HOP Hub of Photography พื้นที่กลางของคนรัก “การถ่ายภาพ”

“การถ่ายภาพ” คือศาสตร์อีกแขนงในโลกศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของทุก ๆ วงการก็ว่าได้ และในวงการภาพถ่ายเองก็มีแขนงแยกย่อยออกไปอีกมากมายแทบไม่รู้จบ แต่สิ่งที่เหมือนกันของผู้คนเหล่านี้ก็คือความรักใน “การถ่ายภาพ” วันนี้ room ได้มีโอกาสมาเยือนพื้นที่ที่ตั้งใจให้เป็นดั่ง “สถานที่ในฝัน” ของเหล่าช่างภาพ และผู้ที่สนใจ (รวมทั้งแขนงศิลปะอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน) โดยใช้ชื่อว่า HOP Hub of Photography ลองไปฟังแนวคิดและที่มาที่น่าสนใจของการก่อตั้งโครงการ ผ่านบทสัมภาษณ์ของ 3 ผู้ก่อตั้ง นั่นคือ คุณผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ คุณอีฟ-มาริษา รุ่งโรจน์ และ คุณทอม-ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์

HOP, What is?

room: HOP คืออะไร?

คุณอีฟ: “HOP คือคำย่อของคำว่า Hub of Photography หรือศูนย์รวมของเรื่องที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพนั่นเอง เริ่มต้นมาจากความชอบในเรื่องเดียวกัน เราสนใจการถ่ายภาพและเห็นว่ามีคนสนใจเหมือนกัน จึงเริ่มขยายเป็น “สิ่งที่อยากเห็นในวงการภาพถ่าย” ทีนี้ก็มาพอเหมาะกับโอกาสที่ทางซีคอนสแควร์กำลังสร้างพื้นที่ที่เป็นคอมมูนิตี้ สำหรับรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ นั่นก็คือ MUNx2 (มันมัน) เพื่อเป็นคอมมูนิตี้ที่จะส่งเสริมกิจกรรมที่คนรุ่นใหม่สนใจ โดยเน้นไปที่อาหาร กาแฟ ถ่ายภาพ และคริปโตเคอเรนซี่  นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ HOP (Hub of Photography) แห่งนี้”

พอกลับมาที่ความต้องการของคงในสังคมถ่ายภาพจริง ๆ เราก็กลับมาคิดว่าพวกเขาต้องการอะไร? สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ของ HOP นั่นคือ แกลเลอรี่ พื้นที่เวิร์กชอป และ HOP Club ที่เป็นพื้นที่กึ่งห้องสมุด ซึ่งจะมีทั้งสื่อหนังสือเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมทั้งของที่เป็นงานของคนในวงการมาวางจำหน่ายเช่นกัน

มันเริ่มต้นมาจากความชอบในเรื่องเดียวกัน เราสนใจการถ่ายภาพ และเห็นว่ามีคนสนใจเหมือนกัน จึงเริ่มขยายเป็น “สิ่งที่อยากเห็นในวงการภาพถ่าย”

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เพิ่มเติม นั่นคือ Analouge ที่จะเป็นห้องล้างอัดภาพที่สามารถให้คนเข้ามาเช่าใช้ได้ โดยพื้นที่ส่วนนี้ก็จะเป็นอีกทีมที่เข้ามาร่วมกันในคอมมูนิตี้นี้ ส่วนตรงนี้มันเหมือนเราพยายามให้ระบบนิเวศตรงนี้มันยั่งยืน เพราะแม้ว่าเทรนด์อาจจะมา ๆ ไป ๆ แต่ถ้าคนที่รักกล้องฟิล์มก็จะรักมันไปตลอด เราก็อยากให้พื้นที่ตรงนี้เหมือนเป็นโอเอซิส เป็นพื้นที่ซัพพอร์ตคอมมูนิตี้ที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพจริง ๆ ล้างอัดก็จะมี Analouge ส่วนเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพ เทคนิคการจัดไฟ เป็นเซอร์วิสสตูดิโอสำหรับคนที่ต้องการใช้บริการที่นี่ ก็มี Photo Info เช่นกัน

คุณทอม: “พื้นที่ตรงนี้เรา 3 คน นำต้องการของคนที่อยู่ในวงการภาพถ่ายที่เรารู้จัก และคนที่เราอยากรีเสิร์ชเพิ่มเติมว่าจริง ๆ แล้วในวงการนี้ยังขาดอะไร? เราสามารถเข้าไปซัพพอร์ตตรงไหนได้บ้าง ก็เลยกลายเป็นไอเดียของการสร้าง คอมมูนิตี้มาคุยกับทางผู้บริหารของซีคอนสแควร์ แล้วจึงได้รับโอกาสตรงนี้มาจากตรงนั้นก็ค่อย ๆ เพิ่มเติม พัฒนาไปทีละส่วนให้ตรงกับจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก แต่คอมมูนิตี้ก็มีการเติบโตไประหว่างทาง ซึ่งก็ได้เรียนรู้พัฒนาค่อย ๆ ทำไปทีละส่วน เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก”

เราอยากให้ตรงนี้เหมือนเป็นโอเอซิส เป็นพื้นที่ซัพพอร์ตคอมมูนิตี้ที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพจริง ๆ

คุณอีฟ: “เพราะรายละเอียดที่ว่าคือเยอะมากจนเราไม่สามารถทำออกมาในครั้งเดียวได้ตั้งแต่วันที่เปิดคอมมูนิตี้ เพราะมีทั้งการศึกษาพฤติกรรมของคนที่เข้ามาใช้งาน เราร่วมกันพัฒนากับคนอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตร เป็นเพื่อนกับเราว่าเขาต้องการอะไร แล้วถ้าเขาได้เห็นสิ่งนี้แล้วเขาอยากเห็นอะไรต่อ? ดังนั้นการทำพื้นที่ตรงนี้เลยเหมือนเป็นการร่วมกับพัฒนาไปเรื่อย ๆ และคิดต่อจากคนที่เข้ามาอยู่ในคอมมูนิตี้ร่วมกับเรา เป็นการพัฒนาจากคนในวงการถ่ายภาพจริง ๆ

“เพราะที่จริงแล้ว HOP ไม่ใช่แค่แกลเลอรี่  แกลเลอรี่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ซัพพอร์ตคอมมูนิตี้ให้แข็งแรงขึ้น เราพยายามสร้างแต่ละพื้นที่เพื่อซัพพอร์ตให้มีเซอร์วิสที่ดี ให้เป็นแหล่งที่เป็นแรงบันดาลใจได้มาตรฐานของการแสดงงาน และการซื้อขายงานศิลปะโดยเฉพาะในด้านภาพถ่าย”

HOP is Community

room: นั่นแปลว่าคอมมูนิตี้ที่เกิดขึ้นจาก HOP ก็มีส่วนในการสร้างพื้นที่ตรงนี้ไปเรื่อย ๆ ด้วย?

คุณทอม: “ยกตัวอย่างอันหนึ่งที่เราทำแล้วดี ก็คือ HOP Club จะมีระบบที่คนที่มาใช้บริการแล้วถ้ารู้สึกว่ายังขาดหนังสือเล่มใด เขาก็สามารถที่จะรีเควสได้”

คุณอีฟ: “เรามีการเก็บสถิติว่า หนังสือเล่มนี้มีคนแนะนำเยอะ เราก็สามารถสั่งหนังสือเล่มนั้นเข้ามาได้ ไม่ใช่แค่เราเข้าไปพัฒนาพื้นที่ แต่อยากให้คนในคอมมูนิตี้มีส่วนร่วมกันกับ Hop Club ด้วย ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร สนใจการถ่ายภาพในด้านใด เราก็จะรับทุก ๆ คอมเมนต์ นำกลับมาประชุมกันในทีม เริ่มจากหลักคิดแบบนี้ และจะไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องหนังสือแน่ ๆ”

พื้นที่ตรงนี้เลยเหมือนเป็นการร่วมกับพัฒนาไปเรื่อย ๆ และคิดต่อจากคนที่เข้ามาอยู่ในคอมมูนิตี้ร่วมกับเรา เป็นการพัฒนาจากคนในวงการถ่ายภาพจริง ๆ

“เพราะจุดประสงค์ของพวกเราทั้ง 3 คน คือการสร้างพื้นที่ของชุมชนถ่ายภาพ เพื่อผู้คนในวงการภาพถ่ายโดยเฉพาะ จากจุดเริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว เรายังมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่จะเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนอยู่เสมอ

“เราทั้ง 3 คน เริ่มต้นไว้แค่ประมาณหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่เหลือเราอยากชวนทุกคนเข้ามาร่วมกันพัฒนา เข้ามาช่วยกันทำให้เกิดความเคลื่อนไหวและบรรยากาศที่สร้างสรรค์ เพื่อจะให้เกิดแนวคิดที่หลากหลาย เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่นี้ให้มีชีวิตได้ต่อไปด้วยตัวมันเองจริง ๆ”

คุณผ้าป่าน: “อีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากการทำงานกับคนที่เข้ามาใช้คอมมูนิตี้ ก็จะเป็นเรื่องของการทำงานร่วมกับศิลปิน และคิวเรเตอร์ใน Photo Gallery เพราะเราทั้ง 3 คน วางไว้ว่า มันจะไม่ใช่สิ่งที่เราคิวเรตกันเอง แต่เราต้องทำงานกับคนที่อยู่ในวงการถ่ายภาพ ซึ่งจะไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ช่างภาพที่เราทำงานด้วย แต่ในวงการนั้นยังมีอีกหลายตำแหน่งที่โลดแล่นทำงานอื่น ๆ อีกมากมาย เราคิดว่าจะต้องนำคนเหล่านั้นเข้ามาร่วมในคอมมูนิตี้ เพื่อทำให้มันแข็งแรง อย่าง HOP Photo Gallery เราก็ชวนคิวเรเตอร์เข้ามาครีเอตเอง และจะมีการเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อย่างเมื่อครั้งแรกก็จะเป็นคุณจอยส์ – กิตติมา จารีประสิทธิ์ และในครั้งต่อมาเราก็ใช้ คุณนิ่ม นิยมศิลป์ เป็นตัว เพราะฉะนั้นพื้นที่ของเราจะเปลี่ยนคาแรกเตอร์ของพื้นที่ไปเรื่อย ๆ เกิดความหลากหลาย โดยที่คอนเซ็ปต์ก็จะวางไว้ในหลากหลายหัวข้อ ในด้านการทำงานเมื่อได้คอนเซ็ปต์ของแต่ละงานมาแล้ว เราจะค่อยติดต่อไปหาคิวเรเตอร์ที่คิดว่ามีความสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์นั้น ๆ โดยที่เราอยากให้คิวเรเตอร์ได้ทำงานกับพื้นที่ของเขาอย่างเต็มที่เช่นกัน”

“ส่วนอีกห้องนึงคือห้อง Whoop! จะเป็นพื้นที่ที่เราพยายามผลักดัน Up & Coming Artist, Photographer หรือใครก็ตามที่มีผลงานน่าสนใจที่เราเคยเห็นในโลกออนไลน์ เขาอาจจะยังไม่มีประสบการณ์ในการจัดนิทรรศการ ห้องนี้ก็จะมีทีมของ HOP มาเป็นคนคิวเรตเองเลย งานของคนแรกก็คืองานของ ตั้ง – ตะวันวาด (TangBadVoice) คนที่ 2 จะเป็นคุณเคน-เอกพล พันธุ์พัฒน์ คนที่ 3 จะเป็นคุณนะโม คงธนะ ซึ่งทั้งสามคนล้วนมีผลงานที่น่าสนใจทั้งสิ้น และไม่เคยจัด Art Exhibition มาก่อนเช่นกัน”

HOP is Platform

room: เหมือนกับ HOP ไปช่วยผลักดันศิลปินให้ได้มี “โอกาส” ในการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ?

คุณอีฟ: “เราเข้าไปช่วยสร้างโอกาสให้ศิลปินได้สื่อสารผลงานของเขาสู่ภาพที่กว้างขึ้น มีมาตรฐานที่ดีขึ้น นำจุดเริ่มต้น ไอเดียมาพูดคุย แล้วพัฒนาให้เกิดเป็นนิทรรศการขึ้นมา แต่เพราะเราไม่ได้คิดว่า การจัดนิทรรศการเป็นภาพที่สมบูรณ์ที่สุดของเขา งานแต่ละงานเป็นเหมือนสิ่งที่เขาอยากจะเล่าในตอนนั้น มันคือครั้งแรกของเขา และเขาอยากจะโชว์ความเป็นตัวเขา อยากแสดงงานที่เป็นตัวตนของศิลปินเอง เขาก็เลยสามารถทำอะไรก็ได้ในห้องนี้ โดยมีทีมของเราคอยให้คำปรึกษา ดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องคอนเซ็ปต์ การติดตั้ง ไปจนถึงวันจัดแสดงงาน ห้องนี้จะมีความรู้สึกต่างจากห้องแรกมาก เราสัมผัสได้ว่า การที่ศิลปินคนหนึ่งมีงานนิทรรศการครั้งแรก คนจะมาแสดงความยินดีเยอะมาก เขาจะ Appreciate ในสิ่งที่ทางทีมของเราได้ดูแลเขา นอกจากการเตรียมพื้นที่ของนิทรรศการแล้ว ยังมีเรื่องของสื่อที่เขาสามารถไปต่อได้ การให้ช่องทางการติดต่องาน เรารู้สึกว่าการที่เขาได้มาอยู่ในห้อง Whoop! เป็นพื้นที่ที่คนได้มองเห็นเขามากขึ้น และเป็นสิ่งที่เราต้องการให้คนที่เป็น Up & Coming หรือ Hidden Gems ได้มีพื้นที่จริง ๆ บางคนได้ไปออกสื่อ ทำให้เขาได้งานมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวัง เพราะบางคนไม่ได้มีพื้นที่ที่จะได้เผยแพร่ผลงาน หรือบางคนไม่ได้เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมค้าขายมากนัก เวลาคนออกแบบได้มีนิทรรศการก็บอกตัวตนของศิลปินคนนั้นได้ พอมันมีตัวตนออกไป คนหรือแบรนด์ที่ทำงานกับศิลปินเขาก็เล็งเห็น และชวนศิลปินไปร่วมงานด้วย เราจึงอยากเป็นแพลตฟอร์มและคอยซัพพอร์ตศิลปินไปด้วยกัน”

“เราพยายามจะเซ็ตมาตรฐานของแกลเลอรี่ให้มีมาตรฐานในระดับสากล มาตรฐานในที่นี้หมายถึงว่า เวลาที่เราแสดงงานจะติดปัญหาโจทย์ในเรื่องทุน การทำงานต่าง ๆ ตอนแรกที่เราคุยกันและทำ HOP Photo Gallery หรือ Whoop! เราก็เห็นความเจ็บปวดร่วมกัน เพราะเราก็เป็นศิลปินที่เคยแสดงงานเหมือนกัน มันจะมีปัญหาเรื่องของทุนทรัพย์ในการจัดแสดงงาน การโปรโมทงาน การผลิตงาน หรือแม้กระทั่งการที่จะได้ร่วมงานกับคิวเรเตอร์เก่ง ๆ”

อยากให้ทุกคนเข้ามาช่วยบริหารได้ เข้ามาช่วยทำให้เกิด Traffic เกิด Vibe ที่ดีในพื้นที่ตรงนี้ เกิดแนวคิดที่หลากหลายที่จะพัฒนาพื้นที่ไปได้ด้วยตัวมันเองจริงๆ

“เป็นปัญหาที่คนทำงานด้วยกันเองจะรู้ว่าต้องหาเงินมาทำงาน ตอนที่เราเซ็ต HOP Photo Gallery ขึ้นมา เราก็ตั้งใจไว้เลยว่าจะไม่ใช่แค่พื้นที่ที่มีสเปซสวย แต่ข้างในมันต้องได้มาตรฐานเหมือนเมืองนอกด้วย เช่นการซัพพอร์ตศิลปินในแง่ของผลงาน การติดตั้งที่ได้มาตรฐาน การทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ห้องนี้ได้มาตรฐานจริง ๆ”

HOP is Standard

room: เหมือนระบบของการแสดงงาน การทำงานศิลปะ และแกลเลอรี่นั้นมีสแตนดาร์ดในตัวเองอยู่?

คุณผ้าป่าน: “ใช่ และเมืองไทยมันเกิดขึ้นได้ยากมาก ถ้าเกิดจะพูดก็คือต้องพูด Ecosystem โดยรวมทั้งหมดของสังคมไทย อาจจะไม่มีอะไรมาซัพพอร์ตให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นได้จริง ๆ”

room: ก็เลยเห็นว่าศิลปินบางท่านก็หาพื้นที่เองจากคอนเน็คชั่นที่มี เช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ หรือบาร์ลับ

คุณผ้าป่าน: “ก็เป็นไปได้ อาจจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการแสดงงาน แต่อย่างตัวแกลเลอรี่เรากำลังพูดถึงการแสดงงานในแกลเลอรี่ เพื่อบันทึกลงในโปรไฟล์ ที่สามารถต่อยอดในเมืองนอกได้ เพราะคุณได้แสดงงานในแกลเลอรี่ที่ได้มาตรฐาน มันก็เป็นเครดิตสำหรับก้าวต่อไปของศิลปิน เพื่อการแสดงงานในเวทีระดับสากลต่อไป”

เราเริ่มถ่ายงานครั้งแรกจากการดูโฟโต้บุ๊ก ไม่ได้มาจากการดูนิทรรศการ โฟโต้บุ๊กมันเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากทำงาน มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีในการส่งอื่นให้กับคนอื่น ๆ ด้วย

คุณอีฟ: “อย่างที่คุณผ้าป่านบอกว่า ศิลปินบางท่านอาจไม่สามารถผลิตงานได้อย่างที่ตัวเองต้องการ เพราะการจัดงานครั้งหนึ่งใช้ทุนสูงมาก ไม่ใช่แค่เรื่องการผลิต แต่มันส่งผลไปถึงเรื่องการผลิตผลงาน อย่างศิลปินบางท่านที่กำลังพัฒนางานอยู่เรื่อย ๆ เราก็คิดว่า ถ้ามีแกลเลอรี่ที่มาช่วยซัพพอร์ต คนทั่วไปคงจะได้เห็นผลงานดี ๆ อีกมากมาย อย่างน้อยก็มากกว่าที่เป็นอยู่”

คุณผ้าป่าน: “เพราะจริง ๆ แล้ว คนไทยเก่ง แต่ก็มีข้อจำกัดอีกหลายส่วน ถ้าเรามีทุนเราจะได้งานใหม่ ๆ แล้ว จะส่งผลต่อภาพรวมทั้งหมดของการที่มีงานที่ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็ต้องให้เครดิตกับทางซีคอนสแควร์ที่เขามองเห็นว่า การที่จะทำให้ได้มาตรฐานต้องใช้ทุนค่อนข้างเยอะ เขาก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนวงการภาพถ่าย จริง ๆ เราทำเล็กกว่านี้ก็ได้ เราไม่ต้องสนับสนุนศิลปินก็ได้ เราหางานมาแสดงก็ได้ แต่จะกลายเป็นแค่ Event Space เฉย ๆ ไม่ได้เกิด Ecosystem ที่เราอยากจะเห็นในฐานะช่างภาพ และผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะ เราก็อยากจะเห็นมันเกิดขึ้นในวงการนี้จริงๆ

“แต่เราไม่ได้อยากทำให้อลังการเริ่ดหรู เราแค่อยากได้สแตนดาร์ดและสนับสนุนศิลปินจริงๆ สมมติว่าชาวต่างชาติอยากมาแกลเลอรี่ที่ไทย เราก็อยากให้เขานึกถึง HOP”

คุณทอม: “ผมอยากฝากให้คนที่สนใจเข้ามาใช้พื้นที่กันเยอะๆ อย่างใน HOP Club ก็สามารถให้คนเข้ามาถกกันเรื่องโฟโต้บุ๊ก เอาโปรเจ็กต์มาคุยกันได้ เรามีแพลนจะทำงานร่วมกันมหาวิทยาลัย หรือองค์กรที่สนใจ”

คุณผ้าป่าน: “นั่นเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราสนใจ เราอยากร่วมงานกับมหาวิทยาลัย ร่วมงานกับน้อง ๆ ที่ทำธีซิส อยากเป็นจุดเชื่อมต่อจากการเรียนในมหาวิทยาลัยสู่โลกของการทำงานจริงๆ “

คุณอีฟ: “มันเป็นภาพฝันของเราเหมือนกัน ที่อยากให้พี้นที่นี้อยู่ในระดับที่คนที่ถ่ายภาพได้มาเจอกับคนที่ติดตามผลงาน อย่างวันที่เปิดงาน เราเจอคนที่คุยกันในโลกออนไลน์ แต่ไม่เคยเจอตัวจริงเลย เขาได้มาเจอกัน เรารู้สึกว่าถ้าเรามีสเปซแล้ว คนเข้ามาใช้งานได้เรื่อย ๆ เขาอาจจะได้เจอคนที่ไม่คิดว่าจะเจอ เป็นพื้นที่ให้ได้แลกเปลี่ยนกัน ถ้า HOP สามารถดึงคนให้มาใช้งานได้ขนาดนั้น น่าจะเกิดการพัฒนาผลงานในส่วนอื่น ๆ ไม่ใช่แค่งานที่จะเกิดขึ้นใน HOP ด้วย แต่ขยับขึ้นไปพร้อมกันทั้งวงการ มันคงเป็นอะไรที่ดีมาก”

คุณผ้าป่าน: “ทั้งส่วน Exhibition ส่วน Activities หรือแม้แต่ใน HOP Club มันคือห้องสมุด เราอยากให้คนอุดหนุนโลคอลบุ๊กช็อปอยู่แล้ว แต่เราตั้งต้นกับ HOP Club ว่าจะเป็นห้องสมุดทางด้านการถ่ายภาพโดยตรง อย่างที่รู้ว่าหนังสือเกี่ยวกับการถ่ายภาพก็ต้องพิมพ์ออกมาให้ได้คุณภาพของภาพนั้น ๆ หนังสือมันแพง ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงได้ แม้กระทั่งตัวเราเองเราก็มีโฟโต้บุ๊กอยู่แล้ว แต่ราคาโฟโต้บุ๊กมันแพงกว่าหนังสือปกติ พวกเรา 3 คนก็เป็นคนที่ชอบโฟโต้บุ๊ก เราเริ่มถ่ายงานครั้งแรกจากการดูโฟโต้บุ๊ก ไม่ได้มาจากการดูนิทรรศการ โฟโต้บุ๊กมันเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากทำงาน มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีในการส่งอื่นให้กับคนอื่น ๆ ด้วย ส่วนนี้ก็เป็นเรื่องเดียวกัน”

ศิลปินบางท่านอาจไม่สามารถผลิตงานได้อย่างที่ตัวเองต้องการ เพราะว่าการจัดงานครั้งหนึ่งใช้ทุนสูงมาก ไม่ใช่แค่เรื่องการผลิต แต่ส่งผลไปถึงเรื่องการผลิตผลงาน อย่างศิลปินบางท่านที่กำลังพัฒนางานอยู่เรื่อย ๆ เราก็คิดว่า ถ้ามีแกลเลอรี่ที่มาช่วยซัพพอร์ต คนทั่วไปคงจะได้เห็นผลงานดี ๆ อีกมากมาย อย่างน้อยก็มากกว่าที่เป็นอยู่

HOP is between On-line and Off-line

room: ในขณะที่ทุกวันนี้ทุกอย่างแทบจะอยู่ในแพล็ตฟอร์มออนไลน์ ทำไมเราต้องเปิดพื้นที่ที่มันเป็นออฟไลน์อย่างนี้ด้วย?

คุณทอม: “เพราะเราเชื่อว่าในวงการภาพถ่ายและศิลปะมันจำเป็นจะต้องมี Direct Contact การเจอหน้า การพูดคุย การคอนเน็คกันระหว่างผู้คน บรรยากาศและความรู้สึกในการชมงานในพื้นที่ที่มันถูกดีไซน์ผ่านกระบวนการคิด และมีคาแรกเตอร์ของตัวศิลปิน ของพื้นที่ หรือคิวเรเตอร์ เป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถรับรู้ได้ผ่านโลกออนไลน์ การที่เราช่วยกันสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมา เราอยากจะเห็นการเชื่อมต่อของผู้คนและช่างภาพไทยในยุคนี้เก่งมาก มีตั้งแต่การถ่ายภาพมาโครยันถ่ายดวงดาว แต่ยังขาดการเชื่อมต่อกัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผมคลุกคลีในวงการนี้ ก็ยังไม่ค่อยเห็นการเชื่อมต่อกัน ถ้ามีพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในวงการภาพถ่ายได้ แล้วให้ผู้คนมาเจอกันมันน่าจะเกิดอะไรใหม่ ๆ ช่วยกันขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ อีกอย่างจะมีงานบางประเภทที่ไม่สามารถจัดแสดงในโลกโซเชียลได้ เช่น ภาพถ่ายทางการเมือง หรือภาพ Nudity ที่มันจะถูกบล็อก ไม่ผ่านมาตรฐานชุมชนออนไลน์ ซึ่งก็แปลว่าแสดงงานไม่ได้ไปโดยปริยาย แต่ในโลกศิลปะไม่มีอะไรที่ถูกหรือผิดชัดเจนขนาดนั้น ฉะนั้นความสำคัญของแกลเลอรี่ที่ให้อิสระในการจัดแสดงของศิลปินจึงยังสำคัญอยู่ สำคัญมากด้วย”

มันจะมีงานบางประเภทที่ไม่สามารถจัดแสดงในโลกโซเชียลได้ เช่น ภาพถ่ายทางการเมือง หรือภาพ Nudity ที่มันจะถูกบล็อก ไม่ผ่านมาตรฐานชุมชนออนไลน์ ซึ่งก็แปลว่าแสดงงานไม่ได้ไปโดยปริยาย

คุณอีฟ: “เรา 3 คนไม่ได้ไม่เชื่อในโลกออนไลน์ เราก็รู้ว่าโลกกำลังหมุนไปทางไหน เราก็ทำ Communication ในออนไลน์เหมือนกัน และสิ่งนั้นก็เป็นเรื่องจำเป็น ไม่ได้คิดว่าไม่ควรจะมี แต่ทั้งสองสิ่งมีข้อดีที่ต่างกัน และอาจจะทดแทนบางส่วนกันไม่ได้ ซึ่งในส่วนที่ออนไลน์ทดแทนด้านกายภาพไม่ได้ก็เป็นอย่างที่คุณทอมบอกไป คือการคอนเน็คกัน”

HOP is Ongoing

room: สุดท้ายนี้อยากจะทราบถึงเป้าหมายระยะสั้น และเป้าหมายในระยะยาวของ HOP ว่าวางแผนไว้อย่างไร?

คุณอีฟ: “เป้าหมายระยะสั้นของเราคือ อยากให้คนมาใช้พื้นที่นี้เยอะ ๆ อยากให้คนได้ใช้บริการทุก ๆ พาร์ทที่เกิดขึ้น เป็นพื้นที่ที่เราตั้งใจทำกันมาก ทั้งหมดมันเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมและซัพพอร์ตในสิ่งที่คนอยากรู้แล้วมันมีทุกมิติจริง ๆ อยากให้คนมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการทำงานภาพถ่ายของเขา ถ้าคนมากันเยอะ ในอนาคตก็อาจจะมีเซอร์วิสใหม่ ๆ เกิดขึ้น ในวันนี้มันอาจจะไม่ได้รองรับทุกอย่าง แต่มันจะมีการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เวลาเราพูดว่าวงการภาพถ่ายอยู่ที่ไหน ที่นี่จะเป็นจุดหนึ่งที่เป็นพื้นที่รองรับตรงนี้”

คุณทอม: “มีหลายส่วนมากที่เราอยากทำให้มันเกิดขึ้น ส่วนแกลเลอรี่จะเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจในวิธีการทำงาน ส่วน HOP Club จะเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องของความรู้ โฟโต้อินโฟ สายเทคนิคต่าง ๆ แม้กระทั่งส่วนที่มีไว้บริการห้องล้างอัดฟิล์ม ที่กำลังเกิดขึ้นใน Analouge ก็มีผู้เชี่ยวชาญที่เขารู้เรื่องนี้จริง ๆ เข้ามาให้คำแนะนำ”

ถ้าพูดว่าคนในวงการภาพถ่ายอยู่ที่ไหน ก็อยากให้นึกถึง HOP เป็นหนึ่งในนั้น ช่วยกันขับเคลื่อนวงการภาพถ่ายให้พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ สนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาอยู่ในวงการได้

คุณผ้าป่าน: “แล้วก็มีกิจกรรมเวิร์กชอปที่เป็นรายเดือนจะสร้างมาเพื่อสอดคล้องกับส่วนห้องแสดงงานหลัก นอกจากตัวพื้นที่แล้วก็อยากให้มีกิจกรรมให้ผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ได้ ในแพลนระยะกลางจะมีงานประกวดที่จะทำให้ที่นี่คึกคักมากขึ้นหลังจากนี้

“ส่วนเป้าหมายระยะยาวนั้น เราก็อยากให้แบรนด์ HOP ทั้งหมดกลายเป็นคอมมูนิตี้ได้จริง ๆ รวบรวมคนในวงการภาพถ่าย ถ้าพูดว่าคนในวงการภาพถ่ายอยู่ที่ไหน ก็อยากให้นึกถึง HOP เป็นหนึ่งในนั้น ช่วยกันขับเคลื่อนวงการภาพถ่ายให้พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ สนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาอยู่ในวงการได้ อย่างตัวแกลเลอรี่ก็มีเป้าหมายว่าอยากให้ได้มาตรฐานระดับสากล ระดับเอเชีย ระดับโลก ไม่ว่าเราจะแสดงงานของคนไทยหรือต่างชาติ แต่เบสมันอยู่ที่นี่แล้วได้มาตรฐานจริง ๆ ทุกคนก็จะได้รับการการันตี แต่ละที่มีเป้าหมายรวม ๆ คืออยากให้วงการภาพถ่ายพัฒนาต่อไปข้างหน้า เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อน ไม่ใช่แค่พวกเรา 3 คน ถ้าเกิดมองลงไปในแต่ละส่วนของ HOP ก็จะพบว่าจุดประสงค์ที่ต่างกันแต่เชื่อมโยง เราอยากจะเอาชื่อ HOP ไปอยู่ตรงไหนและแบบไหนบ้างก็ขึ้นอยู่กับตัวคอมมูนิตี้เองด้วย พอจะทำคอมมูนิตี้ เป้าหมายระยะยาวของเราจึงตอบได้แบบค่อนข้างกว้าง แต่ก็คือการต่อยอดเป้าหมายที่เราต้องการสร้างสังคม สร้าง คอมมูนิตี้ที่เราเหล่าผู้รักในการถ่ายภาพอยากจะเห็นให้สำเร็จขึ้นมาให้ได้นั่นเอง”

และนี่ก็คืออีกหนึ่งพื้นที่ที่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ และความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์วงการถ่ายภาพอย่างแท้จริง สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของ HOP Hub Of Photography ได้ทาง hubofphotographybangkok

HOP – Hub Of Photography ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 โซน MUNx2 ซีคอนสแควร์ ถนนศรีนครินทร์



ภาพ: นวชา ธรรมลักษมีบุญ
เรื่อง: Wuthikorn Sut