LEILO COFFEE SPACE ความสุขในคาเฟ่มินิมัลแสนสงบ

Leilo coffee space (เลโล คอฟฟี่ สเปซ) คาเฟ่เมืองระยอง ที่เกิดจากการปรับร้านใหม่ให้เรียบนิ่งในสไตล์มินิมัล ซ่อนตัวอยู่หลังกำแพงสีเบจสูงทึบ เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นส่วนตัว ตัดขาดจากบริบทความวุ่นวายของถนนด้านนอก ชวนทุกคนให้เข้ามาดื่มด่ำกับกาแฟและบรรยากาศเงียบสงบโอบล้อมด้วยสีเขียวจากธรรมชาติ

Leilo coffee space เดิมที่นี่มีชื่อว่า Happy Cup หลังจากสั่งสมประสบการณ์การเปิดคาเฟ่มาระยะหนึ่ง เจ้าของมีความต้องการอยากปรับรูปแบบใหม่ทั้งตัวร้านและแนวทางการทำกาแฟ จนเกิดเป็นการรีแบรนด์ดิ้งขึ้นมา โดยได้มีการ Collaboration กับแบรนด์ Cozy Factory ที่เชี่ยวชาญด้านกาแฟและการคั่วกาแฟ เพื่อช่วยชูรสชาติกาแฟของร้านให้เด่นชัดและจัดเต็มยิ่งกว่าเดิม

Happy Cup คาเฟ่เก่า ก่อได้รับการแปลงโฉมให้เรียบนิ่ง สวยงามสไตล์มินิมัล
ห่อหุ้มตัวเองด้วยกำแพงสูงทึบ เพื่อให้อยู่ในอาณาจักรของกาแฟ หลบความวุ่นวายจากถนนภายนอก

ขณะที่การรีโนเวตร้านเป็นหน้าที่ของ SA-ARD architecture & construction โดยผู้ออกแบบได้นำความต้องการของเจ้าของที่อยากให้ร้านเป็นเสมือนห้องนั่งเล่นมาคลี่คลายสู่บรรยากาศร้านใหม่ ภายใต้แนวคิด Minimalism เพิ่มความอบอุ่นให้ร้านด้วยสีเอิร์ธโทนและวัสดุธรรมชาติ

โดยผู้ออกแบบยังคงเก็บอาคารเดิมไว้ทั้งหมด แต่ปรับให้พิเศษยิ่งขึ้น อาทิ พื้นที่ผนังกระจกหน้าร้าน จากเดิมที่อยู่จนสุดผนังทำให้มิติของร้านดูแบน ได้รับการปรับใหม่ให้ร่นระยะเข้ามาเพื่อให้ด้านหน้ามีสเปซมากขึ้น แล้วทำฐานซีเมนต์ให้ยื่นออกไป สร้างมุมมองให้เหมือนตัวอาคารลอยสูงขึ้นจากพื้น ขณะที่สีของอาคารก็เปลี่ยนเป็นสีคาราเมล หรือสีเบจตามที่เจ้าของชื่นชอบ แล้วแต่งผนังเป็นลายลูกฟูกช่วยสร้างเท็กซ์เจอร์ไม่ให้ผนังดูเรียบจนเกินไป เมื่อมีแสงแดดตกกระทบจะทำให้เห็นมิติของลวดลายที่ชัดเจน

เมื่อเข้ามาด้านใน ได้เปลี่ยนเคาน์เตอร์บาร์จากเดิมที่ทอดตัวในแนวขวาง ให้เป็นแนวเฉียงกับตัวอาคาร เพื่อเปิดพื้นที่หน้าบาร์ให้กว้าง และทำให้ได้เคาน์เตอร์บาร์ที่ยาวขึ้นถึง 6 เมตร เป็นวิธีช่วยแก้ปัญหาพื้นที่คาเฟ่ขนาดเล็กได้อย่างดี ตรงกลางทำไอส์แลนด์รูปสามเหลี่ยม กรุท็อปไม้โอ๊กไว้ด้านบน ซึ่งให้ผิวสัมผัสที่เป็นธรรมชาติ ฐานไอส์แลนด์และเคาน์เตอร์บาร์ของคาเฟ่ ผู้ออกแบบใช้เทคนิค Texture Coating พ่นสีทับลงไปบนโครงสร้างไม้ให้เหมือนผิวหินขัด โดยสีที่พ่นออกไปเมื่อโดนพื้นผิววัสดุ ตัวเม็ดสีที่ลอยอยู่ในน้ำจะกระจายออกจนเกิดเป็นลวดลาย อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ทดแทนหินจริง มีข้อดีคือช่วยประหยัดทั้งงบประมาณ และย่นเวลาการก่อสร้างลงไปได้มาก

ทั้งนี้ในการเปลี่ยนทิศทางของเคาน์เตอร์บาร์ ยังเป็นการช่วยให้การทำงานของบาร์มีฟังก์ชันที่ชัดเจนโดยแบ่งป็นสเตชั่นต่างๆ ช่วยให้พนักงานทำงานได้สะดวก และง่ายต่อการจัดทำเครื่องดื่ม โดยเมื่อหันหน้าเข้าเคาน์เตอร์ ด้านขวาจะเป็นสโลว์บาร์ ตรงกลางเป็นสปีดบาร์ ด้านซ้ายเป็น Set-up Area สำหรับหยิบแก้วน้ำและอุปกรณสำหรับจัดเสิร์ฟเมนูต่างๆ ด้านหลังก็เป็นพื้นที่อุ่นขนมปัง มีประตูให้เดินออกไปยังห้องเซอร์วิส ซึ่งเป็นอาคารหลังเล็กที่ตั้งอยู่ข้างกัน โดยเป็นพื้นที่ของห้องทำเบเกอรี่และเครื่องทำน้ำแข็ง ผนังร้านเป็นแบบดับเบิ้ลวอลล์ เพื่อปิดซ่อนงานระบบ สายไฟ และหลืบเสาให้อยู่ภายใต้ผิวผนังที่ฉาบเรียบ

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเส้นสายโค้งมนลงไปในองค์ประกอบต่างๆ ดูล้อไปกับพื้นที่ว่างเว้าโค้งที่เชื่อมระหว่างอาคารทึบหลังเล็กกับอาคารใช้งานหลัก และที่เห็นเด่นชัดคือผนังกระจกโค้งที่ทำขึ้นใหม่ ช่วยลดความแข็งกระด้างของตัวอาคารลงได้อย่างดี รวมไปถึงขอบเคาน์เตอร์บาร์และไอส์แลนด์รูปสามเหลี่ยมที่มีขอบโค้งมน ช่วยลดอันตรายจากการเดินชน เฟอร์นิเจอร์ภายในร้านที่สั่งทำขึ้นใหม่ก็เน้นดีไซน์ทรงกลม รวมถึงขอบปูนปลูกต้นไม้และที่นั่งเอ๊าต์ดอร์ในสวนก็มีมุมขอบโค้งเช่นกัน

ถ้าพื้นที่ภายในร้านเต็ม ลูกค้าสามารถออกมานั่งใต้ร่มไม้ด้านนอกได้ โดยต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้เดิมที่เคยปลูกก่อนที่คาเฟ่จะได้รับการรีโนเวตใหม่ ยืนต้นตั้งตระหง่านช่วยสร้างร่มเงาสีเขียวตัดกับแนวกำแพงสีเบจ ทำหน้าที่ช่วยปิดกั้นเสียงรบกวนจากภายนอก รวมถึงภาพความวุ่นวายต่างๆ ตามจุดประสงค์ที่อยากให้ลูกค้าเมื่อเข้ามาแล้ว เหมือนถูกตัดขาดจากสิ่งเร้า เพื่อมาอยู่ในสเปซของคาเฟ่ที่สร้างความรู้สึกสงบหรือที่ถูกเรียกว่า Coffee Space แห่งนี้ เท่านั้น

ที่ตั้ง

21 ซอยเกาะพรวด ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง

พิกัด https://goo.gl/maps/PndWJZrNUMAkvb8a8

เปิดทุกวัน 7.00 -16.00 น. (ปิดเฉพาะวันพฤหัสบดี)

โทร. 09-4793-0947

https://www.facebook.com/leilocoffeespace


ออกแบบ : SA-ARD architects (https://www.facebook.com/saardarchitect)

ภาพ : Usssajaeree Studio

เรื่อง : Phattaraphon