บอนไซ

บอนไซเพรมน่า..ทำเองได้ สร้างรายเสริมคู่งานประจำ

บอนไซ
บอนไซ

ในยุคที่พื้นที่สีเขียวรอบบ้านเหลือน้อยลงทุกที หลายคนก็มองหาพื้นที่สีเขียวในบ้าน มุมที่ทำงานริมหน้าต่าง หรือภายในบ้าน นอกจากไม้ใบยอดนิยมแล้ว “ บอนไซ ” เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง ที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเราได้เช่นกัน ดังเช่น คุณนที วงศ์เสงี่ยม ที่เปลี่ยนพื้นที่เล็กๆ หน้าบ้าน ให้เป็นพื้นที่สีเขียว ด้วยการปลูก บอนไซเพรมน่า สำหรับขายสร้างรายได้แทนรายได้จากงานประจำ

คุณนที เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาปลูก บอนไซ แทนการคลิ๊กเมาส์อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ “ผมจบทางด้านศิลปะ และกราฟฟิกดีไซน์มาก่อน ตอนที่ทำงานประจำ เราต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ใช้ทั้งสมอง สายตา ที่มาพร้อมกับความเครียด ช่วงนั้นผมปวดบ่า หลังไหล่ และสายตาเริ่มแย่ เลยอยากพัก ลองหาต้นไม้มาปลูก สุดท้าย บอนไซเพรมน่า นี่เองที่ตอบโจทย์ให้กับผม

“ชอบปลูกต้นไม้มาตั้งแต่เด็กๆ พอเจอบอนไซรู้สึกว่ามันสวยมาก มีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีรายละเอียดน่าสนใจ ก็เริ่มหาข้อมูล”

คุณนทีหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ดูคลิปต่างๆ และไปชมงานประกวดและแวะไปเยี่ยมชมสวนบอนไซหลายแห่ง รวมทั้งเว็บไซต์ของชมรมบอนไซไทย จึงเริ่มได้คำแนะนำและเทคนิคการปลูกเลี้ยงมากขึ้น เขาจึงหันมาลองเลี้ยงอย่างจริงจัง สุดท้ายก็ติดใจ “บอนไซเพรมน่า”

บอนไซเพรมน่า

“พอได้ข้อมูลมากขึ้น ก็มาลองปลูกเลี้ยงเอง ตอนแรกก็ปลูกพวกโพ ไทร ไกร ซึ่งชอบแสงแดดจัด แต่หน้าบ้านที่อยู่เมื่อก่อนได้แสงแดดน้อยแค่ช่วงเดียว ทำให้ต้นยืดไม่สวยงาม ลองหาพืชใหม่ จนมาเจอต้นเพรมน่าที่นิยมปลูกเลี้ยงเป็นบอนไซกันมาก เพราะเลี้ยงและดูแลง่าย ตอนนี้ย้ายมาบ้านใหม่ หน้าบ้านได้รับแสงแดดมากขึ้น ต้นไม้งามขึ้น ทำให้เลี้ยงไม้ได้หลากหลายขึ้น แต่ก็ยังเน้นปลูกบอนไซเพรมน่าเหมือนเดิมครับ

บอนไซเพรมน่า
ชั้นวางต้นบอนไซหน้าบ้านที่ได้รับแสงแดดเกือบตลอดวัน

 “ตอนแรกแค่เลี้ยงเป็นงานอดิเรก พอต้นได้ฟอร์มสวย ก็มีคนมาขอซื้อ ก็แบ่งขายไปบ้าง สุดท้ายกลายเป็นอาชีพ แต่เราไม่รีบร้อนที่จะขาย ต้นไหนที่อยู่นาน ทำไปเรื่อยๆ มันก็ยิ่งสวย ราคาก็เพิ่มขึ้นไปตามอายุ สุดท้ายมันก็มีของที่คนอยากได้เอง”

คุณนทีแนะนำว่า เพรมน่าเป็นพืชที่เลี้ยงง่าย ดูแลไม่ยาก มีใบเล็ก แค่ตัดแต่งกิ่งหรือใบออกไม่กี่ครั้ง ก็เล็กลงจนดูย่อส่วนแล้ว สำหรับดินปลูกเขาเลือกใช้ดินใบก้ามปูหมัก ผสมขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอก ผสมให้เข้ากัน ส่วนปริมาณแสงแดดที่เหมาะกับเพรมน่า ต้องได้รับแสงแดดอย่างน้อยวันละสองถึงสามชั่วโมง

“ถ้าเลี้ยงกลางแดด ดินจะแห้งง่ายมาก วิธีแก้ไข คือวางซ้อนเข้าไปในกระถางที่ใหญ่กว่า เพื่อช่วยรักษาความชื้นและอุณหภูมิ เมื่อรากแทงทะลุก้นกระถางก็ยังเติบโตได้ เพราะมีดินจากอีกกระถางอยู่ข้างล่าง เวลาจะยกขึ้นมาโชว์ก็ตัดรากได้เลย ซึ่งไม่ทำให้เพรมน่าโทรม บางคนก็วางในถาดที่ใส่ทรายหล่อน้ำไว้ก็ทำได้ครับ”

บอนไซเพรมน่า
คุณนทีสวมกระถางบอนไซไว้ในกระถางพลาสติกอีกทีหนึ่ง

สำหรับใครที่อยากลองเลี้ยงบอนไซเพรมน่าแต่มีต้นใหญ่ที่ยังไม่ได้ฟอร์มสวย วันนี้คุณนทีมาแนะนำ วิธีย่อกระถางบอนไซจิ๋ว กันค่ะ

Step 1 เตรียมอุปกรณ์ วัสดุปลูก เช่น ขุยมะพร้าว ปุ๋ยคอก ดินใบก้ามปู กระถาง กรรไกรตัดกิ่ง ลวดดัด ตะแกรงรองก้นกระถาง และต้นเพรมน่า

บอนไซเพรมน่า

Step 2 ตัดหรือลิดใบออกให้หมดต้น เพื่อลดการคายน้ำ

บอนไซเพรมน่า

Step 3 ผึ่งต้นให้ดินแห้งเล็กน้อย หรืองดให้น้ำล่วงหน้า 1-2 วัน  แล้วยกต้นออกจากกระถาง ใช้กรรไกรตัดตุ้มดินออกครึ่งหนึ่ง

บอนไซเพรมน่า

Step 4 ใช้กรรไกรตัดแต่งตุ้มรากให้เล็กกว่าขนาดกระถางที่เตรียมไว้

บอนไซเพรมน่า

Step 5 ใส่ดินลงในกระถางใหม่ โรยสารป้องกันกำจัดแมลงและปุ๋ยเม็ดละลายช้าเล็กน้อย

บอนไซเพรมน่า

Step 6 เสียบลวดดัด คร่อมต้นกับกระถางเพื่อยึดต้นไม่ให้หลุดจากกระถาง

บอนไซเพรมน่า

Step 7 ใส่ดินรอบๆ ปิดด้วยมอสส์ให้สวยงาม รดน้ำให้ชุ่ม วางในที่มีแสงรำไร รอจนแตกยอดใหม่ค่อยนำออกให้รับแดดมากขึ้น

บอนไซเพรมน่า

คุณนทีให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การเลือกรูปแบบกระถางให้เหมาะกับขนาดต้น ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้บอนไซดูสวยงามขึ้นอีก ซึ่งคุณนทีจะสะสมกระถางไว้หลายแบบ เพื่อใช้ปลูกบอนไซในรูปทรงต่างๆ ให้เหมาะกับทรงต้น

“ข้อควรระวังอีกเรื่องคือการให้น้ำ ต้นไม้ในกระถางเล็กๆ ต้องได้รับน้ำอย่างทั่วถึง จำเป็นต้องรดน้ำให้ชุ่มจนน้ำไหลออกนอกกระถาง บางครั้งถ้าแดดจัดต้องรดน้ำทั้งเช้าและเย็น ให้น้ำกับแดดสัมพันธ์กัน ห้ามปล่อยให้แห้ง ไม่อย่างนั้นจะขาดน้ำจนตายได้ง่ายมาก

บอนไซ
หมั่นตัดแต่งและกำจัดวัชพืชรอบๆ กระถางเป็นประจำ ก็ช่วยให้ต้นบอนไซของเราดูสวยงามขึ้น
บอนไซ
นอกจากบอนไซเพรมน่า คุณนทียังนำต้นโมก เชอรี่แคระ และข้าวตอกฤาษีมาทำเป็นบอนไซ ซึ่งดูแลง่ายเช่นกัน
บอนไซเพรมน่า
ต้นโมกที่นำมาปลูกเลี้ยงเป็นบอนไซ ดูแลง่ายและให้ดอกหอม
บอนไซเพรมน่า
บอนไซเพรมน่าที่มีรูปทรงเป็นไม้เอนชาย

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมหาแรงบันดาลใจ หนังสือ บอนไซ : Bonsai ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน มีคำตอบให้คุณแน่นอนค่ะ

บอนไซ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณนที วงศ์เสงี่ยม แห่งสวนบอนไซเพรมน่า โทรศัพท์ 08-8014-4587 / Facebook Page บอนไซเพรมน่า – Bonsai Premna /  IG : bonsai_premma

เรื่อง : วิฬาร์น้อย / ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย

วิธีแยกหน่อกล้วยด่าง ปลูกขายได้ราคาดี

สวนครัวแนวตั้งประหยัดพื้นที่