FOUND CAFE คาเฟ่กับการกลายพันธุ์ของวัสดุ ภายใต้แนวคิด AUTHENTIC FAKE

Found cafe ค้นพบนิยามความสุขในคาเฟ่ทรงกลม ที่เกิดจากการทดลองใช้วัสดุ ภายใต้แนวคิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: PHTAA Living Design

คาเฟ่เปิดใหม่ตั้งอยู่ภายในโครการ Found Venue สถานที่จัดงานแต่งงานย่านถนนนวลจันทร์ โดย Found cafe มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมอาคารทรงกลม สดชื่นสบายตาไปกับพรรณไม้สีเขียวและหญ้าน้ำพุที่แข่งกันอวดดอกสีขาวฟูฟ่อง พร้อมกับมีแบ็กกราวน์เป็นอาคารเวดดิ้ง ฮอลล์ สีขาว เสา และบัวรูปทรงคลาสสิก ที่ไม่ต่างจากงานประติมากรรมซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
ช่วยเติมเต็มบรรยากาศให้ทุกมุมดูลงตัวสวยงาม โดยเฉพาะยามที่แสงแดดทำหน้าที่ไล่เฉดทาบลงไปในทุกส่วน รอทุกคนมาค้นพบ และเอ็นจอยไปกับเครื่องดื่มรสชาติคัดสรร เป็นความใส่ใจที่ไม่ต่างจากการออกแบบ ซึ่งคิดมาอย่างดีโดยทีมสถาปนิกจาก PHTAA living design ภายใต้แนวคิด “Authentic Fake” กับการทดลองใช้วัสดุอย่าง บัวซีเมนต์ ที่เราคุ้นเคย เพื่อบอกเล่าความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทางสถาปัตยกรรม
เดิมที่นี่เคยเป็นปั๊มน้ำมันร้าง แต่ด้วยศักยภาพของทำเลที่ติดถนนใหญ่ จึงเป็นที่มาให้เจ้าของตัดสินใจเช่าและปรับปรุงพื้นที่ครั้งใหญ่ หนึ่งในโปรเจ็กต์ Found Venue นี้ ก็คือ Found Cafe เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ แถมยังเป็นส่วนช่วยเติมเต็มแพสชั่นของเจ้าของ จากที่แค่หลงใหลในศาสตร์ของชา ในที่สุดก็ได้ต่อยอดสู่ธุรกิจของครอบครัว พร้อมความสุขที่ได้แนะนำรสชาติของชาสายพันธุ์หายากและกาแฟหอมกรุ่น ภายใต้คาเฟ่ที่สะท้อนความอบอุ่น สวยงาม ดึงดูดให้อยากกลับมาอีกหลาย ๆ ครั้ง
คาเฟ่ภายใต้อาคารรูปทรงกลม กับนิยามของความเป็นอินฟินีตี้ในด้านมุมมอง เพราะไม่ว่าจะมองจากฝั่งเวดดิ้ง ฮอลล์ หรือลานจอดรถ ก็จะเห็นอาคารในมุมมองของรูปทรงโค้ง เป็นความงามที่เสมอภาค ไม่ว่าจะด้านหน้าหรือด้านหลัง พื้นผิวข้างนอกเกิดจากแพตเทิร์นของบัวซีเมนต์ที่นำมาเรียงต่อกันจนรอบ เท็กซ์เจอร์ที่เกิดขึ้นมีความนูนต่ำนูนสูง พอแสงตกลงมาก็จะดูมีมิติ ช่วยสร้าง Shadow Line ให้กับพื้นผิวอาคาร “บัวซีเมนต์” นี้ ถือเป็นองค์ประกอบที่เชื่อมต่อมาจากโซนจัดงานแต่งงาน
ผู้ออกแบบพยายามใช้บัวหลากรูปแบบ เป็นเสมือนการทดลองใช้วัสดุในหน้าที่ที่ต่างไปจากเดิมได้อย่างน่าสนใจ ขณะที่สีขาวของอาคารเกิดจากการมองเห็นว่า “สีขาว” เหมาะเป็นแบ็กกรานด์ที่ดี อีกทั้งบริบทยังรายล้อมไปด้วยต้นไม้และสวนสีเขียว ยามเมื่อเกิดรีเฟล็กซ์ของแสง เงาจะไปตกกระทบที่ผนังอาคาร ช่วยสร้างชีวิตชีวา เหมือนถูกเพ้นต์ติ้งด้วยแสงเงาที่ต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลา เป็นการหยิบส่วนประกอบของงานตกแต่งสไตล์คลาสสิก มาจับกับงานรูปทรงเรขาคณิตสไตล์โมเดิร์นได้อย่างเข้ากัน
ในส่วนของอินทีเรียร์ดีไซน์ ตัวคาเฟ่ถือเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ในรูปแบบของเสี้ยววงกลม ขณะที่ส่วนอื่น ๆ ถูกทำให้เป็นพื้นที่แบบเซมิเอ๊าต์ดอร์ ด้านหลังเป็นสตูดิโอถ่ายภาพ สำหรับการออกแบบตกแต่งโซนคาเฟ่ ผู้ออกแบบได้วางแปลนให้มีที่นั่งบิลท์อินชิดไปตามแนวผนังทรงโค้ง และออกแบบเคาน์เตอร์ให้อยู่ตรงกลาง
เมื่อเปิดประตูเข้ามาก็จะเห็นพอดี โดยลูกค้าสามารถมองเห็นวิธีการชงชาและกาแฟจากบาริสต้าได้ชัดเจน คล้ายโรงละครเล็ก ๆ มีที่นั่งด้านข้างสองฝั่งพุ่งจุดโฟกัสตรงไปยังเคาน์เตอร์กาแฟพอดี เสมือนพื้นที่โชว์เคสของบาริสต้าได้ดูวิธีการทำเครื่องดื่มที่ชำนาญ ส่วนสกายไลท์ด้านบนทำหน้าที่ช่วยนำแสงสู่พื้นที่ภายใน นอกเหนือจากช่องแสงตรงประตูทางเข้า และช่องกระจกที่เปิดรับวิวต้นไทรเก่าแก่ ที่ขึ้นอยู่เดิมในพื้นที่ สกายไลท์จึงเป็นเสมือนสปอร์ตไลท์นำแสงธรรมชาติตกลงมายังจุดที่บาริสต้ายืนพอดี
ตัวคาเฟ่ถือเป็นส่วนหนึ่งของอาคารในรูปแบบของเสี้ยววงกลม ขณะที่ส่วนอื่น ๆ ถูกทำให้เป็นพื้นที่แบบเซมิเอ๊าต์ดอร์ ด้านหลังเป็นสตูดิโอถ่ายภาพ สำหรับการออกแบบตกแต่งโซนคาเฟ่ ผู้ออกแบบได้วางแปลนให้มีที่นั่งบิลท์อินชิดไปตามแนวผนังทรงโค้ง และออกแบบเคาน์เตอร์ให้อยู่ตรงกลาง เมื่อเปิดประตูเข้ามาก็จะเห็นพอดี
โดยลูกค้าสามารถมองเห็นวิธีการชงชาและกาแฟจากบาริสต้าได้ชัดเจน คล้ายโรงละครเล็ก ๆ มีที่นั่งด้านข้างสองฝั่งพุ่งจุดโฟกัสตรงไปยังเคาน์เตอร์กาแฟพอดี เสมือนพื้นที่โชว์เคสของบาริสต้าได้ดูวิธีการทำเครื่องดื่มที่ชำนาญ ส่วนสกายไลท์ด้านบนทำหน้าที่ช่วยนำแสงสู่พื้นที่ภายใน นอกเหนือจากช่องแสงตรงประตูทางเข้า และช่องกระจกที่เปิดรับวิวต้นไทรเก่าแก่ ที่ขึ้นอยู่เดิมในพื้นที่ สกายไลท์จึงเป็นเสมือนสปอร์ตไลท์ นำแสงธรรมชาติตกลงมายังจุดที่พนักงานบาริสต้ายืนพอดี
เพราะคาเฟ่ตั้งอยู่ในที่ดินผืนเดียวกันกับเวดดิ้ง ฮอลล์ เพื่อแยกฟังก์ชันของทั้งสองส่วนออกจากกันให้ชัดเจน พื้นที่แลนด์สเคปจึงทำหน้าที่กั้นทั้งสองส่วน ไม่ให้คนจากคาเฟ่เดินไปยังส่วนของพื้นที่จัดงานที่ต้องการความเป็นส่วนตัว แลนด์สเคปจึงถูกยกเป็นเนินสูงขึ้นไป โดยลูกค้าสามารถถ่ายรูปและมองเห็นวิวของโซนเวดดิ้ง ฮอลล์ ได้ ซึ่งมีความเชื่อมต่อกันในทางสถาปัตยกรรม ไม่จำเป็นต้องกั้นสัดส่วนด้วยการปิดทึบ
ขณะที่ไฮไลต์สำคัญอย่าง “ต้นไทร” ต้นไม้ดั้งเดิมของพื้นที่ ผู้ออกแบบค่อนข้างให้ความสำคัญกับต้นไทรมาก เพราะเป็นตัวสะท้อนบริบทความเป็นไทย ๆ ได้ดี แถมมีลำต้นที่ใหญ่ และมีฟอร์มสวยงาม จึงยังเก็บรักษาไว้ เพื่อให้เป็นวิวที่สวยงาม แล้วออกแบบอาคารให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับวิวต้นไทรได้ ผ่านการทำช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ให้มองเห็นความร่มรื่นของต้นไทร เป็นอีกมุมที่ลูกค้านิยมมานั่งชมบรรยากาศ
นอกจากความพิเศษที่กล่าวไป ที่เหลือก็รอให้คุณได้มาค้นพบความสุขของการพักผ่อนที่ว่านั้น พร้อมแนวคิดที่น่าสนใจในเชิงสถาปัตยกรรม กับนิยามของคำว่า “Authentic Fake” ค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของวัสดุ โดยอนาคตทางคาเฟ่ตั้งใจจะเพิ่มโซนที่นั่งและเมนูเบเกอรี่-เครื่องดื่มให้มากขึ้น ฝากรอติดตาม Full Opening ได้ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 นี้
ที่ตั้ง
ถนนนวลจันทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
เปิดบริการ วันอังคาร – อาทิตย์ 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์)
โทร. 09-2284-0208

Landscape Designer: ธีรพงศ์ สงวนศรีพิสุทธิ์
Engineer: ก่ออิฐ
Lighting Designer: สตูดิโอ ลักซ์ซิท
Construction Consultant: พงศกร ภัทรานุรักษ์โยธิน

เรื่อง : Phattaraphon
ภาพ : นันทิยา