NANA COFFEE ROASTERS BANGNA ตัดขาดความวุ่นวายของถนนบางนา เพื่อมาโฟกัสรสชาติกาแฟ กลางสวนสีเขียว

บ้านหลังใหม่ของ NANA Coffee Roasters ที่ซ่อนตัวอย่างสงบเบื้องหลังกำแพงสีขาว ราวกับกำลังตัดขาดตัวเองจากความวุ่นวายของถนนบางนา-ตราดด้านนอก เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ทุกคนได้ตั้งใจดื่มด่ำกับกาแฟ ท่ามกลางอ้อมกอดของสวนสีเขียว

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบสถาปัตยกรรม: IDIN Architects
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: TROP : terrains + open space

NANA Coffee Roasters Bangna สาขาใหม่ แห่งนี้ เกิดจากความตั้งใจของคุณกุ้ง-วรงค์ ชลานุชพงศ์ และคุณกุ้ง- กานดา โทจำปา ที่ต้องการให้ที่นี่รวมทุกเรื่องราวของกาแฟมาไว้ในที่เดียวกัน เช่นเดียวกับจุดประสงค์ที่อยากให้ทุกคนมาตั้งใจดื่มด่ำกับกาแฟ พร้อมการสร้างบรรยากาศที่ผูกร้อยเรื่องราวกว่าจะมาเป็นกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อพาทุกคนเข้าสู่โลกของกาแฟอย่างแท้จริง

การออกแบบคาเฟ่สาขานี้ มาจากไอเดียที่อยากสร้างบรรยากาศของการดื่มกาแฟมากกว่าการมาเพื่อถ่ายรูป กลายเป็นโจทย์ให้คุณเป้-จีรเวช หงสกุล จาก IDIN Architects กับคุณป๊อก-อรรถพร คบคงสันติ จาก TROP : terrains + open space นำความต้องการดังกล่าวมาตีความว่าจะทำอย่างไรให้บรรยากาศการดื่มกาแฟได้รับการเติมเต็มผ่านการสร้างสรรค์ทั้งสถาปัตยกรรมและแลนด์สเคป โดยใช้ภาษาที่เรียบง่ายและสลายเส้นแบ่งระหว่างงานทั้งสองให้หลอมรวม

เปลี่ยนพื้นที่ร้านอาหารเก่าสู่คาเฟ่ของคอกาแฟ

จากร้านซีฟู้ด “อบอวน มหาชัย บางนา” สู่การปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ของ “NANA Coffee Roasters” โดยใช้เวลาก่อสร้างที่จำกัดเพียง 4 เดือน คุณเป้เลือกเก็บอาคารเดิมไว้หลังหนึ่ง ส่วนโครงสร้างชั่วคราวได้รื้อออกทั้งหมด เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนดีไซน์กึ่งงานรีโนเวตและงานสร้างใหม่ผสมกัน เพื่อให้ทุกคนลืมความเป็นบางนาด้านนอก ซึ่งมีแต่รถวิ่งกันขวักไขว่ ขณะที่ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ดั้งเดิมในพื้นที่อย่าง หูกระจก และไทร คุณป๊อกยังคงเก็บรักษาไว้ เมื่อเข้ามาข้างในแล้วจะพบกับอินเนอร์คอร์ตยาร์ดด้านในที่ดูอบอุ่น เป็นเสมือนอาณาจักรของ NANA Coffee Roasters ที่สงบงามและเรียบง่าย

สถาปัตยกรรมกับแลนด์สเคปความสัมพันธ์ที่ไร้เส้นแบ่ง

ทันทีที่เข้ามาจะพบกับอาคารชั้นเดียวสีขาว มองแล้วแทบแยกไม่ออกว่า จริง ๆ แล้วอาคารถูกออกแบบให้แทรกตัวไปกับสวน หรือสวนได้รับการแทรกตัวไปกับอาคารกันแน่ เพราะผู้ออกแบบทั้งสองท่านต้องการบอกเล่าภายใต้แนวคิดที่ต้องการสลายเส้นแบ่งระหว่าง Architecture กับ Landscape

“ผนังอาคารคุณเป้เขาทำเป็นผนังกระจกไว้เยอะ ๆ เราอยากให้สีเขียวไหลผ่านกระจกเข้ามาข้างใน เป็นลูกเล่นที่อยากให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนว่าเราอยู่ข้างในหรือข้างนอกกันแน่ โดยจะเห็นโต๊ะยาวทะลุกระจกต่อเนื่องไปที่สวนด้วย เป็นไอเดียมาจากโจทย์ที่พี่กุ้งอยากให้ลูกค้าจดจ่ออยู่กับรสชาติดี ๆ ของกาแฟและธรรมชาติ เราอยากให้อินทีเรียร์กับแลนด์สเคปสัมพันธ์กันจริง ๆ” -คุณป๊อก –

เราไม่อยากได้อินดอร์สเปซเป็นอาคารก้อนเดียว ที่นี่จะเบลนด์ทุกอย่างเข้าด้วยกันหมด ไม่รู้ว่าเราอยู่ข้างใน หรือข้างนอกกันแน่ เราก็เลยแบ่งอาคารเป็น 3 หลัง เพราะอยากให้คอร์ตยาร์ตเสียบตัวเข้ามาในอาคาร การทำแบบนี้จะช่วยให้เห็นต้นไม้ที่อยู่ด้านนอก พยายามจะแทรกบรรยากาศแบบอยู่ดี ๆ ก้อนกรวด หรือต้นไม้ก็เข้าไปโผล่ในอินดอร์สเปซเฉยเลย นั่ง ๆ อยู่บาร์ก็จะทะลุตัวออกไปยังแลนด์สเคป เราอยากหลอมรวมทุกเรื่องให้เป็นเรื่องเดียวกัน” -คุณเป้-

เปรียบเสมือนการนำเรื่องราวของ Landscape / Achitecture / Coffee ทั้งสามเรื่องมาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้ลูกค้าได้ประสบการณ์การรับรู้ผ่านผัสสะทั้ง 6 ไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

สถาปัตยกรรมถูกลดตัวตนเพื่อเชิดชูกาแฟ

เพราะตั้งใจให้สาขานี้บรรจุทุกเรื่องราวของกาแฟอย่างผู้รู้จริง พร้อมสร้างสรรค์ประสบการณ์ทางกาแฟให้ทุกคนมีสมาธิกับการค่อย ๆ ละเลียดดื่มด่ำกับรสชาติ และให้คุณค่ากับเครื่องดื่มนี้ ที่ต้องผ่านกระบวนการพิถีพิถัน ดังนั้นการออกแบบอาคาร คุณเป้จึงตั้งใจให้ออกมาเรียบง่ายที่สุด

“จากไอเดียที่เราอยากให้สร้างบรรยากาศของการดื่มกาแฟมากกว่าการมาเพื่อถ่ายรูป เราจึงพยายามออกแบบให้อาคารใหม่ ต่อเนื่องจากอาคารเดิมที่เราเก็บบ้านเก่าทรงจั่วดั้งเดิมไว้หนึ่งหลัง โดยเรานำภาพหลังคาทรงจั่วมาใช้เป็นไอเดียต่อเนื่องมาสู่การออกแบบอาคารแต่ละหลัง เหมือนเรานำหลังคาเดิมยื่นมาอันหนึ่ง เหมือนจั่วด้านหนึ่ง พอต่อยาวออกมาปุ๊บ เราก็พับพลิกไปพลิกมาเป็นเหมือนอาคาร 3 หลัง ทุกหลังเป็นสีขาว มองมุมไหนก็จะดูเหมือนกัน เพราะที่นี่ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องหามุมฮีโร่ ถ่ายรูปห้องไหนก็คล้าย ๆ กันหมด เพราะเราอยากให้รู้สึกว่า Architecture ไม่สำคัญ มันถูกลดตัวตนลงมา” -คุณเป้-

แยกการใช้งานของอาคารอย่างชัดเจน

เพื่อสร้างการโฟกัสกับเรื่องราวต่าง ๆ ภายในนานาสาขานี้ จึงแยกก้อนอาคารออกไป โดยให้ Slow Bar อยู่ในพื้นที่ของบ้านเก่า ผนังด้านหลังกรุด้วยแผ่นไม้สนเผาผิวสีดำ เพื่อสร้างความรู้สึกนิ่งสงบ เหมาะกับลูกค้าที่ต้องการความเป็นส่วนตัว นั่งดูขั้นตอนการชงกาแฟช้า ๆ อย่างกาแฟดริป หรือไซฟ่อน จากแชมป์ระดับโลกอย่าง คุณแน็ต-กษมา กันบุญ

โซน Speed Bar & Tea Bar แยกไปยังอาคารอีกหลัง โดยออกแบบเคาน์เตอร์บาร์ให้มีขนาดยาว 15 เมตร พร้อมถังไซโลสำหรับบรรจุเมล็ดกาแฟสีทองแดงสวยดูโดดเด่นอยู่กลางเคาน์เตอร์ เพื่อโชว์ให้เห็นเมล็ดกาแฟที่ใช้จริงในแต่ละวัน ด้านบนเพดานกรุแผ่นสเตนเลส 3 เฉดสี คือ สีรมดำ ฝ้าแบบด้าน และมันวาว ทำหน้าที่เพิ่มประกายให้อาคารสีขาวไม่ให้เรียบจนเกินไป ช่วยสะท้อนภาพสีเขียวของสวนและผู้คนที่ใช้บริการบริเวณเคาน์เตอร์ให้มีมิติ ส่วนกระจกหุ้มอาคาร ด้านล่างทำเป็นฝ้าแบบ Gradient เพื่อกันโป๊เวลาคนนั่ง หากวันไหนที่เกิดฝนตกจะให้บรรยากาศฟุ้ง ๆ ส่งผลดีในเชิงบรรยากาศ

ส่วนอีกสองอาคาร ทำหน้าที่เป็นทั้งพื้นที่นั่งดื่มกาแฟของลูกค้า และมิวเซียมขนาดเล็ก เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาคารหลังที่สอง ประดับภาพวาดของเกษตรกรไทยผู้ปลูกกาแฟออร์แกนิกที่นานาเลือกใช้ ซึ่งเป็นเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ทุกคนรู้จักแบรนด์นานา ที่นั่งออกแบบเป็นเคาน์เตอร์สูงรูปตัวยู (U) รอบกระจก เพราะอยากให้ลูกค้ามองออกไปเห็นสวนข้างนอก แทนที่จะเป็นโต๊ะที่หันหน้าเข้าหากัน เพราะอยากให้ทุกคนมองแก้วกาแฟของตัวเอง แล้วดื่มด่ำกับธรรมชาติของสวนด้านนอก

ขณะที่อาคารห้องที่สาม เพดานด้านบนใช้วิธีกรุแผ่นสเตนเลสเหมือนกับอาคารสปีดบาร์ พร้อมแผ่นภาพให้ความรู้กว่าจะมาเป็นกาแฟรสชาติกลมกล่อมในมือนั้น ต้องผ่านกรรมวิธีใดบ้าง และคุณกุ้งยังกระซิบบอกว่า ทุกคนจะได้เห็นการคั่วเมล็ดกาแฟแท้ ๆ จากเครื่องคั่วกันแบบสด ๆ ที่ห้องนี้ด้วย

การออกแบบคาเฟ่ยุคโควิด

นอกจากดีไซน์ที่นั่งภายในคาเฟ่นอกจากความสวยที่สร้างเอกลักษณ์แล้ว ยังมาพร้อมแนวคิดที่น่าสนใจเข้ากับยุค Social Distancing “เราอยากใช้งานดีไซน์มาใช้ในการแก้ปัญหา ทำให้คนเกิดพฤติกรรมบางอย่างจากงานดีไซน์ โดยที่ไม่รู้ตัว กลายมาเป็นโต๊ะที่มีพื้นผิวเป็นลูกคลื่น เหมือนภาพคอนทัวร์ภูเขา

“ท็อปเคาน์เตอร์ดีไซน์เป็นลูกคลื่น ถ้าคุณไม่ตั้งใจให้ดีในการวางแก้ว แก้วกาแฟอาจจะหกได้ เหมือนเราต้องใส่ใจกับแก้วกาแฟของเรา และถ้าสังเกตพื้นที่ที่วางได้นั้นจะมีระยะที่ห่างกัน เพราะฉะนั้นเวลานั่งก็จะเป็นเหมือนถูกบังคับให้เกิดระยะห่างไปในตัว เพื่อให้สามารถวางแก้วได้นั่นเอง นอกจากนี้ ยังเป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่มาของเมล็ดกาแฟ ซึ่งต้องปลูกบนภูเขาทางภาคเหนือ เปรียบเสมือนต้นทางก่อนจะกลายมาเป็นกาแฟให้ทุกคนได้ดื่ม” -คุณเป้-

เช่นเดียวกับโซนห้องน้ำที่ได้รับการเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ห้องน้ำใหม่ให้ดีขึ้น โดยแบ่งเป็นห้องใครห้องมัน เนื่องจากอยู่ในยุคที่เราต้อง Social Distancing และอยากให้คนที่เข้าไปได้เห็นสวน ห้องถูกล้อมด้วยกระจกสองด้าน แล้วติดฟิล์มแบบที่ใช้กับกระจกของอาคารคาเฟ่มาติด แต่ให้ฟิล์มทึบอยู่ด้านบน เพื่อกันสายตามุมสูงจากอาคารและบ้านเรือนรอบ ๆ ที่อยู่สูงกว่า ไม่ให้มองลงมาเห็นขณะมีคนใช้งานในห้องน้ำ ส่วนคนที่ใช้งานห้องน้ำก็จะมองออกไปเห็นสวนภายนอก โดยเลือกปลูกต้นไม้ที่มีพุ่มฟู ๆ กันคนไม่ให้เดินเข้ามา

เปลี่ยนผ่านความรู้สึกไปกับมุมธรรมชาติ

“เพราะอยากให้ลูกค้าได้ค่อย ๆ ค้นพบกับบรรยากาศที่น่าประทับใจ เริ่มตั้งแต่เลี้ยวรถเข้ามาภายในคาเฟ่ จอดรถที่ลานจอดด้านหลัง แล้วเดินผ่านสวนสีเขียวเข้ามา หากสังเกตให้ดี ๆ เราไม่ได้ออกแบบให้สวนเชื่อมต่อกัน เพราะเราไม่อยากให้คนเดินผ่านไปมาแล้วถ่ายรูปกันเต็มไปหมด เลยออกแบบให้แต่ละสเปซแบ่งเป็นห้อง ๆ ที่คนไม่สามารถเดินถ่ายรูปทะลุถึงกันเต็มไปหมด เพื่อไม่ให้รบกวนคนอื่น ๆ ที่เขาต้องการมาพักผ่อนดื่มกาแฟจริง ๆ

ส่วนต้นไม้ที่เลือกใช้ นอกจากต้นไม้เดิมแล้ว ต้นไม้ที่นำมาปลูกใหม่ส่วนใหญ่เน้นชนิดที่ไม่ต้องการแดดมาก ชอบแสงรำไร บรรยากาศเหมือนป่าโปร่งในธรรมชาติ เพื่อให้คนออกไปนั่งสบาย กรองความร้อน กรองฝุ่นควันจากถนนบางนา ขณะเดียวกันกำแพงสีขาว ก็ไม่ได้ดูเป็นกำแพงสีขาว แต่เป็นเหมือนท้องฟ้า ซึ่งทำหน้าที่เป็นแบ็กกราวน์อยู่ด้านหลังสวน ช่วยบดบังบรรดารถบรรทุกทั้งหลายที่วิ่งอยู่บนทางด่วนด้านบนให้หายไป เมื่อเข้ามาในพื้นที่ของคาเฟ่แล้ว เหมือนทุกคนได้ตัดขาดจากความวุ่นวายของถนนข้างนอกไปเลย” -คุณป๊อก-

ไม่ว่าจะมองมุมไหน ที่นี่ทุกคนสามารถสัมผัสได้กับประสบการณ์การดื่มกาแฟ ในบรรยากาศเสมือนถูกโอบกอดด้วยธรรมชาติ หรือประหนึ่งว่ากำลังนั่งดื่มกาแฟอยู่ท่ามกลางป่าเขา แหล่งกำเนิดของกาแฟคุณภาพดี เป็นการสร้างสรรค์ประสบการณ์การดื่มกาแฟที่น่าหลงใหล รื่นรมย์ และอบอุ่นอย่างแท้จริง

ที่ตั้ง

92 ถนนบางนา-ตราด แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ
พิกัด https://goo.gl/maps/UJcaRUhEogXKWHvz5
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ 7.00-17.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 8.00-17.30 น.
โทร.08-26266-235
https://www.facebook.com/nanacoffee.bangna

ออกแบบ

ออกแบบสถาปัตยกรรม-ตกแต่ง : คุณจีรเวช หงสกุล จาก IDIN Architects
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม : คุณอรรถพร คบคงสันติ จาก TROP : terrains + open space


เรื่อง : Phattaraphon
ภาพ : นันทิยา