นเดียวกัน และนั่นคือความเป็นอาร์ทิซานส์ อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะค้นเจออะไร ผมให้สถาปัตยกรรมทำหน้าเป็นเพียงตัวเชื่อมโยงระหว่างความทรงจำเหล่านั้นให้ปรากฏเป็นปัจจุบัน”

“ก่ออิฐด้วยไม้ และใช้อิฐใสแทนที่อิฐแดง จากจั่วแนวตั้งก็กลายเป็นอาคารผังสามเหลี่ยม นัยยะเหล่านี้สุดแล้วแต่ประสบการณ์และการตีความของแต่ละคน ด้วยความรู้สึก ด้วยสัมผัสที่ตั้งใจใส่ลงไปในอาคารหลังนี้”

บล็อกแก้วและไม้ การผสมผสานวัสดุในความหมายที่แตกต่างอย่างลงตัว

“ผมเปรียบไม้เหล่านี้เหมือนเป็นปูนก่อ และใช้อิฐแก้วมาแทนที่อิฐมอญหรืออิฐแดงที่เราคุ้นชินกับภาพของเมืองเก่า“ผมเปรียบไม้เหล่านี้เหมือนเป็นปูนก่อ และใช้อิฐแก้วมาแทนที่อิฐมอญหรืออิฐแดงที่เราคุ้นชินกับภาพของเมืองเก่าแบบอยุธยา ผมเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามที่ว่า อะไรคือNext stepของอิฐ? คำตอบคือ ผมต้องทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่มีอยู่เดิมให้หมด เราเปลี่ยนมาเป็นบล็อกแก้วใสแทน และใช้ชนิดของบล็อกที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม  พื้นผิวของบล็อกก็มีมิติที่เล่นกับแสงและเงาสะท้อนได้อย่างน่าสนใจ และเมื่อเทียบกับงานบล็อกแก้วที่เคยปรากฏมาแล้ว  การใช้งานบล็อกแก้วในอาคารแห่งนี้ ก็ถือว่ามีภาษาที่แตกต่างจากงาน อื่นๆ “

“ ความสนใจในบล็อกแก้วเริ่มต้นที่งานสถาปนิก(ASA)เมื่อหลายปีมาแล้ว เป็นงานทดลองทำบูทเล็กๆเพราะเห็นว่า ‘วัสดุอุตสาหกรรม’ นั้นไม่ควรเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ผมมองว่าสำหรับวัสดุเหล่านี้ควรจะมีวิธีการจะเข้ามาร่วมกับวัสดุธรรมชาติได้อย่างไร และอีกส่วนหนึ่งคือผมต้องการเปลี่ยนเทคนิคการก่อสร้างจาก ‘ระบบเปียก’ มาเป็น ‘ระบบแห้ง’ ด้วย ซึ่งแต่เดิมการก่อบล็อกแก้วเป็นระบบเปียกคือก่อด้วยปูน แต่ผมเลือกใช้ระบบแห้งเข้ามาแทนที่ เรานำเอาข้อต่อไม้และโครงเหล็กมาใช้ซึ่งมันช่วยทำให้ผนังมีความแข็งแรงขึ้น สามารถก่อได้สูงกว่าการก่อระบบเปียก อีกทั้งยังทำให้บล็อกแก้วที่เป็นวัสดุอุตสาหกรรมมีความนุ่มนวลขึ้น และด้วยความใสของตัววัสดุ จึงทำให้ส่วนที่เป็นเฟรมนั้นกลายเป็นส่วนสำคัญที่โดดเด่นขึ้นมา”

“สิ่งที่ค้นพบคือ นอกจากความงามที่แตกต่างไปจากงานบล็อกแก้วอื่นๆอย่างชัดเจนแล้วนั้น ในระบบแห้งเช่นนี้ทำให้เราสามารถทำงานได้ตลอดเวลา ทั้งยังเป็นโครงสร้างที่รับน้ำหนักด้วยตัวเอง จึงไม่มีเสาที่เข้ามาคั่นระหว่างผืนผนังเลย เราใช้โครงเหล็กเข้าไปช่วยกับเฟรมไม้จึงทำให้เกิดเป็นความเป็นไปได้ใหม่ในการใช้วัสดุ ‘บล็อกแก้ว’ เช่นนี้ มันเหมือนการก่ออิฐด้วยไม้ และใช้อิฐใสแทนที่อิฐแดง จากจั่วแนวตั้งก็กลายเป็นอาคารผังสามเหลี่ยม นัยยะเหล่านี้สุดแล้วแต่ประสบการณ์และการตีความของแต่ละคน ด้วยความรู้สึก ด้วยสิ่งที่ตั้งใจออกแบบลงไปในอาคารหลังนี้ ก็เชื่อว่าเป็นอีกวิธีคิดที่เชื่อมโยงบ้านไม้เดิมๆกับวัสดุอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี”

ภูมิอากาศ กับอาคารใส อย่างบล็อกแก้ว?

“หากถามว่าใช้บล็อกแก้วแล้วกับประเทศแดดจัดอย่างประเทศไทยจะเกิดปัญหาหรือไม่? ต้องถามกลับว่า สถาปัตยกรรม และวิศวกรรมเราพัฒนากันมาแค่ไหนแล้ว จริงอยู่ที่ทุกวัสดุนั้นมีทั้งจุดเด่น และจุดด้อย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความคุ้มค่าในการเลือกใช้งาน ทั้งบรรยากาศ หรือผลลัพธ์อื่นๆแล้ว สถาปนิกควรจะเป็นคนที่แก้ปัญหารวมทั้งลบจุดด้อยลงไปให้ได้”

“สำหรับอาคารหลังนี้ การใช้บล็อกแก้วนั้นเป็นเรื่องของ แสง และการเชื่อมโยงของพื้นที่ มนุษย์นี้ต้องการแสงธรรมชาติ แต่ไม่ต้องการเปิดจนมากเกินไป เพราะยังคงต้องการความเป็นส่วนตัวอยู่ เรากำลังจะบอกว่าแสงที่กำลังเข้ามาในอาคารนั้นสามารถเปลี่ยนมิติได้ ทำให้เรารับรู้เวลาได้ รับรู้ธรรมชาติโดยรอบได้ เกิดเป็นความเชื่อมโยงระหว่างภายนอกและภายใน บางคนก็ถามว่าแสงเข้ามาเยอะขนาดนี้แล้วร้อนไหม? สิ่งสำคัญคือเรื่องของ Climate ในสถาปัตยกรรม การเปิดช่องรับลม การออกแบบสิ่งแวดล้อมให้เกิดเป็นภาวะสบาย เช่นการเลือกตำแหน่งต้นไม้ให้ช่วยบังแดดให้อาคาร สิ่งเหล่านี้ถ้าคิดมาอย่างถี่ถ้วนพอ อาคารจะสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องของความเชื่อมโยงทั้งบริบทแวดล้อมและตัวอาคารไปพร้อมกันมันอยู่ที่เราเลือกมอง เราเลือกมองข้อดีไปพัฒนา ส่วนข้อเสียก็เป็นเรื่องที่เราต้องไปแก้โจทย์ปัญหาเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง การออกแบบ คือการพลิกแพลง การเลือกใช้ เสริมจุดแข็ง และทำให้จุดอ่อนกลายเป็นข้อดีให้ได้ เราไม่สามารถบอกว่าห้ามใช้วัสดุแบบนั้น แบบนี้ได้ อย่างกระจก บางคนอาจบอกว่าร้อน แต่เราปฏิเสธไม่ได้ เราต้องการวัสดุที่มองเห็นทะลุได้ ถ้าอย่างนั้นเราต้องไปหาวิธีการจัดการปัญหาที่ตามมาเช่น ความร้อน  หรืออย่างในอาคารนี้ ก็มีการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติเข้ามาร่วมใช้ถึง 50% เลยทีเดียว เฟรมไม้เหล่านี้คิดเป็นพื้นที่ได้ถึงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ผนัง วิธีการออกแบบเหล่านี้เป็นหน้าที่ของสถาปนิก ที่จะต้องใช้สิ่งเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด”

เปลี่ยนวัสดุอุตสากรรม สู่คุณค่าแบบงานคราฟต์เชิงช่าง

“สิ่งสำคัญของการสร้างความ ‘พิเศษ’ ให้กับความเป็นสถาปัตยกรรมที่เลือกใช้ ‘วัสดุอุตสาหกรรม’ ได้อย่างไร? เพราะถึงแม้จะเลือกใช้ ‘วัสดุอุตสากรรม’ เช่นนี้ แต่ความเป็น”งานฝีมือ”(craft)หรือหลักวิธีการ ก็ต้องมีการคิดค้น ต้องมีการสร้างช่างฝีมือหรือใช้ความคราฟต์ในการรังสรรค์ความคิดให้ออกมาเป็นของจริงเช่นกัน ผมเลือกใช้ไม้มาแทนที่วัสดุก่อ ส่วนหนึ่งคือความท้าทายในข้อจำกัด ผมสนใจในการนำพาวัสดุให้ไปได้มากกว่าความคุ้นชินโดยทั่วไป การเลือกสร้างมิติใหม่ๆให้กับวัสดุคือหน้าที่หนึ่งของสถาปนิกที่จะทำให้อาคารมีคุณค่ามากขึ้น”

“แต่การสร้างสิ่งใหม่นั้นก็ต้องแลกมาด้วย ‘เวลา’ ในโครงการนี้เราต้องใช้เวลามากกว่าเดิม เมื่อต้องออกแบบวิธีการใหม่ นั่นแปลว่าเราต้องมีการทดลอง การทดสอบ และการฝึกฝีมือแรงงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องใช้เวลาทั้งสิ้น บางครั้งก็ต้องทำแล้วก็รื้อ มันไม่ได้สำเร็จได้ตั้งแต่ทีแรก แต่ในท้ายที่สุด ประสบการณ์ที่ได้มา ทำให้เกิดการเรียนรู้เหล่านี้และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ”

บล็อกแก้ว วัสดุที่เป็นมากกว่ากระจกใส

ในโครงการ คุณบุญเสริมได้เลือกใช้วัสดุบล็อกแก้วเป็นวัสดุหลัก ไม่ใช่แค่เพราะคุณสมบัติของความเป็นวัสดุโปร่งใสเท่านั้น แต่ในนิยามของการ “ปิดซ่อนและเปิดเผย” พื้นที่ต่างๆภายในโครงการก็ทำให้การเลือกใช้วัสดุมีการคิดคำนึงไปถึงความรู้สึกและประสบการณ์ของผู้ใช้งานพื้นที่ระหว่างอยู่ในโครงการเช่นกัน

บล็อกแก้วมาตราฐานทั่วไปที่มีขายในท้องตลาด มีขนาด 190x190x80 mm.มีพื้นผิวที่ดูเป็นธรรมชาติ พลิ้วไหว สามารถบดบังสายตาให้เกิดความเป็นส่วนตัว แต่ก็ยังสามารถมองเห็นกันได้ทั้งจากภายใน และภายนอก ในยามกลางวันแสงธรรมชาติ รวมทั้งบรรยากาศต้นไม้ภายนอกจะสามารถส่งเข้ามายังพื้นที่ภายในได้ รวมทั้งความเคลื่อนไหวของผู้คนในพื้นที่จะกลายเป็นเงาลางๆเติมเต็มเรื่องราวของชีวิตริมคลองของอยุธยาได้ตามที่คุณบุญเสริมตั้งใจเอาไว้และในยามค่ำคืน แสงไฟที่ประดับตกแต่งอยู่ภายในก็จะสามารถส่องประกายระยิบระยับออกไปยังวิวภายนอกเป็นเสมือนโคมขนาดใหญ่ ได้เช่นเดียวกัน

โปรย : “การเผยให้เห็นพื้นที่ในแบบที่ไม่ได้เปิดเผยจนหมดแต่แรก ช่วยให้ผู้ใช้งานยังคงสามารถจินตนาการ และนึกย้อนไปถึงประสบการณ์ส่วนตัวร่วมได้เช่นเดียวกัน คล้ายเป็นบทกวีที่อาศัยธรรมชาติ และบริบทของพื้นที่ช่วยเติมเต็ม”

และนี่ก็คืออีกหนึ่งตัวอย่างของงานออกแบบที่นำพาบริบททางวัฒนธรรมไปสู่รูปแบบสถาปัตยกรรมในภาษาใหม่ที่สร้างประสบการณ์อันน่าสนใจได้ด้วยวัสดุอย่าง “บล็อกแก้ว” แบบที่ไม่มีที่ใดเคยทำได้มาก่อน THE ARTISANS AYUTTHAYA ยังคงเปิดประตูต้อนรับผู้ที่อยากเข้าไปสัมผัสความรู้สึกของวันวานเช่นนี้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะด้วยอาหาร หรือบรรยากาศภาพอดีตที่ซ่อนอยู่ภายในอย่างแยบยล

.

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ THE ARTISANS AYUTTHAYA

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ บล็อกแก้ว

.

ภาพ: Soopakorn Srisakul

เรื่อง: Wuthikorn Sut